ปรากฏการณ์สื่อใหม่กับการเมือง :สัมภาษณ์ อ. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์

ปรากฏการณ์สื่อใหม่กับการเมือง :สัมภาษณ์ อ. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์

หนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญที่เราเห็นในการชุม­นุมทางการเมืองในครั้งนี้ คือการใช้โซเชียลมีเดียร์ในการแชร์ข้อมูล หรือการสร้างกระแสรวมกลุ่มจากโลกอออนไลน์ม­าสู่การชุมนุมทางท้องถนน สิ่งนี้บอกอะไรกับเรา ทีมข่าวพลเมืองไทยบีพีเอส ไปคุยกับ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการด้านสื่อ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ที่เฝ้ามองปรากฏการณืนี้มาโดยตลอด เพื่อที่ตอบคำถามและชวนคิด ถึงข้อสำคัญบางประการกับการใช้สื่อสังคมออ­นไลน์ในสังคมการเมืองไทย

ทีมข่าวพลเมือง :อาจารย์มองปรากฏการณ์การใช้โซเชี่ยลมีเดียในการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้อย่างไร

อ.มานะ : ผมมองว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมีปัจจัยที่สำคัญคือการเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์สื่อ ถ้าเป็นสมัยก่อน สื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นวิทยุโทรทัศน์หนังสือพิมพ์จะเป็นตัวกำหนดข้อมูลข่าวสารในการไหลสู่มวลชนโดยทั่วไปที่จะรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และสร้างความรู้สึกร่วม ซึ่งกว่าจะขยายถึงคนจำนวนมากให้ออกมาชุมนุมประท้วง ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร

ในยุคของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีแบบใหม่ โซเชี่ยลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุค ทวิตเตอร์ ยูทูป หรืออินสตาแกรม มันย่อย่อการไหลของข้อมูลต่างๆ และหลายครั้งก็ก้าวข้ามสื่อกระแสหลัก  เช่นสื่อทีวี  วิทยุ  ถ้าไม่ได้นำเสนอข้อมูลของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล กลุ่มคนประชาชนต่างๆ ทั่วไปเขาก็สามารถที่จะสื่อสารกันเองได้ เขาสามารถถ่ายทอดอารมรณ์ความรู้สึก เขาสามารถระดมคนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้

เอาง่ายๆ วันที่คุณสุเทพ (เลขาฯ กปปส.)ตัดสินใจว่า ดีเดย์วันที่ 9 ธันวาคม ทันทีที่พูดเสร็จ ชั่วโมงหนึ่งหลังจากนั้น ในหน้าเฟซบุค ทวิตเตเอร์ มีแบนเนอร์ สติกเกอร์ที่จัดทำโดยกลุ่มคนต่างๆ เรียกระดมคนขึ้นมาด้วยรูปแบบหลากหลาย หลากหลายองค์กร บางคนองค์กรเดียว แต่ไปนัดกันคนละจุดคนละเวลาด้วยซ้ำไป แสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดทำขึ้นมา มันเกิดจากคนที่อยู่ในชุมชนออนไลน์ ด้วยกันเองผลิตข้อมูลข่าวสารออกมา

ทุกวันนี้คนมีสมาร์ทโฟน  เมื่อได้ไปในที่ต่างๆ ทุกคนมีกิริยาอันแรก คือถ่ายรูปแล้วแชร์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน จากตรงนี้ก็ขยายออกไปเรื่อยๆ ตัวกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนเมืองซึ่งมีเครื่องมือสื่อสารด้วยตัวเอง เขาก็สามารถถ่ายทอดแลกเปลี่ยน บางทีถึงกับเล่นสนุกกันเอง มีคลิปล้อเลียน วิดีโอล้อเลียนมากมายในขณะที่สื่อหลักเอง หลายสื่อไม่ได้สนใจประเด็นนี้ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นเซอร์โดยรัฐ หรือด้วยตัวเอง

 ยุคนี้ เราเรียกมันว่า user generated content ก็คือยุคที่ผู้ใช้สื่อเป็นผู้ผลิตสื่อเองด้วย เปลี่ยนจากผู้รับสารที่เคยนิ่งเฉย ผู้รับสารที่ยอมรับข้อมูลข่าวสารจากผู้ส่งสารซึ่งเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพอย่างเดียว ตอนนี้ไม่แล้ว ทุกวันนี้ผู้รับสารกลายเป็น active citizen, active audience ก็คือสามารถตอบโต้ สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้วยตัวเอง เขาเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย หรือว่าเขาคิดต่าง เขาสามารถสื่อสารกันเองได้  

ถ้าสังเกตและมอนิเตอร์ดู คนที่อยู่ในโลกออนไลน์ คนที่ออกมาบนท้องถนนในวันที่ 9 ธ.ค.ไม่ได้คิดเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เห็นพ้องกับสิ่งที่คุณสุเทพได้พูดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่บางจุดที่เขาเห็นร่วมกันว่าเขาไม่พึงพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลเขาก็นัดระดมพลกัน เดินออกมาบนท้องถนน แต่จุดที่เขามีความเห็นที่แตกต่างเขาก็แสดงความเห็นของเขาบนเฟซบุค ในทวิตเตอร์ของเขาอยู่ อันนี้จะเป็นลักษณะหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในสังคมโซเชี่ยลมีเดีย

ทีมข่าวพลเมือง :ถ้ามองการใช้งานในระดับผู้ใช้ 3 ระดับ (คู่ขัดแย้ง, ผู้ชุมนุม,คนทั่วไป) เห็นการใช้งานของพวกเขาอย่างไร)

อ.มานะ : ถ้ามองตัวแกนนำ เขาพยายามใช้อยู่ แต่ผมสังเกตุ เขาก็ใช้ในลักษณะแบบเดิมอยู่คือการสื่อสารทางตรงค่อนข้างมาก ถึงแม้จะมีทีมที่คุยกับสมาชิกบ้าง แต่ก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ว่า ผู้ที่เข้ามาร่วมพูดคุยด้วยอยากจะสื่อสารอะไร เขาเน้นในเรื่องการใช้เป็นกระบอกเสียงในสิ่งที่แกนนำอยากจะพูดเป็นหลัก คือเขายังใช้โซเชี่ยลมีเดียแบบสื่อยุค traditional media เพียงแต่มีช่องทางใหม่ๆ ในการสื่อสารเท่านั้นเอง

แต่ขณะเดียวกัน ประชาชนที่หยิบเอาข้อมูลข่าวสารที่แกนนำสื่อสารมา เขาหยิบมาเลือกใช้เหมือนกัน ไม่ได้เอามาใช้ทั้งหมด คือบางครั้งเขาก็หยิบเอาเรื่องที่แกนนำโพสเอาไว้มาคอมเม้นท์ มาสื่อสารกันเอง ว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วย หรืออะไรแค่ไหนยังไง ตรงส่วนนี้เป็นอิสระของผู้ใช้พอสมควรในการแสดงความคิดเห็น

คู่ขัดแย้งเองก็พยายามที่จะใช้ตัวสื่อตรงนี้ แต่ถ้าเทียบกันแล้วอาจจะใช้น้อยกว่า เพราะว่าคู่ขัดแย้งไปเน้นในเรื่องสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะทีวี วิทยุที่อยู่ในมือ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในเครือข่าย แต่เมื่อเริ่มรู้ตัว ก็เริ่มมีการระดมใช้สื่อสังคมออนไลน์อยู่เหมือนกัน แต่ไม่ทัน และอาจจะไม่ตรงกับจริตของคนเมืองที่รู้สึกและรับข้อมูลข่าวสารไปแบบนึงไปแล้ว การตัดสินใจจึงอาจจะไม่สามารถไปโน้มน้าวให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนได้

ทีมข่าวพลเมือง :เราสามารถเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Thailand Revolution 2.0 ได้หรือยัง

อ.มานะ : อาจจะเรียกอย่างนั้นได้ ถ้ามองในเรื่องของการปฏิวัติในเชิงของคนรากหญ้า ที่มองโดยทั่วๆ ไปอาจจะเป็นลักษณะแบบหนึ่ง แต่ตรงนี้อาจจะเรียกว่าคนเมืองที่มีโซเชี่ยลมีเดีย มีสมาร์ทโฟน ที่สามารถเอามาเป็นพลังของการสื่อสารมากขึ้น จริงๆ โดยส่วนตัวของผม มันไม่จำเป็นต้องไปให้ถึงทีวีต่างๆ เลย เพราะคุณมีเครื่องมือสำคัญอยู่ในมือ คือโซเชี่ยลมีเดีย สมาร์มโฟนอยู่แล้ว สื่อสารกันเองได้

ทีมข่าวพลเมือง :บทสนทนาในสื่อสังคมออนไลน์ที่ปะทะกัน บอกให้คนต้องเลือกข้างมากขึ้น

อ.มานะ : ยุคสมัยเหมือนสงคราม มันไม่เหมือนในลักษณะของการหาทางออกร่วมกัน มันเหมือนเพื่อเอาชนะคะคานกัน อันนั้นจะเป็นสถานการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือช่วงของการปะทะ แต่ผมมองว่า หลังจากนี้ ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไงก็ตาม คนที่อยู่ในสังคมออนไลน์จะมีความพยายามมากน้อยแค่ไหนที่จะเรียนรู้จากการที่แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ประนีประนอม หรือเรียนรู้ได้อย่างไรบ้าง

แต่แน่นอนว่า ช่วงที่ปะทะกัน  โอกาสที่จะบอกว่าให้มาพูดคุยเจรจากันด้วยความเข้าใจกันอาจจะยาก ด้วยอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละคน แต่หลังจากนั้นแล้ว ผมคิดว่าถ้ามีการพูดคุยกัน มันจะสามารถทำให้คนเติบโตขึ้นทางความคิด และจิตสำนึก ได้อีกระดับหนึ่ง

ทีมข่าวพลเมือง : อาจารย์มองบทบาทของสื่อใหม่ในฐานะเป็นประจักษ์พยาน การช่วยไม่ให้เกิดความรุนแรง

อ.มานะ : มองได้สองส่วน ส่วนที่ดีคือส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ แต่ละคนออกมาเป็นพยานได้ด้วย ที่ทำให้ความรุนแรงอาจจะไม่เกิดขึ้นโดยตรง แต่ขณะเดียวกัน ในบางมุมก็อาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงทางอ้อมเกิดขึ้นในบางจุดที่มีความล่อแหลมหรือคิดว่าคนไม่เห็น เช่น กรณีที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่รามคำแหง ที่คิดว่าคนอาจจะไม่เห็นเนื่องจากความมืด และคนที่นั่นไม่ได้เยอะ  ในจุดที่มีซอยมันก็เลยมีการปะทะกัน มีการยิงกันเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันทันทีที่มีการยิงกัน ก็มีการรายงานผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ในขณะที่สื่อกระแสหลักต่างๆ แม้กระทั่งทีวี ไม่ได้พูดถึง ไม่มีภาพเหตุการณ์ ไม่ได้แม้แต่ให้ความสนใจกับตรงนั้นเอง นั่นคือจุดหนึ่งที่สื่อสังคมออนไลน์ยิ่งไปไวใหญ่ เพราะว่าในช่วงของวิกฤติ คนยิ่งโหยหาข้อมูลข่าวสาร เมื่อไม่สามารถหาข้อมูลข่าวสารได้จากสื่อหลัก คนก็ต้องความหาสื่ออื่นๆ มาทดแทน บังเอิญว่าโซเชี่ยลมีเดียที่ใกล้ตัว มันมาทดแทนได้พอดี เขาก็เสพรับตรงนี้ เขาก็พร้อมที่จะเชื่อ บางทีเชื่อมากเกินไปด้วย อันเป็นปัญหาตามมาในเรื่องการเชื่อข้อมูลที่อาจจะถูกดัดแปลงบ้าง หรือว่าตกแต่งความจริงบางอย่างออกไป อันนี้ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าจะมีการพูดคุยกันหลังจากนี้

ทีมข่าวพลเมือง :มองอนาคตอันใกล้ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในทางออกทางการเมือง สื่อใหม่จะทำหน้าที่อะไร

อ.มานะ : สื่อใหม่น่าจะทำหน้าที่ของการเป็นพื้นที่สาธารณะในการระดมความคิดเห็นที่หลากหลายได้ มากกว่าการจำกัดความคิดเห็นอยู่ที่นักวิชาการ นักกฎหมาย หรือนักการเมือง หรือนักเคลื่อนไหวเพียงบางกลุ่มเท่านั้นเอง ทำอย่างไรที่จะมีพื้นที่กลางซึ่งสามารถระดมความคิดเห็น เหตุผลที่หลากหลายเข้าหากัน แล้วมาจัดแบ่ง พูดคุย เพื่อหาทางออกที่แท้จริง ดีกว่าที่จะมอบให้ใครคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มัวแต่ตัดสินใจและทะเลาะกันในเรื่องตัวบทกฎหมาย ในมาตราที่มันดิ้นได้ ภาษาที่ดิ้นได้ เพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผมเชื่อว่า ในอนาคตหลังจากนี้ อาจจะเป็นบทบาทที่เราจะเห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในสังคมไทย จะเปิดพื้นที่ที่จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและหาทางออกให้สังคมมากน้อยแค่ไหน

ทีมข่าวพลเมือง:เมื่อลองไปมอนิเตอร์ทวิตเตอร์ เราพบว่าบทสนทนาทางการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์มีเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ใช่บทสนทนาเชิงคุณภาพนัก มันเป็นเรื่องของพื้นที่หรือวัฒนธรรม

อ.มานะ :พื้นที่ วัฒนธรรมการเสพข้อมูลข่าวสารของเราด้วย ที่เราอาจจะเสพข้อมูลข่าวสารด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล มันต้องใช้การเรียนรู้เหมือนกันในการเปิดพื้นที่ ผมไปมองที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ด้วย นักศึกษา เยาวชนรุ่นใหม่ๆ หลายคน เอาง่ายๆ นักศึษาของผม ผมเห็นถึงการตื่นตัวในเพียงแค่เดือนสองเดือน อย่างน่าตกใจ คือเมื่อก่อนไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง ยังเฮฮาปาร์ตี้ อย่าพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมเลยครับ เขาไม่รู้เรื่องหรอก แต่พอแป๊บเดียวที่มันมีการพูดคุยกันในสื่อสังคมออนไลน์ แบนเนอร์ในเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาปุ๊บ แรกสุดก็ยังอาจจะสงสัยว่าคืออะไร ต่อมามันมีตัวขยายความมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอินโฟกราฟฟิก คลิปวิดีโอในการขยายความ หรือคนที่พูดให้ข้อมูล แล้วเขาสามารถเสพรับจากสื่อสังคมออนไลน์ที่ใกล้ตัวเขา เฟซบุคมีการเปิดเพจเฉพาะของสถาบันต่างๆ มีการให้ความรู้ มันทำให้เยาวชนที่เราเคยเห็น หรือหลายคนอาจจะเคยปรามาสว่าพลังของนักศึกษาตายไปแล้ว วันนี้เพียงแค่ขั่วข้ามเดือน มันพลิกกลับอย่างน่าตกใจ ว่าเขาพร้อมที่จะออกมาเดินขบวน ซึ่งผมไม่เคยเห็นมาก่อนว่าเขาจะสนใจเรื่องแบบนี้มาก่อนผมมองข้ามไปอีกสเต็ปว่า ทำอย่างไรที่จะให้กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมในเรื่องทางการเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์  ให้มันดำรงอยู่หลังจากนี้ ทำยังไงที่จะให้จิตสำนึกที่แต่ละคนมีอยู่ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาไม่ได้เปิดโอกาสหรือเขายังไม่เห็นศักยภาพของตัวเอง ได้สามารถขยายแล้วแตกเป็นหน่ออ่อนขึ้นมา อันนี้จะเป็นพลังที่น่าสนใจมากกว่า อาจจะต้องช่วยยันหลายฝ่ายที่จะเข้ามารดน้ำพรวนดิน หลังจากเหตุการณ์นี้

ทีมข่าวพลเมือง : คนใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นคนเมือง คนชั้นกลาง ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมันสามารถเป็นตัวแทนของเสียงประชาชนได้แค่ไหน

อ.มานะ : มีข้อแย้งว่า ราคาสมาร์ทโฟนต่ำลง ประมาณสองสามพันก็ใช้ได้  การชุมนุมแต่ละครั้งของประชาชนทั่วไป  หรือคนเสื้อแดง ผมก็เห็นมีคนใช้เยอะ เพียงแต่การสื่อสารอาจจะไม่มากเท่า เพราะธรรมชาติการใช้ที่อาจไม่บ่อยเท่าพนักงานออฟฟิต นักศึกษา ซึ่งใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นเขาอาจจะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการติดต่อสื่อสารมากกว่าที่จะใช้อยู่ร่วมกันในสื่อสังคมออนไลน์  อาจจะมีความแตกต่าง ถ้ามองในมิติของชนชั้น  แต่มันก็มีข้อแย้งเหมือนกันว่า มันไม่สามารถพูดได้ 100 เปอร์เซ็น ว่าคนที่ออกมาชุมนุม ว่าเป็นคนชั้นกลางในเมือง อันนั้นก็ปล่อยให้นักรัฐศาสตร์เขาทะเลาะกันไป

ทีมข่าวพลเมือง : มันจึงไม่ได้สะท้อนเสียงที่แท้จริง?

อ.มานะ : ไม่มีเสียงที่แท้จริง ถ้าไม่ได้มีการพูดออกมา สำคัญคือทำอย่างไรที่จะให้คนต่างๆ ได้สะท้อนเสียงเหล่านี้ออกมาผ่านสื่อใหม่   เช่น ทำอย่างไร จะให้คนได้ใช้สื่อใหม่แสดงถึงความคิด แสดงถึงปัญหาของสังคมแล้วช่วยกันแก้ไขมากกว่าการพูดโดยใช้สื่อใหม่ มาประณามหยามเหยียดกันว่าคนนี้ไม่ดี คนนี้ไม่ฉลาด คนนี้ซื้อได้ อะไรประมาณนั้น ซึ่งมันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์  ในช่วงปะทะการทางสงคราม เราอาจจะแยกกันลำบาก  แต่ว่าเมื่อผ่านพ้นไปแล้ว ทำอย่างไรให้คลี่คลาย เอาเหตุเอาผลมาฟังกัน เช่น มันมีปัญหาในเรื่องของความไม่เท่าเทียมตรงนี้จริงไหม ถ้าจริง ก็ควรก็ปฏิรูปด้วย ตรงนี้คนที่ได้ก็คือทุกคน ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เสื้อสีใดสีหนึ่ง    

ทีมข่าวพลเมือง :มีความต้องการปฏิรูป  แล้วการปฏิรูปสื่อ?

อ.มานะ : วันนี้เราพูดเรื่องการปฏิรูปการเมืองกันมาก แต่ระยะหนึ่ง เราควรจะหันมาพูดเรื่องการปฏิรูปสื่อด้วย ทำอย่างไรที่จะทำให้สื่อ ทั้งที่เป็นฟรีทีวีเอง หรือสื่อที่ครอบคลุมโดยทุนเอง เปิดพื้นที่ให้ความคิดเห็นที่แตกต่างได้มีการพูดคุยกัน โดยประสานสื่อใหม่ โซเซียลมีเดียให้มันเชื่อมต่อกัน เพราะถึงที่สุดแล้ว สื่ออาจจะอยู่ในคนกลุ่มหนึ่ง แต่ว่าสื่อเก่า อย่างเช่นสื่อฟรีทีวี ที่เข้าถึงคนรากหญ้าได้มากกว่า มันสามารถเชื่อมประสานกันได้  มันก็สามารถเอื้อให้ข้อมูลมันไหลถึงกันได้มากขึ้น  อันนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่น่าจะมีการพูดคิด การพูดคุยกันต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ