อานนท์ นำภา: ฉันเคลื่อนไหวฉันจึงมีอยู่

อานนท์ นำภา: ฉันเคลื่อนไหวฉันจึงมีอยู่

อานนท์ นำภา

เรื่อง: สันติสุข กาญจนประกร  ภาพ: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ

ผมเจอกับ อานนท์ นำภา ราว 3-4 ครั้ง ก่อนจะทำบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

ครั้งแรก, ในนามสื่อมวลชน ผมไปขอความรู้เขาเกี่ยวกับเรื่องนักโทษการเมืองเพื่อเขียนเป็นสารคดีชิ้นหนึ่งในฐานะที่อานนท์เป็นทนายความซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชน นอกเหนือไปจากการช่วยอำนวยความสะดวกให้ได้เข้าไปคุยกับผู้ที่โดนคดีมาตรา 112 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

“นักโทษการเมืองคือนักโทษทางความคิด” เขากล่าวกับผมในอีกเย็น

ครั้งถัดๆ มา, ในนามพลเมืองไทย ผมเจอกับอานนท์อีกในกิจกรรม จุดเทียนเขียนสันติภาพ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้กลุ่ม กปปส. ยุติการชุมนุมที่มีเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง และหากใจกว้างพอจะพาตัวเองไปอยู่ในที่เกิดเหตุ เราจะเห็นได้ว่าผู้ที่มาเข้าร่วมคือนักศึกษา คนรุ่นใหม่ และประชาชนธรรมดาๆ ที่อยากให้รักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ มีอะไรไปแก้ไขกันในนั้น
รวมถึงกิจกรรม เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ที่จัดขึ้นในวันวาเลนไทน์ปี 2558 เพื่อรำลึกถึง 1 ปี การเลือกตั้งที่ถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ 2 ก.พ.57

กับการพบกันในครั้งล่าสุด ผมชวนอานนท์นั่งลงพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่เขาร่วมจัดในนามกลุ่ม พลเมืองโต้กลับ ที่เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษา อาจารย์ นักกิจกรรมทางสังคม และญาติผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามทางการเมือง ส่วนเหตุผลในการสนทนา ไม่มีอะไรมากไปกว่า กลุ่มนี้แทบจะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ ในยุค
ที่ใครทำอะไรก็ดูจะไม่เข้าหูเข้าตาท่านนายกรัฐมนตรีไปเสียหมด 

พูดให้ถึงที่สุดก็คล้ายๆ ที่อานนท์ให้ทัศนะไว้ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ว่า นี่เป็นเรื่องของหลักการล้วนๆ

++ รู้สึกอย่างไรที่คนจำนวนหนึ่งพอเห็นหน้าคุณ หรือพ่อน้องเฌอ (พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ) โผล่มา ก็ไม่อยากดูแล้ว ไม่ว่าจะพยายามสื่ออะไรก็ตาม

เท่าที่ผมเห็นตอนนี้ ไม่มีนะ ส่วนใหญ่เขาจะพูดว่ามันมาทำอะไรกันอีกวะ คือจะมีคนดูนะ สังเกตจากคลิปที่เราทำ อย่างคลิป จูบเย้ยจันทร์ (โอชา) ปาเข้าไป 2 – 3 แสนวิวแล้วนะ ส่วนคนที่ดูแล้วไม่ชอบ กดอันไลค์ก็มีหลายร้อย แต่ที่ไม่ชอบก็เพราะผ่านการดูมาแล้ว คือต่อให้ไม่ชอบ ก็ต้องดู เพราะมันฮา ดูว่าไอ้พวกนี้มันทำอะไร นี่คือบุคลิกพิเศษของคลิปที่มันออกมา ส่วนคลิปที่ทำแบบซีเรียส เช่น คลิปอ่านบทกวี (I Walk Therefore I Am) คนเข้าไปดู 4 – 5 หมื่น อันไลค์น้อยหน่อย ถือว่ามันสื่อสารกับคนอีกแบบหนึ่ง สรุปคือเราทำ 2 แบบ คือฮา อย่างพูดเรื่องศาลทหาร เราก็แต่งชุดไทยไป และแบบซีเรียส

++ คำถามประเภทคนพวกนี้ ‘ไม่รักชาติเหรอ’ ยังมีอยู่ไหม

ไม่มีนะ เออ แปลก คือกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ออกมาทำกิจกรรม น้อยมากที่จะโดนด่าว่าเป็นพวกทักษิณ ก็แปลกนะ เดิมทีใครออกมาก็จะถูกตราว่าเป็นทาสทักษิณไว้ก่อน แต่กลุ่มพลเมืองโต้กลับไม่มีการโดนป้ายสีเรื่องนี้เลย แปลกมาก

++ ประเมินจากตรงไหนที่ว่าไม่มีการป้ายสี
ดูจากสื่อ สื่อที่เป็นฝ่ายตรงข้ามเอง ฝ่ายเสื้อเหลืองแบบเต็มๆ ก็ไม่มีการป้ายสีเลย

++ ย้อนกลับไปก่อนรัฐประหารปี 49 กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะแบบที่กลุ่มคุณทำพอจะมีบ้างหรือไม่

ก่อนปี 49 จะไม่มีกิจกรรมแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะว่าการเมืองอยู่ในช่วงชุลมุนมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2544 – 2548 สมัยรัฐบาลทักษิณ การเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ เริ่มจากที่หอประชุมธรรมศาสตร์ที่ คุณสนธิ ลิ้มทองกุลไปจัด แล้วพัฒนามาจนเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แล้วก็มีรัฐประหารในปี 49 ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์เหมือนในปัจจุบัน เป็นกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มเล็กๆ เกิดหลังรัฐประหารปีนั้น ผมเข้าใจว่าคนกลุ่มแรกๆ ที่ทำนำโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ ในนามเครือข่ายกลุ่ม 19 กันยาฯ ซึ่งมีลักษณะของการปราศรัยอยู่ แต่ก็มีการแยกกันไปทำอีก เช่น การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 กิจกรรมกินแมคโดนัลด์ที่เชียงราย และเริ่มมีการพัฒนาเป็นการใส่เสื้อสีแดง

++ สมบัติ บุญงามอนงค์ เคยพูดว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยดูแล้วเชยมาก คุณเห็นด้วยไหม

ไม่เชิงเชย แต่ว่ามันไม่ค่อยได้ผล ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เราชินกับการชุมนุมขนาดใหญ่แล้วมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วการชุมนุมแบบนั้นมันมีผลเสียทั้ง 2 ฝ่าย อย่างปี 2551 ก็มีการสูญเสียของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ไปชุมนุมหน้าทำเนียบ ตายไปหลายคน แม้แต่ กปปส. เองก็ตายไปหลายสิบคน เสื้อแดงก็ตายเป็นร้อย มันมีบทเรียนว่าการชุมนุมขนาดใหญ่ถ้าคุมกันไม่ได้ หรือถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมีมุมมองกับพลเมืองอีกแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ถ้าวิธีคิดยังไม่เปลี่ยนมันก็ต้องมีคนตายอีก ทีนี้คำว่าเชยของคุณสมบัติผมว่าคือความเสี่ยง และมันจะไม่ได้อะไรขึ้นมา

++ หลังปี 2549 เป็นต้นมา การจัดกิจกรรมแบบนี้มีพัฒนาการอย่างไร

ผมคิดว่ารูปแบบมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยซ้อนกันอยู่ว่าเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มไหน เริ่มต้นจากการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่โดยพันธมิตรฯ ปี 2551 – 2552 ปลายปี 2552 ก็มีเสื้อแดงซึ่งพัฒนาเป็นกลุ่มชุมนุมขนาดใหญ่ มีคนหลักหมื่นมาชุมนุมในกรุงเทพฯ แล้วปี 2553 กิจกรรมทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์กลุ่มเล็กๆ เริ่มเป็นกลุ่มอิสระ เช่น กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กลุ่มแกนนอน พอหลังรัฐประหารปี 57 มีความชัดเจนขึ้น เป็นกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว มีการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือ ก่อนเลือกตั้งมีการจุดเทียน นัดกันไปชู 3 นิ้ว กินแมคโดนัลด์ กลุ่มที่ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อย่างอิสระ ทั้งนี้ ผมว่าเป็นกลุ่มที่ไม่อิงพรรค ไม่อิง นปช. ไม่อิงพันธมิตรฯ

++ ถ้าให้ลองประเมิน คิดว่าคนจัดกิจกรรมในบ้านเรามีจุดไหนที่ยังไม่รัดกุม

อาจเป็นเรื่องข้อเสียเปรียบมากกว่า คือทางเจ้าหน้าที่รัฐจะรู้ทันว่าเราจัดกิจกรรมพวกนี้มันไม่ผิดกฎหมายแน่ๆ ทีนี้เขาก็จะผุดไอเดียขึ้นมาว่าจะทำอย่างไรให้การจัดกิจกรรมต้องยุติ เช่น ห้ามจัดกิจกรรมทางการเมืองเกิน 5 คน เราก็พยายามเลี่ยงไปจัดกัน 3 – 4 คน แม้แต่เดินคนเดียวก็โดนจับ คิดดูสิ พอมันทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายเขาก็เอากฎหมายมาระงับอยู่ดี คือโดยตัวของมันเองไม่มีปัญหา และค่อนข้างสงบสันติด้วยซ้ำ เพราะว่าทำแบบไปเร็วมาเร็ว ไม่ได้ยืดเยื้อ

++ ในแง่ความคิดสร้างสรรค์ ได้ลองศึกษากิจกรรมของต่างประเทศบ้างไหม มีอะไรที่คุณประทับใจและคิดว่าสามารถนำมาปรับใช้ได้

ตอนนี้เรามีโลกออนไลน์ มีอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ได้เห็นการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวของต่างประเทศ การจัดกิจกรรมตามห้างสรรพ-สินค้า หรือแม้แต่กินแมคฯ เราก็ได้แนวคิดมา การศึกษาการจัดกิจกรรมของต่างประเทศ รวมถึงการทำคลิปล้อเลียน ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองกลายเป็นเรื่องสนุก แต่ว่ายังคงมีประเด็นอยู่

++ การจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง สิ่งสำคัญสุดที่คุณคิดว่าต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ คืออะไร

แรกสุดคือเรื่องความปลอดภัยของคนจัดและคนเข้าร่วมกิจกรรม เราต้องจัดในพื้นที่ที่ไม่อันตรายและไม่มีเนื้อหาที่เป็นอันตราย สอง… เราต้องคุมธีมงานให้ได้ว่าต้องการสื่อสารอะไร ประเด็นก็คือในสถานการณ์ปกติ เวลาเราสื่อสารอะไรที่แหลมคม มันไม่มีปัญหา แต่ในสถานการณ์ที่มันไม่ปกติ ต่อให้เราสื่อสารอะไรที่เป็นเรื่องพื้นๆ ก็ยังโดนจำกัด โดนกำจัดโดยรัฐอยู่ดี เช่น เราพูดถึงเรื่องเลือกตั้ง ซึ่งสังคมประชาธิปไตยทั่วไปมันพูดได้ แต่ในสังคมที่จำกัดมันกลับเป็นเรื่องผิดกฎหมายไป หรือแม้แต่การอ่านหนังสือ 1984 คนเดียวก็ยังโดนลากไป คือจริงๆ มันไม่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว

++ กิจกรรมของพลเมืองโต้กลับไม่ว่านอกสถานที่ หรือเป็นการเคลื่อนไหวบนสังคมออนไลน์ ดูเหมือนรูปแบบต่างๆ ต้องการให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ เป็นความตั้งใจหรือเปล่า  

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คนจำนวนหนึ่งที่มีการเลือกข้างทางการเมืองไปแล้ว เป็นผู้ใหญ่อายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งผมว่าวัยรุ่น คนรุ่น-ใหม่นั้นยังไม่เลือกข้าง พวกเขามีความเป็นเสรีชนสูง ส่วนเราเองเป็นเหมือนคนขายของ คือนำเสนอความคิดของเราไปว่า เราไม่ได้เชียร์ทักษิณ ไม่ได้เชียร์เสื้อแดง หรือเชียร์ใครต่อใครแบบแยกข้าง เราพูดในเนื้อหาสาระที่มันเป็นหลักการ เพื่อสื่อสารกับคนรุ่นใหม่เหล่านี้ให้เข้าใจ ต้องเอาให้เข้าใจง่ายๆ ด้วยนะ เช่น การไปยืนอ่านหนังสือก็ผิด ให้เข้าใจว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย นอกจากคนกลุ่มนี้ที่เน้น เรายังเน้นไปยังกลุ่มคนที่เห็นต่างด้วย แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเราไม่ได้บ้าบอคอแตกเลือกข้างเหมือนที่เข้าใจกัน เราพยายามดึงคนกลับมาสู่สามัญสำนึกพื้นฐานว่าประเทศมันเกิดอะไรขึ้น และพยายามทำให้มันกลับมาเป็นปกติ

++ สำหรับคนที่คุณใช้คำว่าเห็นต่าง พูดตรงไปตรงมาคือเห็นกลุ่มคุณเป็นพวกปกป้องนักการเมืองโกงกิน คนกลุ่มนี้ยังมีความหวังในการสื่อสารด้วยมากน้อยเพียงใด  

จากที่พยายามสื่อสาร เราพบว่าคนเข้าใจมากขึ้น อย่างที่ทำกิจกรรมซึ่งพ่อน้องเฌอไปเดิน คนเข้าใจมากขึ้นว่าไปจับเขาทำไม ก็ลูกเขาตาย ทั้งๆ ที่เป็นอีกฝ่ายหนึ่งด้วยนะ เป็น กปปส. เป็นเสื้อเหลือง ผมคิดว่าพวกเขาเข้าใจถึงสถานการณ์ตอนนี้ว่ามันไม่ใช่เรื่องเลือกสีแล้ว แต่เป็นเรื่องของพลเมืองที่ต้องการแสดงออกไปถึงคนที่มาจำกัดสิทธิของพลเมือง พวกเขาแยกออก แม้แต่นักข่าวหลายสำนักก็พยายามนำเสนอกิจกรรมของเรา ขนาดสำนักข่าวที่เลือกข้างอย่างชัดเจน เช่น เอเอสทีวี ก็พยายามนำเสนอ และนำเสนออย่างเป็นกลาง เป็นธรรมอย่างน่าตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น

ที่เป็นอย่างนี้ผมคิดว่าคนที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหลังๆ ค่อนข้างใส ไม่มีเบื้องหลัง ไม่อิงการเมือง คือออกมาตามหลักการแล้วก็สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาว่าต้องการอะไร อีกอย่าง คนกลุ่มนี้เดิมทีเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวแบบเปิดเปลือยและตรงไปตรงมาอยู่แล้ว เช่น ตอนพรรคเพื่อไทยเคยเสนอ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง พ่อน้องเฌอ กลุ่มน้องสิรวิชญ์ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มผม และอีกหลายๆ คนก็ออกมาคัดค้าน พูดง่ายๆ คือจะรัฐบาลไหนเข้ามาแล้วมีนโยบายที่ไม่ถูกต้อง เราก็ออกมาคัดค้าน ออกมาแสดงความคิดเห็น ตรงไปตรงมากับประเด็น

++ กลุ่มคนที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร มีเข้ามาแสดงความเห็นในเพจเฟซบุ๊คบ้างไหม อย่างเช่นอยากให้อดทนรอรัฐบาลชุดนี้ทำงานผ่านไปก่อน แล้วคุณมีคำอธิบายกลับไปอย่างไร

คนที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้ามาคอมเมนต์นะ อันนี้แปลก แต่คนที่มาคอมเมนต์ให้รออย่างที่คุณว่าคือพวกเพื่อไทย คือทำตามที่คุณทักษิณบอกให้รอ เป็นกลุ่มนั้นมากกว่าที่เข้ามาแสดงความเห็นในเพจที่เราทำ คนที่เห็นด้วยกับรัฐประหารหลังๆ มาเขาเปลี่ยนไปนะ เขาคิดว่าก็เป็นสิทธิที่กลุ่มกิจกรรมจะแสดงออก เพียงแค่ขอให้อยู่ในกรอบได้ไหม อย่าไปก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย ซึ่งกิจกรรมที่เราทำไม่ได้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายอะไรเลย ไม่มีการปิดถนน เดินก็เดินบนฟุตบาท ล่าสุดผมทราบข่าวว่ากลุ่มที่เชียร์รัฐประหาร กลุ่ม กปปส. เริ่มไม่พอใจรัฐบาลชุดนี้จึงมีการแชร์คลิปการเมืองของเรา คลิปร้องเพลงจูบเย้ยจันทร์ (โอชา) แชร์ขำๆ กันไป

++ อย่างกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักที่หน้าหอศิลป์ เห็นได้ว่าคนมากันน้อย ประเมินได้ไหมว่าทำไมไม่มาเข้าร่วมกันมากกว่านี้ 

ที่คุณบอกว่าน้อย เพราะไปประเมินเทียบกับการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ แต่ถ้าเราประเมินว่ามันเป็นแค่กิจกรรม วันนั้นถือว่าคนเยอะนะ หลายสิบคน ผมคิดว่าถ้ารวมบนสะพานลอยด้วยก็น่าจะเป็นร้อยได้ แต่หากไปเทียบกับการเมืองในภาพขนาดใหญ่ ไปคาดหวังว่าจะเป็นการชุมนุมที่คนต้องยกกันมา มีปราศรัย มันไม่ใช่ นี่คือการจัดกิจกรรม แจกของเพื่อการรณรงค์ แค่นั้น แต่ก็มีประเด็นของมัน

++ หรือว่าจริงๆ แล้วพวกคุณต้องการแค่พื้นที่ทางหน้าสื่อ ไม่ได้ต้องการปริมาณคน

ไม่ใช่พื้นที่สื่อ แต่เราต้องการพื้นที่ในการสื่อสาร เพราะรู้ว่าคนที่มา… สมมติว่าสักร้อยคน ถ้าเขามาถ่ายรูปแล้วก็โพสต์รูปไป มันแชร์ต่อได้เป็นพันเป็นหมื่น พื้นที่ในการสื่อสารมันไม่จำเป็นต้องมากันเป็นแสนแล้วไม่ต้องปิดถนนแล้ว หากมีการถ่ายทอดสดทางทีวี เรานั่งดูที่บ้านก็ได้

++ ถ้ามีคนพูดว่ากิจกรรมของพวกคุณเป็นสิ่งที่เสียแรงเปล่า สู้ไปก็ไร้ประโยชน์ รู้สึกอย่างไร  

ก็ถูกต้อง เพราะกิจกรรมแบบนี้ไม่ได้เป็นการสู้กับใครอยู่แล้ว ไม่ได้คิดเอากิจกรรมนี้ไปล้มล้างรัฐประหาร แต่พยายามสื่อสารต่อสังคมว่ามันเกิดอะไรขึ้น คุณเลิกกลัวได้แล้ว คุณอยากแสดงออกทางการเมือง ไม่พอใจ คุณก็มาแสดงออกอย่างสันติ อย่างสงบ เราต้องการเลือกตั้ง เราต้องการแสดงความรักกับเจ้าหน้าที่โดยการเอาดอกไม้ไปมอบให้ เราก็ออกมา ก็สื่อสารกันตรงๆ ไม่จำเป็นต้องมีคนเห็นด้วยเป็นหมื่นเป็นแสน ไม่ต้องออกมาร่วมขนาดนั้น แค่แชร์กันต่อไป มันอยู่ที่ว่าประเด็นของเราสื่อสารได้หรือเปล่า

++ ในทางกลับกัน อาจมีคนที่รออยู่ว่าเมื่อไหร่จะมีม็อบที่มันถึงพริกถึงขิง จะได้แตกหักเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงกันไปเลย คุณมีอะไรอยากสื่อสารไหม

มันอันตรายถ้าจะมีการชุมนุมขนาดใหญ่ ยิ่งในภาวะที่ทาง นปช. อยู่บนหลังเสือแล้วลงไม่ได้ ผมคิดว่าโอกาสของการปราบปรามขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเมืองไทยจะสูงมาก เพราะทาง คสช.เองก็ถอยไม่ได้เช่นกัน และยิ่งสถานการณ์การเมืองแบบนี้  ยิ่งต้องเข้มงวดขึ้น ฉะนั้น ม็อบแบบที่คนออกมาเยอะๆ ผมว่าอันตรายมาก การเขย่าทางการเมืองต้องใช้วิธีแบบนี้แหละ กลุ่มย่อยๆ แบบสันติ แล้วมันจะพัฒนาไปเอง คือถ้ามีหลายๆ กลุ่มช่วยกันจัดแบบสงบ ย้ำประเด็นการเลือกตั้ง สุดท้ายแรงกดดันจะไปตกที่ คสช. พวกเขาต้องจัดเลือกตั้งตามที่สัญญาไว้ ไม่ใช่การไปบังคับเขาว่าต้องออกไป แบบนั้นไม่ใช่

++ อย่างที่ต้องหาเงินประกันตัวเองจากการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ถามจริงๆ ว่ารู้สึกยังไง

มันเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกกังวลหรือกลัวอะไร เพราะผมไปศาล ไปเรือนจำเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ได้ซีเรียส เหมือนหมอ เวลาป่วยก็ต้องพาตัวเองไปโรงพยาบาล เป็นการเพิ่มความยุ่งยากขึ้นบ้าง ทำให้เราเสียเวลาในการไปทำงานช่วยคนอื่น
++ ความสำเร็จของการจัดกิจกรรมมันวัดผลได้ไหม แค่ไหนถึงน่าพอใจ
ผมคิดว่ากิจกรรมมีผลกระทบในทางของการรับรู้พอสมควร คือเรากลับมาพูดเรื่องการเลือกตั้ง เรากลับมาพูดเรื่องบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติกับพลเมือง บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐที่กำหนดการแสดงออกทางการเมืองของพลเมือง ซึ่งมันงี่เง่ามาก ห้ามพูดห้ามทำอะไรเลย อันนี้เป็นการขยายภาพให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรามาพูดเรื่องพลเมืองต้องไม่ขึ้นศาลทหาร มันยิ่งไปตอกย้ำว่าศาลทหารไม่ได้ถูกดีไซน์มาเพื่อพลเมืองและสุดท้ายเจ้าหน้าที่รัฐก็มีการถอยระดับหนึ่ง เช่น มีการปล่อยตัวพวกเราโดยไม่มีเงื่อนไข หรือมีการยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งเราก็ไม่ได้ไปเคลมว่ามันเกิดจากการชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมของเรา คือถ้าทุกคนมีส่วนร่วมในการพูด สื่อสาร ผมคิดว่ามันน่าจะทำให้ คสช. ปรับท่าทีได้ แต่จะหวังว่าให้ออกมาเป็นแสนแล้วจบ เป็นไปไม่ได้หรอก

22

++ โดยภาพรวม คุณคิดว่ากลุ่มที่ทำกิจกรรมทางการเมืองแบบสันติน้อยเกินไปไหมในบ้านเรา 

จริงๆ ก็ไม่น้อย ที่ยังน้อยเพราะคนยังกลัวอยู่ แต่จริงๆ มีหลายกลุ่ม ก่อนหน้าเราก็มีดาวดิน กลุ่มชาวบ้าน หรือแม้แต่คนที่ทำในนามปัจเจกก็ยังออกมาโปรยใบปลิว มีคนที่รู้สึกว่าโดนความกดดัน ตึงเครียด อยากแสดงออกเยอะมาก แต่มีภาวะของความกลัวอยู่ และนั่นคือหน้าที่ของกลุ่มเราที่ต้องออกมาทำลายความกลัวของคนทั้งประเทศ เราสุจริตในการออกมาแสดงความคิดเห็น แทนที่คุณจะเปิดพื้นที่ให้เขาพูด ให้เขาแสดงออกว่าไม่พอใจ คสช. ยิ่งไปกดมันยิ่งทำให้คนลงใต้ดิน วิธีการที่ทำก็จะผิดกฎหมาย บรรยากาศเลยอึม ครึม เขาต้องการเลือกตั้ง เขาต้องการมีส่วนร่วมในทางการเมือง คุณก็ไปบีบบังคับให้เขาไปโปรยใบปลิวตอนเที่ยงคืนตีสอง ยิ่งทำให้ทุกอย่างมันแย่ลง

จริงๆ ไม่ต้องออกมามากกว่านี้ก็ได้ เพียงแต่ต้องมีพื้นที่อื่นที่สามารถแสดงออกได้ คือถ้าเราดูในโซเชียลเน็ตเวิร์ค มันก็ยังมีคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอีกตั้งเยอะ แม้แต่รายการข่าวที่เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นก็มีคนส่งข้อความเข้ามา คือเราต้องค่อยๆ ออกมา มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องออกมาตูมเดียว

ผมชอบบรรยากาศการชุมนุมของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง เป็นการใช้เสรีภาพ คือถ้าคุณไม่เห็นด้วย คุณต้องการแสดงออกคุณก็ออกมา ตราบที่คุณไม่ไปก่อความวุ่นวาย ไม่มีการพกอาวุธไปยิงกัน คุณก็ออกมา ผมเชียร์จะตาย อย่างพุทธอิสระที่ออกมา มีอะไรอยากแสดงก็ออกมา คนที่เขาเดือดร้อนเรื่องยางเขาก็ออกมาชุมนุม นี่คือสังคมประชาธิปไตย เราต้องพยายามผลักและเขยิบ
ให้เข้าไปสู่สังคมประชาธิปไตยมากที่สุด

ในขณะที่คสช. พยายามกันพื้นที่ จำกัดสิทธิ์ให้มากที่สุด ตอนนี้มีปะทะกันอยู่ระหว่างความคิดประชาธิปไตยกับเผด็จการ ว่าอะไรมีเหตุมีผลมากกว่ากัน แต่ว่าข้อเสียเปรียบของฝ่ายประชาธิปไตยคือมันต้องสงบ สันติ ไม่มีความรุนแรง แต่ว่าฝ่ายเผด็จการมันไม่มีข้อจำกัดนี้ วันดีคืนดีก็อุ้มไปเข้าค่าย 7 วัน วันดีคืนดีก็มีการซ้อมอย่างที่เป็นข่าว เขาไม่ได้มีเงื่อนไขข้อจำกัดแบบฝ่ายพลเมือง เพราะว่าถ้าพลเมืองไปทำให้เกิดความรุนแรง มีอาวุธ จะสูญเสียความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว ในการจัดกิจกรรม

++ เคยโดนค่อนขอดไหมว่า เอะอะๆ คุณก็ชอบอ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แล้วฝ่ายอื่นๆ เขาไม่เป็นหรือไง

ก็มันเป็นประชาธิปไตยไงครับ ง่ายๆ ส่วนฝั่งอื่นที่เรียกร้องให้มีการออกมาปล้นอำนาจ มันก็ไม่เป็นในตัวมันเองอยู่แล้ว เวลาพูดถึงประชาธิปไตยเราต้องดูที่เนื้อหา ไม่ใช่ดูที่คำพูด

++ ในแง่ของการเอาอุปกรณ์ต่างๆ มาเสริมมาเติมให้การจัดกิจกรรมมันดูสนุกหรือสดใสกว่านี้ล่ะ?  

คือมันทำให้บรรยากาศในการเคลื่อนไหวซอฟต์ลง เช่น การทำคลิปเพลงจูบเย้ยจันทร์ (โอชา) มันเป็นไอเดียของกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองมันมีความตลกด้วย และแหลมคมในประเด็นด้วย ซึ่งก็ไม่ได้ทำอะไรยากเลย เราค่อนข้างโชคดีที่ไม่จำเป็นต้องมีบุคลากรเยอะ เพราะว่าเรามีอุปกรณ์เยอะกว่า คือเรามีกล้อง มี เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ แม้แต่ไอโฟนก็สามารถถ่ายคลิปฮาๆ แบบนี้ได้ อย่างล่าสุดคลิปของนักกิจกรรมที่เชียงใหม่ทำออกมาเขาก็ใช้กล้องเล็กๆ ทำคลิปสั้นๆ ออกมาแล้วก็เผยแพร่ แต่มันมีความแหลมคมในประเด็นและสามารถจูงใจคนง่าย สามารถแชร์ได้ง่าย กดคลิกเดียวก็แชร์ไปทั่วเลย

++ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะมีผลต่อการจัดกิจกรรมแบบนี้ไหม

จริงๆ อำนาจของคณะรัฐประหารพยายามจะออก พ.ร.บ.ตัวนี้มา 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรกปี 2550 แต่ออกไม่สำเร็จ แล้วพอปี 2557 ก็มีการเสนอเข้าไปอีก พูดโดยรวมคือมันจะจำกัดสิทธิการชุมนุมให้ทำยากขึ้น ทะเล่อทะล่าชุมนุมไม่ได้นะ ต้องไปแจ้งเพื่อให้เขาอนุญาตก่อน ซึ่งมันขัดกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุม เพราะการชุมนุมคือการไปต่อรองเรียกร้องกับรัฐโดยตรง แล้วถ้าไปขอแล้วเขาไม่อนุญาตล่ะ หรือแม้แต่การกำหนดพื้นที่ชุมนุม ไม่ให้ไปชุมนุมใกล้เขตพระราชฐาน หรือในสถานที่ราชการ มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ให้ไปชุมนุมที่ท้องนาแล้วใครจะไปรู้ สรุปคือพ.ร.บ.ตัวนี้ออกมาเพื่อจำกัดสิทธิการชุมนุมโดยเฉพาะ

แต่เราจะพยายามทำกิจกรรมให้ได้เรื่อยๆ สื่อสาร และทำให้คนผ่อนคลาย ไม่ให้เกิดความกลัว อันนี้คือจุดประสงค์หลัก แล้วโดยรวมอย่างที่บอก เราไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นปฏิปักษ์กับคณะรัฐประหารโดยตรงนะ แต่ถ้าเราเห็นว่าสิ่งที่เขาทำ บทบาทหน้าที่ หรือท่าทีอะไรบางอย่าง มันเป็นการคุกคามประชาชน พลเมือง เราก็ต้องโต้กลับ เราไม่อยากเห็นการปะทะในเชิงเอาเป็นเอาตาย คือต่อให้คุณมึงขัดแย้งกันแค่ไหน คุณมึงก็อยู่ในสังคมเดียวกัน มันต้องพูดกันอยู่ดี ต้องฮาๆ พูดกันด้วยเหตุผล

++ มาตรา 44 คิดเห็นอย่างไร

จริงๆ มันก็ไปลอกมาจากกฎอัยการศึก ไม่มีอะไรต่าง ถ้าจะต่างคือต่างไปในแง่ร้ายขึ้น เช่น เดิมทีพนักงานที่มาสอบสวนคดีอาญาเป็นตำรวจ แต่ตอนนี้เขาเขียนเพิ่มให้ทหารสอบสวนได้ หรือว่าไปจับไปค้น เดิมทีต้องมีหมายค้น ตอนนี้ก็ให้ทหารทำได้เลย หรือการเรียกรายงานตัวก็ยังทำได้อยู่ การขัดคำสั่งเจ้าพนักงานมีโทษ หรือแม้แต่การชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เดิมทีออกตามกฎอัยการศึก พอจะเลิก ก็มาออกใหม่ในคำสั่งที่ 3/58 โดยอาศัยมาตรา 44 แล้วก็เจ้าพนักงานหรือข้าราชการที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ก็ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งทางอาญา ถ้าไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ

การจัดกิจกรรมเรายืนยันว่าทำได้และจะทำต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เราต้องไม่พยายามไปทำตามอะไรที่เขากำหนดเป็นกรอบเพื่อกดเรา พลังของมันคือการสื่อสารทางตรงกับประชาชน เราพูดถึงเรื่องเลือกตั้งที่(ลัก)รัก ทุกคนในสังคมเข้าใจแล้วว่าเมื่อปีที่แล้วมันมีการล้มเลือกตั้ง เราจะได้เลือกตั้งอีกเมื่อไหร่ ทุกคนเข้าใจร่วมกันว่าเราพยายามพูดถึงเรื่องนี้ เราสื่อสารไปถึงคสช. ด้วยว่าคุณต้องจัดเลือกตั้งตามที่คุณสัญญาไว้นะ จะปลายปีหรือต้นปี ไม่เกินนี้ สำหรับในที่มืด มันเหมือนแสงไฟดวงเล็กๆ แม้เป็นเพียงจุดเล็ก แต่ถ้าทุกคนมองมาแล้วจะเห็น

++ หลายคนต้องแย้งแน่ๆ ว่าไม่เห็นจะมืดตรงไหน

มืดสิ ใครบอกว่าประเทศไทยสว่าง ถ้าคุณบอกว่าสว่าง กล้าไปยืนชู 3 นิ้วกลางสี่แยกปทุมวันหรือเปล่า มันต้องชูในที่มืด ไม่ให้คนเห็น ถ้าไปทำในที่สว่างมันติดคุก มืดในความหมายนี้ คนที่บอกว่าถ้าไม่ทำก็ไม่โดนจับ มันเหมือนที่มีใครสักคนเปรียบเทียบเป็นหมาที่โดนล่ามโซ่ ถ้าไม่เดินไปสุดโซ่ มันก็ไม่รู้หรอกว่ามันโดนจำกัดสิทธิ์ คุณไม่ต้องเดินไปสุดโซ่ มีคนเอาข้าวมาให้กิน คุณก็กิน แต่เวลาที่เดินไปสุดโซ่แล้วคุณจะรู้สึกว่าถูกจำกัดสิทธิ์ขึ้นมาทันที ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

++ โดนจำกัดสิทธิเพื่อไปสู่โลกที่สวยงามกว่า ไม่มีการโกงกิน ยอมหน่อยไม่ได้หรือ

เสรีภาพในกระบวนการประชาธิปไตยต้องมีการตรวจสอบด้วย แต่เสรีภาพในระบบแบบเผด็จการมันไม่มีการตรวจสอบ ถามว่าตอนนี้คุณไปวิพากษ์วิจารณ์คสช. ได้หรือเปล่า ไปตรวจสอบได้หรือเปล่า ตอบได้อย่างมั่นใจว่าไม่ได้ สังคมที่มีการตรวจสอบทำให้รู้ว่ามีการโกง นี่คือข้อแตกต่าง อย่างน้อยเราก็สามารถด่ายิ่งลักษณ์ได้ว่าโกง อย่างน้อยเราสามารถตรวจสอบได้ว่าเขาทุจริตจำนำข้าว แต่รัฐบาลนี้มันทำไม่ได้ ไม่ได้แม้แต่จะพูดว่าขอตรวจสอบ

++ ชีวิตตอนนี้มีอะไรอัดอั้นตันใจไหม หรือว่าสบายๆ
ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ อยากมีแฟน อยากมีเมียเป็นปกติกับเขา เพราะต่อไปนี้มันต้องว่าความ ต้องขึ้นศาล ต้องเสี่ยงคุก โอกาสจะมีแฟนคงยาก สาวๆ ที่ไหนจะเห็นใจผม ใครอยากมีแฟนติดคุกบ้าง ไม่มี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ