3 ขั้นตอนฟื้นฟูภูผาฮวก “ปิดเหมืองหินและโรงโม่ ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งเที่ยว”

3 ขั้นตอนฟื้นฟูภูผาฮวก “ปิดเหมืองหินและโรงโม่ ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งเที่ยว”

ปิดเหมืองหินและโรงโม่ ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งเที่ยว

นี่คือแนวคิดหลักของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ซึ่งกว่า 2 ปีแล้วที่พวกเขาได้เข้ามาฟื้นฟูและปลูกต้นไม้บน “ภูผาฮวก” ที่ถูกทำลายจากการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อนสร้าง) และโรงโม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากล้าไม้ที่ปลูกอย่างกล้าไม้ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นจามจุรี ต้นมะค่าโมง ต้นเสี้ยว ต้นขี้เหล็ก ต้นหว้า ต้นขนุน ต้นมะละกอ ต้นโพธิ์ ต้นจำปา และต้นสุพรรณิการ์ ได้เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกล้าไม้ของต้นหางนกยูงที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ผมได้คุยกับคุณจุฑามาต ศรีหัตถผดุง หรือพี่หญิง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นพัฒนาการของการต่อสู้ของชาวบ้าน เล่าให้ฟังถึงต่อสู้กันมายาวนานโดยมีข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได 3 ข้อ ซึ่งการปิดเหมืองถือเป็นขั้นตอนแรกที่พวกเขาทำกันไปแล้ว

ปิดเหมืองหินและโรงโม่

“ต้องบอกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นแหล่งพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์  หาผัก หาหน่อไม้ แล้วก็สิ่งที่สำคัญก็คือพื้นที่ที่ถูกระเบิดไปมันใกล้แหล่งชุมชน ใกล้ที่นาทำกิน ทำให้คนที่ทำการเกษตรโดยรอบได้รับความเสียหายได้รับผลกระทบ

พี่หญิงเล่าให้ฟังถึงการต่อสู้ของชาวบ้านและแนวทางการป้องกันการเกิดเหมืองซ้ำ 3 ขั้นตอนคือ 1.ปิดเหมืองหินและโรงโม่ 2.ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ 3.พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งเที่ยว

หลังการต่อสู้ยาวนานกว่า 28 ปี ซึ่งพื้นที่นี้ถูกดำเนินกิจการเหมืองแร่หินปูน จนกระทั่งใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563

ฟื้นฟูภูผาป่าไม้

ปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์ฯ ปลูกกล้าไม้ฟื้นฟูภูผา โดยพยายามเปลี่ยนสภาพเหมืองหินเดิม ซึ่งกล้าไม้ที่ปลูกฟื้นฟูภูผาป่าไม้ในช่วงฤดูฝนของปี 2564 ที่ผ่านมา อย่างกล้าไม้ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นจามจุรี ต้นมะค่าโมง ต้นเสี้ยว ต้นขี้เหล็ก ต้นหว้า ต้นขนุน ต้นโพธิ์ ต้นจำปา และต้นสุพรรณิการ์ ได้เริ่มเติบโตขึ้นและเติบโตได้ดีก็คือกล้าไม้ของต้นหางนกยูงที่ลำต้นสูงใหญ่แข็งแรงจนสามารถเป็นร่มเงาให้กับผู้คน นอกจากนี้แล้วต้นไผ่ กล้วย หญ้าแฝก หญ้าม่วง และตะไคร้ ก็ได้แตกต้นอ่อนขยายกอใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

“หนึ่งปิดเหมืองหินและโรงโม่ ซึ่งเราก็สามารถปิดได้แล้วถึงแม้ว่ายังไม่ได้ถาวรแต่ก็คือเราก็ยึดกลุ่มพื้นที่คือเขายังไม่สามารถต่ออายุประธานบัตรได้และก็ไม่สามารถโม่หินได้ ในตอนนี้  ตอนนี้ก็เข้าสู่ข้อที่สอง คือฟื้นฟู่ภูผาป่าไม้ ตั้งแต่ปีที่แล้วเราก็เริ่มมีการทดลองฟื้นฟูเหมืองหิน มีการปลูกต้นไม้ ปรับพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูภูเขาให้กลับมาอีกครั้ง เพื่อที่จะไปสู่ข้อที่สามให้พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว

เราต้องมองว่าทรัพยากรเหล่านี้มันเป็นทรัพยากรของคนไทย เราพยายามบอกว่าเรื่องแร่เป็นของทุกคน ถ้ามันจะถูกนำมาใช้มันต้องใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน คนไทยมากที่สุด แล้วก็ต้องเอามาใช้โดยที่คนในพื้นที่ต้องไม่มีผลกระทบ สำหรับพี่น้องเครือข่ายแร่เรามองสถานการณ์เรื่องเหมืองแร่เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่าการที่มีการผลักดันเรื่องเหมืองพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง มันก็เป็นตัวชี้วัดในสถานการณ์นั้น ๆ ว่าเหมืองที่อื่น ๆ ก็ต้องเตรียมรับมือสถานการณ์เดียวกัน”

พี่หญิงกล่าวเสริม

พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งเที่ยว

หลังจากนี้กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จะจัดงาน ‘ชัยชนะที่ไม่หยุดนิ่ง 2 ปีดงมะไฟยังไปต่อ’ เฉลิมฉลอง 2 ปี ปิดเหมืองหินดงมะไฟ เพื่อฟื้นฟูเป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมล้อมวงคุยถึงขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ยังไม่หยุดนิ่ง ณ หมู่บ้านผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในวันที่ 13 สิงหาคม 65 ที่จะถึงนี้

โดยมีกิจกรรมร่วมทำบุญตักบาตร ครบรอบ 2 ปี ปิดเหมืองหินดงมะไฟ พร้อมเปิดตลาดผาฮวกของดีของเด็ดดงมะไฟ และล้อมวงพูดคุย “2 ปี ปิดเหมืองหินดงมะไฟ เรามาไกลแค่ไหนกับขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน” พร้อมรับชมการแสดงสุดพิเศษจากนักอนุรักษ์น้อยฯ และร่วมรับฟังการขับกล่อมดนตรีสุดไพเราะจากพ่อ ๆ แม่ๆ กลุ่มอนุรักษ์ฯ

ขอบคุณภาพจาก : เหมืองแร่หนองบัว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ