ประจักษ์ ก้องกีรติ l บทบาทนักศึกษายุคสังคมก้มหน้า

ประจักษ์ ก้องกีรติ l บทบาทนักศึกษายุคสังคมก้มหน้า

 

ลักษณะที่เราพูดถึงสังคมก้มหน้า เด็กวัยรุ่นสนใจเรื่องตัวเองมากกว่าเรื่องสังคมทั่วไป หมกมุ่นกับตัวเอง ก็เป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นทั่วโลก  แม้แต่ในยุค 14 ตุลาเอง ตอนนั้นนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวก็เป็นคนกลุ่มน้อยในยุคสมัยของเขา

 

 

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาได้ถูกเผยแพร่และได้รับการพูดถึงค่อนข้างมากเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา   ยุคสังคมก้มหน้าที่ทุกคนต่างสนใจเรื่องของตัวเอง น่าสนใจว่า  การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น จะไปไกลถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็น “ขบวนการนักศึกษา” เหมือนในอดีตได้หรือไม่?  

พลเมืองข่าวได้สัมภาษณ์ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของหนังสือ “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ”  ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา  ถึงบทบาทของนักศึกษาในปัจจุบัน

20151901183623.jpg

ปัจจัยอะไรที่ทำให้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวในปัจจุบัน?

อ.ประจักษ์ :: ผมคิดว่าก็คงเป็นสภาพบรรยากาศทางสังคมการเมือง จากประวัติศาสตร์ของไทยเองและจากประวัติศาสตร์ของทั่วโลก นักศึกษาจะตื่นตัวและมีบทบาทมากที่สุดกับกลายเป็นช่วงที่บ้านเมืองมีสภาพปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมากที่สุด  ในช่วงที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมาก สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมาก เรากลับจะไม่เห็นนักศึกษามากเท่าไหร่ แต่ว่าเราจะเห็นกลุ่มอื่นๆ เยอะ เพราะกลุ่มไหนก็แสดงออกได้ในช่วงที่บ้านเมืองเป็นปกติ นักศึกษาที่เป็นคนหนุ่มสาวจะแสดงบทบาทได้มากที่สุดในช่วงที่สังคมไม่ปกติ ในช่วงที่บ้านเมืองมีการปิดกั้นทางการเมือง

นอกจากบรรยากาศการเมือง มีปัจจัยอื่นอีกไหมที่ทำให้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว?

อ.ประจักษ์ :: มันมีปัจจัยเสริมอีกหลายอย่างนอกจากสภาพแวดล้อมทางการเมืองแล้ว ระบบการสื่อสารก็เป็นตัวหนึ่งว่าจะเอื้อหรือไม่เอื้อและปัจจัยด้านความคิด อุดมการณ์ของนักศึกษาเอง ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปรวมถึงปัจจัยจากภายนอก รวมถึงกระแสความตื่นตัวของนักศึกษาทั่วโลก ถ้าบรรยากาศตื่นตัวมากก็ช่วย เช่นที่เคยเกิดเมื่อ 14 ตุลา , 6 ตุลา ในบ้านเรา ช่วงนั้นก็มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาทั่วโลก ประเทศไทยก็ได้เรียนรู้ในส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์นั้น  ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาทั่วโลกในหลายประเทศถ้าเราจำปรากฏการณ์อาหรับสปริงได้ ที่เกิดในตูนีเซีย อียิปต์ และอีกหลายประเทศ นำโดยคนหนุ่มสาว นำโดยนักศึกษา ปัจจัยนี้ก็มีส่วนช่วย แต่ผมคิดว่าปัจจัยเชิงความคิดประเด็นนี้สำคัญที่สุด เพราะว่าถึงที่สุดนักศึกษาเนี่ยเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ แล้วไม่ได้มีเงินทุน ไม่ได้มีจำนวนที่มากกว่า ไม่ได้สามารถระดมคนได้เป็นแสนๆ ล้านๆ เหมือนขบวนการมวลชนที่นำโดยผู้ใหญ่

พลังนักศึกษามาจากไหน? มาจากพลังที่เป็นพลังบริสุทธิ์และพลังในเชิงความคิด อุดมการณ์ ความมุ่งมั่น อยากจะเปลี่ยนสังคม พอเขาเป็นเยาวชนเขายังไม่ถูกเคลือบ หรือครอบงำด้วยเรื่องผลประโยชน์ เรื่องอำนาจสักเท่าไหร่ มันเป็นความคิดที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ อันนี้ทำให้พลังนักศึกษามีพลัง แต่ว่าความคิดนี้จะก่อเกิดได้หรือไม่ก็ไม่ได้เป็นไปโดยอัตโนมัติมันต้องมีสภาพแวดล้อมทางสังคมการเมือง มาเอื้อด้วย พูดง่ายๆ คือมาบีบคั้นให้มันเกิด

มองบทบาทนักศึกษาในยุคที่ถูกสังคมมองว่าเป็นยุคก้มหน้าอย่างไร? เปรียบเทียบกันได้ไหมกับยุค 14 ตุลา?

อ.ประจักษ์ :: ผมคิดว่าไม่แฟร์ที่ไปเอาอดีตมาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ผมชอบบอกว่าอย่าไปเอา 14 ตุลามาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ผมเองศึกษา 14 ตุลา มันมีปัจจัยหลายอย่างมากที่มาประกอบกันจนทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น ปัจจุบันนี้ปัจจัยหลายอันมันไม่ได้ดำรงอยู่แล้ว เราจะไปคาดหวังให้นักศึกษาต้องมามีบทบาทเหมือนเดิมมันไม่แฟร์กับคนรุ่นปัจจุบัน  พูดง่ายๆ คือนักศึกษาในแต่ละยุค มีโจทย์เฉพาะของตัวเอง ของยุคสมัยที่เขาต้องเผชิญอยู่ด้วย มีสภาพแวดล้อมที่มันต่างกัน ฉะนั้นจะไปคาดหวังว่าเขาจะต้องมีบทบาทเหมือนนักศึกษารุ่นพี่เมื่อ 40 ปีที่แล้วเนี่ยมันไม่แฟร์ และทั่วโลกความจริงแล้วนักศึกษาก็ไม่ได้ตื่นตัวทั่วโลก   ยกตัวอย่างอาหรับสปริง  นักศึกษาตื่นตัวมากในประเทศที่มีปัญหาบีบคั้นอย่างหนัก ถูกปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม ฉะนั้นไม่ใช่ว่านักศึกษาทั่วโลกตื่นตัวแล้วมีแต่คนหนุ่มสาวไทยที่เงียบเหงา   ลักษณะที่เราพูดถึงสังคมก้มหน้า เด็กวัยรุ่นสนใจเรื่องตัวเองมากกว่าเรื่องสังคมทั่วไป หมกมุ่นกับตัวเอง ก็เป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นทั่วโลก   แม้แต่ในยุค 14 ตุลาเอง ตอนนั้นนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวก็เป็นคนกลุ่มน้อยในยุคสมัยของเขา

ถ้าอย่างนั้นโจทย์ของนักศึกษายุคนี้คืออะไร?

อ.ประจักษ์ :: ผมว่าต้องเป็นสิ่งที่นักศึกษาเขาต้องตอบเอง แต่ละสังคมก็มีโจทย์ไม่เหมือนกัน แต่ละยุคสมัยก็ไม่เหมือนกัน ในปัจจุบันในหลายๆ ประเทศนักศึกษาเขาอาจจะไม่ได้รวมตัวกันเป็นขบวนการขนาดใหญ่เหมือนในอดีต เช่นยุค 1960 ,1970 แต่เขาสนใจประเด็นปัญหาเฉพาะ เช่น นักศึกษาที่สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมอาจจะมีนักศึกษาสัก 20-30 คน รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ หรือในอเมริกามีขบวนการอันหนึ่งที่ค่อนข้างเข้มแข็งคือต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก ต่อต้านการใช้แรงงานทาส การกดขี่ค่าแรงของคนในโลกที่สามเพื่อมาผลิตรองเท้าหรือเสื้อผ้าราคาถูกให้พวกเขาได้ใช้  กลายเป็นว่านักศึกษาในโลกที่หนึ่ง เช่น อเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ออกมารวมตัวรณรงค์เพื่อสิทธิของแรงงานของคนในโลกที่สาม เป็นต้น จะเป็นประเด็นปัญหาเฉพาะไป  อย่างในเมืองไทย นักศึกษาก็ไม่ได้ซบเซา คือถ้าเราไปดูขบวนการขนาดใหญ่อาจจะดูเหมือนซบเซา มันไม่มีเหมือนเป็นขบวนการขนาดใหญ่แล้วที่คนเป็นพันเป็นหมื่น แต่ว่านักศึกษากลุ่มเล็กๆ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เขาทำกิจกรรมของเขาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในต่างจังหวัด  นักศึกษาบางกลุ่มเขาอาจจะมีแค่ 5-10 คน  แต่เขาลงไปทำงานกับชาวบ้าน ตอบโจทย์ของชุมชนเขา เขาอาจจะไม่ได้เคลื่อนไหวระดับประเทศ แต่ว่าในจังหวัดเขามันมีปัญหาอะไร ในชุมชนละแวกบ้านเขามีปัญหาอะไร เขาก็ไปรณรงค์เรื่องนั้น อย่างกลุ่มดาวดินที่ขอนแก่นก็น่าสนใจ ก่อนหน้านี้เขาไม่ได้รณรงค์ปัญหาระดับชาติ แต่เขาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหาทรัพยากรในชุมชนของตัวเอง อันนี้ก็ถือว่าตอบโจทย์ท้องถิ่นตอบโจทย์สภาพปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญอยู่และนักศึกษาเขาลงไปช่วย ผมก็คิดว่าเป็นตัวอย่างที่น่ายกย่อง

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปัจจุบันเรียกว่าเป็นขบวนการนักศึกษาได้ไหม?

อ.ประจักษ์ :: ปัจจุบันผมคิดว่าการจัดองค์กรมันไม่เหมือนอดีต  นักศึกษาจะไม่มารวมตัวกันเป็นองค์กรขนาดใหญ่แล้ว ผมว่าการจัดตั้งองค์กรเหมือนระบบราชการ มีผู้นำหรือโครงสร้างกรรมการชัดเจน รูปแบบนี้อาจจะถูกมองจากคนรุ่นใหม่ว่ามันเชย มันไม่ยืดหยุ่นหรือมันทำให้บางคนมีอำนาจมากเกินไป มากกว่าเพื่อนๆ ในกลุ่ม ในการคิดและตัดสินใจ ผมว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่เขาเน้นการรวมกลุ่มที่มันหลวมๆ เท่าที่ผมสังเกตดู ไม่มีโครงสร้างการบังคับบัญชาที่ชัดเจน และทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้ไม่มีใครเป็นหัวหน้าหรือลูกน้อง เน้นทำงานแนวราบมากกว่าแนวดิ่ง ฉะนั้นเราอย่าไปมองหาขบวนการมันไม่มี เพราะว่าเขารวมกลุ่มในรูปแบบใหม่ เป็นกลุ่มเล็กๆ  5 คน 10 แล้วแต่ละมหาลัยอาจจะประสานงานกัน เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายมากกว่าองค์กรที่มันแข็งตัว

ทำนายบทบาทของนักศึกษาในอนาคต?

อ.ประจักษ์ :: มันคาดเดาลำบาก มันมีปัจจัยหลายประการที่เราไม่มีทางรู้ในการเมืองไทย จริงๆ ก่อน 14 ตุลา ก็ไม่มีใครทำนายได้หรอกว่าอยู่ดีๆ นักศึกษาจะกลายเป็นผู้นำคนตั้ง 5-6 แสนคนออกไปเดินขบวนบนท้องถนน แต่ว่าจากบทเรียนจากทั่วโลกและสังคมไทยเอง อย่างที่บอกถ้าบ้านเมืองยิ่งปิดกั้นเท่าไหร่ มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยเท่าไหร่ เราจะเห็นบทบาทนักศึกษามาก เป็นเรื่องปกติ ลองไปดูในทุกประเทศเช่น  พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ที่เขาถูกปิดกั้น ถูกปกครองด้วยระบอบที่ไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นถ้าจะให้ทำนายก็ทำนายได้อย่างเดียวว่าถ้าบ้านเมืองยังคงปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นบทบาทนักศึกษาต่อไปเรื่อยๆ ที่เป็นพลังของคนหนุ่มสาวที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมันเป็นพื้นฐานของการทำงาน ไม่ว่าเขาจะจับประเด็นปัญหาเรื่องอะไร บางกลุ่มอาจจะสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน บางกลุ่มอาจจะสนใจเรื่องทรัพยากร บางกลุ่มสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม บางกลุ่มอาจจะสนใจรณรงค์เรื่องระบบการศึกษา เรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่ถ้าไม่มีสิทธิเสรีภาพกลุ่มไหนเขาก็เคลื่อนไหวไมได้ทั้งสิ้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมหลายกลุ่มจึงต้องกลับมารณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องความเป็นประชาธิปไตยเพราะมันเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้คนหนุ่มสาวเขาแสดงบทบาทได้ในการที่จะเปลี่ยนสังคมไปในทางที่เขาใฝ่ฝัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ