พรานปลารุ่นสุดท้ายกับความทรงจำในวัยเด็ก

พรานปลารุ่นสุดท้ายกับความทรงจำในวัยเด็ก

ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

ก่อนที่ในแม่น้ำโขงจะมีเขื่อนอยู่ทุก ๆ ที่เหมือนในปัจจุบัน เด็กมากมายตามริมแม่น้ำโขงก็มักจะตามพ่อและแม่ออกไปที่ริมแม่น้ำตั้งแต่ตอนเช้าเพื่อไปหาปลาที่มีอยู่เกือบทุกพื้นที่ของแม่น้ำ และก่อนจะออกจากบ้านก็ไม่ลืมที่จะจุดไฟตั้งหม้อไฟเอาไว้ เพราะลงไปถึงแม่น้ำประเดี๋ยวเดียวก็จะได้ปลาติดไม้ติดมือกันมาแล้ว ซึ่งหากมีปลาแค่อย่างเดียวก็คงจะขาดรสชาติไป พวกเขาจึงเก็บพืชผักสวนครัวที่ขึ้นอยู่ตามริมแม่น้ำโขงกลับมา เพื่อมาแกงปลาตัวน้อยตัวใหญ่ที่จับมาได้เป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงพวกเขามาสืบมาจนถึงทุกวันนี้

ในสมัยก่อนแม่น้ำโขงเปรียบเหมือนกับสายธารแห่งชีวิตของคนที่อยู่ริมฝั่ง และใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ในหลากหลายทางต่างกันไป หนึ่งในนั้นก็คือ น้าดาว นาย สมาน แก้วพวง พรานปลาจาก ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ที่เหลือไม่ถึง 20 คนแล้วในที่แห่งนี้ ซึ่งน้าดาวเล่าให้ฟังเกี่ยวกับวัยเด็กของน้าดาวว่า

“สมัยก่อนตอนเด็กน้าดาวก็เป็นเด็กที่เรียนรู้มาจากพ่อแม่เป็นอันดับแรก พ่อ แม่จะเป็นครูสอนเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ด เลี้ยงอยู่ริมโขงเนี่ยแหละ”

“บ้านน้าดาวอยู่ริมโขง ช่วงก่อนปลามันเยอะ ลงไปตอนไหนก็ได้ปลา 7-8 ขวบก็ลงหาปลาแล้ว ก็มีหว่านแห ใส่เบ็ด เบ็ดมอง ช่วงนั้นไม่มีเครื่องจักรก็พายเรือเอา แต่สมัยก่อนน้ำเชี่ยวแรงเกาะแก่งอะไรไม่เป็นแบบนี้ ปลามันเยอะ ทุกที่ ทุกคก ทุกพื้นที่ของแม่น้ำโขง อยากกินปลาก็ลงไปหาปลา อยากกินหอยก็ลงไปหาหอยมากิน”

พรานปลา หมายถึง ผู้หากินในทางฆ่าสัตว์ เมื่อนำมารวมกับปลาจึงมีความหมายว่าผู้ที่หากินจากการฆ่าปลา โดยส่วนใหญ่แล้วพรานปลาจะอาศัยการครูพักลักจำมาจากผู้ใหญ่ บางคนก็บอกว่าบ้านของพวกเขาอยู่ที่นี่อยู่ตรงริมน้ำโขง ก็อยู่กับน้ำกับปลามาตลอด แต่ที่ต้องเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์นั่นก็เพราะด้วยสภาพความหลากหลายของระบบนิเวศในแม่น้ำโขงที่มีทั้งแก่ง(พื้นที่น้ำเชี่ยวมีหินน้อยใหญ่) ที่มีความอันตรายในการเดินเรือ  แต่มีปลารวมกันอยู่เยอะ เกาะดอน(โขด)แหล่งอนุบาลพันธุ์ปลาจากการที่มีต้นไคร้มาเกาะ และคก(ส่วนน้ำลึกที่เว้าเข้าไปจากชายฝั่ง) ที่ปลาใหญ่มักจะอาศัยอยู่ และอีกหลายระบบนิเวศ ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ ไม่เพียงแต่การเดินทางเข้าไป แต่ต้องรู้ด้วยว่าควรใช้เครื่องมืออะไรกับพื้นที่ตรงไหน

จากที่กล่าวมาอุปกรณ์การหาปลาที่แม่น้ำโขง มีทั้งแห ลวงมอง(วางตาข่าย) เอาไว้ดักปลาน้อยปลาใหญ่ปรับเปลี่ยนไปตามขนาดตาของตาข่าย เบ็ดราว (การวางเชือกที่แขวนตะขอวางไว้ในจุดตามแม่น้ำ) ตุ้มที่เอาไว้จับกุ้งใช้อาหารปลาผสมกับดินทำเป็นก้อนกลม ๆ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้หากไม่มีประสบการณ์จากคนที่เคยทำมาก่อนก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าต้องใช้มันอย่างไร แต่เครื่องมือเหล่านี้ก็ทำให้เห็นว่าในแม่น้ำโขงสมัยก่อนหรือเมื่อราว 10 – 20 ปีที่แล้วยังคงมีประชากรของปลาอยู่อย่างหนาแน่น จนมีคำบอกเล่าว่า

“ปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม เมื่อก่อนปลามันจะทยอยขึ้นมาทั้งปลาเล็ก ปลาน้อย ปลาใหญ่หลายชนิด ชาวบ้านม่วงการงานจะหยุดไม่ได้ทำช่วงนั้น เพราะข้าวนาปีทำช่วงมีฝน ส่วนมากก็จะลงน้ำโขง ในหมู่บ้านเนี่ยไม่มีคนเลยนะ คนจะลงน้ำโขงกันหมด ทั้งผู้หญิง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ชาย ทั้งคนแก่ หาปลากันในแม่น้ำโขง”

“ก่อนลงหาปลาพ่อกับแม่จะก่อไฟตั้งหม้อเอาไว้ก่อน แล้วลงไปแค่ประมาณ 5 นาที เขาก็เอาปลาขึ้นมาแล้ว หลังจากที่ได้ปลามา ก็จะเอาพืชผักที่อยู่ริมน้ำโขงมาด้วย เป็นมะเขือเทศ เป็นพริก เป็นมะละกอ เป็นผักชี … โอ๊ยเยอะ พวกผักที่เรากินได้นั่นแหละ”

“ช่วงเป็นเด็กน้าดาวใส่มองไปตามที่ทั่วไป ก็จะหาแต่ปลาตัวเล็ก แต่คนที่มีลวงมอง(จุดดักปลาในคก) ก็หาตาข่ายตาใหญ่ ๆ มาวางเอาไว้ในลวง ช่วงนั้นปลาที่ได้เป็นปลาบึกปลาเลิมตัวประมาณ 200 – 300 กิโลนู่น ขายได้กิโลละ 200 บาท”

เมื่อพูดอย่างเดียวคงจะนึกภาพไม่ออกว่า ปลาบึก 200 – 300 กิโลกรัมมันหน้าตาเป็นอย่างไรน้าดาวจึงพยายามขยายมือออกไปให้ดูว่าขนาดของปลามันใหญ่แค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถที่จะบรรยายได้ ในขณะนั้นเองน้าดาวก็แหลือบไปเห็นถังน้ำมันที่วางอยู่ข้างหลังบ้านของเขา และชี้ให้ดูว่า

“นั่นน่ะขนาดของหัวปลา เท่าถังน้ำมันนั่นแหละ ทุกวันนี้มันไม่มีอีกแล้วระบบแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป น้าดาวก็เคยคิดว่าอยู่ดี ๆ ปลามันหายไปไหนหมด”

“อย่างเช่นปลาบึกเมื่อก่อนเนี่ยปลามันจะขึ้นมาแม่น้ำโขง แล้วมันก็จะเวียนว่ายผสมพันธุ์กันพวกปลาบึกพวกปลาเลิมก็จะเห็นชัดเจน แต่ตอนนี้เงียบไม่มีปลา”

“เมื่อก่อนก็คิดว่าปลามันเยอะเพราะคนมันน้อย อาหารมันก็จะมีความอุดมสมบูรณ์ เข้าป่าก็ได้กิน ลงไปในแม่น้ำก็ได้กิน แต่ที่น้าดาวลองมา วิเคราะห์ดูว่าปลามันหายไปเพราะอะไร มันน่าจะเป็นเพราะเขาสร้างเขื่อนอยู่ในประเทศจีน แม่น้ำโขงมันไหลผ่านจีน ผ่านลาวลงมา เดี๋ยวมันก็แห้ง เดี๋ยวมันก็ขึ้น ปกติช่วงมกราน้ำมันลด แต่เดี๋ยวนี้วันนี้น้ำลดพรุ่งนี้น้ำขึ้น ปลามันก็ใช้ชีวิตแบบเดิมไม่ได้”

ปัจจุบันพันธุ์ปลาที่เคยมีอยู่ทั่วทุกท้องที่ของแม่น้ำโขง ได้ลดน้อยลงไปเกิดมาจากหลายสภาพ มากปัจจัยซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบโดยตรง แต่สิ่งที่เป็นต้นตอของปัญหาของระบบนิเวศริมแม่น้ำโขงก็คือเขื่อน ซึ่งมีอยู่มากมายตามแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาขาที่ทำให้น้ำขึ้นและลงไม่ตรงตามฤดูกาล

เขื่อนกับสมดุลที่หายไป

ซึ่งหากจะเข้าใจถึงบริบทและภาพกว้างของปัญหาทั้งระบบในแม่น้ำโขงให้เข้าใจได้มากขึ้น ไม่ควรมองข้ามข้อมูลจากนักวิจัย และนักขับเคลื่อนที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน อย่าง ผศ.ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่คอยจับตาดูเรื่องราวเกี่ยวกับคน และเขื่อน และจากการสัมภาษณ์อาจารย์ได้อธิบายเกี่ยวกับเขื่อนในแม่น้ำโขงเอาไว้ว่า

“เขื่อนมีสามช่วงเวลา ช่วงแรกจะเป็นเขื่อนที่สร้างในยุคสงครามเย็น จะสร้างกั้นแม่น้ำสาขาในแม่น้ำโขง เช่น เขื่อนน้ำงึมในลาว และหลาย ๆ เขื่อนในภาคอีสานของไทยที่สร้างเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เขื่อนพวกนี้ตัดขาดเส้นทางการอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงไปยังแม่น้ำสาขา ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำสาขาลดลงไปด้วย จะเห็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจนคือเขื่อนปากมูลปิดกั้นลำน้ำ ทำให้ปลาไม่สามารถอพยพจากแม่น้ำโขงขึ้นไปยังแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ซึ่งเป็นเหมือนเส้นเลือดหลักของคนอีสาน”

“เขื่อนชุดที่สองเป็นเขื่อนที่สร้างในประเทศจีน ซึ่งสร้างมาแล้ว 11 เขื่อน ทำให้น้ำถูกกักไว้ที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้แม้ในฤดูฝนน้ำแห้ง แต่ในบางช่วงที่จีนปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงในฤดูแล้ง สิ่งที่สำคัญคือมันทำให้เกิดการขึ้นลงของน้ำไม่เป็นธรรมชาติ และทำให้เกิดปัญหาเรื่องชายฝั่งแถบเชียงแสนพังทลาย และยังสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของปลาในฤดูแล้ง นอกจากนั้นยังทำให้ภาวะน้ำท่วมตามธรรมชาติที่ปลาจะสามารถขึ้นไปวางไข่ได้หายไป”

“เขื่อนชุดที่สาม เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนที่กีดขวางการอพยพของปลาจากลุ่มน้ำโขงตอนล่างไปยังตอนบน ทำให้เกิดการผันผวนของน้ำในแม่น้ำโขงหนักมากยิ่งขึ้น บางครั้งมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนในฤดูแล้ง ทำให้ปลาเกิดการอพยพโดยที่ยังไม่พร้อมผสมพันธุ์ตามฤดู ทำให้เกิดผลกระทบต่อวงจรชีวิตของปลา หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับน้ำโขงกลายเป็นสีคราม เกิดจากเขื่อนไซยะบุรีกักตกตะกอนไว้เหนือเขื่อน ทำให้น้ำไม่มีตะกอน ส่งผลให้ระบบนิเวศพังเพราะตะกอนเหล่านี้สำคัญต่อพืชและน้ำ”

จากที่อาจารย์ได้อธิบายข้างต้นปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่เขื่อนที่ทำให้ระดับน้ำผันผวนไม่รู้วันที่แน่นอนว่า ตอนไหนจะขึ้นหรือจะลง แต่มันยังส่งผลกระทบถึงภาคครัวเรือน และระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ที่ส่งต่อผลกระทบไปยังพืชพันธุ์และสัตว์น้ำด้วย ซึ่งอาจารย์ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ก็ได้ร้อยเรียงถึงผลกระทบที่สอดคล้องกันเอาไว้ว่า 

“การที่เขื่อนกักน้ำไว้ปั่นไฟ ทำให้ต้นไม้ที่เรียกว่าป่าน้ำท่วม หรือต้นไคร้ที่ชาวบ้านแถวบ้านม่วงเรียกยืนต้นตาย ปกติแล้วต้นเหล่านี้หน้าฝนจะถูกน้ำท่วมส่วนหน้าแล้งน้ำจะลดลงเป็นวงจรชีวิต ต้นไม้เหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศมาก รากของต้นไคร้มีลักษณะคล้ายรากของต้นโกงกางเป็นที่อาศัยของตัวอ่อนของปลาและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เช่น กุ้ง ปู พอต้นไม้ตายทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัย นอกจากนั้นพืชเหล่านี้ยังเป็นอาหารของปลาที่กินพืชอีกด้วย เรียกว่าระบบนิเวศพังทลายเมื่อมีเขื่อนเข้ามา”

เมื่อเกิดเขื่อนและน้ำผันผวนในแม่น้ำโขง น้ำที่เคยมอบความชุ่มชื้นและตะกอนดินที่เคยมีก็กลับหายไปทำให้ต้นไคร้ที่เคยมีอยู่มากในบ้านม่วงจนได้ชื่อว่าเป็น “พันโขดแสนไคร้” ต้องแปรเปลี่ยนไปเป็น “พันไคร้ แสนโขด” ในปัจจุบัน

ในพื้นที่ระหว่างดอน (โขดกลางน้ำ) ช่วงน้ำลดในเดือนมกราคมจะเป็นพื้นที่ที่มีต้นไคร้อยู่ล้อมรอบ ทำให้กระแสน้ำตรงนั้นถูกชะลอผ่านรากของต้นไคร้ และทำให้น้ำไหลช้าลงเกิดเป็นเนินทรายใต้น้ำ ซึ่งพื้นที่นี้พรานปลารู้กันดีว่าเป็นที่อนุบาลปลา เพราะมีตะไคร่น้ำให้ปลากินตลอด 

เมื่อต้นไคร้หายไปจากกรณีเขื่อนที่กล่าวไปน้ำที่เคยถูกชะลอจากรากของต้นไคร้ จึงเปลี่ยนไปเป็นน้ำที่แรงขึ้นพัดเนินทรายที่เคยมีอยู่หายไปปลาจึงไร้ที่วางไข่ในแม่น้ำ ส่งผลกระทบต่อไปยังปลากินเนื้อที่อยู่ในแม่น้ำไร้ซึ่งอาหารที่พวกมันเคยมี และต่อมาถึงคนที่อยู่ริมแม่น้ำโขงในทุกวันนี้

การแก้ปัญหาและปัญหาที่จะตามมาหากยังไม่แก้ไข

ผศ.ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ได้อธิบายถึงแนวทางแก้ไขปัญหาและปัญหาที่ตามมาหากไร้การแก้ไขปัญหาระบบนิเวศในแม่น้ำโขงเอาไว้ว่า

“ต้องพูดถึงการฟื้นฟูแม่น้ำโขง แต่การจะฟื้นฟูแม่น้ำโขงขึ้นมามันเป็นเรื่องที่ต้องสู้กันยาวระหว่างนักสร้างเขื่อนกับนักอนุรักษ์และชาวบ้าน เพราะมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ จริง ๆ แล้วเขื่อนจีนต้องปล่อยน้ำลงมาเพื่อรักษาระบบนิเวศให้น้ำท่วมและแล้งตามธรรมชาติ แต่เขื่อนที่ถูกออกแบบมาไม่ได้คำนึงถึงเรื่องพวกนี้เลย รวมถึงเขื่อนไซยะบุรีต้องยกเลิกการใช้เขื่อนเพราะความเสียหายจากเขื่อนนี้รุนแรงมาก”

“ระบบนิเวศโดยรวมของแม่น้ำโขงจะเสียหายรุนแรง ตอนนี้ก็เสียหายอย่างรุนแรงอยู่แล้ว และจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อลุ่มน้ำโขงทั้งหมด เช่นน้ำจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่ลำน้ำโขงมากขึ้น ความแห้งแล้งจะมาเยือน ความมั่นคงทางอาหารจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน”

“ยกตัวอย่างเช่นคนที่อยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในลาว ทางตอนใต้ของกัมพูชาเขาจะปลูกข้าวช่วงฤดูฝนซึ่งมีน้ำโขงสูงซึ่งคอยช่วยดันน้ำใต้ดิน ถ้าน้ำโขงไม่หนุนจะทำนาไม่ได้ ที่สำคัญคือปลาซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกของคนริมแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบแน่นอน ชาวประมงพื้นบ้านจำนวนมากต้องเลิกอาชีพประมง จากที่ผมเคยเห็นผ่านมาในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในช่วงปี40 คนริมแม่น้ำโขงที่เข้าไปเป็นแรงงานในกรุงเทพฯ เขาอพยพกลับมาก็ยังสามารถจับปลาในแม่น้ำโขงมาเป็นอาหารและยังขายได้ แต่พอเจอโควิด-19คนที่ไปเป็นแรงงานในกรุงเทพฯ ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ เรียกว่าไม่มีหลังให้เขาพิง จะสังเกตได้ว่าทุกที่ที่ริมแม่น้ำโขงจำนวนชาวประมงลดลงเพราะปลาในแม่น้ำโขงหายากมากยิ่งขึ้น”

ในปัจจุบันคนที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิดที่สุดคงหนีไม่พ้นคนที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำอย่างชาวบ้าน เมื่อทรัพยากรที่เคยเป็นหลักใหญ่ในชีวิตของพวกเขาอย่างแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปสิ่งที่เคยมีอย่าง ปลา กุ้ง หอย และ พืชผักสวนครัว ลดน้อยลงไปจนยากที่จะหามาประทังชีวิตได้พวกเขาจึงต้องระหกระเหิน ออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่ภายในเมืองนานทีปีหนจึงจะได้กลับบ้านมาสักครั้งหนึ่ง

พรานปลารุ่นเกือบสุดท้าย

แต่ก็ยังมีคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ยังคงอยู่กับน้ำกับปลาหาเลี้ยงชีพอยู่ที่นี่ เรียกได้ว่าเป็นพรานปลารุ่นสุดท้าย เพราะเขาเริ่มมาเป็นพรานปลาหลังจากช่วงที่เกิดเขื่อนไซยะบุรีถูกก่อสร้างขึ้น พี่เท่ นายอุเทน สดใส เป็นหนึ่งในสองคนรุ่นใหม่ที่ยังทำอาชีพเป็นพรานปลาอยู่ที่ บ้านม่วง เหตุผลที่เขามาทำอาชีพนี้เพราะว่า

“ตอนเด็กก็เห็นคนเฒ่าคนแก่หาปลากัน ก็อยากหาบ้างตอนเด็กแม่ยังไม่ให้ลงน้ำ เห็นคนแก่เขาได้ปลาบ่อยแต่ก่อนก็หลอยลงน้ำหาอยู่ริมตะหริ่งนี่แหละครับ แต่ก่อนปลามันเยอะก็ได้มาทุกวันยังไม่มีเรือไม่มีอะไร พอโตขึ้นมาหน่อยก็ขอยายซื้อเรือให้ ก็ต้องตามผู้ใหญ่เขาไปหาปลาเขาพาทำยังไง ใส่ยังไงแล้วก็ค่อย ๆ ตามเขามันก็เป็นเอง” 

“ชอบใครชอบมัน ชอบหาปลารับจ้างทำบ้านมันก็พออยู่พอกินอยู่ในเมืองวันไหนมันขี้เกียจไม่มีตังซื้อมันก็อยู่ไม่ได้ บ้านก็เช่าข้าวก็ซื้อครับอยู่ในเมือง บ้านเรามันไม่ได้ลงทุนอะไรมากมาย”

“รุ่นนี้ก็สุดที่พวกผมนี่แหละครับ กับเพื่อนอีกคนหนึ่งรุ่นน้อง รุ่นหลานก็ไม่มีใครลงเหลือที่บ้านม่วงก็มีผมกับเพื่อนกันสองคนนี่แหละครับ”

เมื่อมองไปถึงเรื่องอนาคตของแม่น้ำโขงแล้วหากปัญหาเรื่องของเขื่อนที่มีอยู่ในแม่น้ำโขงยังไม่ได้รับการแก้ไขจากทางภาครัฐปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกเพราะหากมองย้อนดูถึงวันที่เขื่อนไซยะบุรีถูกเปิดใช้งานขึ้นในเดือน ตุลาคม ปี2562 จนถึงทุกวันนี้มีเวลาห่างกันไม่ถึง 5 ปี ระบบนิเวศจากที่ยังดีอยู่จากช่วง 10ปีที่แล้วกลับเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายในไม่กี่ปี เช่นนั้นแล้วหากปล่อยปัญหาเรื่องของเขื่อนนี้ยังคงอยู่ต่อไปเราอาจจะไม่มีทางได้เห็นพรานปลาออกไปหาปลาในแม่น้ำโขงอีกเลย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ