บ้านบัว..ชุมชนต้นแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วม ในวิถีวัฒนธรรมไทย

บ้านบัว..ชุมชนต้นแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วม ในวิถีวัฒนธรรมไทย

ยินดีต้อนรับท่านเข้าสู่บ้านบัว..ชุมชนต้นแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วม ในวิถีวัฒนธรรมไทย

บ้านบัว หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เดิมที..บ้านบัว เป็นป่า โดยมี ปู่ติ๊บ กับย่าสมนา สองผัวเมีย เดิมเป็นคนบ้านตุ่นกลางเป็นคนทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เห็นพื้นที่ป่าแห่งนี้ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการประกอบอาชีพ จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่เป็นคนแรก ปู่บัวก็ได้ ติดตามมาอยู่ด้วย 
อยู่มาวันหนึ่งในตอนเช้าปู่บัวได้ลงไปเก็บใบพลู สำหรับการเคี้ยวหมากของคนโบราณ ในขณะนั้นยังเช้ามืด อยู่ๆก็มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ได้มี เสือโคร่งตัวหนึ่งได้ตะครุบและกัดปู่บัวจนเสียชีวิต ชาวบ้านจึงตั้งหมู่บ้านตามชื่อของปู่บัว..ว่า.. “บ้านบัว” ..มาจนถึงทุกวันนี้….

ผลงานในอดีตที่ผ่านมาบ้านบัวเป็นหมู่บ้านต้นแบบดีเด่น ชนะเลิศตามโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็นเป็นสุข ” และหมู่บ้านพึ่งตนเอง ดีเด่นระดับจังหวัดพะเยา ในปี 2551 และนายบาล บุญก้ำ ผู้นำชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม….แหนบทองคำ…ประจำปี 2551 และล่าสุดได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่นระดับประเทศ เมื่อปี 2553

บ้านบัวมีบ้านเรือนอยู่จำนวน 215 ครัวเรือน จำนวนประชากร 763 คน ประชาชนส่วนใหญ่ของบ้านบัว มีการประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรม เช่น การทำนา ทำสวน ปลูกหญ้า เลี้ยงสัตว์ และอาชีพหัตกรรมจักสานไม้ไผ่ โดยมีกลุ่มอาชีพจักสานเข่งไม้ไผ่เป็นอาชีพที่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านมีรายได้จากอาชีพนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ผลิตภัณฑ์ที่เด่นและน่าสนใจของหมู่บ้านนอกจากข้าวอินทรีย์ที่ลือชื่อของหมู่บ้านแล้ว ผลิตภัณฑ์เข่งและสุ่มไก่จากไม้ไผ่ ก็เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้านและเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป เดิมทีเป็นอาชีพเสริมของหมู่บ้านและทำรายได้ให้กับครัวเรือนของบ้านบัวเป็นอย่างดี สามารถนำไปจำหน่ายได้หลายพื้นที่ ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด และปัจจุบันหลายครอบครัวทำกันจนกลายเป็นอาชีพหลักของครอบครัวเลยทีเดียว

ปัจจุบัน..บ้านบัวเป็นต้นแบบและเป็นแหล่งศึกษาดูงานของคนทั่วไป ได้มาศึกษาเรียนรู้วิถีพอเพียงของคนที่นี่ ณ วันนี้มีจำนวนถึง 792 คณะ จำนวน 75,000 กว่าคน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมของหน่วยงานต่าง ๆ อีกด้วย เพราะที่นี่มีวิทยากรของชุมชน และ องค์ความรู้จากฐานเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนบ้านบัว..
ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสถานที่ต้อนรับคณะศึกษาดูงานที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ เป็นสถานที่บรรยายสรุปผลการดำเนินงาน กิจกรรมในชุมชน ทำให้เห็นภาพรวม ก่อนที่ลงเยี่ยมฐานเรียนรู้ของชุมชน …เราไปเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ของชุมชนบ้านบัวกันเลยดีกว่า…

ฐานการเรียนรู้การจักสานเข่ง…..ชาวบ้านบัว มีอาชีพหลักคือ การทำนา นอกฤดูการทำนา ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านว่างงาน ประกอบกับทางหมู่บ้านมีต้นไผ่รวกที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ และปลูกเพิ่มเติม ในเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ และได้นำเอาต้นไผ่เหล่านั้นมาจักสานเป็นสุ่มไก่ และเข่ง ทำให้มีรายได้มาประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว ต่อมาได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มจักสานเข่งและสุ่มไก่ นับว่าเป็นอาชีพเสริมที่ทำรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดีและมีตลาดรองรับที่แน่นอนและส่งออกจำหน่ายทั้งภายในจังหวัดและต่างจังหวัด

ฐานเรียนรู้ฐานนี้จะสาธิตการผ่าไม้ไผ่โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ชมการรีดตอกไม้ไผ่ด้วยเครื่องจักรกลทุ่นแรง และการจักสานเข่งไม้ไผ่ขนาดต่าง ๆ

ฐานการเรียนรู้การจักสานสุ่มไก่…..ผลิตภัณฑ์อีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังพอๆกับแข่ง นั่นก็คือ “สุ่มไก่” ขั้นตอน วิธีการการจักสานสุ่มไก่ที่ออกมา มีมาตรฐานการวัด และแบบแต่ละขนาด ตามที่ลูกค้าต้องการ สุ่มไก่ที่นี่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพ และความมีมาตรฐานของผลิตภัณฑ์

ฐานเรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ นายบุญมี สองคำชุม พ่อตัวอย่างแห่งปี ๒๕๕๔ ของจังหวัดพะเยา พ่อบุญดีท่านอาศัยอยู่ที่บ้านบัวเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ พ่อบุญมีปลูกผักปลอดสารพิษ และทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ(หน่อกล้วยและหอยเชอรรี่) กิจกรรมที่พ่อบุญดีทำ ก็คือ..การปลูกผักปลอดสารพิษ ,การทำปุ๋ยชีวภาพ,การปลูกผักสวนครัว และการเลี้ยงวัว

ฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจตามรอยพ่อ…นายเจริญ คำโล ท่านเป็นครัวเรือนต้นแบบชีววิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้นแบบ และ บุคคลดีเด่น ด้านการดำเนินชีวิตตามแนวของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีกิจกรรมในครัวเรือน ประกอบด้วย การลดรายจ่าย..ปลูกผักสวนครัวทานเอง,การเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก,การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ปลูกองุ่น และปลูกพุทราพันธุ์ใต้หวันที่สวนของพ่อเจริญ คำโล พุทราของพ่อเจริญกรอบ และอร่อยมาก

ฐานเรียนรู้พลังงานทดแทน…นายเสาร์แก้ว ใจบาล มีชื่อเสียงด้านปราชญ์ชาวบ้านด้านพลังงานทดแทน คิดค้นพลังงานทดแทน ด้วยการสร้างเตาแกลบชีวมวล ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและรักษาสิ่งแวดล้อ¬ม ปัจจุบันผลงานของพ่อเสาร์แก้วได้ขยายผลต่อไปยังชุมชนอื่น ๆ พลังงานทดแทนชีวมวลคือ…สารอินทรีย์ทั่วไปจากธรรมชาติที่จะสะสมพลังงานเก็บไว้ในตัวเอง และสามารถนำพลังงานของมันที่เก็บสะสมเอาไว้มาใช้ประโยชน์ใน ตัวอย่างของสารอินทรีย์ตอนนั้น เช่น เศษยาง เศษไม้ เศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรหรือจากการอุตสาหกรรม เช่น ขี้เลื่อย ฟาง แกลบ ชานอ้อย เป็นต้น ประโยชน์ของการใช้เตาแก๊สชีวมวลแกลบ..คือลดการใช้แก๊ส LPG ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป 
ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน 
ลดการจัดการวัสดุเหลือใช้จากโรงสีข้าว 
แก้ปัญหาด้านหมอกควัน 
ลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน 
และส่งเสริมและเรียนรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้าน

ฐานการเรียนรู้ฝายชะลอน้ำ..ชุมชนบ้านบัว เป็นชุมชนที่อยู่ต้นน้ำ โดยมีอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตุ่น อยู่เหนือชุมชน และไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมสำคัญในการอนุรักษณ์ต้นน้ำแห่งนี้ ให้เป็นน้ำสะอาด ปลอดสารเคมีก่อนที่จะไหลลงสู่พื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำ และชุมชนยังได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเก็บรักษาน้ำไว้ในการเกษตรในหมู่บ้าน
ฐานเรียนรู้การเพาะเลี้ยงด้วงกว่าง…
นายบรรพต ปัถวี ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเพาะเลี้ยงด้วงกว่าง เป็นการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชุมชน โดยเน้นการรักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์ เปิดให้มีการศึกษาดูงานทั้ง นักศึกษา คนในชุมชนต่าง ๆ ในการเพาะเลี้ยงด้วงกว่างนี้ยังจะช่วยอนุรักษณ์พันธุ์ของด้วงกว่างแล้วยังช่วยในการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์นำไปบำรุงดินได้อีกด้วย

ฐานเรียนรู้การผลิตข้าวอินทรีย์..ชุมชนบ้านบัว มีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์กว่า 1,000 ไร่ ปลูกข้าวอินทรีย์ ปลอดสารเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ทำให้ข้าวอินทรีย์ของบ้านบัว ปลอดสารเคมี ตลอดทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้ข้าวอินทรีย์ของบ้านบัว หอมอร่อย และปลอดสารพิษ มีคุณภาพต่อร่างกาย ปัจจุบันได้ส่งข้าวอินทรีย์ออกจำหน่ายไปทั่วประเทศ 
ฐานการเรียนรู้อาชีพการทำฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่..
ได้มีการส่งเสริมอาชีพ และรวมกลุ่มของผู้ที่มีทักษะทางด้านช่าง เพื่อที่จะผลิตฟอร์นิเจอร์นี้ทำจากไม้ไผ่ เช่น แคร่นั่ง ชั้นวางของ เป็นต้น

ฐานการเรียนรู้อาชีพการปลูกองุ่น…ชุมชนบ้านบัวแห่งนี้ นักท่องเที่ยวหรือคณะศึกษาดูงาน จะสามารถเข้าเยี่ยมชม เกษตรกรที่ทำอาชีพปลูกองุ่น ของนายปรีชา ใจบาล เกษตรกรแนวใหม่ ที่ได้ศึกษาเรียนรู้การปลูกองุ่น จนได้ผล และสร้างรายได้เป็นอย่างดี และยังสามารถถ่ายทอดไปยังเกษตรกรอื่น ๆ ที่สนใจได้อีกด้วย

ด้านการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว เชิงเศรษฐกิจพอเพียง ทางชุมชนได้จัดบริการ บ้านพักโฮมสเตย์ จำนวน 11 หลัง เพื่อบริการนักท่องเที่ยว หรือคณะศึกษาดูงาน ที่ประสงค์พักค้างศึกษาเรียนรู้วิถีพอเพียงของคนในชุมชน อาทิเช่น ทดลองฝึกฝนการจักสานเข่งหรือสุ่มไก่ หรือการเรียนรู้ทดลองการดำนา หรือเกี่ยวข้าวเป็นต้น

ชุมชนบ้านบัวเป็นชุมชนที่น่าอยู่ คนที่นี่ยึดมั่นในวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ใช้วัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน สร้างความรัก , ความเอื้ออาทร ให้เกิดขึ้นในชุมชน ด้วยการทำงานแบบมีส่วนร่วม ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมไทยโดยใช้ทุนทางภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น จึงทำให้ชุมชนที่นี่พร้อมที่จะนำไปสู่การพัฒนาในทุกมิติได้
เราจะเห็นได้ว่า ชุมชนบ้านบัวแห่งนี้มีกิจกรรมการเกษตรที่ใช้นวัตกรรมวิถีชีวิต อย่างมีส่วนร่วม มีการบริหารจัดการร่วม และเป็นสังคมชุมชน ตามการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเสริมสร้างสังคมให้เข้มแข็งสามารถเป็นต้นแบบในด้านการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์เกษตรปลอดภัยต้อนแบบหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีวีวิตชุมชน “บ้านชาวนาไทย” เป็นชุมชนแห่งความสุข อย่างแท้จริง

“หากทุกหมู่บ้านทำกันตามศักยภาพ และกำลังความสามารถ ตามต้นแบบชุมชนบ้านบัว แห่งนี้……ก็เชื่อมั่นว่า ชุมชนจะมีอยู่ มีกิน และดำรงอยู่ได้ อย่างมั่นคง เมื่อปากท้องดี ปัญหาอื่น ๆ ก็จะลดลง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้”

ขอขอบคูณ เสียงบรรยาย โดย พิมาลย์มาศ อสมท.พะเยา,เหมียว..มันทานา ก้อนคำ นศ.ฝึกงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏ,คุณปิ่นแก้ว นามวงศ์ ผู้ช่วยถ่ายภาพและวิดิโอ..

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

February 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

27
28
29
30
31
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
1
2

20 February 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ