“พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหากำไรฯ” ทำไมจึงถูกบอกว่า “ควบคุมเสียงประชาชน”

“พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหากำไรฯ” ทำไมจึงถูกบอกว่า “ควบคุมเสียงประชาชน”

“ไม่มีใครฟัง หากเสียงของประชาชนมีจำนวนไม่มากพอ” ประโยคย้ำชัดถึงความสำคัญของการรวมตัว ที่ขบวนชาวบ้านและภาคประชาสังคมต่างรู้กันดี และในวันที่ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … จะถูกนำมาใช้ นอกจากความกังวลว่านี่เป็น “กฎหมายควบคุม NGO” ยังถูกบอกว่าเป็นการควบคุม “การรวมกลุ่มของประชาชน” การระดมกำลังเพื่อคัดค้านจึงเกิดขึ้น… คำถามคือเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ชวนฟังเสียงจากพื้นที่ชุมนุม

เรื่อง : ศิริลักษณ์ แสวงผล
ภาพ : จามร ศรเพชรนรินทร์

เข้าสู่วันที่ 5 สำหรับการปักหลักพักค้างบริเวณหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติ (UN) ของเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ ตั้งแต่เมื่อ 23 พ.ค. 2565  เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรฯ (NPO Bill) หรือที่พวกเขาเรียกว่า ร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน

แม้เหตุผลประกอบร่างกฎหมายดังกล่าวจะระบุว่า เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรไม่แสวงหากําไร ให้สามารถดําเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและมีธรรมาภิบาล แต่สำหรับคนทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเอง และชาวบ้านจำนวนหนึ่ง พวกเขามองว่านี่เป็นกฎหมายที่มีเจตจำนงในการทำลายการรวมกลุ่มเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างสิ้นเชิง 

ก่อนหน้านี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกตั้งคำถามในเวทีรับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอด นับตั้งแต่ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทาง ที่คณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างกฎหมาย และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับร่างและไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็น และวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดย พม.มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดรับฟังความคิดเห็น

เมื่อร่างกฎหมาย เตรียมนำเข้าเสนอ ครม. เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนจึงนัดรวมตัวครั้งใหญ่

เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนเดินทางมาจากทั่วประเทศ
เเละปักหลักพักค้างบริเวณหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติ (UN)

— 01 —

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน เคลื่อนขบวนจากจุดชุมนุมหน้า UN ไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ ครม. มีมติยกเลิก ร่างกฎหมายดังกล่าว รวมถึงร่างกฎหมายที่เป็นการควบคุมการรวมกลุ่มทุกฉบับ ซึ่งนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตัวแทนเจรจา ระบุว่า ต้องการขอเวลาศึกษาข้อเรียกร้อง 1 เดือน และจะนำเรื่องเสนอ ครม.อีกครั้ง ส่วนผลเป็นอย่างไรไม่สามารถให้คำตอบได้ 

ด้านผู้ชุมนุมมองว่า นี่คือคำตอบที่ชี้ว่า รัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวต่อ จึงยืนยันจะปักหลักชุมนุมต่อเนื่องเช่นกัน 

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล  กลุ่มเอ็มพาวเวอร์ เชียงใหม่ ระบุถึงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า มีบทบัญญัติที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน และเครือข่ายประชาชนจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลก็ยังมีเจตนาที่ยังผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวต่อ 

“ในมาตรา 20  เราพบว่ามันมีการสอดเเทรกเรื่องการคัดค้านการรวมกลุ่มของประชาชน อ่านแล้วตกใจมาก เพราะการคัดค้านการรวมกลุ่มในร่าง พ.ร.บ. ไม่ได้ระบุว่าเป็นกลุ่มแบบไหน อย่างไร เเต่หมายถึงประชาชนทั่วประเทศ นั่นแปลว่าหากมีการรวมกลุ่มของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รัฐสามารถที่จะใช้บทกฎหมายจัดการหรือควบคุมได้ทันที” ทันตา กล่าว 

มาตรา 20 ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …  ระบุว่า องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องไม่ดำเนินงานในลักษณะดังต่อไปนี้ 

๐ กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ หรือ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
๐ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม
๐ กระทบต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ
๐ เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย
๐ เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือ กระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น

ทั้งนี้ หากพบว่า องค์กรไม่แสวงหากำไรดำเนินงานเข้าข่ายตามข้อห้ามที่กฎหมายกำหนด ให้นายทะเบียนแจ้งเตือน และมีอำนาจออกคำสั่งให้องค์กรไม่แสวงหากำไรดังกล่าวยุติการดำเนินงาน
ทันตา เลาวิลาวัณยกุล  กลุ่มเอ็มพาวเวอร์ เชียงใหม่

— 02 —

ต่อคำถามที่ว่า จากการควบคุม “องค์กรไม่แสวงหากำไร” สู่การควบคุม “การรวมกลุ่มประชาชน” ได้อย่างไร?

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) อธิบายว่า กฎหมายฉบับนี้ ริเริ่มโดยนายกรัฐมนตรี โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ยกร่าง โดยเนื้อหาของกฎหมายมีความชัดเจนที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลขององค์กร ซึ่งสถานการณ์ร่างตอนนี้ “มันมากกว่า องค์กรไม่แสวงหากำไร หรือ NGO เเล้ว” เพราะมีข้อความระบุว่า หากรวมกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เช่น เครือข่ายเหมืองเเร่ เครือข่ายสลัม ฯลฯ ไม่ว่าจะมีจุดประสงค์การรวมกลุ่มเพื่อตรวจสอบรัฐในประเด็นต่าง ๆ หรือ ผลักดันประเด็นของกลุ่มในมิติของส่วนรวม กลุ่มเหล่านี้เข้าข่ายทั้งหมด 

ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้คือการควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดที่จดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ตาม

ณัฐพร อาจหาญ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.ภาคอีสาน) ระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นร่างที่ยังมีปัญหา เพราะละเมิดสิทธิเสรีภาพของการรวมกลุ่มเเละการแสดงออกของประชาชน ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีกำหนดไว้รัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลทุกคนสามารถรวมตัวกันและจัดตั้งสมาคมได้ ซึ่งต้องปราศจากการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสมของรัฐ เพื่อความเป็นอิสระและความมีประสิทธิภาพในการรวมกลุ่ม

ณัฐพร อาจหาญ กป.อพช.ภาคอีสาน

“การรวมกลุ่มเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนมีเท่ากัน การที่รัฐบาลพยายามผลักดันร่างกฎหมายการรวมกลุ่มของประชาชน ก็เพื่อสร้างเครื่องมือใหม่ในการควบคุมประชาชนทั้งนั้น การทำเเบบนี้ คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ซึ่งในประเทศประชาธิปไตย ไม่ควรมีรัฐใดเข้ามาควบคุมสิทธินี้ของประชาชน เพราะในการเปลี่ยน การแก้ไขประเทศ การรวมกลุ่มนั้นสำคัญมากในการขับเคลื่อนประเด็นเพื่อส่วนร่วม โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้าน พี่น้องในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่อยู่ในประเด็นที่ดิน สิ่งแวดล้อม หรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ฯลฯ”  ณัฐพร กล่าว

นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนบางคน ก็มองว่ากฎหมายนี้มีส่วนทำลายความเข้มแข็งของชุมชน ทำลายประชาชนที่รัฐมองเป็นศัตรู แล้วก็จะเพิ่มความชอบธรรมให้กลุ่มอำนาจรวมศูนย์ ถ้ารัฐยังผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ วิถีประชาธิปไตยการกระจายอำนาจสู่ชุมชนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แล้วยังมีโทษปรับหลักแสน 

“ไปไหนไปกัน พวกเราไม่ยอม จะสู้ต่อไปจนกว่ารัฐบาลจะยอมยกเลิกร่างกฎหมายฉบับนี้  หน่วยงานรัฐจะห้ามการรวมกลุ่มไม่ได้ เพราะหากมีจำนวนคนน้อยในการร้องเรียนความเดือดร้อน ก็ไม่มีใครฟัง หากเสียงของประชาชนมีจำนวนไม่มากพอ” สมัย พันธโคตร กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าว

สมัย พันธโคตร กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย

— 03 —

เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน มาจากหลากหลายกลุ่ม ทั้งประเด็นที่ดินทำกิน ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นปากท้อง การคัดค้านโครงการใหญ่ต่าง ๆ ของรัฐ ฯลฯ ซึ่งกว่าจะก่อเกิดเป็นประเด็นในการยื่นเรื่องเสนอต่อหน่วยงานรัฐที่ต้องการร้องเรียน ต้องผ่านการรวมกลุ่มภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เพื่อการแสดงออกทางความคิดที่มีพลัง ดังนั้น การรวมกลุ่มเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับพวกเขา เพราะเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนหลายกลุ่มอาจต้องสูญเสียเครืองมือสำคัญที่สร้างการมีส่วนร่วม

ณัฐพร อาจหาญ กป.อพช.ภาคอีสาน กล่าวว่า คำว่ารวมกลุ่มยังมีความคลุมเครือเพราะการรวมกลุ่มของประชาชนและชาวบ้านทั่วไปล้วนทำกิจกรรมที่มีความคล้ายคลึงกับองค์กรไม่แสวงหากำไรได้ทั้งนั้น 

“การรวมกลุ่มเป็นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศของคนทุกกลุ่มทุกระดับมาก ๆ ทำให้การพัฒนาเหล่านั้นสอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านจริง ๆ  อุปสรรคเรื่องเข้ามาตรวจสอบการเงิน เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐพยายามเข้ามาแทรกแซงอย่างถึงรากที่สุด ปลัด พม. มีอำนาจในการสั่งยุติการดำเนินการ เมื่อเข้าข่ายเป็นภัยต่อความั่นคง เป็นภัยต่อเศรฐกิจ ต่อประเทศ ต่อศีลธรรมอันดี แต่เราจะพบว่า การต่อสู้ของพี่น้องหรือชาวบ้านมันเข้าข่ายทุกข้อกำหนดที่ร่างกฎหมายสั่งห้ามเลย” ณัฐพร กล่าว   

จินตนา ประลองผล กลุ่มเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง IMN

นอกจากนี้ในขบวนการชุมนุมเรายังพบคนรุ่นใหม่ที่เดินทางมาไกลเพื่อปักหลักเรียกร้องให้ยกเลิกร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย อย่าง จินตนา ประลองผล คนรุ่นใหม่วัย 25 ปี จากกลุ่มเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง IMN ที่เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มภาคพลเมือง เข้าร่วมชุมนุมเพื่ออยากเป็นกระบอกเสียงให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์บางกลุ่มที่ไม่เข้าใจบทกฎหมาย เธอมาเพื่อมีส่วนร่วมในการสื่อสารต่อไปยังพี่น้องชาติพันธ์ุ เพื่อรับทราบผลกระทบที่ประชาชนกลุ่มชาติพันธ์ุอาจจะได้รับหากเกิดการควบคุมเมื่อพวกเขามีการรวมกลุ่ม

“เราเองทำงานด้านสื่อสารกับพี่น้องชาติพันธุ์ การที่เรามาร่วมชุมนุมต่อต้านครั้งนี้ เพื่อเป็นตัวแทนของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นกระบอกเสียง เพื่อประชาสัมพันธ์ประเด็นนี้ให้รับทราบความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าจะส่งผลกระทบกับพวกเขาอย่างไรบ้าง หากพวกเขาถูกควบคุมการรวมกลุ่มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” จินตนา กล่าว 

วิถีความเป็นอยู่ ขณะที่เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมฯ
ปักหลักพักค้างบริเวณหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติ (UN)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ