เรื่อง: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ความเพ้อคลั่งจักรยานในช่วงปี 1890 นำมาซึ่งการเดินทางและแฟชั่นแสนเสรีของสตรีนักปั่น
ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคที่จักรยานยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าเหลือเชื่อและล้ำสมัยจนได้รับการพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อพาหนะ 2 ล้อเริ่มปั่นตัวเองในกระแส ดีไซเนอร์ทั้งหลายก็เริ่มหาทางผลิตส่วนประกอบต่างๆ ทั้งล้อหน้าและล้อหลังที่มีขนาดแตกต่างกัน, ข้อเหวี่ยง, คันเหยียบไปจนถึงศึกษาระบบเบรคเพื่อประกอบจักรยานที่นำเทรนด์ที่สุด
คำตอบมาชัดเจนเอาในช่วงปี 1890 ที่อเมริกาเพ้อคลั่งจักรยานจนต้องถีบกันแล้วถีบกันอีก แถมจักรยานที่ว่าก็ไม่ได้มีรูปแบบแตกต่างไปจากที่เราเห็นทุกวันนี้สักเท่าไหร่ นักปั่นอเมริกันนับล้านแล่นสวนกันไปมาบนถนน จนเริ่มมีวัฒนธรรมที่ผุดขึ้นมาท่ามกลางเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนไปด้วย 2 ขาของมนุษย์
ชาวอเมริกันเริ่มก่อตั้งสมาคม ‘สิงห์นักปั่น’ และถึงขั้นจัดการแข่งขันขึ้นเป็นครั้งคราว พวกเขากระจายตัวไปทั่วประเทศ ปั่นไปในทุกที่ที่เอื้ออำนวย ต่างโอ้อวดและโชว์ลีลาการปั่นเท่าที่จักรยานคันหนึ่งกับมนุษย์จะไปด้วยกันได้ ณ เวลานั้น
กระนั้น ความเพ้อคลั่งจักรยานกลับมีความหมายอีกแบบต่อผู้หญิง ทั้ง ซูซาน บี แอนโทนี (Susan B. Anthony) และ เอลิซาเบธ แคดี สแตนตัน (Elizabeth Cady Stanton) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีชาวอเมริกันทั้งสองประกาศชัดเจนในหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการตีพิมพ์บนจุดเปลี่ยนของศตวรรษนั้นว่า
‘สตรีจะปั่นจักรยานไปสู่สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง’
ปี 1895 แม้หนังสือพิมพ์ The Courier ประจำรัฐเนบราสกา เองที่เคยนิยามจักรยานไว้ด้วยถ้อยคำสั้นๆ ว่าจักรยานเป็น “พาหนะหัวโบราณและตัวแทนความคิดโง่เง่าอันเชื่องช้าของเพศหญิง” แต่ก็แทนที่มันด้วยประโยค “สตรีหัวสมัยใหม่จะขี่จักรยานราวกับว่าเจ้าหล่อนกำลังควบม้าพันธุ์ดี”
ในเวลาต่อมา จักรยานจึงไม่ต่างอะไรกับพาหนะในการผลักดันฐานะทางสังคมของผู้หญิง คอลัมนิสต์ทั่วโลกต่างนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับอิสระของสตรีนักปั่น เหมือนกับที่หนังสือพิมพ์ The San Francisco Call ในปี 1895 ลงว่า
“หญิงสาวตัวคนเดียวจะปั่นจักรยานไปที่ไหน ไม่มีใครสนใจหรอก เธออาจกำลังปั่นไปนั่งเล่นบนหญ้าอย่างเพลิดเพลินอยู่ที่สวนสาธารณะ ปั่นไปซื้อกิ๊บหนีบผมเป็นโหลๆ ที่ร้านค้า หรือจะไปเยี่ยมสหายที่ป่วยอยู่อีกด้านหนึ่งของมุมเมือง ไปซื้อผ้ารองจานให้ใครบางคนหรือแค่ไปซื้อครีมลบฝ้ากระ ปล่อยเธอไปตามทางของเธอเถอะ แต่สิ่งที่สังคมกำลังเงี่ยหูฟังอยู่ก็คือหญิงสาวกลุ่มหนึ่งที่พร้อมใจกันนั่งบนอานจักรยานพร้อมกัน พวกเธอไปไหนกันแน่ มีการนัดพบเพื่อประชุมใหญ่อะไรกันหรือเปล่า หรือการประชุมเหล่านั้นจะทำให้โลกหัวเก่าที่กำลังป่วยกระเสาะกระแสะต้องกลับมาทบทวนความประพฤติของตัวเองใหม่”
ในขณะที่ปี 1891 นักหนังสือพิมพ์จากหัว Sunday Herald อาจให้ความเห็นที่เปิดกว้างน้อยกว่านั้นหน่อย
“ผู้หญิงกับจักรยาน – ผมคิดว่าสิ่งชั่วร้ายที่สุดที่เคยเห็นคือพวกผู้หญิงซึ่งกำลังปั่นจักรยานของหล่อนให้ว่อนไปทั่วเมืองวอชิงตัน ตอนแรกผมคิดว่าการที่ผู้หญิงสูบบุหรี่นั้นเลวร้ายขั้นสุด แต่ตอนนี้ผมอาจต้องคิดใหม่เสียแล้ว”
นอกจากจักรยานจะสื่อสารถึงความล้ำหน้าทางเทคโลยีในช่วงเวลานั้นแล้ว มันยังส่งผลกระทบอย่างมหึมาต่อแรงผลักทางวัฒนธรรมและการเมือง และแน่นอน การเป็นสัญลักษณ์แห่งสิทธิสตรี
“หญิงสาวกับจักรยานของเธอนำมาซึ่งความแปลกใหม่และเป็นผลผลิตที่ขาดไม่ได้ในช่วงเวลาสุดท้ายของศตวรรษ”
หนังสือพิมพ์ The Columbian ของรัฐเพนซิลวาเนีย กล่าวพร้อมกับบอกเล่ามุมมองใหม่ๆ ไว้ในปี 1895 ว่า “เธอประคับประคองการขี่จักรยานไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียมกันกับเพศชาย ไปสู่การดูแลชีวิตของตัวเองในอนาคต และไปสู่หน้ากระดาษใหม่ของปรัชญาในการแต่งกาย”
เพราะปรากฏการณ์การขี่จักรยานของผู้หญิงผลักดันให้เธอเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากเสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิดของยุควิกตอเรียนไปสู่ยุคแห่งการเปิดข้อเท้า หรืออย่างน้อยก็ต้องเห็นชุดชั้นในวับแวมกันบ้าง ทิ้งขนบแห่งการแต่งลูกไม้และแฟชั่นในชุดฟูฟ่องไปตามเส้นทางจักรยานอย่างสนิทใจ
แว่วมาว่าหญิงสาวกับแฟชันเก๋ไก๋ของเธอบนจักรยานดูดดึงสายตาและปลายปากกาของนักหนังสือพิมพ์ (เพศชาย) จำนวนมากในเวลานั้น
เมื่อหญิงสาวกับจักรยานเป็นที่กล่าวขานพอๆ กับตัวจักรยานเอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเลยที่ ดับบลิว เจ แลมป์ทัน (W.J. Lampton) นักเขียนและนักข่าวจะบันทึกแฟชั่นปลายเท้าจรดหัวเข่าของนักปั่นหญิงในยุคนั้น นำเสนอสไตล์ของเจ้าหล่อนตามพื้นที่ต่างๆ ในเรียงความชื่อ “The Evidence of the Bicycle from the Shores of the Atlantic to Those of the Pacific—a Trail of Wondrous and Varied Beauty.”
นิวยอร์ค หลุยส์วิลล์ อัลบานี ชิคาโก และในอีกหลายพื้นที่ แลมป์ทันบันทึกแฟชั่นสตรีบนจักรยานจนเรื่องราวเหล่านี้อาจกลายเป็นข่าวไร้สาระบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่สิ่งที่น่าคิดไปกว่านั้นคือสิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิง ซึ่งโดนกดทับ ณ เวลานั้น
ก่อนที่สองตาจะเห็นความรุ่งโรจน์ผ่านสองขาที่ปั่นไปตามวงล้อ สตรียังถูกผู้ชายวิพากษ์วิจารณ์เรื่องข้อเท้า หรือเรื่องที่พวกเธออยากออกไปดูโลกภายนอก ขึ้นคร่อมจักรยานแล้วปั่นไปให้เร็วที่สุดเท่าที่กำลังขาและใจปรารถนา ไปในที่ที่ใจของพวกเธอเรียกร้อง โดยทิ้งให้โลกเบื้องหลังตั้งคำถามว่า
ที่แห่งนั้นคือที่ไหนกัน
ภาพ : http://www.sbs.com.au/news/article/2015/05/08/comment-how-bicycle-paved-way-womens-rights