‘สื่อในวิกฤติ…’ ยกเคส ‘ถ่ายทอดสด ดร.ยิงตัวเอง’ ชี้ปัญหาสื่อเก่า สื่อใหม่ และการควบคุม

‘สื่อในวิกฤติ…’ ยกเคส ‘ถ่ายทอดสด ดร.ยิงตัวเอง’ ชี้ปัญหาสื่อเก่า สื่อใหม่ และการควบคุม

‘สุภิญญา’ ชี้สภาวะเสรีภาพถูกจำกัด จริยธรรมสื่อก็วิกฤติ หลังสื่อหลักถูกสังคมวิจารณ์ถ่ายสดไม่ยั้งคิด ครั้งแรก กสทช.ส่งจม.เตือนกลางอากาศ ‘วิสุทธิ์’ เผยสื่อแข่งกันได้ แต่แนวทางการทำงานที่เหมาะสมควรคิดร่วมกัน ‘นักวิชาการสื่อ’ แนะอนาคตสื่อต้องสร้างความแตกต่างด้วยคุณภาพ ‘สปท.’ ชี้สื่อออนไลน์มีภัยแอบแฝง ต้องแก้ กม.คุม

20162605005659.jpg

25 พ.ค. 2559 มูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา ‘สื่อในวิกฤติ… ทางออกประเทศไทย?’  ในงานประกาศผลการตัดสินข่าวและสารคดีวิทยุโทรทัศน์ รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ประจำปี 2558 ณ ห้องบอลรูม 2 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ

ในเวทีมีการพูดคุยถึงวิกฤติสื่อมวลชนในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ล่าสุดคือการถ่ายทอดสด กรณีการล้อมจับกุม ดร.วันชัย ดนัยตโมนุท อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ผู้ต้องหาฆ่า 2 อาจารย์มหาวิทยาลัยเดียวกัน เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งท้ายที่สุดอาจารย์คนดังกล่าวตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ท่ามกลางการถ่ายทอดสดของสื่อมวลชนหลายสำนักซึ่งจับตาการเจรจาของเจ้าหน้าที่ที่ยาวนานกว่า 6 ชั่วโมง 

20162705001808.jpg

สภาวะเสรีภาพถูกจำกัด จริยธรรมสื่อก็วิกฤติ

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้สื่อกระแสหลักที่เป็นมืออาชีพถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าถ่ายทอดสดโดยไม่ยั้งคิด ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยวิพากษ์วิจารณ์โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมว่าทำหน้าที่ไม่เหมาะสมในช่วงวิกฤติทางการเมืองที่ผ่านมา

หากจะทบทวน ความสุดโต่งในสังคมไทยเกิดขึ้นเป็นระยะและมีมาโดยตลอด ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สื่อมีการถกเถียงกันถึงเรื่องประโยชน์สาธารณะ ตัวอย่างเรื่องการชุมนุมทางการเมืองก็มีการมองว่าเป็นประโยชน์สาธารณะเช่นกัน

สุภิญญา กล่าวด้วยว่า การทำหน้าที่ กสทช.ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยืนยันเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน มีหลายกรณีที่ต้องมีการตัดสิน ส่วนใหญ่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมาย และหลายเรื่องคิดว่า กสทช.ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยซ้ำ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้รุนแรงมาก จนทำให้คณะกรรมการมีความเห็นตรงกันที่จะต้องใช้อำนาจให้สำนักงาน กสทช.ส่งจดหมายเตือนกลางอากาศเป็นครั้งแรก

การออกจดหมายเตือนดังกล่าวรู้สึกเจ็บปวด เพราะเดิมตัวเองเป็นผู้คัดค้านมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตลอด แต่ต้องตัดใจยอมให้ดำเนินการ เนื่องจากมีการล้ำเส้นมากเกินไป

สุภิญญา แสดงความเห็นว่า การที่สื่อทำเกินลิมิต ทำให้สังคมไม่เชื่อมั่นในการกำกับกันเองของสื่อ จะเปิดช่องให้รัฐเข้ามาใช้กลไกที่มากกว่านี้ในการกำกับได้

ทั้งนี้ เรื่องการขัดจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพเป็นสิ่งที่สื่อแต่ละสำนักต้องนำไปพูดคุยกันต่อ ส่วนการใช้ มาตรา 37 นั้นเป็นภาระบนบ่าของ กสทช.ที่จะต้องตัดสินว่าการรายงานข่าวกระทบต่อสังคมหรือไม่

“จุดยืนส่วนตัวไม่อยากให้คุมหนักกว่านี้ แต่ต้องถามสื่อว่า เราจะอยู่กันไปอย่างนี้จริงๆ หรือ” น.ส.สุภิญญา กล่าว พร้อมระบุว่า การอ้างว่าเพื่อความอยู่รอดแล้วทำอะไรก็ได้ สิ่งที่ทำนั้นจะส่งผลกับความน่าเชื่อถือของสื่อเอง ในสภาวะที่เสรีภาพถูกจำกัด จริยธรรมสื่อก็วิกฤติ

ส่วนกรณีคณะอนุกรรมการผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช.เรียก 4 ช่อง คือ เนชั่นทีวี ไทยรัฐทีวี สปริงนิวส์ และ TNN24 เข้าชี้แจง น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในคณะอนุกรรมการฯ แต่จากการติดตามกระแสข่าว พบว่าบรรยากาศค่อนข้างตึงเครียด ยังหาข้อสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 4 ช่อง ยื่นยันว่าไม่ได้ทำผิด แต่ กสทช.เห็นว่ามีความผิดก็จะต้องหาหลักฐานมายืนยันตามกฎหมาย ซึ่งการตัดสินจะเป็นการสร้างบรรทัดฐาน

ทั้งนี้ กสทช.จะมีการเชิญนักสิทธิมนุษยชน นักจิตวิทยา และองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นการฆ่าตัวตายมาให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง เพื่อตอบคำถามให้กับสังคม ในส่วนช่องโทรทัศน์จะต้องชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้ กสทช.เพื่อใช้ในการพิจารณาอีกครั้ง 

แข่งกันได้ แต่แนวทางการทำงานที่เหมาะสมควรคิดร่วมกัน

วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า สื่อมวลชนยังคงมีบทบาทสำคัญในการสะท้อนปัญหาและหาทางออกให้สังคม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องกลับมาทบทวนการทำงาน นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิกฤติสื่อ ที่คนที่อยู่ในวงการนี้ต้องกลับมาเอาจริงเอาจังในการกู้วิกฤติ ก่อนที่จะวิกฤติไปกว่านี้ ต้องกลับมาทบทวนและคุยร่วมกันทั้งขบวน

ส่วนการแข่งขันของสื่อเพื่อให้มีผู้ชมมากที่สุดเป็นเรื่องที่แข่งกันได้ แต่แนวทางการทำงานที่เหมาะสม มีแนวปฏิบัติในชัดเจนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาไม่มีครั้งไหนที่ประชาชนได้ดูการรายงานสดเหตุการณ์ฆ่าตัวตาย ตรงนี้ทำให้เห็นว่า การถ่ายทอดสดยิ่งเร็ว ยิ่งนาน ยิ่งลึกเท่าไหร่ ต้องถูกตรวจสอบมากขึ้นเท่านั้น

“นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเครื่องมือใหม่ที่ต้องเรียนรู้การปฏิบัติไปด้วยกัน” ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกล่าว

วิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า จากรณี ‘ปอ ทฤษฎี’ ถึง ‘ดร.วันชัย’ ที่เห็นการรวมตัวของสื่อ ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบและสิ่งที่เห็นคือสังคมแสดงอาการเอือมระอา ไม่ยอมรับ อย่างไรก็ตามนี่อาจเป็นโอกาสในการควบคุมดูแลกันเองของสื่อ ซึ่งถ้าไม่ทำให้ทันสถานการณ์ รีบพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส อาจมีคนฉวยโอกาสเข้ามาควบคุมแทน

ด้านเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า วิกฤติสื่อที่ผ่านมาคล้ายกัน เพียงแตกต่างที่แพลตฟอร์ม คนเล่น และกรรมการ โดยวิกฤตินั้นมาจากปัญหา อาทิ ปัญหาการไม่เข้าใจของสื่อและผู้รับสารเรื่องจริยธรรม ปัญหาการขยายจำนวนของสื่อบางสาขา เช่น อาชญากรรม ซึ่งไม่สามารถจำกัดได้ แต่ต้องมีการพูดคุยกันเพื่อการควบคุม ปัญหาพฤติกรรมการเสพสื่ออย่างสื่อออนไลน์ที่ทำให้เสพสื่อด้านเดียว คนเชื่อสื่อใหม่มากกว่าสื่อเดิมที่มีคุณภาพ และปัญหาเรื่องการแข่งขันของสื่อ ฯลฯ

เขมทัตต์ กล่าวด้วยว่า การออกกฎหมายควบคุมสื่อ ควรฟังเสียงสื่อบ้าง ทั้งนี้ ในเรื่องความรับผิดชอบต่อผู้ชม สื่อแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือสื่อหลัก อย่างวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ซึ่งมีกระบวนการคัดกรองดีแล้ว แต่สื่อออนไลน์ซึ่งมีลักษณะเป็น Personal Broadcasting ไม่มีกระบวนการคัดกรอง ก็ควรต้องกรองก่อนไปสู่สาธารณะ

20162605005718.jpg

สื่อใหม่ และอนาคตสื่อที่ต้องสร้างความแตกต่างด้วยคุณภาพ

ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล นักวิชาการด้านสื่อ กล่าวว่า เทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงอย่างอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการสำลักเสรีภาพ สำลักความเป็นตัวตนที่จะแสดงออก ยกตัวอย่างการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) ถ่ายทอดสด จะเข้านอนยังถ่ายทอดสด บางครั้งถ่ายทอดสดลูกกลิ้งได้ จึงอยากให้มีกรอบว่าจะถ่ายทอดสดอะไร ไม่ถ่ายทอดสดอะไร โดยเฉพาะสำหรับบุคคลสาธารณะ

นอกจากนี้ยังมีกรณีภาพจากกล้องหน้ารถและกล้องมือถือ โดยเฉพาะภาพอุบัติเหตุ ซึ่งสื่อโทรทัศน์นำมาเผยแพร่ ซ้ำๆ ตรงนี้อาจเป็นการสร้างความคุ้นชินต่อความรุนแรงได้

ดร.สุดารัตน์ กล่าวด้วยว่า คนสื่อปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยีการสื่อสาร แม้จะมีการบริหารจัดการสื่อ ทราบเทคนิคการใช้งาน แต่คนอยู่หน้างานและคนสั่งการตระหนักแค่ไหนในการใช้สื่อ นอกจากนี้ ปัจจุบันสื่อโทรทัศน์มีจำนวนมาก การแข่งขันเรื่องเรตติ้งสูงเพราะมีผลกับโฆษณาที่จะเข้ามาและความอยู่รอด จึงส่งผลให้สื่ออยากได้สิ่งที่แปลกใหม่ 

นักวิชาการด้านสื่อ กล่าวอีกว่า ในอนาคตสื่อต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกต่าง ทั้งนี้ ในปัจจุบันนอกจากการถ่ายทอดสดที่มีปัญหา ยังมีเรื่องการโฆษณาเกินจริง ความก้ำกึ่งระหว่างข่าวกับการประชาสัมพันธ์ ปัญหาเรื่องจ่ายเงินให้สื่อ ฯลฯ ตรงนี้ ต้องรวบรวมแล้ววางระบบให้ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหา และส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้กับคนทำงานว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ อีกทั้งสมาคมวิชาชีพสื่อควรมีกระบวนการเรียนรู้ อบรม สร้างคนทำงานที่ทันกับยุคสมัย

สปท.ชี้สื่อออนไลน์มีภัยแอบแฝง ต้องแก้ กม.คุม

ด้าน พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ หารือถึงปัญหาของสื่อมวลชนโดยให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์เป็นอันดับแรก เพราะสามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างและรวดเร็ว ให้ประโยชน์มหาศาลแต่ก็มีภัยร้ายแอบแฝงอยู่ 

พล.อ.อ.คณิต กล่าวด้วยว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการฯ อยู่ในระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ขณะนี้อยู่ใน สนช.แล้ว และได้มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องสื่อออนไลน์เข้าไปด้วย อีกทั้งได้ดำเนินการขอย้ายตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ไปในโครงสร้างของ ทปอ.

รวมถึงมีการเชิญผู้บริหารสูงสุดของกูเกิลประจำประเทศสิงคโปร์ มาหารือร่วมกับ สปท. 2 ครั้ง อีกทั้งมีการเดินทางไปพูดคุยกับกูเกิลที่ซานฟรานซิสโกด้วย เพื่อหาแนวทางในการถอดข้อมูลที่ไทยมีหมายศาลยืนยันชัดเจนว่ามีความผิดออกจากระบบทันที ซึ่งในเบื้องต้นทางกูเกิลขอพิจารณาก่อน เนื่องจากมีข้อมูลเข้าสู่ระบบมาจากทั่วโลกกว่า 5 ล้านข้อมูลต่อวินาที เป็นจำนวนมหาศาลและต้องมีระบบรองรับที่ดีเพียงพอ นอกจากนั้น ทปอ.ได้มีข้อเสนออีกหนึ่งช่องทางคือ หนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะหมายศาลใช้เวลา ข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ไปได้ก่อให้เกิดความเสียหายแล้ว ซึ่งกูเกิลระบุว่าเกรงทำให้เกิดความสับสน ขอพิจารณาเฉพาะเรื่องหมายศาลก่อน

พล.อ.อ.คณิต กล่าวด้วยว่า ในวันนี้จะเดินทางไปเชียงใหมเพื่อจัดทำการประชาพิจารณ์การแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 (ระหว่างวันที่ 26-27 พ.ค.2559) กับผู้ประกอบกิจการและผู้ได้รับใบอนุญาต ซึ่งการประชาพิจารณ์จะมีขึ้น 5 ครั้ง ต่อเนื่องใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการออกกฎหมายควบคุมสื่อมวลชน ต้องมีการประชาพิจารณ์ในหลายระดับ เพราะเป็นกฎกติการ่วมกัน แต่ยอมรับว่า สมาชิก กมธ.หลายท่าน เห็นว่าสื่อต้องได้รับการควบคุม และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่นเดียวกับทนายความ แพทย์ หรือวิชาชีพอื่น ๆ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ