“เมืองทำมือ” ความเป็นไปได้ภายใต้เทคโนโลยี METAVERSE

“เมืองทำมือ” ความเป็นไปได้ภายใต้เทคโนโลยี METAVERSE

จักรวาลนฤมิต หรือ Metaverse เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น หลายคนเริ่มทำความรู้จัก “คำศัพท์” ใหม่นี้ พร้อมกับการเรียนรู้เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตที่หากจะกล่าวว่า “เกินจินตนาการ” ก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่องค์กรเอกชนที่มีความยืดหยุ่นสูงก็มีทีท่าจะขยับรับทิศทางที่เปลี่ยนผ่านได้อย่างรวดเร็ว ธุรกิจการค้าหลายรูปแบบเตรียมพร้อมก้าวสู่จักรวาลใหม่นี้ไม่รีรอ ทั้ง ธุรกิจเกม ค้าปลีก แฟชั่น แม้แต่กระทั่งแวดวงทางการศึกษา ต่างก็ต้องปรับตัวให้ทันการณ์เพื่อเสริมเติมทักษะการสร้างนักออกแบบ ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลที่มีบทบาทอย่างมากในปัจจุบันนี้

โคราช หรือ นครราชสีมา เมืองใหญ่ด่านหน้าของภาคอีสาน เมื่อนับจากศูนย์กลางการปกครองอย่างกรุงเทพมหานคร เป็นอีกพิกัดพื้นที่ซึ่งภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษาเปิดเกมรุกเดินหน้าค้นหานักสร้างโมเดล 3 มิติ ด้วยโปรแกรม blender ให้เยาวชนในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 15 -16 มกราคม 65 ที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และ Class café ให้ได้เข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อนำไปต่อยอดเป็นนักออกแบบเมืองสร้างสรรค์ในโลกของจักรวาลนฤมิต หรือ Metaverse และนั่นย้ำชัดถึงการก้าวย่องของบุคลากรรุ่นใหม่ในอีสานที่ก้าวหน้าเรื่องเทคโนโลยีในอัตราเร่ง

ชลันธร ท่าหลวง

ชลันธร ท่าหลวง นักศึกษาสาขาศิลปกรรมและสื่อสร้างสรรค์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งรับรางวัลชนะเลิศ ในชื่อผลงาน MC jean Station บอกว่านี่เป็นก้าวสำคัญของเขาและเพื่อน ๆ “ผมเล็งเห็นว่าจากปกติผมจะเป็นคนทำงานเกี่ยวกับด้าน 2 มิติมาโดยตลอด  ผมเลยคิดว่าถ้าเราลองมาฝึกทางด้าน 3D เพื่อเอามาใช้กับงานที่เราทำอยู่ ผมว่ามันน่าจะเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่น้อยเลยครับ 3D นับวันยังเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น มันกำลังเติบโต การมีพื้นฐานตรงนี้เอาไว้เพื่อที่จะเอาไปต่อยอดเพิ่ม มันถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะสำคัญ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เลยครับ”

รู้ชัด ปฏิบัติได้

การพบปะประลองฝีมือของนักออแบบในนครราชีมา นับเป็นอีกโอกาสที่ ดร.สรชัย กมลลิ้มสกุล  อาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตร์ดิจิทัล รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มองว่าสำคัญไม่น้อยกว่าในชั้นเรียน “ในลักษณะการเรียนการสอนเราก็เน้นในเรื่องของการรู้ชัดปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการปฏิบัติได้นอกเหนือจากการที่จะเรียนเพื่อฝึกทักษะในชั้นเรียนแล้วการที่ได้ออกมาเวทีข้างนอกก็จะเป็นการรู้ว่าตัวเองสามารถปฏิบัติได้ไหมภายใต้โจทย์ของการแข่งขันหรือที่เป็นความต้องการของสถานประกอบการของภาคเอกชน

ดร.สรชัย กมลลิ้มสกุล 

ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญว่าการเรียนรู้มันไม่สิ้นสุด เราเรียนรู้จากผลงานของคนอื่นได้ ในเรื่องทักษะก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่เขาจะนำไปใช้ได้อย่างแน่นอน นอกเหนือจากนั้นก็เป็นเรื่องของการคิด การตัดสินใจที่จะต้องใช้ระยะเวลาข้ามคืนหรือหนึ่งวันที่จะต้องตีโจทย์ให้ได้ รวมถึงสุดท้ายก็คือ เป็นเรื่องของการนำเสนอ ที่จะต้องนำเสนอผลงานตัวเอง ว่าเขาคิดอะไร แล้วทำไมเขาถึงทำออกมาแบบนี้ นำเสนอให้คนอื่นเขาเข้าใจ ซึ่งอันนี้เป็นทักษะสำคัญในศตวรรษ 21 ที่เราบอกว่าเราคิดได้ เราทำได้แล้ว เราก็ต้องนำเสนอสื่อสารออกมาได้ด้วย”

เปิดสนามประลองฝีมือ แลกเปลี่ยนความรู้

“การที่เราจะสร้าง commercial ในนครราชสีมา สิ่งที่ต้องทำสิ่งแรกคือการ Hackathon การรวมศิลปินหรือนักออกแบบมาสร้างความรู้เพื่อที่จะได้ผลิตชิ้นงานและก็การพัฒนาเมือง เพราะมองว่าคนที่จะพัฒนาเมืองได้ดีที่สุด ก็คือคนในพื้นที่ ประจวบกับทีมอาจารย์ในสาขามีความเชี่ยวชาญทางนี้อยู่แล้ว เรื่องบังเอิญอีกอันหนึ่ง คือ เราได้ร่วมกับ DEPA ในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา แล้วก็มีคอร์สสอนผ่านมาแล้ว 3 รุ่น ก็เลยจังหวะมาควบกับ metaverse พอดีได้มาซัพพอร์ตกัน

อิญชญา คำภาหล้า

Hackathon เป็นชาเลนจ์อย่างหนึ่งที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมมันทำให้เกิดเกิดแรงกระตุ้น ให้มีการผลิตงานมาเพื่อแข่งขัน มันทำให้คิดงานได้ต่อเนื่องด้วย อีกอย่างคือมีคาดหวังว่า การทำโครงการนี้ มันจะสร้างรายได้ระหว่างเรียน สร้างผลงานโดยคนในพื้นที่ ให้มีความรักบ้านเกิด รักท้องถิ่น มีความภูมิใจ เวลาสร้างงานมา จะเกิดความอิน และสร้างงานได้สวยงาม” อิญชญา คำภาหล้า อาจารย์สาขาศิลปกรรมและสื่อสร้างสรรค์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ย้ำถึงโอกาสและจังหวะการเรียนรู้ของนักศึกษาในโอกาสมาเจอกัน

โลกหมุนเร็วขึ้นทุกวัน การตามโลกให้ทันเป็น(อีก)โจทย์

ความปั่นป่วนของเทคโนโลยีสมัยใหม่ พลิกผันและสร้างแรงกระเพื่อมต่อเนื่องไม่ลดละ ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ประสบการณ์ มีความจำเป็นคล้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ต้องเตรียมให้พร้อมในวันออกรบ หรือแม้ยามศึกสงบก็ต้องพร้อมใช้งาน

ทักษะความรู้ของนักออกแบบสร้างสรรค์สมัยใหม่ที่มี จักรวาลนฤมิต หรือ Metaverse เคียงบ่าเคียงไหล่เป็นโลกคู่ขนาน จำเป็นต้องได้รับโอกาสฝึกฝน ลับคม เพื่อสร้างแรงกระตุ้นต่าง ๆ หวังให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในอีสานที่พร้อมทะยานสู่โลกใหม่ใบนี้ โลกแห่งเทคโนโลยีอนาคต เพื่อให้พวกเขาได้มีพื้นที่ปล่อยของ เพราะอีกไม่นาน หรืออาจจะแค่อึดใจ เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่สนใจในเรื่องเหล่านี้ จะมีแรงพอได้ออกแบบ “เมืองทำมือ” จากการสัมผัสคลิกเมาส์ที่ปลายนิ้วอย่างแผ่วเบา แต่ผ่านการคิดค้นออกแบบภายใต้ความคิดอย่างหนักหน่วง และทั้งหมดนี้คือผลพวงการเรียนรู้อย่างไม่มีข้อจำกัดของผู้คนที่ผสมผสานความร่วมมือด้วยกัน ทั้งสถาบันการศึกษา เอกชน ธุรกิจและแน่นอนคนรุ่นใหม่ที่เห็นโอกาสความเป็นไปได้ภายใต้เทคโนโลยี METAVERSE

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ