หลังเกิดกระแสในโลกสังคมออนไลน์ กรณีมีการทวีตข้อความ และแชร์การตอบคำถามของแอดมินเพจเฟซบุ๊ก Mytcas.com พร้อมติดแฮชแท็ก #แบนทปอ สาเหตุเกิดจากมีความเป็นห่วงของนักเรียนเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 จึงสอบถามมาตรการการเตรียมพร้อมของการจัดสอบ แต่คำตอบของแอดมิน ไม่ได้ให้รายละเอียดเท่าที่ควร รวมทั้งมองว่าบางคำถามน่าจะตอบได้ดีกว่านี้
หลังจากความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ ที่หน้ากระทรวงอุดมศึกษาเองก็มีกลุ่มอิสระหลายกลุ่ม เดินทางมาเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้หามาตรการที่เหมาะสมเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ติดเชื้อ COVID-19 สอบTCAS ในสถานที่เฉพาะได้ และในวันเดียวกันเอง(27 ม.ค. 65) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เผยแพร่ประกาศ คณะกรรมการดำเนินงาน TCAS65 มีมติให้มีการประเมินสถานการณ์ของการเปิดสนามสอบที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงในบางพื้นที่ เพื่อปรับฐานข้อมูลสนามสอบให้มีความถูกต้อง
4 กระทรวง หารือ นักเรียนที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเขียว หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ต้องมีสิทธิ์สอบ
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายงานว่า ได้มีการจัดประชุมเตรียมการแนวทางการสอบ GAT-PAT และวิชาสามัญ ของนักเรียนที่อยู่ระหว่างการรักษาอาการของโรคโควิด-19 ให้ได้เข้าสอบ โดยความร่วมมือจาก 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงใจความสำคัญของการประชุมในวันนี้ว่า เป็นการประชุมเพื่อเตรียมการและหาแนวทางร่วมกันเพื่อให้นักเรียนได้เข้าสอบ ไม่เสียสิทธิ์ ไม่ว่าจะเสี่ยงสูงหรืออยู่ระหว่างการรักษาอาการของโรคโควิด-19 โดยที่สามารถมาสอบได้และได้รับการยินยอมจากแพทย์ เพราะเราเห็นร่วมกันว่า อนาคตและความมุ่งมั่น มุ่งหวังของนักเรียนในการร่วมสร้างโอกาสเป็นสิ่งสำคัญ จึงได้จับมือเริ่มต้นการดำเนินการนี้ เพื่อนักเรียนและลูกหลานของท่านทุกคน
ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในตอนหนึ่งว่า เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม และในโอกาสนี้ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อช่วยให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้เข้าสอบแม้จะติดเชื้อโควิด-19 ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือกันทั้ง 4 กระทรวงเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน ดังเช่นทุกภารกิจที่ผ่านมาของ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.)
ผู้แทน ทปอ. กล่าวถึงการเตรียมในการจัดห้องสอบสำหรับผู้ติดเชื้อที่ทีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูง ตามที่กำหนดในที่ประชุม ศบค. ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 23 ก.พ. 2565 ให้เข้าสอบในสนามที่มีการกำหนดเพิ่มขึ้นเป็นการเฉพาะ ไม่สามารถเลือกสนามสอบได้เอง
นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การจัดการสอบให้ปฏิบัติตามมติของ ศบค. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ชึ่งประกอบด้วย มาตรการ ด้านสถานที่สอบ ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขตามระบบอนามัยโรงเรียนในการคัดกรองและให้คำแนะนำด้านสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด จัดให้มีพื้นที่แยกสำหรับจัดการสอบเป็นสัดส่วนแยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มผู้ติดเชื้อ เน้นการระบายอากาศที่ดี จัดที่นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร
ด้านผู้เข้าสอบ เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังการเข้าสอบ งดการพูดคุย เว้นระยะห่าง การเดินทางไปสนามสอบควรใช้รถส่วนตัวหรือประสานหน่วยสถานที่สอบ หน่วยบริการสาธาณสุข กรณีไม่มีรถส่วนตัว
ด้านผู้คุมสอบ ปฏิบัติการคุมสอบตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ใช้เวลาในการคุมสอบในห้องสอบให้น้อยที่สุด รวมถึงการวางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม สนับสนุน ให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในนามคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์อนามัย ศึกษาธิการจังหวัด ทปอ. จังหวัด ดำเนินการจัดการสอบให้ เป็นไปตามมาตรการ รวมไปถึงการ ใช้พื้นที่ แยกกัก ชุมชน CI. และ Hospitel ในการสนับสนุนการสอบ การจัดที่พัก การรับส่งผู้ติดเชื้อ และในส่วน กทม. และปริมณฑล ได้ร่วมกับ มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ในการจัดTAXI ฉุกเฉิน ให้บริการรับ-ส่งผู้ติดเชื้อ ส่วนในต่างจังหวัดให้พิจารณาให้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ดำเนินการร่วมกับ ผู้จัดสอบในพื้นที่ต่อไป
สุดท้ายที่ประชุม ได้สรุปร่วมกันว่า จากการประชุมร่วมกันครั้งนี้ ทำให้ทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และได้ร่วมกันวางแผนและกำหนดแนวทางการเตรียมความพร้อมเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักเรียนที่ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงสูงในการเข้าสอบคัดเลือกระบบ TCAS โดยเห็นควรส่งข้อมูลมาตรการการจัดสอบ GAT- PAT และวิชาสามัญ สำหรับผู้ติดชื้อให้ทุกจังหวัดพิจารณา ได้สรุปร่วมกันว่าให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สาธารณสุข ศึกษาธิการ ทปอ.พื้นที่ อำนวยความสะดวกในการจัด สถานที่สอบ อาจใช้ CI หรือ สถานที่ที่เหมาะสม เพื่อขยายศูนย์สอบ ทั้ง 6 ศูนย์ และให้นักเรียนที่ติดเชื้อประสงค์สอบประสานลงทะเบียนศูนย์สอบได้ ระหว่างก่อนการสอบ และให้ คณะกรรมการฯ พิจารณา การดูแล ที่พัก การเดินทาง ให้เหมาะสม ปลอดภัย และระหว่างนี้ ผู้ปกครอง นักเรียน ดูแลสุขภาพโดยยกระดับมาตรการส่วนบุคคล ขั้นสูงสุด เพื่อลดการติดเชื้อ
วิธีการลงทะเบียนย้ายสนามสอบ
โดยวิธีการลงทะเบียนย้ายสนามสอบมีขั้นตอนดังนี้
1. หากต้องการย้ายทั้งกลุ่มวิชา GAT-PAT และกลุ่มวิชาสามัญ กดย้ายในระบบ student.mytcas.com
2. กรณีต้องการย้ายเฉพาะกลุ่มวิชาสามัญ ให้มาลงทะเบียนหลังเวลา 13.00 น. วันที่ 14 มีนาคม 2565
3. กรณีต้องการย้ายเฉพาะกลุ่มวิชา GAT-PAT ดำเนินการตามข้อ 1 เมื่อหายป่วยแล้ว (นับ 10 วันจากการพบเชื้อวันแรก) สามารถย้ายไปสนามสอบเดิมได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งในระบบ แต่ให้นำผลตรวจ ATK แบบที่มีใบรับรองจากสถานพยาบาล ไปแสดงที่สนามสอบเดิมด้วย
เปิดสนามสอบพิเศษเพิ่ม จากเดิม 7 แห่ง เป็น 18 แห่งทั่วประเทศแล้ว
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานข่าวว่า ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตามที่ ทปอ.อว.ได้ดูแลโครงการ “ติดโควิด ยังมีสิทธิสอบ” เพื่อให้นักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวและกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ยังมีสิทธิเข้าสอบในระบบ TCAS เพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ เปิดระบบลงทะเบียนสำหรับนักเรียนที่มีความประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าวเป็นวันแรกในวันที่ 7 มี.ค. โดยทางออนไลน์แล้ว พบว่าในวันแรกมีนักเรียนลงทะเบียนเข้าระบบการจัดสอบแบบพิเศษนี้แล้ว 197 คน โดยเป็นผู้ที่ติดเชื้อ 183 คน และผู้มีความเสี่ยงสูง 14 คน
ทปอ.อว. และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการเพิ่มสนามสอบพิเศษ จากเดิม 7 แห่ง เป็น 18 แห่งทั่วประเทศแล้ว และอาจจะมีเพิ่มเติมอีกตามความเหมาะสม มีระบบและมาตรการการดูแลความปลอดภัยเข้มงวดสำหรับผู้เข้าสอบทั้งที่ไม่ติดเชื้อและติดเชื้อแยกจากกันชัดเจน
สำหรับสนามสอบทั้ง 18 แห่ง มีดังนี้
1. สนามสอบพิเศษ ม.ธรรมศาสตร์ (ศูนย์สอบ ม.ธรรมศาสตร์)
2. สนามสอบพิเศษ ม.แม่โจ้ (ศูนย์สอบ ม.เชียงใหม่)
3. สนามสอบพิเศษ ม. เทคโนโลยีสุรนารี (ศูนย์สอบ ม. เทคโนโลยีสุรนารี)
4. สนามสอบพิเศษ ม. ขอนแก่น (ศูนย์สอบ ม. ขอนแก่น)
5. สนามสอบพิเศษ ม.วลัยลักษณ์ (ศูนย์สอบ ม.วลัยลักษณ์)
6. สนามสอบพิเศษ ม. สงขลานครินทร์ (ศูนย์สอบ ม. สงขลานครินทร์)
7. สนามสอบพิเศษจังหวัดจันทบุรี (ศูนย์สอบ ม. บูรพา)
8. สนามสอบพิเศษจังหวัดระยอง (ศูนย์สอบ ม. บูรพา)
9. สนามสอบพิเศษจังหวัดฉะเชิงเทรา (ศูนย์สอบ ม.บูรพา)
10. สนามสอบพิเศษจังหวัดสุพรรณบุรี (ศูนย์สอบ ม.ศิลปากร)
11. สนามสอบพิเศษจังหวัดสมุทรปราการ (ศูนย์สอบ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)
12. สนามสอบพิเศษจังหวัดนนทบุรี (ศูนย์สอบ ม.เกษตรศาสตร์)
13. สนามสอบพิเศษจังหวัดตาก (ศูนย์สอบ ม.นเรศวร)
14. สนามสอบพิเศษจังหวัดพะเยา (ศูนย์สอบ ม.เชียงใหม่)
15. สนามสอบพิเศษจังหวัดอุบลราชธานี (ศูนย์สอบ ม.อุบลราชธานี)
16. สนามสอบพิเศษจังหวัดปัตตานี (ศูนย์สอบ ม.สงขลานครินทร์)
17. สนามสอบพิเศษจังหวัดบุรีรัมย์ (ศูนย์สอบ ม.เทคโนโลยีสุรนารี)
18. สนามสอบพิเศษจังหวัดอุตรดิตถ์
อ้างอิงจาก
https://www.mytcas.com/news/announcement-182
ศธ. จับมือร่วม 4 กระทรวง ผนึกกำลัง จัดสอบ GAT-PAT ให้เด็กติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือมีความเสี่ยงสูง
https://news.thaipbs.or.th/content/312060
https://www.prachachat.net/education/news-881245