อาสาพร้อม (แล้ว) รัฐพร้อมไหม? เสียงคนอาสาถึงระบบสาธารณสุขไทย

อาสาพร้อม (แล้ว) รัฐพร้อมไหม? เสียงคนอาสาถึงระบบสาธารณสุขไทย

จากสนทนาอาสาพร้อม “จากบทเรียนอาสา ถึงระบบสุขภาพที่เราต้องการ” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 เราพูดคุย และอัพเดตถึงการทำงานอาสาในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 อาสาสมัครหลายกลุ่มปรับเปลี่ยนบทบาท อย่าง “เส้นด้าย” ตั้งเป็นมูลนิธิตั้งรับกับความเหลื่อมล้ำ บางอาสากลับมาทำงานเดิมเพื่อสู้กับโควิดอย่าง “พระไม่ทิ้งโยม” กลับมาเปิดศูนย์พักคอยอีกครั้งเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ ไปจนถึงอาสาที่มองเชื่อมโควิดไปถึงการสร้างพื้นที่อาหาร และสิ่งแวดล้อม อย่าง “Food For Fighters” ที่กำลังจัดระบบอาหารในอนาคต เหล่านี้คือเสียงสะท้อนและภาพการทำงานอาสาที่ยังไม่เคยได้หยุดตั้งแต่พวกเขาคิดเริ่มต้นทำ ที่ตั้งต้นจะทำเพื่อรอระบบสาธารณสุขเข้าที่เข้าทาง จนถึงวันนี้คงไม่ได้หยุด


https://www.facebook.com/citizenthaipbs/videos/1316004322234732

วันนี้เราได้รวบรวมเสียงบางส่วนบางตอน ที่อาสาฝากถึงระบบสาธารณสุข และภาครัฐ สะท้อนปัญหาจากหน้างานที่ทำงานจริงของพวกเขา พร้อมข้อเสนอ ที่เพียงอยากให้ทุกคนได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและเท่าเทียม

อาสา เส้นด้าย : คริส โปตระนันทน์


เส้นด้ายทำงานอาสาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มาเกือบ 1 ปี บอกว่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเส้นด้ายที่จัดตั้งเป็นมูลนิธิจะขยับไปทำเรื่องอื่น ๆ พยายามจะเปลี่ยนบทบาทการทำงานไปทำเรื่องพื้นที่แออัด อยากที่จะเข้าไปแก้ปัญญาตรงนั้น

แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาโควิด-19 กลับมาอีกครั้ง มีสายโทรเขามาหาเส้นด้าย เพื่อขอให้ประสานหาเตียง หรือขอความช่วยเหลือเริ่มมากขึ้น เส้นด้ายเลยต้องกลับมาทำตรงนี้อีกรอบ ซึ่งจริง ๆ พี่คริส โปตระนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งเส้นด้ายบอกว่า หน้าที่ตรงนี้มันไม่ควรเป็นบทบาทของเส้นด้ายในเดือนมกราคม 2565

“ระบบสาธารณสุขมีเวลาในการปรับตัวมาเกือบ 2 ปี ควรจะมีระบบที่มีการจัดการให้ได้อย่างดี ไม่มีใครควรที่จะโทรเข้ามาขอความช่วยเหลือจากเส้นด้าย 1330 ยังไม่สามารถเป็นศูนย์กลางของการหาเตียงได้ ซึ่งผ่านมาเกือบ 2 ปี มันต้องอุดรอยรั่ว และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้แล้ว พอโควิด-19 กลับมาอีก อาสาก็ต้องกลับมาทำอีก กลับมาแก้ปัญหาเดิม ๆ ที่แก้ไม่หายสักที”

ดังนั้นสิ่งที่อยากจะฝากถึงรัฐให้เร่งช่วยแก้ไขด่วน ๆ พี่คริสบอกว่า เน้นไปให้ครบทุกด้านตั้งแต่ตรวจ รักษา วัคซีน และการเยียวยา แต่ที่เน้น ๆ คือ HI ต้องกลับมาใช้ได้จริงและต้องทำให้มันเกิด ต้องทำให้โควิดกลายเป็นไข้หวัดธรรมดาให้ได้

  1. ต้องจำหน่ายผู้ป่วยให้เป็นผู้ป่วยนอก คือระบบ HI มันดี แต่ใช้งบประมาณเยอะ รัฐอาจจะต้องมาทบทวนการทำงานอีกครั้ง อย่างการส่งข้าว 3 มื้อ/วัน มันยังจำเป็นไหม อย่างไรก็ตาม มันจำเป็นมาก ว่าต้องทำ HI เป็นหลักอย่างมีประสิทธิภาพ
  2.  การสอบสวนโรค ต้องทำอย่างจริงจัง ตรวจเชิงรุกไม่ควรจะเป็นหน้าที่ของอาสา
  3. รัฐไม่ควรที่จะเป็นพระเอกในการแก้สถานการณ์ แต่ควรปล่อยให้เอกชนเข้ามาช่วย ตอนนี้ ต้องฉีดให้มันง่าย ต้องไปฉีดตามร้านขายยาได้ ต้องไปฉีดตามโรงบาลได้ มันไม่ใช่ว่าต้องเอาทุกอย่างไปรวมไว้กับรัฐ
  4. รัฐต้องคิดเรื่องการเยียวยาของผู้ป่วยโควิด ว่าตกลงแล้วเราจะทำยังไงกับเขา เพราะเรื่องเศรษฐกิจตอนนี้มันใหญ่หลวงมาก

อาสา com covid : ศิริพร โนนน้อย พยาบาลอาสา

“ตอนนี้ระบบสาธารณสุขต้องเข้มแข็ง เพราะเรามีบทเรียนมาแล้วจากปีที่แล้ว ที่มีอาสาอย่างเรา ๆ เข้ามาทำเพื่อรอให้ระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง”

พี่นก หรือ ศิริพร โนนน้อย พยาบาลอาสา หนึ่งในสมาชิกอาสา com covid เล่าเพิ่มว่า อาสาที่พวกเขาทำเป็นงานสำคัญมากกับผู้ป่วยที่ทำ Home isolation ยิ่งในสถานการณ์วิกฤติที่ผ่านมา อย่างบทเรียนเตียงเต็ม ผู้ป่วยจะต้องอยู่บ้าน การมีหมอ มีพยาบาลอยู่ใกล้ชิด คอยดูแล จะช่วยทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี แต่ฉไหน มีบทเรียน 2 ปี รัฐยังไม่สามารถจัดระบบตรงนี้ได้

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นโจทย์หนึ่งที่รัฐควรเร่งแก้ไข เพราะนั่นอาจคือบันไดขั้นหนึ่งที่จะนำไปสู่โรคประจำถิ่นที่ตั้งเป้าไว้ แต่อีกโจทย์ที่ยังคงเป็นปัญหามาตั้งแต่เริ่มต้นโรคระบาดก็ยังแก้ไม่จบ คือเรื่องของการสื่อสาร ก่อนหน้านี้อาจจะกระทบในแง่มิติสุขภาพ แต่ทุกวันนี้ลามไปจนถึงเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ

“ในมุมของการป้องกัน คือการให้ความรู้ที่ไม่สับสน อย่างที่พี่ได้เห็นมีการคุยว่า พอกักตัวที่โรงพยาบาลเสร็จแล้ว กลับมากักตัวที่บ้านต่อ หรือผู้ป่วยสีเขียว จะต้องกักตัว 10 วัน จาก 14 วัน ข้อมูลนี้กระจายมากน้อยขนาดไหน นี่เป็นเรื่องของปากท้องด้วย บางที่ยังไม่เข้าใจ บางคนเป็นลูกจ้างรายวันก็จะขาดรายได้ตรงนี้ไป ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องกักตัว 10+10 ยิ่งต่างประเทศตอนนี้เขากักตัว 5 วันแล้ว”

อาสาพระไม่ทิ้งโยม : พระมหาพร้อมพงศ์ ปภสฺสรจิตฺโต

พระไม่ทิ้งโยม เล่าว่าพึ่งเปิดรับผู้ป่วย ทำเป็นศูนย์พักคอยอีกครั้ง หลังจากที่ปิดลงไปเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตอนนี้กลับมาเปิดได้ 2 สัปดาห์แล้ว เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นที่นี่จะดูแลพระภิกษุสงฆ์ก่อน มีประมาณ 150 เตียง

“ทุกกลุ่มอาสาเราเจอปัญหามากมาย แต่สิ่งที่ทำให้พวกเรามีมาถึงวันนี้ คือพลังที่เราอยากจะช่วยเหลือสังคม แน่นอนถ้ารัฐพร้อม เราอาจจะไม่มีบทบาทในทุกครั้ง”

เรื่องจิตใจ เราเผชิญความสูญเสียมาเยอะ ความพลัดพรากคนที่เป็นที่รัก แม้แต่บางคนไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นหน้า พูดคุย หรือร่วมงานศพ ไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา เพราะต้องเผาหรือต้องฝังภายใน 24 ชม. ทำให้การที่ญาติที่อยากจะแสดงความกตัญญู หรือการระลึกถึงผู้เสียชีวิตมีโอกาสน้อย เราจะมาทบทวนจุดนี้ได้ยังไงว่า รัฐจะมีมาตรการเผาศพผู้ป่วยอย่างไร ที่ผ่านมาวัดสุทธิวราราม เผาศพผู้ป่วยโควิดไปร่วม 100 กว่าศพ หลังจากที่โควิดผ่านช่วงที่รุนแรงมาแล้ว เราจะมีวิธีการเยียวยาจิตใจอย่างไรของคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

Food For Fighters : พันชนะ วัฒนเสถียร

บทเรียน 2 ปี ที่ Food For Fighters ทำงานอาสาในสถานการณ์โควิดระบาดที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงปัญหาที่รุนแรง ไม่น้อยไปกว่าเรื่องสาธารณะสุขก็คือเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ธุรกิจ ผู้ประกอบการหลายแห่งปิดตัว ส่งผลแรงงานโดยเฉพาะลูกจ้างรายวันเดือดร้อนมาก เห็นชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนแออัด แทบจะไม่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร เป็นเหตุให้ต้องจัดทำข้าวกล่องเพื่อช่วยเหลือคนมากมาย

“จริง ๆ แล้ว ผู้บริหารบ้านเมืองเราดูเหมือนจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย การใช้ชีวิตประชาชนเป็นเหมือนเครื่องมือทดลอง เหมือนเรากระทำผิดซ้ำ อันนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่เราไม่ควรจะยอมจำนนกับการกระทำผิดซ้ำ จิตอาสาก็ควรที่จะได้เคลื่อนไปทำสิ่งที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพราะจะว่าไปเราไม่ได้เป็นประเทศยากจน หรือขนาดด้อยพัฒนาแล้วต้องรับบริจาคอยู่ตลอดเวลา”

“แต่ในเมื่อจิตอาสาต้องทำงาน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่เริ่มเข้ามาทำตรงนี้ จะทำยังไงให้เขาเป็นจิตอาสา แล้วเขาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของตัวเองไปด้วยได้ เราต้องไม่โกหกตัวเอง ว่าเรามีจิตใจดีงาน มือถือสากปากถือศีล แล้วทุกคนอดอยาก พี่ว่าไปต่อยากแน่ ๆ แต่ว่ามีกลไกที่ช่วยกันไปแบบนี้ เราก็จะอยู่ได้”

ระยะเวลาที่ผ่านมา ถ้าผู้บริหารประเทศเรียนรู้จากการทำงานทั้งจากของหน่วยงานรัฐ และทีมอาสาที่ช่วยกันในภาวะวิกฤติ และนำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ระบบสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะทำให้จิตอาสาสามารถที่จะเคลื่อนไปทำสิ่งที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในการที่จะใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสังคม ในมุมที่ตนเองสนใจได้มากขึ้น

บ้านบูรพาฝ่าโควิด : บุญยืน สุขใหม่

จากการทำงานของทีมบ้านบูรพาฝ่าโควิดที่ผ่านมา ปัญหาที่พบ นอกจาการทำงานตรวจเชิงรุก การประสานงานส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวเองที่ภูมิเนา และการดูแลผู้ป่วย Home Isolation แล้ว พบปัญหาที่ยังไม่มีการแก้ไขคือเรื่องการถูกเลิกจ้าง ถึงแม้คนที่ไม่ถูกเลิกจ้าง แต่ไม่ได้รับค่าจ้างจากลาป่วย จากการรับเรื่องร้องเรียน เรื่องการกักตัวแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง มีไม่น้อย นี่คือกลุ่มคนที่หน่วยงานของรัฐ จะต้องเข้ามาแก้ไข ช่วยเหลือสนับสนุน 

อีกเรื่องคือการทำงานของระบบสาธารณสุข รัฐมีบุคลากรมากมาย ทรัพยากรมากมายไม่ว่าจะเป็น สสจ. สสอ. ในแต่ละพื้นที่ สิ่งที่สำคัญคือ รัฐต้องปรับตัวให้มากกว่านี้ นำทรัพยากรที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นยาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาโควิด และนำทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ ทำงานให้มากขึ้น จริงจังขึ้น ช่วยทำงานในการป้องกันมากขึ้น เพื่อให้ปัญหาของพี่น้องแรงงาน ประชาชนจะได้ลดลง

รวบรวมข้อมูลอาสา โดย ทีมสื่อพลเมือง
รัตนพล พงษ์ละออ
ศุภรัช จรัสเพ็ชร์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ