ถ้าให้นึกถึง “เชียงใหม่” หมุดหมายปลายทางของใครหลายคน ภาพหน้าบ้านที่เห็นอาจจะเต็มไปด้วยความสวยงาม ที่โดดเด่นทั้งประเพณี วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ผู้คนที่เป็นมิตร และสถานที่ท่องเที่ยวมากมายนับไม่ถ้วน แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าในรั้วบ้านของชาวเชียงใหม่ มีปัญหาหนึ่งที่คนในพื้นที่เผชิญมายาวนานหลายสิบปี
ปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียของ ‘คลองแม่ข่า’ คลองคู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่ คลองแม่ข่าลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิงตามธรรมชาติ ที่ในอดีตเคยเปล่งประกายด้วยความใสสะอาด เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำ หากินด้วยการจับกุ้ง หอย ปลา ปูในคลอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมืองขยายตัว สวนทางกับคลองที่เคยเป็นชีวิตวิถีของคนริมน้ำก็ค่อยหายไป สภาพเสื่อมโทรมลง จากที่เคยเป็นบ้านของสัตว์น้อยใหญ่ ก็กลายเป็นที่อยู่ของขยะและสิ่งเน่าเสียอื่น ๆ แทน
ขณะที่หลายฝ่ายร่วมถึงชาวบ้านริมคลองพยายามช่วยกันฟื้นคลองสายนี้ ให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งบนรอยต่อมีรอยแผลอยู่และแผลนี้ยังต้องการการรักษาต่อ แต่โจทย์หลักคือการจัดการร่วมกับชุมชน ทั้งบ้านเรือนที่อยู่อย่างหนาแน่น และรวมถึงผู้คน วิถีชีวิต จะสามารถร่วมออกแบบชุมชนของตัวเองได้อย่างไร
ในวันนี้ที่ยังคงเผชิญกับปัญหาที่สะสมอยู่ คลองแม่ข่าวันนี้ หลายคนคงได้เห็นภาพคลองแม่ข่าจากสื่อต่าง ๆ กับการพลิกโฉมพื้นที่ดูสะอาดเป็นระเบียบ นำเสนอผ่านภาพถ่ายวิวทิวทัศน์ที่เปลี่ยนไป หลังจากที่มีการพลิกโฉมภูมิทัศน์ หรือการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเชียงใหม่ มุมหนึ่งคือความสวยงามและความก้าวหน้าของการฟื้นฟูแหล่งน้ำ พร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต แต่อีกด้านก็มีความห่วงใยเรื่องคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และคนริมคลอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นคลองสายนี้ ทั้งเรื่องการจัดการน้ำ สภาพนิเวศธรรมชาติของคลองที่การออกแบบแบบนี้ในระยะยาวจะดูแลอย่างไร และคนในพื้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วม กับการออกแบบนี้อย่างไร
วันนี้ที่ รายการ #ฟังเสียงประเทศไทย เดินทางมายังตอนที่ 5 ครั้งนี้ทีมงาน ชวนอยากพาคุยกับคนในพื้นที่ เราอาจไม่พบคำตอบหากไม่ได้เข้าไปคุยกับคนในพื้นที่ ชวนไปดูเรื่องราวคลองแม่ข่าผ่าน อดีต ปัจจุบันและร่วมมองอนาคตร่วมกันว่าคลองแม่ข่า และคนริมคลองในพื้นที่อยากให้พัฒนาไปในทิศทางใด ?
แม่ข่า ไม่ใช่แค่ลำน้ำ แต่คือผู้คน
แผนที่มีชีวิต
สามารถคลิ๊กดูภาพและฟังเสียงเรื่องราวจากอดีตของคนริมคลอง
น้ำแม่ข่า หรือคลองแม่ข่า
- น้ำแม่ข่าหรือคลองแม่ข่า 1ใน 7 ชัยมงคลในการตั้งเมืองเชียงใหม่ของพญาเม็งราย เพื่อเป็นหมุดหมายความเจริญรุ่งเรือง
- ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ด้านทิศตะวันตก 4 ลำห้วย คือ ห้วยแม่หยวก ห้วยแม่ขัวมุง ห้วยช่างเคี่ยน และห้วยแก้ว ส่วนด้านทิศเหนือ คือ น้ำแม่สาและน้ำแม่ชะเยือง ซึ่งมีต้นน้ำอยู่บนดอยสูงในเขตอำเภอแม่ริม
- ไหลคดเคี้ยวอ้อมเมืองไปมาจากเหนือลงใต้ ผ่านอำเภอแม่ริม อำเภอเมือง และอำเภอหางดง ระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร
ความสำคัญของน้ำแม่ข่าในอดีต
- หน้าที่เป็นคูเมืองที่ช่วยปกป้องตัวเมืองเชียงใหม่
- เป็นลำน้ำที่ช่วยในการระบายน้ำจากเขตตัวเมืองเชียงใหม่ลงไปยังแม่น้ำปิง
- แหล่งน้ำใช้ทั้งเพื่อเกษตรกรรม การอุปโภคบริโภค
- เส้นทางหลักในการสัญจรทางน้ำที่สำคัญ
ขอบเขตคลองแม่ข่า
- ช่วงต้นน้ำอยู่ในพื้นที่เขตตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ระยะทาง 8.2 กม.
มีชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ 6 ชุมชน - ช่วงกลางน้ำ อยู่ใน เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ทั้งหมด
เริ่มตั้งแต่หมู่บ้านสุขิโต ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ไปจนสุดเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ บริเวณถนนมหิดลก่อนถึงเขตเทศบาลตำบลป่าแดด มีระยะทาง10.2 กม. มีชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ 26 ชุมชน - ช่วงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่เขตเทศบาลตำบลป่าแดดไปจนถึงจุดที่น้ำแม่ข่าไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่ตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง มีระยะทาง 12 กม. มีชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ 11 ชุมชน
รวมมีชุมชนเกี่ยวข้องกับคลองแม่ข่า 43 ชุมชน
คนชุมชนริมคลองแม่ข่า
- ชุมชนริมคลองแม่ข่ามีความหลากหลาย มีทั้งคนเมือง คนกลุ่มชาติพันธุ์ อาข่า ลีซู ล่าหู่ ไทใหญ่ และเมียนมา
- ประชากรส่วนมากเป็นกลุ่มคนยากจน มีรายได้น้อย แต่ก็เป็นฟันเฟืองที่เคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ จากการเป็นแรงงาน ทำงานรับจ้าง ขายของที่ระลึก ขายของกิน ในย่านท่องเที่ยวไนท์บาซ่า ถนนคนเดิน
การพัฒนาพื้นที่คลองแม่ข่า
- พ.ศ. 2510 -2512 มีการตัดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ข้ามน้ำปิง พื้นที่หนองใหญ่ (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเชื่อมโยงคลองแม่ข่า) เริ่มถูกถมและบางส่วนเป็นที่ดินของเอกชน
- พ.ศ. 2525-2545 โครงการระบายน้ำเสีย โดยผันน้ำปิงเข้าคลองแม่ข่า
- พ.ศ. 2546 โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยริมคลอง โดยโครงการบ้านมั่นคง
การพัฒนาพื้นที่คลองแม่ข่า
- พ.ศ. 2551 โครงการคืนน้ำดีให้ลำคูไหว – คืนน้ำใสให้แม่ข่า เกิดเครือข่ายชุมชนรักษ์แม่ข่า (เครือข่ายชาวบ้าน 14 ชุมชน) กิจกรรมปรับขยับบ้านออกจากคลอง เก็บขยะ เท EM เพื่อปรับสภาพน้ำ และขุดลอกคูคลอง
- พ.ศ. 2560 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานสนับสนุนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ มีการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ได้เนินการเข้าตรวจและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่คลองแม่ข่าบางส่วน
- แผนแม่บทคลองแม่ข่า พ.ศ.2561-2565 จังหวัดเชียงใหม่มีนโยบายสำคัญและเร่งด่วนสำหรับพื้นที่คลองแม่ข่า โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่
ที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน
- มีทั้งที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีฉโนดที่ดิน มีการเช่าที่ราชพัสดุ และบุกรุกแบบผิดกฎหมาย
- มีการพยายามจัดการที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน โดยความร่วมมือกับพอช. พม. เพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนและชุมชนริมคลองแม่ข่า
- ความปลอดภัย และความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย
- ความไม่มั่นคงด้านรายได้
- การสร้างบ้านเรือนและถนนปิดกั้นทางน้ำ ทับทางน้ำ มีการรุกล้ำพื้นที่ริมคลองแม่ข่า
- ปัญหาคุณภาพน้ำ มีการทิ้งขยะ ทิ้งน้ำเสียลงลำคลอง วัชพืช น้ำเน่าเสีย
- ขาดการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาล้าน้ำจากชุมชนและผู้ประกอบการ
จุดแข็ง
- ชัยมงคล ความเชื่อ ศรัทธา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของคนเชียงใหม่
- สังคมให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาน้ำเน่าเสียของคลองแม่ข่า
- มีแหล่งน้ำต้นทุนและปริมาณของน้ำต้นทุน ที่ไหลมาจากที่ต่าง ๆ หลากหลายสาขา ระบบการไหลของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ
- มีสถาบันการศึกษาในพื้นที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า
- เป็นคลองหลักในการระบายน้ำออกจากเมือง
- ความเข้มแข็งของภาคราชการ ภาคเอกชน และประชาสังคมในพื้นที่ที่มีการทำงานแบบมีส่วนร่วม
- มีเทคโนโลยีที่สนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า
จุดอ่อน
- คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม จากการทิ้งขยะ ระบายน้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือนและสถานประกอบการ
- ไม่สามารถระบุขอบเขตพื้นที่ ที่ชัดเจนได้ ทำให้เป็นปัญหาในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา
- การรุกล้ำ ปิดกั้นลำน้ำ ทั้งจากการขยายตัวของชุมชน การปลูกสิ่งก่อสร้าง ถนนหนทาง
- จิตสำนึกและความตระหนักในการเป็นเจ้าของร่วมกันของชุมชน ประชาชน และผู้ประกอบการ
- เป็นที่รองรับน้ำเสียจากชุนชน น้ำเสียขาดการบำบัดที่ดีจะไหลลงสู่คลองแม่ข่า ทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็น
- การเชื่อมโยงการปฏิบัติงาน ยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าส่งผลให้ขาดความต่อเนื่อง ขาดผู้รับผิดชอบโดยตรง ไม่มีความต่อเนื่องและไม่มีระบบงบประมาณ และแผนจัดการทั้งระบบ
- การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวดเท่าที่ควรส่งผลให้เกิดการลุกล้ำาลำน้ำและการทิ้งขยะ
โอกาส
- นโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการบริหารจัดการ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์และค่าเป้าหมายในการพัฒนาประเทศด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- กระแสการท่องเที่ยวในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงนิเวศ และเชิงสุขภาพ
- นโยบายการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0ส่งเสริมให้ นำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อการสำรวจ พัฒนาและแก้ไขปัญหา
- มีการกำหนดเป็นวาระของจังหวัด
อุปสรรค
- ผลกระทบที่เกิดจากภัยธรรมชาติทั้งที่เกิดจาก มนุษย์และธรรมชาติโดยตรง
- การอพยพย้ายถิ่นของชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- ระบบนิเวศของแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ได้รับการดูแลรักษา ลำน้ำธรรมชาติจึงขาดหายและไม่มีน้ำไหลผ่าน
- ข้อจำกัดด้านกฎหมาย
การพัฒนา คน-คลอง-เมือง จึงเป็นอะไรที่มากกว่า การเป็นแค่ที่มาท่องเที่ยวถ่ายรูป โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นฐานรากของอนาคต ทีมงานฟังเสียงประเทศไทยจึงชวนคนริมคลองแม่ข่า และตัวแทนคนเชียงใหม่ มาร่วมกันออกแบบมองไปข้างหน้า ถึงอนาคต คน ชุมชน และคลองแม่ข่า โดยมีตัวเลือกตั้งต้นในการคุยและชวนมองอนาคต จาก 3 ภาพนี้ โดยที่คุณผู้อ่าน สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเลือกได้
A : น้ำคือชีวิต คืนความใสให้คลอง
- จัดระเบียบผู้คนที่อาศัยริมคลองใหม่ โดยใช้ฐานข้อมูลและกฎหมายที่เข้มข้นผ่านการมีส่วนร่วม ผู้คนที่อาศัยริมคลองบางส่วนต้องย้ายออกไปที่ใหม่ตามที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสม บางส่วนได้รับความเดือนร้อนจากการต้องย้ายออกไปที่ใหม่ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจ แต่เกิดความเป็นชุมชนที่เป็นพื้นที่ดั้งเดิม มีการส่งเสริมการปรับปรุงบ้านเรือน + เกิดพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ของเมือง เป็นพื้นที่เปิดเพื่อการพัฒนาในอนาคตด้านต่าง ๆ โบราณสถานได้รับการปกป้อง มีระบบจัดการระบบน้ำเสีย และจัดระบบน้ำให้ไหลผ่านได้ตลอดทั้งปี
B : “คนในอยู่ได้ คนนอกมาดี”
- “บ้านไม่ใช่เป้าหมาย” แต่บ้านคือเครื่องมือที่จะนำพาคุณภาพชีวิตที่ดี โดยชุมชนและหน่วยงานรัฐร่วมกัน สร้างฐานการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้กับคนในพื้นที่ และคนทั่วไป ด้วยการใช้เทคโนโลยีผ่านแพลตฟอร์มผ่านโซเซียลมีเดียและเว็บไซต์ หรือแฟนเพจ เพื่อระดมไอเดียและทุน ในมิติต่าง ๆ เกิดการสร้างบ้านใหม่ที่เหมาะสม ชาวบ้านอยู่กันอย่างมีศักดิ์ศรีไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อนๆ แต่ต้องคืนพื้นที่บางส่วน เพื่อการพัฒนาให้เกิดพื้นที่สาธารณะของชุมชน และเมือง โบราณสถานได้รับการปกป้อง เกิดการพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจ อาชีพ รายได้ ที่เป็นดอกผลที่เกิดขึ้นจากการมีที่อยู่อาศัย นำไปสู่การสร้างอาชีพ คนในพื้นที่ร่วมกันพัฒนาพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ เกิดการแบ่งปันระหว่างคนในกับคนนอกพื้นที่ แลกเปลี่ยนกันและสร้างธุรกิจร่วมในชุมชน เช่น การท่องเที่ยววิถีคนริมคลอง ซึ่งได้รับความสนใจและเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของเมือง
C : คลองพื้นที่เพลิดเพลิน เป็นมิตรและมีชีวิตชีวา
- ฟื้นคลอง คืนประวัติศาสตร์ มีการปรับปรุงพัฒนาที่อยู่อาศัย รื้อบ้านเดิม ที่ใช้พื้นที่ในแนวราบค่อนข้างมาก จัดการพื้นที่ให้เหมาะสม กับการอยู่อาศัย แต่ผู้อยู่อาศัยต้องร่วมลงทุนกับภาครัฐ และบริหารร่วมโดยรัฐท้องถิ่น ชาวบ้านอยู่กันอย่างมีศักดิ์ศรีไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อนๆ มีพื้นที่สาธารณะกระจายในชุมชน 1 สวน 1ชุมชน เป็นพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์หมุนเวียน โบราณสถานได้รับการปกป้อง เชื่อมต่อรากเหง้าทางวัฒนธรรม ร่วมกันฟื้นเรื่องราวที่ทรงคุณค่า สร้างจุดขายสร้างอัตลักษณ์ โดยเฉพาะด้านการการท่องเที่ยว เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของเมือง มีจัดการน้ำเสียและน้ำต้นทุนตามธรรมชาติมาเติมเพื่อรักษาระดับน้ำให้เท่ากันได้ตลอดทั้งปี ริมคลองมีทางเท้าริมตลิ่ง เกิดเศรษฐกิจใหม่เป็นย่านการค้าสำคัญ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มพูนขึ้นในอนาคตโดยการลงทุนร่วมและหว่างคนในชุมชนและคนนอกชุมชน
คุณผู้อ่านร่วมรับ “ฟัง” ด้วยหัวใจที่เปิดรับส่ง “เสียง”แลกเปลี่ยนกันด้วยข้อมูลที่รอบด้านเพื่อร่วมหาทางออกให้กับ “ประเทศไทย” กับรายการฟังเสียงประเทศไทย
วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลา 17.30 – 18.00 น. ทางไทยพีบีเอสหรือรับชมทีวีออนไลน์ทางwww.thaipbs.or.th/live และร่วมโหวตเลือกภาพความน่าจะเป็นได้