องค์กรบรรเทาทุกข์คริสจักรนอร์เวย์ (Norwegian Church Aid) เปิดแถลงยุติงานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ณ สวนอาหาร Eat On Earth จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังที่ดำเนินงานในประเทศไทยถึง 30 ปี ในฐานะองค์กรทุนที่ได้การสนับสนุนจากรัฐบาลนอร์เวย์
หากย้อนดูประวัติศาสตร์การทำงานขององค์กรนี้ในประเทศไทยพบว่า มีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยไม่น้อย เริ่มตั้งแต่ปี 1990 ทำงานกับรัฐบาลไทยลดการปลูกฝิ่นในสามจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นที่รู้กันว่าปัญหาฝิ่น แพร่ระบาดอย่างนัก ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย และคุณภาพชีวิตประชาชน ผลการดำเนินงานในครั้งนั้นทำให้ปัญหาการปลูกฝิ่นลดลงและพี่น้องชาวเขาหันมาปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน
ต่อมาประเทศไทยเผชิญปัญหา การแพร่ระบาดของเชื้อเอช ไอวี/เอดส์ ส่งผลกระทบอย่างนักต่อประชาชน โดยเฉพาะภาคเหนือจะมีปรากฏการเรื่องการตกเขียว ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่าภาคอื่นๆ ขณะที่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวีของประชาชน ในขณะนั้นถือว่าเป็น”ศูนย์” รัฐบาลไทยต้องทำงานอย่างนักเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
องค์กรบรรเทาทุกข์คริสต์จักรนอร์เวย์ จึงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายในการทำงานด้านการป้องกันและให้ความรู้ที่ถูกต้องต่อผู้ติดเชื้อ ด้านการดูแลตนเอง พร้อมๆ กับการพัฒนาเครื่องมือและสื่อจะเข้าไปทำงานกับชุมชน
อาจกล่าวได้ว่าเป็นองค์แรกๆ ในการเข้าไปทำงานกับชุมชนอย่างแท้จริง จนต่อมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนโลกเมื่อปี 2007 ได้ขยายความร่วมมือกับองค์กรทางศาสนาประกอบไปด้วย ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนามุสลิม จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตในชุมชน 60 แห่ง ทุกภูมิภาค เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อภายใต้ประยุกต์หลักธรรมทางศาสนา
Mr.Eivind Aalborg : Director of international Department กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป ผู้บริจาคเงินก็เปลี่ยนไปจากกลุ่มเดิม NCA จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปิดสำนักงานในประเทศไทย และมองหาประเทศยากจน ที่อยู่ใสภาวะยากลำบาก มีภัยพิบัติ ขณะเดียวกัน NCA ก็ไม่ได้ดำเนินงานอย่างอิสระ แต่ผูกกับนโยบายของรัฐบาลนอร์เวย์ เพราะได้รับงบประมาณสนับสนุนต่อปีถึง 60 % ที่เหลืออีก 40 % รับบริจาคจากคนทั่วไป นโยบายของรัฐบาลมุ่งให้ความช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ภาวะลำบากดังที่กล่าวมาเบื้องต้น เช่น ประเทศในแถบแอฟริกาใต้ที่ผู้คนยังขาดแคลนอาหาร ที่อยู่อาศัย และเผชิญต่อโรคระบาดอย่างนัก
ขณะเดียวกัน Mr.Eivind Aalborg กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานที่อยู่ในแถบเอเชียก็จะถูกปิดลงเช่นกันภายใน 1 – 2 ปีนี้ ปัจจุบันมีสำนักงานอยู่ 6 แห่ง ด้วยเหตุผลเดียวกับประเทศไทยคือชีวิตประชาชนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ขณะเดียวกันสำนักงานใหญ่ปรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานกับประเทศต่างๆ ให้ลดระยะเวลาสั้นลงประมาณ 2- 3 ปีเท่านั้น ไม่กินระยะเวลานานอย่างประเทศไทย เน้นการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและดึงเอาทรัพยากรมาใช้อย่างเต็มที่
Mr.Rolf Strand : Representative for Loa and Thailand กล่าวว่า อายุการทำงานของ NCA ในประเทศไทยถือว่าครึ่งชีวิต เพราะปัจจุบันก็อายุ 68 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเรามีความเชื่อเสมอว่า การสร้างโลกที่มีความยุติธรรมไม่สามารถสร้างด้วยองค์ใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องมีภาคส่วนต่าง ๆ มาสมทบ เมื่อก่อนในกลุ่มผู้นำศาสนาไม่สามารถพูดถึงเอดส์ได้เพราะ เป็นเรื่องที่น่าอาย ผิดบาป ขัดกับหลักศีลธรรม แต่การดำเนินงานในเรื่องนี้ในประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จจนชื่นชม
บทเรียนการทำงานจากประเทศไทยครั้งนี้จะเป็นองค์ความรู้สำคัญที่จะนำไปเผยแพร่ต่อประเทศอื่นๆ ให้เข้าใจการทำงานแบบบูรณาการกับองค์กรภายในประเทศมากขึ้น
ขณะเดียวกันมองว่าประเทศไทยก็มีความท้าทายในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ์ที่ต้องทำงานอย่างนัก เช่น การละเมิดสิทธิเด็ก สิทธิกลุ่มคนชายขอบ และขอชื่นชมคณะทำงานในประเทศไทยที่ยังปรารถนาทำงานด้านอื่นๆ ต่อไป เช่น ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายศาสนาเพื่อสังคมที่ทำงานร่วมกันของทั้ง 3 ศาสนา ดังนั้นการปิดสำนักงาน NCA ประเทศไทยจึงไม่ได้หมายถึงการปิดการทำงานเสียทีเดียว แต่เป็นการเริ่มงานรูปแบบใหม่ร่วมกับ NCA ในอนาคต
ขณะที่นายประเสริฐ เดชะบุญ คณะทำงานเครือข่ายศาสนา กล่าวว่า แม้สำนักงานใหญ่จะมองไทยว่ามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นวัดจากรายได้ GDP แต่ถ้ามองปรากฏการณ์ในปัจจุบันจะพบว่า เราผ่อนรถยนต์นานกว่าอดีตถึง 5 ปี ผ่อนบ้านเพียง 10 ปี ปัจจุบันผ่อนไม่ต่ำกว่า 30 ปีและอาจจะมีมรดกหนี้ถึงลูกหลานในอนาคต แสดงว่าคนมีสถานะการเงินลดลง ข้าวของแพงขึ้น คนกระทำผิดกฎหมายและติดคุกเป็นอันดับสามของโลก การยาร้างมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยนอกใจคู่สมรสของตนเองเป็นอันดับหนึ่งอีกด้วย แสดงว่ามวลรวมความสุขของประเทศไทยลดลงมาก นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ประเทศไทยขาดความสุขแม้ว่าสภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่รายได้ส่วนหนึ่งเป็นของนายทุนต่างชาติ
หากจะกล่าวว่า GDP สูงปัญหาหมดไปจึงไม่จริง ประเทศไทยมีปัญหาอีกมากมายที่ต้องแก้ไข ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ อย่างปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่รถติดมากขึ้น เพราะระบบขนส่งมวลชนมีปัญหา สภาวะแบบนี้ทำให้คนในท้องถิ่นมีความเครียดมากขึ้น ดังนั้นเราอาจจะต้องทำงานแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อปัญหาที่ความซับซ้อนกว่าเดิม โดยอาศัยเครื่องมือและทุนเดิมที่ NCA ได้ให้ไว้