พระสงฆ์กับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

พระสงฆ์กับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

        ตายแล้วไปไหน  ตายแล้วได้เจอกับอะไร เป็นคำถามที่คนก่อนตายหรือแม้กระทั่งคนทั่วไปอยากจะรู้ สวรรค์และนรกมีจริงตามคติความเชื่อที่กล่าวต่อๆ กันจริงหรือเปล่า ทัศนคติเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้ที่ใกล้ตายดิ้น ขัดขืน เพราะเกรงว่าตนจะพบกับความทุกข์เมื่อจากโลกนี้ไป

      ในกระบวนการรักษาของระบบสาธารณสุขไทยนั้น หากพบว่าผู้ป่วยเข้าสู่วาระสุดท้ายตามการวินิจฉัยของแพทย์แล้ว คงเพียงทำการรักษาแบบประคับประคอง มีสายต่อเข้าร่างกายระโยงระยาง เพื่อช่วยหายใจ จนผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานมากขึ้น ซึ่งมีบ้างบางครั้งที่ผู้ป่วยแอบถอดเพราะอยากพ้นจากความทุกข์ตรงนี้ไป และพระสงฆ์จะเกี่ยวข้องก็ต่อเมื่อผู้ป่วยสิ้นชีวิตลง เป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนา 

     มีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งไม่ปล่อยให้โอกาสทองนี้หลุดหายไป  โอกาสที่จะช่วยให้ผู้ป่วยใช้หลักธรรมะในการเยียวยาจิตใจ ลดความทุกข์ ที่กำลังเผชิญอยู่ ผู้ใกล้ตายมักจะกังวลอนาคตหรือจมอยู่กับอดีตจนความทุกข์เกิดขึ้นทางใจมากกว่าทางกาย บทบาทของพระสงฆ์ในการทำงานกับผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น จะเป็นผู้ให้กำลังใจและพูดหลักธรรมะตามความเหมาะสมของผู้ป่วย หลักสำคัญที่พระสงฆ์ใช้ก็คือ อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา ที่ช่วยให้ผู้ป่วยหันกลับมาพิจารณากับความทุกข์ทางกาย และสามารถที่จะหลุดพ้นความทุกข์ทางใจได้ ให้นึกถึงความดีที่ตนเองได้เคยกระทำมา  ช่วยคลี่คลายความทุกข์ใจที่ค้างคาของผู้ป่วยในเรื่องต่างๆ รับฟังผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ  หากผู้ป่วยประสงฆ์จะทำบุญก็ให้ญาติเตรียมการทำบุญง่ายๆ ให้ญาติได้มีโอกาสทำพิธีขอขมาในยามที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกไม่รู้ติดขัดภายในใจ

     แม้เพียงจะเป็นกิจกรรมง่ายๆ แต่ผลที่เกิดขึ้นต่อผู้ป่วยและญาติกลับยิ่งใหญ่ในยามที่กำลังเผชิญกับความทุกข์  ผู้ป่วยมีอาการสงบ  บางรายของดใช้ยาแก้ปวด ญาติๆ ก็ลดอาการเศร้าโศกพร้อมที่ส่งดวงวิญญาณด้วยความสงบ พร้อมกันนี้ยังให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสตัดสินใจว่าจะอยู่ที่โรงพยาบาลจนวาระสุดท้ายหรือว่ากลับไปอยู่กับญาติพี่น้องในช่วงสุดท้ายของชีวิตที่

   อย่างน้อยผู้ป่วยก็มีสิทธิ์ในการตัดสินใจชีวิตของตนเอง

การทำงานภายใต้แนวคิดดังกล่าวจึงเกิดขึ้น โดยการรวมกลุ่มระหว่างพระสงฆ์ โรงพยาบาล และจิตอาสาในชุมชน ที่มีกระบวนการเข้าไปทำงานกับผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 “เราจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจความเจ็บป่วย ยอมรับความเจ็บป่วย เราจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยซึ่งไม่ได้ป่วยเพียงแต่กายแต่ป่วยใจ ได้เข้าใจว่า ความป่วยใจนั้นเป็นความหลงผิด ส่วนความป่วยทางกายก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีใครที่ไม่เจ็บป่วย ส่วนสำคัญคนรอบข้างก็จะป่วยใจด้วย”พระอาจารย์ ครรชิต อกิญจโณ เจ้าอาวาสวัดป่าลานหินตัดได้กล่าวเสริมในเรื่องนี้

      ไมเพียงแต่ผู้ป่วยที่ได้รับอานิสงส์จากการทำกิจกรรม แต่ยังช่วยให้แพทย์พยาบาลลดการถูกฟ้องร้องจากญาติผู้ป่วยอีกทางหนึ่งด้วย เพราะเข้าใจดีว่า บุคลากรเหล่านี้ก็ทำอย่างเต็มที่อยู่แล้ว เกิดการเห็นอกเห็นใจขึ้นทั้งสองฝ่าย

      ปัจจุบันพระสงฆ์ โรงพยาบาล และจิตอาสา เป็นทีมทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามภูมิภาคต่างๆ ประกอบไปด้วย  ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 กว่าโรงพยาบาล เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานระหว่างภาคต่างๆ เชื่อมโยงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบ  ถือว่าเป็นอีกขบวนการหนึ่งที่จะร่วมปฏิรูประบบสุขภาพไทยในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้าย  

โดย ธวัชชัย  จันจุฬา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ