บ้านไร้คน หรือจะเหงา เท่าคนไร้บ้าน

บ้านไร้คน หรือจะเหงา เท่าคนไร้บ้าน

“ผมไม่ได้กลับบ้านมาสิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่ทะเลาะกับพ่อ”

คำบอกเล่าจากปากของชายวัยกลางคน ผิวคล้ำ สีหน้าหมองหม่น แววตาหมองเศร้า ตอบคำถามของฉันเกี่ยวกับความเป็นมาที่ทำให้เขาตัดสินใจมา “ใช้ชีวิต” เป็น “คนไร้บ้าน” ที่สนามหญ้าสาธารณะอันกว้างใหญ่ไพศาลกลางเมืองกรุง ที่ถูกเรียกว่าสนามหลวง

คืนนั้นพระจันทร์ส่องสว่าง ส่องให้เห็นผู้คนมากมายที่นี่ ลมพัดโกรก เด็กๆ พากันเล่นว่าวอย่างสนุกสนาน มองไปรอบตัวมีผู้คนทุกเพศทุกวัย เป็นคืนวันที่ 11 สิงหาคม ใกล้วันแม่แห่งชาติเข้าไปทุกที มองไปไกลๆเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีตั้งอยู่อย่างเด่นชัด อีกฟากมีการฉายหนังกลางแปลงที่มีชาวบ้านมาชมอย่างล้นหลาม พ่อค้าแม่ค้าขายเสื่อที่ทำจากกล่องนมตะโกนขายของไปมา

ฉันกับเพื่อนๆไม่ได้มาเพื่อท่องเที่ยว แต่ต้องการคำตอบบางอย่าง จึงใช้วิธี “เดินกาแฟ” โดยในมือสองข้างมีอุปกรณ์สำคัญมาด้วย นั่นคือแก้วกาแฟกระดาษ ยาสามัญประจำบ้าน กาแฟสำเร็จรูปแบบซอง และกระติกน้ำร้อนไฟฟ้าที่มีน้ำเดือดบรรจุอยู่เต็มกระติก ต่างคนต่างแยกย้ายกันเก็บข้อมูล โดยมีน้าผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นคนไร้บ้านมาก่อน รูปร่างสูง ผอมกะหร่อง หน้าตอบ ใส่ชุดเก่าๆ และมาจาก “ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู” ช่วยพูดคุยกับคนไร้บ้านเพื่อเปิดทางให้พวกเรา เขาบอกว่าผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนไร้บ้านทั้งนั้น เขารู้จักและเคยพูดคุยด้วยหลายคน

น้าพาฉันไปหาชายวัยกลางคนคนหนึ่ง ผมสั้น ผิวคล้ำ ดูสะอาดสะอ้าน น้าบอกว่าคนนี้เป็นคนไร้บ้าน ฉันดูไม่ออกเลย

ลุงคนนั้นบอกว่าเขาเพิ่งอาบน้ำมา นานๆจะอาบสักทีหนึ่ง เขาพูดยิ้มๆ

ฉันเทกาแฟในซองใส่แก้ว ใส่น้ำร้อน คนแล้วยื่นให้เขาพร้อมยา ลุงรับไว้แล้วขอบคุณฉัน น้าแนะนำว่าฉันเป็นนักศึกษา มาศึกษาเรื่องคนไร้บ้าน ลุงเปิดโอกาสให้ฉันซักถาม เมื่อเรานั่งขัดสมาธิบนเสื่อของลุงแล้ว ฉันก็เริ่มสัมภาษณ์ถึงที่มาของลุงคนนี้

“ผมไม่ได้กลับบ้านมาสิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่ทะเลาะกับพ่อ ตอนเป็นวัยรุ่นผมเคยขโมยเงินพ่อ แล้วพ่อก็แจ้งตำรวจจับผม ผมติดคุกอยู่หลายปี พอออกจากคุก ผมก็ไม่กลับบ้านอีก ผมโกรธพ่อ นานๆทีจะโทรไป ผมก็คุยแต่กับแม่” น้ำเสียงและสีหน้าเขาเต็มไปด้วยความคับแค้นใจ แววตาเศร้าระคนเจ็บปวดมองไปยังสนามกว้าง

เมื่อฉันถามเขาว่ามีญาติสนิทหรือที่พึ่งอื่นไหม เขาบอกว่านานๆจะไปบ้านพี่สาวสักทีหนึ่ง แต่ก็ไม่บ่อยนัก เมื่อได้ฟังเรื่องราวของเขา ฉันก็รู้สึกเจ็บปวดไปด้วย ทำให้นึกถึงเนื้อเพลงที่ว่า

“บ้านที่มี บางทีก็เหมือนไม่มี มันคือนรกดีๆ บางทีฉันก็ปวดร้าว”

ฉันและเพื่อนๆได้สอบถามคนไร้บ้านหลายคนที่นั่น มีทั้งผู้หญิง ผู้ชายและเพศที่สาม รวมกันประมาณห้าหกคน เป็นวัยกลางคน เมื่อถามถึงการใช้ชีวิตในที่สาธารณะ พวกเขาก็เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนสามารถนอนค้างที่สนามหลวงได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว เขาจะปิดไม่ให้คนเข้าตอนประมาณสามสี่ทุ่ม ก็ต้องไปนอนนอกรั้วหรือไม่ก็บ้านคนอื่นแทน บางทีก็ถูกเจ้าของบ้านไล่ ถูกเด็กปาหินใส่ ล่าสุดที่ออกข่าวก็มีคนโดนเผาทั้งเป็น แต่ก็ไม่มีใครเอาผิดคนร้านตัวจริง กลายเป็นคนไร้บ้านที่ต้องเป็นแพะรับบาป

“ตอนเช้าๆประมาณตีสี่ คนไร้บ้านจะมาแถวนี้เพื่อรอคนมาว่าจ้าง ไปเป็นกรรมกรก่อสร้างบ้าง รับจ้างเป็นตัวประกอบหนังบ้าง ตามแต่จะจ้าง แต่ไม่ใช่งานประจำ หาเช้ากินค่ำ” น้าคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

น้าอีกคนหนึ่งยื่นกระดาษใบหนึ่งให้ฉันกับเพื่อนดู พวกเขามักจะพกกระดาษใบหนึ่งที่บอกว่าวัดไหน วันไหนจะมีโรงทาน เพื่อจะได้ไปขอข้าวสาร แบบนี้มีไม่บ่อยนัก และต้องต่อแถวยาวม๊ากกก เขาเน้นเสียง

“รู้จักศูนย์คนไร้บ้านไหม” ฉันถามน้าคนหนึ่ง
“อยู่ตรงไหน”
“อยู่ใกล้ๆรถไฟ ชื่อศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู อยู่กันเป็นครอบครัว ส่งเสริมอาชีพ ช่วยเหลือกัน” ฉันแนะนำสถานที่ซึ่งเพิ่งไปดูมา
“อ๋อ รู้จักกับคนที่นั่น แต่ยังไม่พร้อมจะย้ายเข้าไป” เขาพูดด้วยสายตามีความหวังมากขึ้น

พวกพี่ๆจากศูนย์คนไร้บ้านเรียกฉันกับเพื่อนๆไปช่วยแจกอาหารที่ขนมาบนรถกระบะ ทั้งข้าวและหม้อน้ำแกงหม้อยักษ์ รวมถึงเครื่องปรุง คนไร้บ้านมาต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรับอาหาร รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนสองคนด้วย

ฉันยื่นถ้วยข้าวส่งต่อให้คนไร้บ้านหลายคน ต่างขอบคุณพวกเราอย่างจริงใจ และนำไปกินอย่างรวดเร็ว
จนกระทั่งข้าวหมด เหลือเพียงน้ำแกงก้นหม้อ พี่คนหนึ่งประกาศว่า

“ข้าวหมดแล้วค่า เนื้อหมดแล้ว เหลือแต่น้ำแกง”
“ขอแค่น้ำก็ยังดี” ลุงคนหนึ่งกล่าวด้วยสายตาอ้อนวอน
ฉันยื่นถ้วยสุดท้ายให้ เขายิ้มและค่อยๆรับถ้วยน้ำแกงที่ไม่มีแม้แต่เนื้อหรือผักไปด้วยความปลื้มปริ่ม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ