ประมวลข้อกฎหมาย ‘คุมชุมนุมสาธารณะ’ แบบแจ้งชุมนุม-เครื่องมือควบคุมฝูงชน

ประมวลข้อกฎหมาย ‘คุมชุมนุมสาธารณะ’ แบบแจ้งชุมนุม-เครื่องมือควบคุมฝูงชน

20151111021909.jpg

11 พ.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (THAI LAWYERS FOR HUMAN RIGHTS) เผยแพร่ข้อมูลสรุปประเด็นข้อกฎหมายในการกำหนดแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 

หลังจาก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. 2558  ต่อมาวันที่ 3 พ.ย. 2558 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะพ.ศ. 2558 จึงได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 1.เรื่องกำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ และ 2.เรื่องเครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

1.กำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมเป็นหนังสือได้ในสามช่องทางคือแจ้งต่อผู้รับแจ้งหรือพนักงานเจ้าหน้าที่โดยตรง แจ้งทางโทรสาร และแจ้งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

2.เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่รับหนังสือแจ้งการชุมนุมแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอผู้รับแจ้งซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อพิจารณา

3.เมื่อผู้รับแจ้งได้รับแจ้งการชุมนุมสาธารณะแล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้องแล้วส่ง สรุปสาระสำคัญในการชุมนุมสาธารณะให้ผู้แจ้งทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับแจ้งและอาจมี คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลการชุมนุมสาธารณะเพื่อให้ผู้แจ้งปฏิบัติหรือแก้ไขภายในเวลาที่กำหนดด้วยก็ได้

4.ในกรณีที่ผู้แจ้งไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ทันกำหนดเวลาก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง ผู้แจ้งการชุมนุมอาจขอผ่อนผันกำหนดเวลา โดยยื่นคำขอผ่อนผันพร้อมแบบแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งกรณีดังกล่าวในกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอต่อผู้บังคับการตำรวจนครบาลผู้รับผิดชอบพื้นที่ ในกรุงเทพมหานคร ในจังหวัดอื่นให้ยื่นคำขอต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด

5.กำหนดแบบแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้แจ้งการชุมนุม วัตถุประสงค์การชุมนุม ลักษณะการชุมนุมและรายละเอียด พร้อมรายชื่อผู้ประสานงาน

6.สำหรับเครื่องมือควบคุมฝูงชนนั้นประกอบด้วยอุปกรณ์ 48 รายการ อันเป็นอุปกรณ์ประเภทป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์กีดขวางการชุมนุมและป้องกันสถานที่ อุปกรณ์ที่ใช้ในการสลายการชุมนุม  ตัวอย่างเช่น หมวกปราบจลาจล หรือหมวกกันกระสุนพร้อมกระบังหน้า หน้ากากป้องกันแก๊สพิษ พร้อมหม้อกรองแก๊สพิษและไมโครโฟน ชุดปืนยิงแก๊สน้ำตาพร้อมอุปกรณ์ แก๊สน้ำตาชนิดเผาไหม้ ลูกขว้างแบบควัน ลูกขว้างแก๊สน้ำตา เครื่องกีดขวางการผ่านของรถ อุปกรณ์ช็อตไฟฟ้า (Taser)  ปืนยิงตาข่าย รถควบคุมฝูงชน อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงรบกวนพิเศษระยะไกล อุปกรณ์เพื่อตรวจหาอาวุธ เป็นต้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2558 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดระดับเสียงของเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการชุมนุมสาธารณะโดยกำหนดห้ามมิให้ใช้เครื่องขยายเสียงเกินกำหนดระดับเสียงทั่วไป โดยค่าระดับเสียงสูงสุด ไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ และค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ และห้ามมิให้ใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุมสาธารณะอันเป็นการรบกวนผู้อื่นโดยให้กำหนดระดับเสียงรบกวนเท่ากับ 10 เดซิเบลเอ

อย่างไรก็ตามยังไม่มีการประกาศใช้ “แผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมสาธารณะ” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกมา ซึ่งแผนดังกล่าวนั้นจะใช้ควบคุมการชุมนุมในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุมตามคำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 21 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ดังนั้นปัจจุบันแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะจึงมีเพียงประกาศ 3 ฉบับเท่านั้น

รายละเอียด

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/279/4.PDF

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/279/6.PDF

ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดระดับเสียงของเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/236/24.PDF

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ