ปากคำจากบางความคิดกับการมาของรายการเด็ก(โต) ‘ลานการ์ตูน’

ปากคำจากบางความคิดกับการมาของรายการเด็ก(โต) ‘ลานการ์ตูน’

โกวิท โพธิสาร

1.

มันเป็นรายการที่เริ่มจากวิธีคิดที่ว่า นอกจากข่าว สารคดี ภาพนิ่ง ข้อความ มันยังมีสื่ออีกประเภทที่มีกระบวนการทำงานหนักมากกว่าจะกลายเป็นเนื้อหาสักเรื่อง

“การ์ตูน” คือวิธีการทำงานที่ซับซ้อน โดยเฉพาะมันต้องใช้ศิลปะการออกแบบ และความเชี่ยวชาญในการจัดการ Key Frame ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

1 วินาทีที่เราเห็น มันคือภาพวาด 25 ภาพที่ค่อยๆ ประกอบกันมาเป็นเรื่องราว เพราะฉะนั้นหากคำนวณโดยใช้บัญญัติไตรยางค์ การ์ตูนสั้น 1 เรื่องความยาวราว 3 นาที จำเป็นต้องมีลายเส้นทั้งแบบ 2D/3D อย่างน้อยๆ 4,500 ภาพ และอาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับความละเอียดละเมียดละไมและความสั้นยาวของเนื้อหานั้นๆ

การทำการ์ตูน หรือ แอนนิเมชั่นสักเรื่องไม่ใช่การปอกกล้วยเข้าปากเป็นแน่

2.

หลายปีที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มเปิดการเรียนการสอนว่าด้วยการสร้าง Animation ล้วนๆ

ทุกเทอมครูบาอาจารย์จะมอบโจทย์แก่นิสิตนักศึกษาให้ทำแอนนิเมนชั่นตามแต่ความประสงค์และเงื่อนไขระยะเวลา ซึ่งเราพบว่าผลงานเหล่านั้นช่างสุดติ่งกระดิ่งแมวเสียเหลือเกิน

และเนื้อหาเหล่านั้นเมื่อถูกส่งให้อาจารย์แล้วก็กระจัดกระจายอยู่ตาม Youtube Vimeo และเว็บแสดงผลงานหลายต่อหลายเจ้า

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้พูดคุยกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งถึงความเป็นไปได้ที่จะรวบรวมผลงานเหล่านั้นมาจัดแต่งหีบห่อเพื่อออกอากาศ ซึ่งแทบทุกสถาบันการศึกษาต่างเอื้อเฟื้อหยิบยื่นให้ด้วยไมตรี

ผลงานมาอยู่ในมือเต็มกระบุง มันเป็นการ์ตูนแอนนิเมชั่นความยาวราว 3-5 นาที ทว่าประเด็นในการนำเสนอนั้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นการ์ตูน แต่เนื้อหาในเรื่องบางตอนนั้นกลับกระแทกกระทั้นเสียดเย้ยสังคมเป็นอย่างยิ่ง

หากจะวัดอายุของมัน นี่คงเป็นแอนนิเมชั่นสำหรับเด็กโตตั้งแต่ ม.ปลาย จนถึงมหาวิทยาลัย หรืออาจเฉียดฉิวคนวัยอย่างเราๆ ท่านๆ นี่กระมัง

3.

เมื่อนี่ไม่ใช่การ์ตูนขบเผาะไม่ได้เหมาะกับเด็กวัยอนุบาล-ประถม เราเลือกพิธีกรโดยพิจารณาว่า เขาต้องไม่เด็กเกินไป และไม่โตเกินไป

กล่าวคือ ต้องเป็นคนในช่วงวัยเดียวกันกับเนื้อหาในการ์ตูน

แว๊บแรกและแว๊บเดียวจึงชี้นิ้วไปที่ ‘ไอยดา สนศรี’ ซึ่งบุคลิกกำลังดีเลยสำหรับรายการประมาณนี้

20151709140137.jpg

4.

ผมส่งคำถาม 2-3 ข้อให้เธอตอบ และนี่คือคำถามของผม และนั่นคือคำตอบของเธอ

 

+ความผูกพันกับการ์ตูนในวัยเยาว์+

จำได้ว่าตั้งแต่เด็กๆ ก็โตมากับการ์ตูนแล้ว ทุกเช้าวันหยุดต้องมานอนเฝ้าหน้าทีวีกับน้อง เรามักจะสงบเงียบไม่ทำอะไรเวลาที่เรานอนดูการ์ตูน เพื่อตั้งใจดูการ์ตูน มันสนุกสนาน ถึงแม้ว่าเราจะโตแล้วแต่เราก็ยังดูการ์ตูนนะ แต่ดูในมุมที่ต่างออกไป

 

+การ์ตูนเรื่องไหนที่ผูกพันเป็นพิเศษ+

โดราเอมอน นี้คือสุดๆละ ดูตั้งแต่เล็กจนโต โดราเอมอนเป็นการ์ตูนที่ทำเรื่องราวได้ใกล้ตัวเรา ยิ่งตอนเด็กเรายิ่งรู้สึกอิน เพราะเขาทำเรื่องราว ความต้องการ การแสดงออกของตัวการ์ตุนได้ตรงกับช่วงวัย เป็นการ์ตูนที่ทำให้เราเชื่อ เชื่อว่าโลกของการ์ตูนมันต้องมีจริงในโลกแห่งความเป็นจริงสิ การ์ตูนเรื่องนี้สร้างจินตนาการให้เกิดความอยากตามจินตนาการ และเรื่องนี้ก็มักมีข้อคิดให้เราได้คิดเสมอ

 

+คิดอย่างไรกับ Animator รุ่นใหม่ที่ทำการ์ตูนมาให้เราได้ดู+

คนรุ่นใหม่ที่ทำการ์ตูนขึ้นมาเองนี้ถือว่าเก่งมา รู้สึกชื่นชม เพราะเรารู้ว่ากระบวนการในการทำการ์ตูนมันยากนะ กว่าจะคิดลายเส้นที่เป็นของตัวเอง เรื่องราว แล้วนำมาสู่การทำเป็นการ์ตูนแบบเคลื่อนไหว มันมีหลายขั้นตอนมากเลย
เรารู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งเวลาเราดูตัวการ์ตุนที่แสดงอารมณ์ผ่านลายเส้น แล้วมันทำให้เราร้องไห้ หรือดีใจตาม มันเป็นเรื่องที่ประหลาดใจมาก ถ้าเป็นละครแล้วมีนักแสดงก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่ แต่นี่คือการ์ตูน มันคือภาพวาดแล้วคนที่ทำได้ขนาดนั้น คือเก่งจริงๆ

เราเชื่อว่าคนที่ลุกขึ้นมาทำการ์ตูน เขาต้องได้แรงบันดาลใจมาจากการดูการดูนี้แหละ

5.

เรากำลังพูดถึงรายการลานการ์ตูน ที่จะออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 17.30 น. เริ่ม 8 ตุลาคม 2558 ทางสถานีโทรทัศน์ที่พ่อแม่พี่น้องที่เป๊กเช้าเป๊กเย็นให้การสนับสนุน…ThaiPBS ครับ

20151709140147.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ