ที่ผ่านมาเราคงจะได้ยินข่าวการเปลี่ยนผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการที่ส่งผลกระทบต่อกระเพาะหมู หรือคุ้งบางกระเจ้า ซึ่งอยู่ใน อ.พระประแดง มีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองในส่วนของคุ้งบางกระเจ้าโดย ‘กลุ่ม Big Trees ได้ตรวจสอบผังเมืองบางกระเจ้าสามฉบับ ได้แก่ ปี 2544, 2548 และฉบับล่าสุดปี 2556 นี้ พบว่ามีการค่อยๆ ไต่ระดับการพัฒนาอาคารสิ่งก่อสร้าง ว่ากันตามผังเมือง ถ้าไม่นับสวนสาธารณะที่กำหนดเขตเป็นสีเขียวอ่อนบางกระเจ้าแบ่งออกเป็นสองโซนหลัก ได้แก่ เขียว และขาวทแยงเขียว สีเขียวทึบเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ส่วนขาวทแยงเขียวเป็นโซนอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม จึงเป็นเขตปกป้องวิถีเขียวที่เข้มข้นที่สุด
เดิมทีปี 2544 พื้นที่ขาวทแยงเขียวไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร ปี 2548 ปรับให้สร้างบ้านเดี่ยวขนาดไม่เกิน 200 ตร.ม.ได้แต่ต้องไม่กินที่เกิน 5% ในแต่ละบริเวณที่กำหนดไว้ในผังเมือง และฉบับ 2556 นี้ปรับให้สร้างได้ไม่เกิน 15% ในแต่ละบริเวณ
ส่วนพื้นที่เขียวทึบ ในปี 2548 ให้ก่อสร้างได้ 10% ในแต่ละบริเวณ แต่ไม่ให้นำที่ดินไปจัดสรร ปี 2556 ปรับใหม่ให้นำไปจัดสรรบ้านเดี่ยวได้’
(คัดลอกจากบทความ บางกระเจ้า…ผังเมืองใหม่เอื้อตัวกินปอด?)
ภาพ : ผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ.2556
เกิดคำถามมากมายกับการปรับเปลี่ยนผังเมืองรวมดังกล่าวว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลัง เอื้อผลประโยชน์ต่อนายทุนกลุ่มไหน เพราะในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี54 พื้นที่บางกระเจ้าป็นพื้นที่หนึ่งที่ไม่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งการขยายตัวของกรุงเทพ ที่นับวันจะยิ่งแน่นและแออัดขึ้นทุกที แผ่ขยายตัวออกไปตามปริมณฑลรอบๆ บางกระเจ้าจึงเป็นพื้นที่เนื้อหอมที่กลุ่มทุนหลายต่อหลายกลุ่มพยายามเข้ามากว้านซื้อ เราอาจจะได้เห็น ทะเลหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นในพื้นที่ หรือยิ่งไปกว่านั้นคือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดต่างๆ และบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ ที่สามารถสร้างขึ้นมาได้จากการปลดล็อคของผังเมืองรวมฉบับใหม่นี้
เป็นไปได้หรือไม่ว่ากฏหมายผังเมืองมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเราๆ รวมไปถึงคนในพื้นที่บางกระเจ้าเองด้วย เมื่อดูสำคัญแบบนี้ คำถามก็คือแล้วใครละที่กำหนดว่าพื้นที่ไหนควรเป็นอะไร พื้นที่ไหนเหมาะกับอะไร พื้นที่ไหนควรปลูกสร้างสิ่งใด การออกแบบ การตัดสินใจถูกกำหนดจากส่วนกลางเพียงไม่กี่คนที่เราปล่อยให้เขากุมทิศทางเพียงเพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ไม่ได้มีการกระจายอำนาจ หรือการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ พื้นที่ที่เขาอยู่อาศัยจะถูกกำหนดเป็น โรงงาน บ่อบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจมาน้อยเพียงใด กว่าคนในพื้นที่จะรับทราบผังเมืองรวมฉบับใหม่ก็ประกาศออกมาเสียแล้ว
ภาพ : ซ้ายมือเป็นฝั่งคุ้งบางกระเจ้า ขวามือเป็นฝั่งกรุงเทพฯ
ไม่เพียงแต่ผังเมืองรวมเท่านั้นที่กำลังเปลี่ยนสภาพพื้นที่บางกระเจ้า เหตุปัจจัยหลายสิ่งอย่างก็กำลังทำให้พื้นที่เปลี่ยนไปทั้ง สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม บ้างก็เรียกว่าการพัฒนา บ้างก็เรียกว่าการทำลาย
ลุงพงศ์ เกษตรกรในพื้นที่สะท้อนว่า อาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ลดลงไปเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะระบบนิเวศถูกทำลาย มีการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ประตูเปิดปิดน้ำริมตลิ่งหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี38(เป็นเหตุผลที่น้ำไม่ท่วมปี54) ซึ่งการสร้างเขื่อนประตูเปิดปิดน้ำทำให้ไม่มีตะกอน ไม่มีแร่ธาตุเข้ามาและป้องกันน้ำเค็มหนุนซึ่งขัดกับธรรมชาติ แต่ก่อนน้ำเค็มหนุนถูกปล่อยไปตามธรรมชาติ ผลไม้ที่ปลูกสามารถปรับตัวเองได้ แต่เมื่อน้ำเค็มถูกควบคุมให้ปล่อยเข้าในพื้นที่3เดือน ผลไม้ปรับตัวต่อความเค็มไม่ทันก็ตายในที่สุด ผลไม้บางชนิดปรับตัวได้ก็อยู่รอด เราจะสังเกตว่าในพื้นที่มีผลไม้ปลูกอยู่ไม่กี่ชนิดแสดงถึงความหลากหลายของพืชพรรณที่ลดลง
ภาพ : เขื่อนป้องกันตลิ่ง และประตูเปิดปิดน้ำ
แต่นั้นก็เป็นเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอาชีพ วิถีชีวิต ยังมีมายาคติการพัฒนาแบบคนเมือง ที่เชื่อว่าเราต้องมุ่งพัฒนาไปในทิศทางเหมือนๆกัน การประสบความสำเร็จใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน ในขณะเดียวกันอาชีพเกษตรกรรม รับจ้าง นั้นก็ถูกดูหมิ่นดูแคลนทั้งเรื่องฐานะ ความคิด การศึกษา จึงต้องยกระดับตนเองมุ่งหน้าสู่เมืองที่เชื่อว่านั่นคือการพัฒนา อาจจะกล่าวดูร้ายเกินไป แต่นั้นก็เกิดขึ้นกับทุกๆที่ไม่ใช่แค่บางกระเจ้าเท่านั้น ราคาที่ดินก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้คนตัดสินใจขายที่ ราคาที่ดินต่อไร่ไม่ต่ำกว่า8ล้านบาท จึงไม่แปลกที่หลายต่อหลายคนจะตัดสินใจขายที่
ภาพ : ป้ายประกาศขายที่พบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่
การพัฒนาที่กระจุกอยู่แค่เมืองหลวง อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง ไม่มีการกระจายการมีส่วนร่วม หรือ ภาพมายาคติการพัฒนาแบบคนเมือง ฉะนั้นปัญหาของบางกระเจ้าไม่ใช่แค่เรื่องของผังเมืองเท่านั้นที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ยังมีความซับซ้อนอีกมากมาย ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันแบบนี้ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ปาย เชียงคาน และที่อื่นๆลองสังเกตให้ดีๆไม่แน่ถิ่นฐานบ้านเราก็กำลังประสบพบเจอลักษณะการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อยู่ก็เป็นได้
ขอบคุณภาพจากFacebook : http://on.fb.me/1yNo5ZB
ดาวน์โหลดผังเมืองรวมสมุทรปราการฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2556