อยู่ดีมีแฮง : ก้าวสู่ METAVERSE ณ โคราชบ้านเอ็งกับ VELAVERSE

อยู่ดีมีแฮง : ก้าวสู่ METAVERSE ณ โคราชบ้านเอ็งกับ VELAVERSE

หากพูดถึงการสร้างโลกเสมือนจริง หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า “ทำไมเราต้องมีโลกเสมือน” หรือ “จะมีโลกเสมือนจริงไปทำไมกัน” และคำว่า “โลกเสมือน” อาจจะฟังดูไกลตัวของหลาย ๆ คน แต่ในยุคนี้ที่เทคโนโลยีเป็นเหมือนส่วนประกอบหนึ่งในชีวิตของมนุษย์และยังคงพัฒนาอย่างรวดเร็ว “โลกเสมือน” จึงมีทีท่าว่าจะใกล้ตัวเรามากขึ้นและสำหรับบางคนอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตไปแล้ว  

Metaverse หรือ จักรวาลนฤมิต ตามราชบัณฑิตยสถานบัญญัติศัพท์ไว้ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นอีกหนึ่งคำที่หลายคนเริ่มคุ้นหูกันหากพูดถึงโลกเสมือนจริง เพราะถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่าน และคำว่า Metaverse อาจจะจำกัดความว่าคือ โลกเสมือนจริงที่ถูกนำออกมาสู่โลกจริง ๆ  แต่อาจจะใหญ่กว่าโลกของเรา หรือจะบอกว่าเป็น จักรวาลเสมือนจริงที่อยู่เหนือจินตนาการของเรา ที่เราสามารถเข้าไปใช้ชีวิตในโลกนั้นได้ด้วยตัวตนดิจิทัล หรือ อวาตาร์ (Avatar) ทำให้มนุษย์มีตัวตนทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนในเวลาเดียวกัน ผู้คนสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม พบปะพูดคุย ติดต่อ ท่องเที่ยว หรือช็อปปิ้งเสมือนอยู่ในโลกจริง ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้มนุษย์ทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ไม่สามารถทำในโลกความเป็นจริงได้ และขณะเดียวก็เป็นโอกาสที่ทำให้เกิดวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้น

METAVERSE โดย VELAVERSE ณ โคราช กำลังเริ่มต้น

มารุต ชุ่มขุนทด หรือ คุณกอล์ฟ CEO ของ Class Cafe และทีมงานได้พยายามเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชน ทั้งพื้นที่โลกจริงใบนี้ และโลกคู่ขนานบนสังคมดิจิทัล โดยศึกษาการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะนำมาพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์เหล่านี้ ให้สามรถเชื่อมต่อหากันได้ และพาชาวอีสานนำโดยคนโคราชก้าวเข้าสู่  Metaverse

“Metaverse เป็นเรื่องใหญ่กว่าที่เราคิด เพราะจากที่เราคิดตอนแรก เราพูดเรื่องการออกแบบโลกเสมือน แต่ครั้งนี้มันเป็นการออกแบบ verse to universe มันเป็นการออกแบบจักรวาล เราพยายามทำเรื่องนี้มา 3-4 ปีแล้ว เราเห็นว่าการที่เราเป็นพื้นที่สร้างสรรค์นั้น เราจำเป็นต้องมีคนมาใช้ชีวิตอยู่กับเรา และเราก็อยากรู้ว่า Class Cafe แต่ละสาขานั้น เขาทำอะไรกันอยู่ที่นั่น เราก็คิดว่ามันคงสนุกดีนะถ้าเราเชื่อมต่อทุกที่เข้ามาหากัน และเป็นไปได้ไหมที่เราจะสามารถเปิดประตูแล้วเข้ามาหากันได้เลย ถ้า community ในพื้นที่ออนไลน์มันสามารถเชื่อเข้าหากันมันจะ แล้วมันจะเป็นยังไง นั่นคือความฝันของเราเมื่อ 4 ปีที่แล้ว”

หากลองย้อนเวลาไปไม่กี่ปีก่อนหน้า เราคงนึกภาพไม่ออกว่า Metaverse จะเกิดขึ้นได้ แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตให้เข้ามาอยู่ในโลกดิจิทัลในอัตราเร่งที่สูงมาก ผู้คนต้องทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างอยู่ที่บ้าน จากความแลปกใหม่กลายเป็นความคุ้นเคย เป็นพฤติกรรมวิถีใหม่ที่เรียกกันว่า  New normal ทำให้ Metaverse มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงในไม่ช้า และเป็นโอกาสทางธุรกิจในอีกรูปแบบหนึ่ง

“Metaverse มันเป็นธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่งที่มันมีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด ซึ่งมันมีองค์ประกอบเยอะมากที่จะทำให้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ เมื่อพูดถึง Metaverse คนจะนึกถึงว่า มันมีโอกาส มันมีความเป็นไปได้ 2 สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เรานำเข้ามาหากัน และก็นำเรื่องราวใหม่มา เรามีออฟไลน์อยู่บนโลกจริงที่เป็นพื้นที่อยู่ในชุมชนของเรา เราก็มาวาดเรื่องนี้ใหม่ให้มันอยู่ในออนไลน์ พอมันเป็นออนไลน์ สู่ ออฟไลน์ มันก็ทำให้ภาพตรงนี้แข็งแรงและสมบูรณ์ขึ้นในการแลกเปลี่ยน 2 พื้นที่นี้เข้าหากัน แน่นอนในอนาคตพอเราเชื่อมต่อ 2 โลกเข้าหากัน สิ่งที่เราเชื่อคือโลกเสมือนมันจะใหญ่กว่าโลกจริงมาก และมันจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันไม่มีขีดจำกัด เพราะสิ่งเดียวที่จำกัดเรา คือ จินตนาการของเรา เราต้องคิดใหม่ และเปลี่ยนวิธีคิด”

 มารุต ชุ่มขุนทด ฉายภาพการเดินทางเริ่มต้นของพื้นที่สร้างสรรค์บนโลกดิจิทัลของชาวโคราช

เปิดพื้นที่ใหม่ให้โลกสองใบ “จริง” และ “เสมือนจริง” มาเจอกัน

การพัฒนาเทคโนโลยีในโลก Metaverse ที่ยังสดใหม่ หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคย เป็นอีกความท้าทายและโอกาสสำคัญซึ่งเมืองโคราช จ.นครราชสีมา ได้เริ่มต้นภายใต้ความร่วมมือของภาคเอกชน ทีม Class Cafe สร้างโลกเสมือนของตัวเองขึ้นมา ภายใต้ชื่อ Velaverse เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นที่พบปะ และสามารถใช้ชีวิตได้อิสระไร้ข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ที่ไม่สามารถทำได้ในโลกจริงในรูปแบบ 3 มิติ และเมื่อวันที่ 15 – 16 มกราคม 2565 ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จัดกิจกรรม “CLASS 3D Velaverse Hackathon” การแข่งขันเพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักสร้างโมเดล 3 มิติด้วยโปรแกรม blender เพื่อใช้ในโครงการ  Velaverse  โลกเสมือนแห่งอนาคต  ซึ่ง มารุต ชุ่มขุนทด บอกว่า Velaverse จะกลายเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนและเป็นสังคมที่ทุกคนสามารถร่วมสร้างและออกแบบขึ้นมาได้เอง

Velaverse มันเป็นโลกในฝันของทุกคนที่เราจะสร้างขึ้นมาให้ทุกคนเท่าเทียมกัน มันเป็นโลกของเทคโนโลยีที่เรียกว่า Decentralize ซึ่งคือการกระจายอำนาจ การกระจายความเท่าเทียม เมื่อเราเชื่อเรื่อง Metaverse ซึ่งประกอบด้วย เทคโนโลยี VR เทคโนโลยี Blockchain และ Social Media เป็นต้น และพอมันเป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของคน สิ่งที่เราคิดนั้นไม่ใช่แค่เราจะซื้อเทคโนโลยีมาใช้และเอามาทำเป็น Metaverse ได้เลย แต่เราต้องมีชุมชน ต้องมีคน นั่นคือกุญแจหลักของเรื่องนี้  พอมันเป็นเรื่องของคน กิจกรรมที่เราจะสร้างเมืองมาให้เขานั้น มันก็เหมือนเราซื้อตึกแพง ๆ มาให้ตึกหนึ่งซึ่งไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าทุกคนร่วมกันสร้างตึกขึ้นมา เขาจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วม ซึ่งระหว่างที่เขาสร้างตึกขึ้นมานั้น เขาจะมีรายได้ มีอาชีพเกิดขึ้นมาใหม่ มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ มันจะเกิดการขับเคลื่อน หมุนเวียนวันอยู่ใน ecosystem มันจะเกิดสังคมที่เป็น Social Network เกิดขึ้นมาใหม่ นี่แหละครับคือการเกิดของ Metaverse ที่สมบูรณ์แบบ เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นคนที่เปิดประตูเรื่องนี้ พาน้อง ๆ รุ่นใหม่ ที่เขามาต่อความฝันต่าง ๆ มีรายได้ มีการใช่ชีวิตอยู่บนนั้น มีเมืองในอดุมคติที่เขาต้องการ มีโลกในฝันที่เขาอยากได้ นี่คือสิ่งที่เราจะนำไปสู่เรื่องใหม่เลยที่เราคิดอยู่ คือเมืองที่ดี เมืองที่ smart จริง ๆ มันคือการที่มีคนที่ smart มาอยู่รวมกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราเริ่มต้นด้วยการรวมคนเข้าหากันแล้วสร้างเมือง ดีกว่าการที่เราสร้างเมืองแล้วรอคนเข้ามา”

การเริ่มต้นก้าวสู่ Metaverse  หรือ จักรวาลนฤมิต ของผู้คนในโลกจริงใบนี้ ที่มีโลกใบที่สอง คือ โลกดิจิทัล นับเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่คนรุ่นใหม่ซึ่งมีความสนใจเรื่องเทคโนโลยีในโคราชเริ่มขยับตัวประชันฝีมือออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่เหนือจินตนาการในหลายรูปแบบและร่วมก้าวไปสู่โลกเสมือนจริงที่ทุกคนสามารถออกแบบได้ควบคู่กับการเปิดพื้นที่เมืองให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์และก้าวไปด้วยกัน

เรียบเรียง : พุฒิสรรค์ กันยาพันธ์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ