อยู่ดีมีแฮง : ช่างชาวนาเกษตรทุ่นแรง

อยู่ดีมีแฮง : ช่างชาวนาเกษตรทุ่นแรง

สุกัน ศิลาไสล

“ข้อดีของการเป็นช่างชาวนา เรารู้จักใช้เครื่องจักรมีปัญหาเราแก้ไขได้ทันทีในตอนนั้น งานของเราก็สามารถดำเนินต่อไปได้”

สุกัน ศิลาไสล หรือ ต้อม ช่างชาวนาที่เป็นเกษตรกรแล้วเจ้าของรถดำนาเครื่องจักร อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ พูดถึงข้อดีของการมีทักษะในการเป็นช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักรด้านการเกษตร คุณต้อมกับผู้เขียนเราพบกันในแปลงนาบนพื้นที่ดินทั้งสิ้น 9 ไร่ ในอำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ พื้นที่นาที่ช่างชาวนาอย่าง ต้อม สุกัน พร้อมกับน้อง ๆ จะต้องลงมือดำนาด้วยเครื่องจักรให้กับลูกค้าประจำที่เคยใช้บริการเครื่องดำนา ไปช่วงบ่ายของวันก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดินเสียก่อน

ต้อม สุกัน เล่าพรางซ่อมบำรุงรถดำนาก่อนที่จะลงทำงานไปด้วยว่า มันมีปัญหาเรื่องของแรงงานเมื่อก่อนชาวบ้านปลูกข้าว ถอนกล้า ใช้แรงงานคน แต่ทุกวันนี้ผู้คนเหล่านั้นทำแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว จึงมองเห็นว่าการพึ่งเครื่องจักรเพื่อเป็นการทุ่นแรงน่าจะเป็นทางออก เพราะมันง่ายในการทำนา ทำนาเดี๋ยวนี้ต้องมีเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานคน เพราะคนจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ

สุกัน ศิลาไสล

จากช่างอิเล็กทรอนิกส์สู่ช่างยนต์รถดำนา

ด้วยชีวิตวัยหนุ่มเมื่อหลายปีก่อน ต้อม สุกัน เป็นคนชอบที่จะเรียนรู้และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ หลังจากที่เรียนจบ ปวช. สาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ และออกมาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหลังจากนั้นชีวิตก็หักเหไปสู่การขายแรงงานในต่างแดน เขาเดินทางไปประเทศไต้หวันเพื่อไปทำงานโรงงาน

“มาขายแรงงานครับอยู่ประเทศไต้หวัน วันนั้นไปเห็นรถดำนาวันหยุดงานจึงไปดูเขาทำงาน ไปขอดู ไปขอทำนากับเจ้าของที่นาที่กำลังทำงานอยู่ ผมอยากไปศึกษาหาความรู้ ไปขอทำงานโดยที่เขาไม่ได้จ่ายเงินให้ผมเลย”

ด้วยความสนใจในเครื่องจักรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงทำให้เกิดความกล้าที่จะไปขอเรียนรู้ และทดลองทำในเวลาว่างในวันหยุดที่ไม่ได้ทำงาน จนเกิดเป็นความชำนาญและความรู้สึกที่ดีต่อการใช้นวัตกรรม เครื่องจักรในการดำนาจนถึงในทุกวันนี้

ตัดสินใจกลับบ้านทดลองใช้เครื่องจักรทำนา

เมื่อกล้าที่จะทดลอง ทำให้ต้อม สุกัน ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านที่อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมกับเงินเก็บจากการทำงาน หลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไต้หวันมาหลายปี เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ตัดสินใจซื้อรถดำนาจากบริษัทขายเครื่องจักรในประเทศไทย โดยเริ่มจากรถดำนาคันเล็ก ๆ แบบเดินตามและราคา 140,000 บาท แล้วลองดำนาของตัวเองก่อนก่อนที่จะขยับขยายไปรับจ้างดำนากับชาวบ้านที่รู้จักกัน

ช่วงแรกในการรับจ้างดำนา ชาวบ้านยังไม่เชื่อมั่นในการใช้เครื่องจักรดำนาว่าจะมีประสิทธิภาพที่ดีอย่างแรงงานคนที่เคยทำกันมาก่อน แต่ด้วยความที่ไม่ย่อท้อ และด้วยประสบการณ์ที่เคยทดลองทำที่ประเทศไต้หวัน จึงต้องใช้เวลา 5-6 ปีในการลองผิดลองถูก และพิสูจน์ให้ผู้คนและชาวบ้านเห็นว่าการเกษตรในอีสานบ้านเราสามารถใช้เครื่องจักรเพื่อทุ่นแรงได้

“เริ่มแรกผู้คนยังไม่ยอมรับในจุดนี้ ผมต้องพิสูจน์ตัวตนอยู่นานปัญหาของบ้านเราก็คือเรื่องหอย และพื้นที่ที่มันไม่เหมาะในการใช้เครื่องจักรดำนา”

หลายครั้งที่การทดลองต้องล้มเหลวเพราะข้อจำกัดในการใช้เครื่องจักรไม่สามารถทำได้ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาในการทดลอง ลองผิดลองถูกอีกครั้งโดยการใช้ทักษะของการเป็นลูกชาวนา ออกแบบการเดินรถเครื่องจักรดำนาให้สามารถทำงานได้ดีถึงแม้พื้นที่จะไม่อำนวยก็ตาม

ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ใช้บริการรถเครื่องจักรดำนา คือผู้ที่ต้องการปลูกข้าวกินเองแต่ไม่สามารถลงแรงได้ เพราะการทำนาแบบเครื่องจักรจะช่วยในเรื่องการไม่ใช้สารเคมี หากทำนาหว่านหลายครั้งจะต้องอาศัยการใช้สารเคมีในนาข้าว จึงทำให้ชาวบ้านเริ่มนิยมใช้บริการเครื่องจักรดำนามากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของความสะดวกสบายแล้วการใช้รถดำนาก็เป็นการลดระยะเวลาในการทำงานอีกด้วย

“นา 10 ไร่ใช้รถดำนาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ถ้าใช้เครื่องจักรแบบ 6 แถวมันเทียบได้กับแรงงานคน 60-80 คน แต่ถ้าหากเป็นตัว 8 แถวก็สามารถแทนแรงงานคนได้ 80 ถึง 100 คน ผมดำนา 10 ไร่ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงแต่ถ้าเป็นแรงงานคน 10 คนคิดเห็นว่า 1 วันน่าจะไม่เสร็จ” 

การทุ่นแรงโดยใช้เครื่องจักรทำให้การทำนาเป็นเรื่องง่ายดาย สำหรับต้อม สุกัน วิธีการใช้เครื่องจักรเป็นหนทางใหม่ ทางเลือกใหม่ในการทำนา สามารถสร้างอาชีพใหม่ให้เกิดขึ้นในชุมชน เพราะถึงแม้จะใช้เครื่องจักร แต่ก็ยังต้องใช้กำลังคน แรงงานคน ที่จะต้องควบคุมกำกับดูแล ทั้งการใส่กล้าและการควบคุมรถ การวางแผนการเดินรถ ผู้คนทั้งหลายเหล่านี้ต่างก็มีอาชีพเพิ่มเติมในการเป็นช่างชาวนา รายการใช้เครื่องจักรเพื่อมารับใช้การทำนาในยุคใหม่

เป็นช่างอิเล็กทรอนิกส์แล้วซ่อมรถดำนาที่ต้องอาศัยความรู้ช่างเครื่องยนต์ได้อย่างไร

สุกัน ศิลาไสล

สิ่งที่ต้องพบเจอในการทำงานกับเครื่องจักร ที่เป็นเครื่องมือทางการเกษตรมันก็คงหนีไม่พ้นการสึกหลอจากการทำงานอย่างหนักในภาคการเกษตร หากเป็นชาวนาหรือเกษตรกรที่ไม่มีความรู้ด้านช่าง เมื่อเกิดความเสียหายกับเครื่องจักรก็มักจะต้องเสียเงินเสียทองกับการให้ช่าง มาตรวจสอบซ่อมแซมเครื่องมือการเกษตรนั้น ๆ

“ผมไม่ได้เรียนช่างมา อาศัยประสบการณ์จากการทำงานมานาน การเป็นช่างหากเราทำไม่ได้เราต้องรอช่าง ผมซื้อรถใหม่มามันจะใช้เวลานานกว่าจะชำรุด นั่นเป็นเวลาเพื่อให้เราเรียนรู้ว่าจุดไหนเสียหายบ้าง เมื่อมีจุดที่เสียหายเราก็ลองรื้อดูว่าสามารถทำเองได้หรือไม่ ครั้งแรกหากเราทำไม่ได้ดาวก็เอาช่างที่ชำนาญออกมาซ่อม และเราอาศัยดูกับเขาไปด้วย แล้วก็จำนำเอาไปใช้ครั้งต่อไปเมื่อเกิดการชำรุด เราก็ซ่อมเองได้”

ไม่ได้เรียนช่างเครื่องยนต์มาโดยตรง แต่ต้อม สุกัน สามารถใช้ทักษะในการซ่อมบำรุงจากการจดจำและการทดลองทำจากผู้รู้ จะสามารถถ่ายทอดความรู้ด้านช่างให้กับเราน้อง ๆ ที่มาฝึกฝนเป็นช่างชาวนาด้วยกัน และแบ่งปันความรู้กับชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรที่เลือกใช้เครื่องจักรเองหลังจากเลิกใช้บริการเครื่องจักรดำนากับเขาไปแล้ว เพื่อให้เกษตรกรสามารถดูแลเครื่องจักรของตัวเองได้ เพราะมันจะช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรด้านการเกษตรไปในตัว

จากลูกชาวนาสู่ช่างชาวนา รักษาวิถีเพียงแค่เปลี่ยนวิธีการ

อาชีพเดิมของครอบครัว ต้อม สุกัน ก็เป็นชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ เดิมทีบ้านเกิดอยู่ที่อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ก่อนชีวิตจะต้องย้ายถิ่นฐานหลายต่อหลายครั้งจนกลายมาเป็นช่างชาวนา

“ไม่ใช่ทำแล้วจะสำเร็จเลย ก็มีพลาดมีคำพูดต่าง ๆ ออกมา แต่ก็ดีใจที่พิสูจน์ตัวเองสำเร็จว่าข้อดีของการเป็นชาวนา คือเรารู้จักใช้เครื่องจักรเป็น”

การนำวิธีการใหม่ ๆ เพื่อมาใช้ในการเกษตรในอีสานเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ มันทำให้เห็นว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่ยอมจำนน แต่กลับลุกขึ้นมาที่จะพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อทำให้วิถีชีวิตชาวนา และเกษตรกรรมในบ้านเราสามารถไปต่อได้ และก็ยังประโยชน์แก่ชุมชนในการสร้างอาชีพใหม่ ๆ ในอีสานบ้านเรา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ