พลเมืองโต้กลับอันเงียบงัน ในเช้าไม่ธรรมดาวันหนึ่ง : นิธิ นิธิวีรกุล

พลเมืองโต้กลับอันเงียบงัน ในเช้าไม่ธรรมดาวันหนึ่ง : นิธิ นิธิวีรกุล

20151403162517.jpg

เรื่อง/ภาพ : นิธิ นิธิวีรกุล

    
เช้าวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พุทธศักราช 2558 เป็นเช้าธรรมดาวันหนึ่ง, 

อันที่จริงเป็นเช้าที่ไม่น่าจะมีอะไรพิเศษสำหรับผมด้วยซ้ำ ก็แค่อีกเช้าที่ต้องตื่นขึ้นมาทำกิจวัตรซ้ำๆ เหมือนในวันอื่นๆ ชงกาแฟ อ่านหนังสือ แล้วเริ่มต้นทำงาน ไล่เรื่อยไปจนย่ำเย็นจึงค่อยหาเรื่องออกจากบ้าน ไปดูหนังบ้าง ไปปั่นจักรยานบ้าง กล่าวได้ว่าวันวันหนึ่งในชีวิตผมผ่านไปอย่างสุขสงบโดยไม่จำเป็นให้ใครมาคืนความสุขแต่อย่างใด 

เพียงแต่เช้าวันนี้แตกต่างออกไป ไม่ได้แตกต่างด้วยสภาพอากาศ ไม่ได้แตกต่างเพราะเป็นวันสำคัญส่วนตัว แต่สำคัญเพราะวันนี้เป็นวันแรกเริ่มของการจัดกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ ของกลุ่ม ‘พลเมืองโต้กลับ’ Resistant Citizen นำโดยคนที่สื่อเรียกว่า พ่อน้องเฌอ หรือ พันธศักดิ์ ศรีเทพ ผู้สูญเสียลูกชาย สมาพันธ์ หรือ เฌอ ศรีเทพ ในเหตุการณ์ล้อมปราบเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2553

จุดมุ่งหมายของกิจกรรมนี้อยู่ที่การรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงสิทธิ์ของพลเรือนที่จะไม่ต้องขึ้นศาลทหาร ตามที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้ให้นิยามไว้ว่า ‘การแสดงความเห็น การตั้งคำถาม การปฏิเสธให้ความร่วมมือ การประท้วง ดื้อแพ่งอย่างสันติวิธี เป็นสิ่งที่พลเมืองกระทำได้ตามกฎหมาย ประการสำคัญ มันยังเป็นส่วนสำคัญที่แยกไม่ออกจากศักดิ์ศรีแห่งการเป็นพลเมืองที่ย่อมมีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีอำนาจมหาศาล การดำเนินคดีต่อพลเรือนที่ดื้อแพ่งต่อการปกครองของเผด็จการทหาร โดยศาลทหารจึงเสมือนการบังคับข่มเหงต่อสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองให้ต้องสยบยอมต่อระบบอำนาจนิยมของทหารนั่นเอง’

หากยืดถือตามนี้ นั่นหมายความว่าต่อให้พลเรือนผู้นั้นกระทำผิดตามกฎหมายบ้านเมือง การจับกุมและลงโทษเขาก็ควรอยู่ในพื้นฐานของการคำนึงสิทธิและเสรีภาพ และรวมถึงสถานะของความเป็น ‘พลเรือน’ ซึ่งแตกต่างจาก ‘ทหาร’ อย่างไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้เลยด้วยซ้ำ และด้วยเหตุผลนี้ ผมจึงตัดสินใจออกจากบ้านแต่เช้าตรู่เพื่อไปร่วมรับรู้ในฐานะพลเรือนคนหนึ่ง ไปเพื่อรับทราบ ซึมซับว่าในฐานะส่วนหนึ่งของประเทศนี้แล้ว ผมพอจะทำอะไรได้บ้าง และอะไรบ้างที่ทำไม่ได้ ด้วยความคิดพื้นฐานง่ายๆ ว่า หากเราใจกว้างพอ และอยากรู้ความหมายที่แท้จริงของการกระทำใดๆ เราจำต้องมาดูให้เห็นกับตา  

ซึ่งไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ไหน เพียงการเดินรณรงค์ (แหละเราก็ใช้การเดินรณรงค์นี้มาตลอดหรือไม่ใช่?) ก็ไม่น่าจะเป็นอันตรายใดๆ ได้ ไม่น่าจะไปสั่นคลอนรากฐานทางความรู้สึกอันเปราะบางที่มีต่อสถาบันที่ควรมั่นคงแข็งแรงใดๆ ได้ หากสถาบันนั้นกรอปด้วยคุณงามความดีตามอ้างแล้วไซร้ 

ดังนั้น ผมจึงออกจากเดินทางจากบ้านที่ไทรน้อยมายังหน้าโรงเรียนโสตนนทบุรีบนถนนบางบัวทอง-ไทรน้อย (ซึ่งจริงๆ ผู้คนละแวกนี้เรียกถนนสายนี้ว่าถนนเทศบาลบางบัวทอง) โดยอาศัยรถสองแถวจากหน้าหมู่บ้านก็เดินทางมาถึงได้สะดวก อากาศยามเช้าและบรรยากาศของถนนบางบัวทอง-ไทรน้อยค่อนข้างเงียบสงบ แม้จะร้างไร้ผู้คน มีเพียงแต่รถนักข่าวก็ตาม ทำเอาตะหงิดในใจว่าตัวเองมาถูกวันหรือเปล่า? แต่ลองมีรถนักข่าวแล้วคงไม่ผิดแน่ๆ  ผมจึงตัดสินใจแวะเข้าร้านสะดวกซื้อ ซื้อน้ำและอาหารตุนไว้ เพราะคิดว่าหากต้องเดินจากบางบัวทองไปยังที่ทำการไทยรัฐจริงๆ ร่างกายนี้จะทานรับไหวไหม? 

จากนั้นผมก็นั่งรอพร้อมหนังสือที่หยิบติดตัวไปอ่าน จนกระทั่งเข็มนาฬิกาล่วงผ่านเจ็ดนาฬิกาเศษ เมื่อพันธศักดิ์ หัวเรือของกิจกรรมครั้งนี้ปรากฏตัวริมรั้วโรงเรียนโสตนนทบุรีเพื่อแถลงข่าว ผมก็เพียงยืนเมียงมองอยู่ไกลๆ เนื่องจากไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว และไม่นึกอยากเข้าไปรู้จักด้วย เพียงแต่อยากมีส่วนร่วมในฐานะส่วนหนึ่ง

หลังพันธศักดิ์แถลงข่าวเสร็จ การเดินจึงเริ่มต้นจากริมรั้วโรงเรียนโสตนนทบุรีมุ่งตรงขึ้นไปยังสี่แยกบางพลูเพื่อเลี้ยวซ้ายมุ่งไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ จนถึงแยกพงษ์เพชร จึงตัดเข้าถนนประชาชื่น ผ่านวัดเสมียนนารี ถนนกำแพงเพชร 6 ก่อนสิ้นสุดที่ สดมภ์อนุสรณ์ นวมทอง ไพรวัลย์ ยังหน้าที่ทำการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พอเห็นดังนั้น ผมก็สืบเท้าเดินตาม ไม่ไยต่อเสียงที่ลอยผ่านมาให้ได้ยิน “ให้พวกมันเดินไป” ผมไม่เห็นตัวคนพูด และไม่แน่ใจคำว่า ‘พวกมัน’ นี่คือพวกไหน? หากจะบอกว่าผมเป็นพวกเดียวกับพันธศักดิ์ คงต้องนั่งคุยกันยาวๆ ในนิยามความหมายของคำว่าพวกมัน  

แดดเริ่มแรง กระนั้น ผมยังไม่รู้สึกเหนื่อยกับการเดินร่วมๆ 3 ถึง 4 กิโลเมตรก่อนถึงแยกบางพูล ระหว่างทาง มีชาวบ้านริมทาง และคนงานก่อสร้างที่รอซ่อมแซมพื้นผิวถนนถามผมอยู่ 2 ครั้งว่ามาเดินทำอะไร ผมก็บอกไปตามเข้าใจ “อ๋อ มาเดินรณรงค์เพื่อไม่ให้พลเรือนต้องไปขึ้นศาลทหารครับ” มีอยู่คนถึงกับจับแขนผมแล้วถามทำไมต้องรณรงค์ พลเรือนไปทำผิดกฎหมายมาตราไหน? นั่นสิ ผมก็อยากถามเหมือนกัน แต่ผมไม่ได้ตอบเขาไปหรอก 

สิ่งที่ผมคิดระหว่างเดินตามหลังผู้ชายที่ชื่อพันธศักดิ์ และเมื่อหันหลังกลับไปไม่มีสักคนเดียวเดินตาม คือสภาวะว้าเหว่อธิบายไม่ถูก นอกจากกร่อนเป็นคำได้เพียง ‘ใจถึง’ เขาคิดอะไรบ้างนะ? ถ้าเกิดไปถึงสดมภ์นวมทองแล้วไม่มีพลเรือนสักคนเลยเดินตาม? 

20151403162609.jpg

กล่าวอย่างสัตย์ซื่อในขณะที่ได้ยินเสียงรถราบีบแตร เพราะต้องชะลอให้กับการเดินของคนเพียงคนเดียว ขณะที่ผมมองใบหน้าของชาวบ้านที่มองอย่างสงสัย บางคนมองอย่างข้องใจ และบางคนที่มองอย่างไม่พอใจ ผมกลับรู้สึกว่าเรา ทั้งผมและพันธศักดิ์ รวมถึงนักข่าว และมิตรสหายของพันธศักดิ์ ไม่สมควรมาเดินอยู่ข้างถนนแบบนี้สักนิดเดียว เราไม่ได้อยู่ในประเทศที่ประชาชนในฐานะพลเรือนมีสิทธิ์ที่จะได้ในสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วหรือ 

แวบของความคิดนั้นจบสิ้น เมื่อขบวนตำรวจที่ดักรอก่อนถึงสี่แยกบางพูลได้ทำการล้อมจับพันธศักดิ์แล้วอ้างประกาศตามคำสั่งรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งบอกว่าพันธศักดิ์ได้ละเมิดสิทธิทัณฑ์บน และกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งคณะรัฐประหาร

ผมนึกอยากให้วันนี้เป็นเพียงวันธรรมดาวันหนึ่ง วันธรรมดาอันแสนเรียบง่ายที่ไม่มีสิ่งใดผ่านเลยให้จดจำ หากไม่ใช่เพราะคำพูดนั้น คำพูดของพันธศักดิ์ที่กล่าวไว้ก่อนกิจกรรมพลเมืองรุกเดินจะเริ่มต้นในวันนี้ คำกล่าวที่ว่า 

“กิจกรรมพลเมืองรุกเดินไม่ใช่การกดดันกระบวนยุติธรรม แต่เป็นการพิสูจน์ว่าเมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่มาหาคุณ คุณก็ต้องเดินไปหามัน และเราจะเดินผ่านเส้นทางที่เป็นหมุดหมายสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นปฏิปักษ์รัฐประหาร เช่น จุดที่ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ผูกคอตายเพื่อพิสูจน์คำพูดของทหารว่า “ไม่มีใครยอมตายเพื่อประชาธิปไตย” อันเป็นความเชื่อผิดๆ ของทหารที่ฝักใฝ่เผด็จการ แต่ปากอ้างประชาธิปไตย หรือหมุดเฌอ บริเวณซอยรางน้ำ ซึ่งลูกชายผมเสียชีวิต เพื่อให้สังคมได้ทราบว่าผู้ที่ตายจากการสลายการชุมนุมไม่ได้มีแต่คนเสื้อแดง และถึงคุณจะอยู่นอกเขตการชุมนุม และเป็นเด็ก ทหารก็ฆ่าคุณได้”

20151403162627.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ