“ความสำคัญของบุญผะเหวดที่ชาวอีสานให้ความสำคัญ มันเป็นอานิสงส์กับตัวต่างจากบุญในฮีตอื่น ๆ ก็ไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บูชาพุทธศาสนา แต่บุญผะเหวดนี่ คือมันเป็นเรื่องของความเชื่อ เรื่องของการเวียน ไหว้ ตาย เกิด เป็นความเชื่อเรื่องของกรรม”
ทม เกตุวงศา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้มุมมองเรื่องความสำคัญของงานบุญผะเหวดกับชาวอีสาน “ถ้าได้ร่วมบุญผะเหวดได้ฟังเทศน์ ทั้งหมดในวันเดียวนั่น คืออานิสงส์ บุญผะเหวดก็เป็นบุญที่ทำให้เกิดอานิสงส์ส่วนบุคคล อานิสงส์ที่เกิดขึ้นกับตัวคนที่ทำเอง เพราะฉะนั้นประกอบกับช่วงเดือนบุญผะเหวด หลังจากบุญเดือนสามบุญข้าวจี่ นั่นก็คือเราเก็บเกี่ยวผลผลิตทำบุญข้าวจี่ ตอนนี้หน้าชื่นตาบาน เพราะมีผลผลิตทำนาเรียบร้อยแล้ว ก็มาร่วมบุญผะเหวดเป็นบุญใหญ่เพื่อให้ได้อานิสงส์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นบุญที่ชาวอีสานส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ นั่นก็เป็นที่มาว่าทำไมยังคงยืนยันกันอยู่ว่า ถึงเกิดเหตุการณ์โควิด-19 หลายชุมชนก็ยังทำบุญผะเหวดอยู่ครับ”
“มากินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศก์มหาชาติ” เป็นคำกล่าวเชิญต้อนรับแขกที่แวะมาเยี่ยมเยือน ในช่วงงานประเพณีบุญผะเหวด หรือบุญเดือนสี่ของชาวอีสานที่จะทำกันเกือบทุกหมู่บ้านซึ่งมีการจัดเตรียม “ข้าวปุ้น” หรือ ขนมจีน เพื่อแจกจ่ายและทำบุญตักบาตรที่วัด
สาร MSU Online เรียบเรียงโดย สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล ให้ข้อมูลเรื่องบุญผะเหวดว่า “เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวอีสาน ชาวอีสานจะจัดทำบุญเผวด ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือน 3 เดือน 4 ไปจนถึงกลางเดือน 5 ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี
บุญผะเหวด หรือ งานบุญมหาชาติ คือ งานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผล คือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติเป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญและได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป
บุญผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสองของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่อง “ทาน” ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ในงานนี้ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวและบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ไปเกิดในภพหน้า
บุญผะเหวด หรือ พระเวสสันดร เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบมา ตามคติความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า หากผู้ใด ได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในการเทศน์ครั้งเดียว ภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย โดยบุญผะเหวดนี้จะทำติดต่อกัน 3 วัน”
นอกจากจะเป็นประเพณีงานบุญท้องถิ่นที่แต่ละชุมชนจัดตาม “ฮีต” “คอง” วิถีของชุมชนแล้ว ปัจจุบันสถาบันการศึกษายังได้นำเอาศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีพื้นบ้าน รวมถึงงานบุญท้องถิ่น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ รวมถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้กำหนดให้มีการจัดงานประเพณี “บุญผะเหวด” ขึ้นในชุมชนของมหาวิทยาลัย เพื่อให้นิสิตผู้เรียนและชุมชนใกล้เคียงได้สืบสานงานบุญและเรียนรู้วิถีพื้นบ้านอีสานไปพร้อมกัน
“ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เราถือว่าบุญผะเหวดฮีตเดือนสี่เป็นบุญใหญ่ประจำปีของมหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งฮีตที่สำคัญ ฮีตถือว่าเป็นประเพณีรวมใจของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม”
คณะอาจารย์นิสิต บุคลากรหรือชุมชนที่เรามีส่วนร่วมและมีส่วนเกี่ยวข้องในด้านศิลปะ วัฒนธรรม ส่วนประเพณีหรือพิธีกรรมอื่น ในระดับรอง ๆ เช่น บูชาพระพุทธกันทรวิชัย สงฆ์น้ำพระพุทธกันทรวิชัย หรือบุญอื่น ๆ ฮีตอื่น ๆ ส่วนใหญ่เราจะไปร่วมกับชุมชน ในการที่จะไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ
บุญผะเหวดถือว่าเป็นบุญรวมกันครั้งใหญ่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทั้ง อาจารย์ นิสิต บุคลากร ต่าง ๆ กับเราทำต่อเราทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะถ่ายทอดให้กับทั้งบุคลากรนิสิต หัวใจสำคัญของบุญผะเหวด คือเรื่องของทานบารมี เพราะถ้าเราสามารถที่จะ “ให้ทาน” เราไปเรียนรู้เรื่องของพระเวสสันดรชาดก ถ้าให้ทานมันคือการเป็นบารมีครั้งใหญ่ ทานได้แม้แต่ลูก เมีย
“ถ้าเราสอนให้คน หรือพยายามถ่ายทอดเรื่องนี้ให้กับผู้คนเรื่องของการให้ทาน การเห็นอกเห็นใจความเฟื้อเผื่อแผ่หรือในมิติของการอยู่ร่วมกัน โดยยึดมั่นทานบารมีเป็นจุดที่พยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมหาวิทยาลัยของเรา จึงเป็นประเพณีใหญ่ฮีตใหญ่ประจำปี ฮีตเดียวเท่านั้นนะครับที่ทำใหญ่”
ไม่เพียงสืบสานงานประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่เป็นวิถีปฏิบัติแก่ชุมชนอีสาน แต่การเชื่อมต่อและสื่อสารเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้และเข้าใจในวิถีชุมชนท้องถิ่นยังเป็นเป้าหมายสำคัญ “เราพยายามทำมากกว่านั้น อย่างสถานบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน โจทย์ของเรามีมากกว่านั้น ว่าทำอย่างไรถึงจะเอาศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่ามันโบราณ เราจะเอาสิ่งเหล่านี้เข้าไปสู่ตัวเขาได้อย่างไร” เราจะมีเครื่องมือ ให้เขาตีความไหม เราต้องอธิบายใหม่ไหม หรือใช้สื่อแบบไหมให้สอดคล้องตามความสนใจ หรือความต้องการของเขา
ช่วงหลัง ๆ นี้ เราจึงพยายามไม่เล่าแบบเก่า ไม่ชวนทำบุญแบบเก่า เราพยายามทำบุญแบบใหม่ จัดกิจกรรมหรือถ่ายทอดเรื่องศิลปวัฒนธรรมให้เข้าถึงตัวของนิสิต อาจารย์ ที่เขามีมุมมองอีกแบบหนึ่งในยุคนี้มันก็ขาดช่วงในรุ่นเก่าในเรื่องของศิลปะ วัฒนธรรม หรือเรื่องของประเพณีต่าง ๆ เหล่านี้
เพราะฉะนั้นทำอย่างไร เราถึงจะสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ สิ่งที่เราพยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง คือว่าเราจะถ่ายทอดเราจะสื่อสารหรือเราจะชวนเขามาร่วมกิจกรรม ในสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับความต้องการความสนใจ สอดคล้องกับมุมมองของเขาได้อย่างไร เพราะฉะนั้นตรงนี้เราจึงเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว เริ่มใช้สื่อต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น มีการถ่ายทอดสด พยายามชวนนิสิตจำนวนหนึ่งไปเล่าให้เพื่อนฟัง มีมุมมอง มีการเสวนาวิชาการ เราก็จัดเสวนากึ่ง ๆ วิชาการมาเล่าให้ฟัง ซึ่งเด็ก ๆ ทุกวันนี้เราขาดการสื่อสารขาดการอธิบายสิ่งนี้ที่เราพยายามทำ”
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่นาทีนี้ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มจำนวนในทุกวัน งานบุญท้องถิ่นแต่ละชุมชน รวมถึง “บุญผะเหวด” บุญเดือน 4 ของชาวอีสานที่ยึดถือปฏิบัติจึงต้องมีความเข้มงวดในการป้องกันและปรับรูปแบบของกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ยังต้องคงหัวใจของงานบุญเอาไว้ ซึ่งบุญเดือน 4 บุญมหาชาติ หรือบุญผะเหวด ที่มากกว่าการรวมตัวกันตามอานิสงส์ หรือ คติความเชื่อของผู้ปฏิบัติที่จะให้เกิดบุญบารมี ด้านหนึ่งมองว่ายังเป็นการต่อลมหายใจงานบุญท้องถิ่นไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งสื่อสารเรื่อง “ให้ทาน” ผ่านรูปแบบงานบุญไปพร้อมกัน
เรียบเรียง : กาญจนา มัชเรศ
ภาพโดย : ทม เกตุวงศา