“ผมใช้เวลาหลังเลิกงาน วันละ 1-2 ชั่วโมงมาดูแลสวนกล้วย และดูแลเต็มเวลาในช่วงวันหยุด ซึ่งกล้วยเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกส่งขายไปยังต่างประเทศ นอกจากจะเป็นรายได้เสริม หลัก ๆ มันทำให้ผมกับพ่อแม่ได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกัน”
สวนกล้วยหอมทองพื้นที 5 ไร่ ของเกรียงไกร พิมพ์ภูธร ที่ปัจจุบันทำงานเป็นนายช่าง เขียนแบบ ให้กับเทศบาลตำบลท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ถูกบรรจงดูแลด้วย 3 แรงงาน พ่อ แม่ และพี่เกรียงไกร ผู้เป็นลูกชายที่เป็นกำลังงานงานหลัก ซึ่งหน้าที่ในสวนกล้วยแห่งนี้ถูกแบ่งตามความเหมาะสมของกำลังวัย ซึ่งงานเบา ๆ ในสวนนี้ เช่น การให้น้ำ ตัดแต่งกอ ก็จะยกให้พ่อกับแม่ ผู้เป็นแรงงานสูงวัย ส่วนงานหนัก ๆ เช่น ให้ปุ๋ย ตัดกล้วย ตัดหญ้า และส่งขายให้กับกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ทั้งในจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดขอนแก่น
จุดเริ่มต้นของสวนกล้วย
เดิมทีพื้นที่ดินแปลงนี้เป็นที่นา ซึ่งการทำนาที่นี่แม้จะอยู่ติดลำน้ำชี ดูเหมือนจะทำนาได้ตลอดทั้งปี และน่าจะได้ข้าวเยอะ แต่ตรงกันข้ามเมื่อตลอดการทำนาในตลอดหลายปีที่ผ่านมาครอบครัวมักจะขาดทุนกับการทำนาแปลงนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องวัชพืช ครอบครัวจึงตัดสินใจทิ้งนาร้างมาหลายปี จนได้แรงบันดาลใจจาก You tube
“อยู่มาวันหนึ่งหนึ่งได้เปิดดูรายการใน YouTube เกี่ยวกับเกษตร เกี่ยวกับกล้วยหอมทองเป็นสายพันธุ์ของท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ก็เลยทำการศึกษามา ปี59”
เตรียมตัว ศึกษาข้อมูล หาแหล่งขาย ก่อนลงมือปลูก
“ผมศึกษาการปลูกการดูแล 1 ปีเต็ม ๆ แล้วก็มาเริ่มปลูกในปี 2560 โดยคิดว่ากล้วยหอมเป็นผลไม้มงคลของคนไทย ซึ่งนิยมมาประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เกือบทุกพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานสู่ขอ ขอขมาหรืองานไหว้ศาล ไหว้เจ้า พิธีกรรมต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ใช้กล้วย ก็เลยคิดว่ากล้วยน่าจะเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้ปลูกในเขตภาคอีสานได้ ทั้งนี้เราก็ต้องดูพื้นที่ว่า น้ำมีตลอดปีไหม เพราะว่ากล้วยหอมเป็นกล้วยที่ชอบน้ำนะครับ เพราะเป็นพืชร้อนชื้น”
นาข้าวกว่า 7 ไร่ เริ่มถูกทยอยเปลี่ยนเป็นสวนกล้วยหอมทอง แม้พื้นที่ตรงนี้จะอยู่ติดริมแม่น้ำชี แต่พี่เกรียงไกรมองว่าถึงแม้พื้นที่ตรงนี้จะมีน้ำท่วมบ้างในช่วงฤดูฝน แต่เท่าที่สังเกตที่จะตรงนี้จะมีท่วมใหญ่ก็ราว ๆ 10 ปี ต่อครั้ง แม้จะท่วมครั้งหนึ่ง แต่ปีที่เลือกก็น่าจะมีกำไรอยู่บ้าง
“พื้นที่ที่อยู่ปัจจุบันนะครับ เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง สถิติของน้ำท่วมก็คือ 10 ปี ต่อ 1 ครั้ง ก็เป็นน้ำท่วมถึง ก็เป็นเกาะอยู่กลาง จะเป็นแม่น้ำล้อมรอบซึ่งพื้นที่นี้เดิมทีถ้าเรียกตามพ่อตามแม่เรียกต่อ ๆ กันมาจะเรียกว่า ห้วยชีหลง เป็นพื้นที่ที่ต่อออกมาจากชีใหญ่ ก็จะเป็นห้วยชีหลงนะครับ ก็เป็นน้ำล้อมรอบ ที่เรานั่งอยู่นี้ก็คือเป็นเกาะอยู่กลางน้ำ”
ลงทุน ลงแรง เริ่มแรกปลูกกล้วย ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องกล้วย ๆ
สำหรับปีแรกก็ลงทุนเรื่องการไถ ราคาต่อไร่อยู่ที่ 3,000 บาท แล้วก็ระบบน้ำอยู่ที่ 5,000-6,000 บาท แล้วก็ค่าปุ๋ยเฉลี่ยไร่ละ 1 ลูกต่อเดือน นี่ครับสำหรับการลงทุนค่าใช้จ่ายในปีแรก ส่วนต้นพันธุ์จะใช้อยู่ที่ไร่ละ 400 ต้น ๆ ละ 100 บาท ทั้งหมด 3 ไร่ ก็ราว ๆ 120,000 บาท โดยต้นพันธุ์กล้วยจะเป็นสายพันธุ์ท่ายาง จ.เพชรบุรี รวม ๆ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็ราว ๆ 2 แสนบาท
“ปลูกในปีแรกผลผลิตกล้วยที่เกือบจะเก็บเกี่ยวได้อยู่ที่ประมาณ 75% แล้ว แต่สิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือภัยธรรมชาติของเกษตรกรนะครับ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แต่เราต้องรับสภาพแล้วก็พยายามปรับตัวให้อยู่กับมันให้ได้ เพราะว่าธรรมชาติอยู่มาก่อนเรา กล้วยกำลังจะได้ตัดเครือปีนั้นก็คือเป็นอุทกภัย เกิดน้ำท่วมในปี 2560 ก็เสียหายทั้งแปลงปีแรกขาดทุนไปประมาณ 200,000 บาท”
แต่ถึงแม้ว่าแค่เริ่มต้นก็เจอข้อท้าทายใหญ่แล้ว ถึงกลับคนในบ้านต้องมาจับเข่าคุยกันว่าเราจะไปต่อหรือพอกันเท่านี้
“ทีแรกก็ลังเลอยู่ ก็เลยปรึกษากับพ่อกับแม่นะครับ หนึ่งคือเรื่องระบบน้ำ เราวางระบบไว้แล้ว เราก็ลงทุนแค่การไถใหม่ การซื้อหน่อพันธุ์มาใหม่ สถิติในการน้ำท่วมก็คือ 10 ปี ต่อ 1ครั้ง มันไม่ได้ท่วมทุกปี เลยเริ่มลงทุนครั้งที่สอง ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จในการข้ามปัญหาของปีแรกขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง และหลังจากนั้นก็ได้กำไรมาเรื่อย ๆ”
ลุยต่อ “ปลูก เก็บ ส่งขาย ทั้งไทยและต่างประเทศ”
“หัวใจสำคัญคือ คุณภาพของสินค้า หนึ่ง ทางสวนของเราไม่มีสารเคมีตกค้างแล้วคุณภาพของสินค้า กล้วยหอมทองของสวนเราได้มาตรฐานเทียบเท่าภาคกลางหรือเพชรบุรี โดยการใส่ใจและการดูแลรักษาผลผลิตทุกขั้นตอน จากที่เคยศึกษามาแล้วก็จากประสบการณ์ที่ทำมาหลาย ๆ ปี ก็เลยทำให้สินค้าของสวนคุณภูเป็นที่รู้จัก กับพ่อค้าแม่ค้าหรือกลุ่มคนที่สนใจในกล้วยหอมทอง”
หลังจากที่พี่เกรียงไกรลงมือปลูกกล้วยหอมทองมาอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 6 ทั้งจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากพ่อค้าแม่ค้า และในยูทูบ จึงทำให้สามารถพัฒนากล้วยในสวนตัวเองจนได้รับความนิยมทั้งจากกลุ่มพ่อค้าทั้งไทยและต่างประเทศ
“กล้วยเหล่านี้จะถูกส่งไปให้พ่อค้า แม่ค้าผลไม้ทั้งในเมืองมหาสารคาม จังหวัดของแก่น รวมถึงในพืนที่ใกล้เคียงด้วย โดยกล้วยหนึ่งหวี ถ้าเกรดเอหวีหนึ่งราคาอยู่ที่ 65 – 90 บาท ในรอบแต่ละปี ในรอบแต่ละช่วง ไม่น่าจะต่ำกว่า 60 บาท นี่คือเกรดเอ อันนี้คือราคาส่ง แล้วเกรดบีก็อยู่ที่ 45 – 50 บาท นี่คือเกรดบี ก็จะมี 2 เกรด แต่ถ้าเป็นราคาขายที่ห้อยตามตลาดที่รับจากเราไปก็จะปรับขึ้นเป็นหวีละ 100 – 120 บาท และ 130 บาท ในช่วงฤดูเทศกาลสารทจีน ตรุษจีน ก็จะแพงขึ้นมาหน่อย ถ้าในช่วงที่ไม่มีเทศกาลราคาก็จะประมาณ 90 – 100 บาท และเนื่องจากสวนกล้วยของเราได้ใบรับรอง GMP จากกรมวิชาการเกษตร จึงทำให้กล้วยของเราบางส่วนถูกส่งไปขายถึงประเทศสิงคโปร์ และล่าสุดทางตลาดประเทศเกาหลีก็ติดต่อมา”
ซึ่งหัวใจสำคัญของการผลิตกล้วยสู่ตลาดนั้นคือเรื่องของมาตรฐาน โดยสวนกล้วยที่นี่ก็มีการควบคุมมาตรฐานการเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนส่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าครับ
“สำหรับมาตรฐานของกล้วย เราจะตัดกล้วยที่ 75 – 80% กล้วยที่ 75 – 80% เนื้อกล้วยเวลาสุกมันจะเหนียว หนึบ ไม่เละ รสชาติก็จะหวาน ปริมาณแป้งก็จะพอดี ถ้า 90 – 100% ไป กล้วยมันจะเนื้อเละเกินไปแล้วก็เก็บได้ไม่นาน เพราะฉะนั้นมาตรฐานการตัดกล้วยที่ให้มีคุณภาพหรือว่าให้มีความอร่อยก็อยู่ที่ 75 – 80% ขนาดของลูกกล้วยก็ประมาณ 4 – 4.5 เซนติเมตร ความยาวก็ประมาณ 15 – 18 เซนติเมตร ความหวานอยู่ที่ 21 – 24 บริกซ์ โดยการตรวจสอบที่จัดส่งตัวอย่างไปญี่ปุ่นในอาทิตย์ที่ผ่านมา ปริมาณแป้งในผลกล้วยคือ 78% แล้วก็ปริมาณสูญเสียของเปลือกก็คือ 22% ก็เป็นมาตรฐานที่ทางเกาหลีตรวจสอบคุณภาพแล้วว่าผลผลิตได้มาตรฐานต่อความต้องการของผู้บริโภค”
ซึ่งการขายกล้วย 1 ไร่ จะสร้างรายได้ให้กับพี่เกรียงไกรและครอบครัวสูงถึง 100,000 บาท ซึ่งนี่เป็นแค่ราคาจากกล้วย ยังไม่รวมหน่อ ใบตอง และผลิตการเกษตรอย่างอื่นที่เขาทำขึ้นมาเพื่อเพิ่มรายได้ในส่วนอีกช่องทาง
“ในสวนนอกจากกล้วย ก็จะมีมะละกอ ผักหวานบ้าน เลี้ยงหอยเชอรี่ ซึ่งเราก็ทำไว้เพื่อให้มีสินค้าที่หลากหลาย ซึ่งหอยเชอรี่นี่ได้ขายดีมาก คือแบบเลี้ยงไม่ทันขายเลย ส่วนสวนกล้วยตอนนี้เราขยายเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมดเป็น 7 ไร่แล้ว”
เหมือนจะไม่มีเวลา แต่กลับมีเวลาเหลือเฟือ
“สำหรับเวลาที่สามารถมาดูแลในสวนกล้วย ก็จะใช้เวลาวันหยุดหรือว่าหลังเลิกงานนะครับ ก็จะใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมงต่อวัน 2 ชั่วโมงก็เพียงพอสำหรับการดูแลสวนกล้วย เพราะว่าการทำงานในสวนเราจะทำแค่ช่วงเช้าแล้วก็ช่วงเย็นเท่านั้น ช่วงสายไปแดดจะร้อนเราก็สามารถพักผ่อนได้ หรือว่าเราจะมาเช็คข้อมูลของราคากล้วยหอมแต่ละเดือน แต่ละช่วงเดือนราคาก็จะไม่ซ้ำกัน เราก็จะได้มีเวลามาศึกษาหาข้อมูลจากทางออนไลน์ก็ได้ ปัจจุบันในการทำสวนกล้วยหอมทอง ก็ทำระบบครอบครัว มีพ่อ มีแม่ และก็ผม 3 คน ทำงานในแต่ละวันของการทำกล้วยหอมทองเราก็จะวางงานไว้ว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง อาทิตย์หน้าทำอะไรบ้าง เราจะได้กำหนดเวลาที่เรามีในวันละ 2 ชั่วโมงหรือวันละครึ่งชั่วโมงเราจะบริหารเวลาอย่างไรให้ทำงานในสวนได้”
ซึ่งการได้กลับมาทำสวนของพี่เกรียงไกร หลายคนอาจจะมองว่าเพิ่มความเหนื่อยให้กับตัวเอง แต่ส่วนพี่แกมองว่ามันช่วยให้คลายเครียด ผ่อนคลาย ได้มีเวลาทำงานร่วมกับครอบครัว และที่สำคัญทำใหญ่สุขกาย สุขภาพใจดีขึ้นด้วย
“ถ้าเรารักในสิ่งที่เราทำ ถึงเราจะเหนื่อยจากงานหลัก แต่พอเรามาทำในส่วนงานสวน มันก็จะเป็นการผ่อนคลาย จากที่เราเครียดมาหรือว่ามีปัญหาจากหน้างาน หรือว่าจากงานประจำมา พอเรามาหันหน้าให้กับต้นไม้ หันหน้าให้กับพืช เราก็จะลืมความเครียดจากงานในส่วนนั้นไปเลย มันเป็นการผ่อนคลายมากกว่า แล้วก็เป็นการออกกำลังใจไปในตัว ก่อนหน้านี้ผมน้ำหนัก 60 กิโลกรัมกว่า เกือบ 70 กิโลกรัม มีพุงออก พอมาทำงานสวน พุงผมหายแล้วก็เป็นการออกกำลังกายไปในตัว แล้วเราก็ได้ผลผลิตในการออกกำลังกายไปในตัว หลังจากเลิกงานประจำมา ซึ่งงานสวนไม่ได้จำเป็นต้องทำทุกวัน เราทำแค่วันละ 2 ชั่วโมงถึง 3 ชั่วโมงก็ได้งานแล้ว หลังจากนั้นเราก็หาข้อมูลหรือว่าหาช่องทางอื่นที่มันจะเสริมรายได้ในส่วนของสวนเราอีกช่องทางหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับ ”
ข้อคิดก่อนลงมือทำ “หาตลาด ก่อนลงมือผลิต”
การลงมือปลูกกล้วยหอมของพี่เกรียงไกร เริ่มต้นจากการวางแผนก่อน ว่าจะปลูกอะไรดี แล้วจะเอาไปขายที่ไหน เข้าไปคุยกับแม่ค้าว่าแม่ค้าที่นี่เข้าเจอปัญหาเรื่องสินค้าอย่างไร แล้วคอยเอามาวางแผนสำหรับสวนตัวเอง อย่างกล้วยหอมทองที่มีอยู่ตอนนี้ก็ใช้เวลาศึกษาข้อมูลอยู่เป็นปี ทั้งค้นในอินเตอร์เน็ต ดูจากยูทูบ คุยกับแม่ค้า และที่สำคัญคือคุยกับคนในครอบครัวให้เห็นภาพตรงกัน ว่าเรากำลังจะลงมือทำอะไร เพื่ออะไร และคนนครอบครัวเองจะมีส่วนร่วมอะไรบ้าง มากน้อยขนาดไหน
นี่คือเรื่องราวความอยู่ดีมีแฮงจากสวนกล้วยหอม ของพี่เกรียงไกรที่ใช้เวลาว่างหลังเลิกงาน ทั้งได้ผลิตผลิตที่ปลอดภัย มีรายได้เสริม และที่สำคัญคือได้มีกิจกรรมทำร่วมกับคนในครอบครัวครับ หวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวตัดสินใจสำหรับคนที่กำลังวางแผนทำสวนเกษตรอยู่