พ.ร.บ.รถยนต์คุ้มครองใครบนท้องถนน?

พ.ร.บ.รถยนต์คุ้มครองใครบนท้องถนน?

เมื่อเพื่อนนักปั่นจักรยานโดนชนต่อหน้า ทำให้เรารู้เลยว่า เราไม่รู้สิทธิของเราบนท้องถนน และถ้าโดนชนแล้วหนี เราคงเจ็บกายอย่างเดียวดาย

บันทึกจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2558 เวลาโดยประมาณ

09:00 น. พวกเรา 6 คน ออกเดินทางจากแม่โจ้ เชียงใหม่ มุ่งหน้าไปเชียงดาว ปั่นไปเรื่อยๆ บนถนนใหญ่ รถเยอะพอควร แต่เเล้วก็ได้โอกาสเลี่ยงไปทางหมู่บ้าน เลียบคลองชลประทาน เจอไร่นากว้างใหญ่ บรรยากาศเหมาะกับการปั่นจักรยาน เราปั่นไปเรื่อยๆ จนถึงสนามกอล์ฟ 25 กม จากจุดเริ่มต้น โดยประมาณ 

เวลาใกล้เที่ยง ถึงเวลาทานข้าว พอกลับออกมาที่ถนนใหญ่ กำลังจะข้ามไปอีกฝั่ง อีกไม่ถึง 10 กมก็จะถึงตลาด…… พี่หนุ่มคนหนึ่งมุ่งหน้าออกไปก่อน ข้ามถนนไปอีกฟาก มองทางขวาไม่มีรถ มองทางซ้ายรถกระบะสีเทาเข้มกำลังพุ่งมา อี๊ดดดดดดดดดดด….! หัวพี่เขากระแทกกระจกหน้าอย่างรุนแรง แรงรถทำให้ตัวพี่เขาโค้งงอรับฟอร์มตามประทุนรถ รถหยุดนิ่ง พี่ชายไหลลงมาที่พื้นถนน แพรมองซ้ายขวา ไม่มีรถใดกำลังสวนมา เสียงพี่อีกคนที่เป็นเพื่อนสนิท ร้องชื่อเพื่อนรักจนเสียงหลง!!! พวกเราอึ้งกันหมด

สาวใส่แว่นดำเป็นคนขับรถกระบะ ป้ายทะเบียนเชียงใหม่ เธอรีบวิ่งลงมาถามว่าเป็นอย่างไรบ้างแล้ว หนุ่มนักกายภาพบำบัดที่ยืนอยู่ศาลาใกล้ๆ วิ่งออกมาพร้อมบอกว่า “ผมเรียกรถพยาบาลให้แล้วนะพี่ อีกสิบห้านาทีเขาน่าจะถึง” ชายหนุ่มตัวเล็กอีกคนเดินลงจากรถพร้อมร่มคันใหญ่ ยื่นร่มมาบังแดดเที่ยงไม่ให้ปะทะร่างของหนุ่มทนายนักปั่นที่เพิ่งประสบอุบัติเหตุ ป้าที่ยืนอยู่ใกล้ๆ พึมพำว่า หนุ่มน้อยโชคร้าย จำเป็นต้องไปสะเดาะห์เคราะห์เย็นนี้

ก่อนแพรจะกระโดดขึ้นรถพยาบาลไปกับผู้ป่วยและพี่ชายอีกคน หนุ่มนักกายภาพบำบัดกระซิบบอกให้พาผู้เคราะห์ร้ายไปเอกซเรย์สมองด้วย เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นอาการช็อคหรือไม่ แต่พี่ชายเขาถามคำถามซ้ำๆ วกไปวนมาตลอดเวลา

ระหว่างทางจากพื้นที่อุบัติเหตุไปยังโรงพยาบาล พี่ชายผู้เคราะห์ร้ายถามด้วยน้ำเสียงเบาๆ ถึงเหตุการณ์ที่น่าตกใจ คำถามเดิมๆ ซ้ำๆ ไปมา ทำให้เราเริ่มเป็นห่วงว่าทนายหนุ่มนักสิทธิผู้นี้จะเคราะห์ร้ายขนาดไหน

13:00 น. ตอนนี้แพรอยู่โรงพยาบาลกับพี่อีกคน พี่ผู้เคราะห์ร้ายนอนเหม่อรอหมอเช็คอาการ ฝ่ายทะเบียนถามข้อมูลคนไข้ ชื่อ-นามสกุล เรามีตามบัตรประชาชน แต่ชื่อพ่อ-แม่ เราไม่ทราบ ให้ได้เพียงเบอร์ติดต่อพี่ชายที่มาด้วยกัน ในฐานะเพื่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ถามถึงทะเบียนรถยนต์ เพื่อลงข้อมูลตาม พ.ร.บ. รถ เราบอกว่าเราขี่จักรยานกัน โดนรถยนต์ชน ส่วนทะเบียนของผู้กรณี เราจำไม่ได้ ขอเวลาถามสักครู่

[คำถาม 1 – ถ้าเราไม่มีบัตรประชาชนหล่ะ? เราจะได้รับการรักษาไหม?]
[คำถาม 2 – ถ้าเราไม่มีประกันอะไรเลยหล่ะ? เราจะได้รับการรักษาไหม?]
[คำถาม 3 – พ.ร.บ.รถ มีไว้เพื่ออะไร? ผู้ประสบอุบัติเหตุใช้มันได้อย่างไร?]

13:30 น. สาวใส่แว่นดำคนขับรถเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ถามถึงพี่ชายที่บาดเจ็บอยู่ เราดีใจนะที่เขาตามมาดูอาการ พอตัวแทนประกันของเขามา ก็บอกให้เธอนัดใครสักคนฝ่ายเราไปเจอที่สถานีตำรวจเพื่อจดบันทึกประจำวัน

[คำถาม 4 – ถ้ามีเพียงเราคนเดียวที่เป็นผู้ประสบอุบัติเหตุ ใครจะไปแจ้งความ?]

15:30 น. ณ ตอนนี้ พี่ชายที่โดนชนอาการดีขึ้น หมอบอกเอ็นที่หัวไหล่ฉีก นอกนั้นไม่น่ามีอะไร ไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ ถ้ามีทะเบียนรถ ก็เบิก พ.ร.บ.รถได้

พอเดินไปที่เคาท์เตอร์ เจ้าหน้าที่บอกว่าใช้ พ.ร.บ.รถ ไม่ได้เพราะต้องไปเคลียร์กับคู่กรณี มีแค่ทะเบียนรถไม่ได้ ต้องจ่ายค่าพยาบาลไปก่อน

[คำถาม 5 – ถ้าไม่มีเงินจ่ายก่อน ไม่มีประกันช่วยจ่าย ใครจะช่วยจ่าย? ใช้ พรบ.รถ ได้ตอนไหน เมื่อไหร่?]

ทางเพื่อนๆ พี่ชายผู้เคราะห์ร้ายพยายามหาวิธีการใช้ประกันและอื่นๆ ไปก่อน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เราจึงลงเอยด้วยการจ่ายไปก่อน แล้วค่อยหาวิธีเบิกเอา

16:00 น. เพื่อนๆ ทำเรื่องขอให้โรงพยาบาลเอกซเรย์สมองของผู้บาดเจ็บ เนื่องจากโรงพยาบาลเเรกไม่มีเครื่องมือ จึงต้องส่งตัวพี่ชายไปอีกโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่า ทางพยาบาลบอกว่าต้องใช้เวลาอีก 2 ชั่วโมงกว่าจะเสร็จสิ้น เสร็จเมื่อไหร่ จะแจ้งเพื่อนๆ ให้ไปรับตัว ถ้าจำเป็นต้องนอนที่โรงพยาบาล จะส่งตัวกลับไปที่โรงพยาบาลแรก เพราะที่นี่มีเตียงไม่พอ

พวกเราจึงขอโอกาสกลับไปที่พัก อาบน้ำ กินข้าว ผ่านไปเกือบสองชั่วโมง ทางโรงพยาบาลโทรมาแจ้งเพื่อนว่าให้กลับไปชำระค่าเอกซเรย์ ส่วนคนไข้นั้น กลับไปที่โรงพยาบาลเเรกแล้ว

พอถึงจุดชำระค่าพยาบาล เจ้าหน้าที่ผู้หญิงรุ่นแม่บอกให้จ่ายสำรองไปก่อน ถ้ามีประกันกลุ่มก็ต้องเอาแบบฟอร์มมา โรงพยาบาลไม่สามารถจัดการให้ได้ ถ้าจะเบิก พ.ร.บ.รถ ก็ต้องไปศาลากลาง เอาใบรับรองแพทย์ไปพร้อมใบแจ้งความ เธอยื่นใบเสร็จราคา 3,000+ บาทให้พร้อมกับกระดาษหนึ่งใบ ระบุเอกสารที่ต้องเตรียมไปใช้ดำเนินการ พ.ร.บ.รถ สำหรับผู้ประสบอุบัติเหตุ

เรากลับไปที่ห้องฉุกเฉินเพื่อไปยื่นเรื่องขอใบรับรองเเพทย์ เจ้าหน้าที่บอกว่าออกให้ไม่ได้ ต้องรอวันจันทร์เพื่อนัดกับนิติเวช กลับมาเช็คอาการแล้วค่อยทำเรื่อง ก็เลยถามพยาบาลหนุ่มว่า ถ้าผู้บาดเจ็บไม่มีเงินเลย เขาจะได้รับการรักษาไหม

“ก็ต้องสำรองจ่ายไปก่อน” เขาตอบ

แพรนึกในใจ โลกมันจะโหดร้ายขนาดนั้นหรือว่าเขาฟังคำถามแพรไม่รู้เรื่อง เราเข้าใจนะว่ามีคนที่ไม่เข้าใจการถามของเรา แพรเลยลองอีกรอบ

“ถ้าผู้บาดเจ็บไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล จะทำอย่างไรได้คะ?” แพรถาม

“ก็ต้องสำรองจ่ายไปก่อน” เขาตอบ

จบ

จึงเป็นคำถามที่ยังคงต้องหาคำตอบว่า เมื่อคนเดินเท้า คนขี่จักรยานประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน เรามีสิทธิอะไรบ้าง? เรามีกฎหมายอะไรคุ้มครอง?

ป.ล.1 พี่ชายทนายหนุ่มที่โดนรถชน ตอนนี้อาการดีขึ้นแล้ว เดินพอได้ โดนพาไปเที่ยวฉลองวันเกิดแล้ว แต่ไม่รู้ว่าแกดำเนินการเรื่องเอกสารต่ออย่างไร

ป.ล.2 อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้แพรหวาดกลัวการขี่จักรยานบนถนนขึ้นเล็กน้อย คงต้องรอไปอีกเดือนกว่าจะกล้าพอปั่นรอบกรุงฯ แต่ที่แน่นอนคือ เราประมาทน้อยลง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ