เมืองในฝันคือแบบไหน? ออกแบบอย่างไรตอบโจทย์ทุกคนในเมือง ฟังเสียงคน 50 เขตกทม.

เมืองในฝันคือแบบไหน? ออกแบบอย่างไรตอบโจทย์ทุกคนในเมือง ฟังเสียงคน 50 เขตกทม.

อยากเห็นเมืองมีสิ่งดี สวยงาม น้ำไม่ท่วมขยะไม่เต็ม ความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ลำบาก สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขที่สุดใน 15 ชุมชนในเขตบางรัก คือเรื่องขยะ เรามีปัญหาเดียวกันบางทีขยะล้น เพราะ 4 วันถึงมาเก็บครั้งนึง

ไพรวัลย์ งามไมตรี ประธานชุมชนจอมสมบูรณ์ เขตบางรัก อยากให้ผู้ว่ากทม. อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม นอกจากนี้ยังมีปัญหาการระบายน้ำ ข้อเสนอเชิงนโยบาย เราอยากให้เขตของเราเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม เอาสายไฟฟ้าเคเบิลต่าง ๆ ลงใต้ดิน เพราะบางรักมีพิพิธภัณฑ์ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา อยากให้ทุกคนมีน้ำใจต่อกัน ยิ้มแย้มแจ่มใส ต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้เมืองน่าอยู่ขึ้น ให้การค้าขายดีขึ้น

นายการุณ เมตตพันธุ์ สมาคมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เขตบางกะปิ เสนอว่า เราต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิต นโยบายเรื่องเมืองปลอดภัยที่มีอยู่ก็ดี แต่ต้องปฏิบัติได้จริง และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนมากยิ่งขึ้น เพราะประชาชนอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนและเห็นเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน และอยู่ในทะเบียนของสำนักงานเขต แต่จริง ๆ แล้วยังมีผู้นำชุมชนอีกมากที่พร้อมให้ความร่วมมือแก้ไข หากเจ้าหน้าที่เข้าไปส่งเสริม และสร้างความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ปักหมุดจุดต้องเปลี่ยน

ความปลอดภัย คือเรื่องความปลอดภัยในความเป็นอยู่ ทรัพยสิน ความปลอดภัยเรื่องสุขภาพและการป้องกันโรค ควรจะเป็นรัฐบาลที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือ และการสร้างเมืองปลอดภัยจะเริ่มจากประชาคม ผู้นำชุมชนมาร่วมกันสร้างความฝันด้วยกันก่อน และนำไปปฏิบัติในภาคที่ใหญ่ขึ้น

ตอนนี้มีการรวมตัวเป็นกลุ่มองค์กร อาจจะไม่ใช่กลุ่มใหญ่มาก และมีการขอทุนสนับสนุนจากองค์กร เช่น กองทุนสุขภาพท้องถิ่นกรุงเทพฯ ประชาชนรวมตัวกันขอทุนเพื่อมาส่งเสริมและป้องกันโรคในชุมชนของตัวเอง

จะดีกว่านี้ คือการช่วยเหลือประชาสัมพันธ์ บางหน่วยงานชุมชนไม่รู้ แต่หากมีการประชาสัมพันธ์ก็จะทำให้ ประชาชนรับทราบ กองทุนนี้มาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานกรุงเทพฯ สนับสนุนงบประมาณ 2 ส่วน หลายคนไม่ทราบ หลายคนทราบแล้วแต่เขียนโครงการไม่เป็น ยื่นโครงการไม่ผ่าน ตรงนี้ใครจะเข้ามาแนะนำ และคนอนุมัติคือใคร ถ้าเป็นกทม. จะมาสอนไหม เพื่อให้เกิดรูปธรรมในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

ฟ้า พิมพ์อักษร จากเขตภาษีเจริญ วาดภาพเมืองในฝันคือเมืองที่ดีมีความพร้อมในทุกด้าน สามารถใช้ชีวิตได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง อาหาร การใช้ชีวิต เน้นใช้ประโยชน์ได้จริง ปรับปรุงพื้นผิวการจราจร ทางเท้าที่ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ เกิดน้ำขัง การแก้ไขปัญหาของเมืองต้องเริ่มจากตัวเรา ลงมือทำได้จริง เช่น การเก็บขยะ ไม่เพิกเฉย ร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ 

“ประชาสัมพันธ์ผ่านโซเซียลมีเดียของตัวเองในการพูดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา ทำในสิ่งที่ทำได้และถนัด”

เมริสา เขตภาษีเจริญ เมืองในฝันควรเป็นเมืองที่น่าอยู่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีทัศนีย์ภาพที่ดี มองแล้วเราอยากจะอยู่ตรงนั้น ส่วนนโยบายสร้างเมืองน่าอยู่ เริ่มต้นจากการที่เราร่วมมือกับภาครัฐ เอกชนพัฒนาพื้นที่ใกล้บ้านของเรา เมื่อเราใช้ที่ชุมชนร่วมไม่ว่าจะได้งบประมาณ ควรจะร่วมพัฒนาสร้างการดูแลพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ใกล้บ้าน ดูแลพื้นที่สีเขียวและ

การสร้างเมืองในฝันจะมีส่วนร่วมได้ง่าย โดยการเริ่มจากพื้นที่ในบ้านตัวเอง หรือข้างบ้านเรา ช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียว ดูแลไม่ทำลาย

“การสื่อสารเพื่อสร้างเมืองมีส่วนร่วม เป็นการบอกต่อ เหมือนเราไปกินอาหารแล้วแนะนำกับเพื่อน มันก็เหมือนการขยายเสียงให้ทุกคนเห็นปัญหา ชวรคนมาร่วมระดมความคิดเห็น และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ใช้เสียงของตัวเองให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

เทพผล เครื่องจันทร์ ประธานชุมชนเครือข่ายเขตพญาไท เล่าว่า เมืองในฝันอยากให้ชุมชนปลอดภัย ชุมชนมีความสะอาดปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างดี สามเรื่องสำคัญสัญญาณไวไฟควรครอบคลุมพื้นที่ชุมชน ย่านการค้า เพื่อให้คนเข้าถึงข้อมูลของกทม.ได้โดยตรง มีเรื่องป้ายรถเมล์อัจฉริยะ หรือการพัฒนา telemedicine เพื่อลดการแออัดที่โรงพยาบาล ลดการเดินทางแต่สามารถปรึกษากับหมอได้อย่างทันท่วงที

“อยากให้มีกล้อง CCTV ที่ประชาชนสามารถดูได้อย่างทันท่วงที ทุกวันนี้เมื่อก่อนกรณีปัญหาประชาชนต้องเข้าไปของที่สำนักงานเขต โดยใช้เวลาถึง 2 วัน และภาพที่ได้มาก็ไม่ตรงบ้าง หากติดตามได้ก็จะเป็นการเพิ่มเรื่องความปลอดภัย”

ผู้ว่าต้องขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ก็ต้องประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัล เพื่อให้คนกรุงเทพเข้าถึงข้อมูลอย่างเต็มร้อย และประชาชนจะมามีส่วนร่วมได้จริง

ยกตัวอย่างชุมชนผมอยู่ใต้ทางด่วน เวลาเกิดเหตุการณ์ หรือมีการซ่อมแซมก็จะโยนกันไปมาระหว่างสำนักงานเขตกับการทางพิเศษ การแก้ปัญหาก็ไม่ได้รับการผลักดันเต็มที่ หากจูนกันได้การพัฒนาพื้นที่ก็จะดีกว่านี้ มีไฟ น้ำไม่ขัง จัดร้านค้าที่ดี โดยประชาชนมีส่วนร่วม มีความสุขขึ้น

ปักหมุดจุดต้องเปลี่ยน

สิริศักดิ์ หาญชนะ เขตบึงกุ่ม ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตบึงกุ่ม  เรายอมรับเรื่องการดูแลหรือการพัฒนาของหน่วยงานว่ามีระเบียบในการปกครองการบริหารจัดการ แต่บางเรื่องก็ไม่ได้เอื้อประโยชน์กับภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองการปกครองแนวใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ รัฐธรรมนูญปี 2540 

การมีส่วนร่วมของประชาชนถูกตราเอาไว้ แต่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาถูกกำหนดการมีส่วนร่วมจากผู้บริหาร ทั้งเรื่อง และตัวคนที่จะให้เข้าร่วม คำตอบจึงสร้างความสุขให้แก่ผู้บริหาร แต่มันไม่ถึงผู้รับประโยชน์

โจทย์ที่ท้าทายของเมืองมันต้องสถาปนาประชาชนว่ามีความสำคัญ ความสุขของประชาชนถูกวัดผลได้ เพราะประชาชนเป็นผู้ประสบ มันต้องสร้างประโยชน์ร่วม 

“ผมเป็นประธานสภาองค์กรชุมชน มีบทบาทในการลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เสนอแนะต่อท้องถิ่น บางหน่วยก็รับไปทำ บางแห่งก็ฟังเฉย แต่พอสุดท้ายพอลุกขึ้นมาทำเอง พบว่าชุมชนมีความสุขมากขึ้น นี่เป็นภาพที่ทำให้เห็นได้ว่าประชาชนสามารถเติมความสุขเข้าไปในระบบได้ เติมองค์ประกอบของคนเข้าไปเพิ่มขึ้น”

รัฐยังมองไม่เห็นว่าประชาชน ต้องรอให้คนไปม็อบไปเคลื่อนไหว ถึงจะเอาเรื่องของประชาชนมาขบคิด โครงสร้างแบบของขบวนภาคประชาชนมันก็มีอยู่ เช่น เครือข่ายสุขภาพ เครือข่ายที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม ผู้สูงอายุ เยาวชน มันมีการตั้งเครือข่ายเป็นฐานรับ แต่มันถูกหน่วยงานเอาไปใช้แบบเป็นแท่ง ๆ ไม่ได้บูรณาการร่วม ผู้ว่าฯ จึงน่าจะเป็นตัวหลักในการประสานเครือข่ายและบูรณา เพราะเครือข่ายจะเป็นเจ้าของพื้นที่

ไม่ใช่เอานักวิชาการหรือตัวแกนนำที่เป็นตัวแทนเรียกร้อง แต่ต้องเอาคนในพื้นที่ข้างล่าง เครือข่ายข้างล่างอาจจะผ่านโครงสร้างที่ของการเชื่อมเครือข่ายในรูปสภาประชาชน ดึงเอาเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่าง ๆ มาร่วมกันกลั่นกรอง ทำข้อเสนอเพื่อให้ตอบโจทย์พื้นที่และประหยัดงบประมาณที่มีอยู่จำกัด

นาฏยา เนืองนิตถา เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กล่าวว่า ตอนนี้ ถ้าเป็นไปได้หรือฝันเป็นจริง ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผู้ว่าฯ กทม. เริ่มหาเสียง แสดงวิสัยทัศน์ ถ้าคนไหนได้เป็นอยากจะให้แก้เรื่องขยะ คลอง ถนนทางเท้า แต่พอดูนโยบายที่เกี่ยวข้องแล้วคือ คลองมันเกี่ยวกับสุขภาพคนในชุมชนและในเขตของพี่ เพราะเป็นคลองที่เชื่อมร้อยยาวไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ท่านผู้ว่าฯ เคยมีนโยบายเมื่อปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบันว่าจะเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ มีทำน้ำอีเอ็ม ลงในคลอง

พี่และคนในชุมชนก็มีนโยบายให้เยาวชนแต่ละโรงเรียนรณรงค์เก็บขยะ แยกขยะตามแต่ละประเภท แต่สิ่งที่กังวลคือช่วงนี้มีภัยพิบัติในคลอง ต้นไม้ใหญ่ตามริมคลองพอลมแรงมันล้มลงมาทำให้น้ำเน่าเสีย เวลามีเด็กวิ่งเล่นเกิดพลัดตกลงไปก็จะมองไม่เห็น อยากฝากผู้ว่าฯ กทม. ว่าช่วยบำบัดน้ำเสีย ขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำตามชุมชนและตามเขต

“คลองสวยน้ำใส ไร้มลพิษไร้ขยะ เยาวชนแต่ละเขตมีความสุข สะอาดและสุขภาพดี และการจ้างแรงงาน เพราะว่าพนักงานในแต่ละ 50 เขตมีไม่เพียงพอ เช่น คนตักขยะลงเรือ คนเก็บขยะ เราอยากให้คุณจ้างอาสาเพราะช่วงนี้โควิดคนตกงานกันเยอะ คุณก็จ้างอาสามาช่วย

แรงงานก็ตามกระทรวงแรงงานประสานกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และช่วยส่งเสริมให้เขามีอาชีพรายได้ ครอบครัวเขาก็มีความสุข สะอาด สดใส ร่างกายแข็งแรง ต่อไปผู้สูงอายุจะเยอะขึ้นแรงงานจะน้อยลง ก็ให้คนสูงอายุเก็ยขยะหน้าบ้านเขาหรือแถวนั้น ก็ให้ค่าเล็ก ๆ น้อย ๆ เขาไป แล้วเขาจะภูมิใจว่าตัวเองมีประโยชน์กับเมือง 

ศรีสุรีย์ ศรีแก้วหล่อ เขตบึงกุ่ม เล่าว่า เรามีปัญหาด้านทางเดินเท้า เพราะปัจจุบันทางเท้าไม่ค่อยเอื้ออำนวย มันมีทางเท้าแต่เราเดินไม่ได้ต้องลงถนน เป็นเพราะพื้นที่มันจำกัด เพราะมีทางเท้ามอเตอร์ไซค์มาวิ่ง ทางเขตทำทางจักรยานก็มีมอเตอร์ไซค์มาวิ่งอีก ก็อยากจะให้ทางเขตเข้ามาดูบ้าง หรือเราเป็นกระบอกเสียงหนึ่งให้กับคนหลาย ๆ คนที่เจอภาวะเหมือนอย่างที่เราเจอ

ตอนนี้มีการก่อสร้างมากมาย พื้นที่ทางเท้าที่เคยโล่งก็ไม่โล่งแล้ว เวลาเขาก่อสร้างรถมันก็เบียดเป็นคอขวด อันตรายมาก ป้ายแบริเออร์เอามากั้นทำให้สัญจรไปมาลำบาก รคนในชุมชนหรือที่ผ่านไปมาสัญจรไม่สะดวกเหมือนเมื่อก่อน ที่สำคัญรถติดมาก

“ถ้าใครจะเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ อยากฝากให้ดูเรื่องทางเท้า ให้จัดสรรเป็นเรื่องราวแล้วก็เขามีป้ายว่าห้อมมอเตอร์ไซค์วิ่งแต่ก็ยังวิ่ง ไม่รู้จะทำยังไง”

เขาก็ช่วยกันรณรงค์ ถ้าใครทำก็บอกเขาว่าอย่าวิ่ง เพราะการใช้ถนนร่วมกันมันมีทั้งเด็ก ผู้หญิงและคนแก่ เลยอยากขอความร่วมมือให้ทุกคนช่วยกันว่านี่คือทางเท้าที่ต้องเดิน ไม่ใช่เข็นรถมาขายของ บนทางเท้าเราเดินไม่ก็ต้องลงถนน นี่คือปัญหา อยากให้คนที่รู้ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เข้ามามีส่วนร่วมในเขตบึงกุ่มบ้าง

กัลยา ยะสุนทร เขตพญาไท ที่พบเจอทุกวันเป็นประจำคือ ขยะล้นที่พื้นที่ทางเดิน ทางเท้า ถังขยะล้น ทิ้งขยะในพื้นที่ห้ามทิ้ง และปัญหาขยะติดเชื้อ ปัญหาขยะทางเดินเท้าในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากโดยเฉพาะช่วงโควิด ทำให้มีขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และไม่มีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี

ควรให้ความรู้กับคนในชุมชนเรื่องการจัดการขยะติดเชื้อ เช่น การทิ้งหน้ากากอนามัยและชุดตรวจโควิดอย่างถูกวิธี เพิ่มจุดทิ้งขยะให้เยอะขึ้นในทุกพื้นที่โดยเฉพาะจุดทิ้งขยะติดเชื้อ อยากให้ทำความเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ ที่นำไปสู่ผลกระทบในการทิ้งขยะให้ถูกที่ของคนในชุมชนด้วย เช่น บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง คนชรา ผู้พิการที่ไม่สามารถนำขยะมาทั้งให้ถูกที่ได้ จึงอยากให้เพิ่มขยะให้อยู่ใกล้บ้านคนให้ได้มากที่สุด

หทัยรัตน์ เปี่ยมวิทย์ สมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ กรุงเทพฯ และปริมณฑล กล่าวว่า ประชาชน 50 มาเขตมาร่วมเพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการรวม และข้อเสนอให้กับผู้ว่าฯ ในกิจกรรมเรานำเอาแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2575 ซึ่งกำหนดแนวทางการพัฒนาสอดคล้องกับที่ Thai PBS จัดทำเวทีปลุกกรุงเทพ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เราเลยเอามาผนวกกัน แล้วคนนำเสนอในส่วนที่ตัวเองสนใจในเมืองไหน และเข้าแสดงความเห็นในเรื่องนั้น ๆ โดยนำปัญหาและข้อเสนอแนะมาพูดคุย กำหนดว่าในอีก 6 เดือนที่ผู้ว่าดำรงตำแหน่ง มีปัญหาอะไรที่ท่านสามารถแก้ได้แบบไหน และในระยะ 4 ปี มีอะไรที่ท่านสามารถแก้ไขได้ ไปพัฒนาชุมชนในแต่ละพื้นที่เขตเพื่อยกคุณภาพชีวิตของประชาชนกรุงเทพมหานคร

ในอนาคต ตกลงไว้ว่าหลังจากได้ผู้ว่ากรุงเทพฯ หลังวันเลือกตั้งแล้ว เราจะจัดเวทีอีกครั้งหนึ่งในการนำเอาข้อเสนอทั้งหมดในวันนี้ ไปเสนอผู้ว่าฯ คนใหม่ มองเห็น รับฟังและถามกลับผู้ว่าฯ จะทำตามที่ประชาชน 50 เขตร้องขอสิ่งเหล่านี้หรือไม่ 

จากที่เราทำงานร่วมกับประชาสังคมต่างๆ ในแต่ละเขตเรามีตัวแทนในหลายๆกลุ่ม ที่พยายามจะพัฒนาพื้นที่ ความเป็นอยู่ในชุมชนของตัวเอง โดยมี Active Citizen อย่างแท้จริง เป็นคนจากในพื้นที่ที่เขามองเห็นปัญหาแล้วเขาก็บอกได้เลยว่าฉันเป็นแบบนี้ ถ้าเจอปัญหาแบบนี้ให้ฉันบอกไหมว่าต้องแก้ยังไง ไม่ใช่คุณเป็นคนกำหนดการแก้ปัญหาแล้วมาบอกคนในชุมชน ซึ่งมันไม่ตอบโจทย์ที่เป็นปัญหาที่แท้จริง

เราเลือกเขามาและบอกสิ่งที่เป็นจริง สะท้อนขึ้นไป แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นแล้วคิดว่าทำได้ทันทีคือ พื้นที่สีเขียว ตอนนี้เราเน้นเรื่องสุขภาพ อยากมีพื้นที่สีเขียว ออกกำลังกายหรือพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนมีสิทธิจะไปใช้บริการร่วมกัน แต่การเดินทางไปพื้นที่สาธารณะมันไม่สามารถไปได้ ซึ่งแถวนั้นมีพื้นที่รกร้างแต่เขาไม่พัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวชุมชนได้ ติดขัดเรื่องระเบียบ ไม่ใช่พื้นที่ของกทม. ซึ่งมีพื้นที่เอกชนที่พร้อมจะสนับสนุนและพื้นราชการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถ้าผู้ว่าฯ กทม. มีศักยภาพในการประสานงานเราก็เชื่อว่าสามารถที่จะพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์กับคนในชุมชนได้อย่างแท้จริง

วันนี้เราได้มาพูดคุย เห็นแพลตฟอร์มไทยพีบีเอส ทั้ง C-Site ตลาดนัดไอเดียปลุกกรุง เราได้เชิญชวนสมาชิกในแต่ละเขตที่มาร่วมเวทีวันนี้ว่า เขาสามารถใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่จะบอกปัญหาและแนวทางแก้ไข เขามีโอกาสเป็นคนกำหนดนโยบายให้กับผู้ว่า เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หนีไปจากสิ่งที่แผนพัฒนากำหนดไว้ แต่เมื่อผู้ว่ามีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายให้เป็นไปตามแผน เราในฐานะประชาชนเรามีช่องทาง เป็นตัวแทนที่จะเปิดประตูให้ประชาชนเดินเข้าสู่ช่องทางที่จะสื่อสารไปถึงผู้ว่าได้โดยตรง ในพื้นที่ของเขาเขาเป็นผู้รู้ปัญหาที่แท้จริงก็ส่งข้อมูลเหล่านั้นขึ้นบนแพลตฟอร์มของเรา และก็จะสะท้อนให้ผู้ว่าเห็น คนในสังคมทั่วไปก็ได้มองเห็นด้วย

อิสราภรณ์ ปทุมสินวงศ์ชัย เพื่อนสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ แกนประสานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้เป็นคนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพโดยตรง แต่ได้รับผลกระทบเช่นกันเนื่องจากต้องเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพทุกวัน มีหลายเรื่องที่เรายังมองเห็นปัญหาอยู่ มีคนสะท้อนบ้าง ไม่มีบ้าง ตนมองว่าผลกระทบที่ตัวเองได้รับโดยตรง และที่ได้ยินจากรอบข้างมากที่สุดก็คือเรื่องขนส่งสาธารณะ การเดินทางในระบบสาธารณะขนส่งมวลชนค่อนข้างที่จะมีปัญหา ระหว่างตัวเมืองกรุงเทพฯ เชื่อมต่ออยู่กับหัวเมืองหลายเมือง มีการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเดินทางที่สะดวกสบายและรวดเร็วก็คือการเดินทางโดยรถไฟฟ้า

การเดินทางไปหัวเมืองอื่น ๆ หรือเดินทางจากหัวเมืองอื่น ๆ เข้ามาในกรุงเทพ ต้องเสียค่าโดยสารสูงมากเทียบกับค่าครองชีพและค่าแรงรายวันถือว่าค่าโดยสารสูงมาก ทำให้ประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว อย่างที่รู้กันดีว่าตอนนี้ราคาน้ำมันสูงมาก และเมื่อนำรถส่วนตัวเข้ามาใช้กันเป็นจำนวนมาก ก็จะเกิดปัญหารถติด ตรงนี้นี้พอจะเห็นว่ากทม.พยายามที่จะแก้ปัญหา แต่ก็ไม่เป็นผล อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาแก้ไขปัญหาและฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้น

อยากให้ปรับลดค่าโดยสาร เนื่องจากสิ่งนี้เป็นปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากบวกกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นในทุก ๆ ด้าน อยากจะฝากสิ่งเหล่านี้ให้ผู้ว่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เมืองในฝันอยากให้คำนึงถึง ค่าโดยสารสมดุลกับค่าครองชีพและค่าแรงขั้นต่ำ อยากให้การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เชื่อมต่อกันมากขึ้น ทุกวันนี้ลงรถไฟฟ้าเสร็จ ไปได้ยังไม่ถึงที่หมายต้องต่อแท็กซี่อีกหลายต่อ อยากให้จัดระบบขนส่งฯให้ดีขึ้นกว่านี้

อยากให้ทีมผู้ว่ารับฟังความเห็นของประชาชน ข้อเสนอที่เสนอไปข้างต้นถือเป็นข้อเสนอ ของนโยบายสาธารณะ ประชาชนมีหน้าที่รวมตัวกันเรียกร้องและผลักดันให้ข้อเสนอนำไปสู่ผังนโยบายของทีมงานผู้ว่าฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อเสนอเหล่านี้ถือว่าเป็นนโยบายภาคประชาชนให้กับทางผู้ว่ากทมคนใหม่พิจารณาและกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน อยากให้ผู้ว่าในอนาคตมีความตั้งใจและจริงใจในการแก้ไขปัญหาและรับฟังนโยบายภาคประชาชน ซึ่งมีภาคประชาชนที่กำลังติดตามการเคลื่อนไหวของข้อเสนอนี้อยู่

อนึ่ง วันที่ 4 พ.ค. และวันที่  7 พ.ค. ที่ผ่านมาสภาผู้ชมผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส กรุงเทพมหานครร่วมกับ สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพลเมือง city journalist : ปลุกกรุงเทพ เปลี่ยนเมืองใหญ่ โดยมีตัวแทนสภาผู้ชมผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่ายเพื่อนสภาฯ ผู้แทนชุมชนจากทั้ง 50 เขตทั่วกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมเรียนรู้หลักคิดการสื่อสารสาธารณะจากมุมมองของคนที่อยู่ในพื้นที่ และการใช้เครื่องมือสื่อสาธารณะเล่าเรื่อง สถานการณ์ ประเด็นงานพัฒนาและการทำงานแก้ปัญหาที่ชุมชนริเริมและมีส่วนร่วมในการผลักดัน

สำหรับกระบวนการฝึกอบรม ประกอบด้วย 3 กิจกรรม 2 เครื่องมือ ประกอบด้วย กิจกรรม การสื่อสารสาธารณะทำความเข้าใจหลักคิดนักข่าวพลเมือง การถ่ายภาพ การเล่าเรื่อง และข้อพึงระวัง จริยธรรม โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้ง กิจกรรมสนทนาแลกเปลี่ยน ทำไมต้องเราต้องสื่อสาร โดยขยายความภาพถ่ายที่ผู้เข้าร่วมแต่ละท่านเตรียมมา กิจกรรมรู้จัก C-Site ภาพแคมเปญ “ปักหมุดจุดต้องเปลี่ยน” ชวนคนกรุงสำรวจจุดเสี่ยงในพื้นที่สำรวจใกล้ตัวต้องเปลี่ยน ต้องแก้ไขให้ดีขึ้น และพัฒนาข้อเสนอไอเดียแนวคิดเพื่อระดมการแก้ปัญหาถึงผู้สมัคร และสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มปลุกกรุงเทพตลาดนัดนโยบาย.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ