นับถอยหลังสู่ ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ในสถานการณ์ ‘ไล่รื้อชุมชน’ ต่อเนื่อง

นับถอยหลังสู่ ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ในสถานการณ์ ‘ไล่รื้อชุมชน’ ต่อเนื่อง

คมสันติ์ จันทร์อ่อน
เครือข่ายสลัม 4 ภาค

ยิ่งใกล้วันที่อยู่อาศัยโลกเข้าไปทุกที สถานการณ์การไล่รื้อชุมชนยังคงมีอย่างเข้มข้นทุกวัน ไม่ว่าจะโดนไล่รื้อจากนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลเอง หรือว่าการไล่รื้อจากการลงทุนพัฒนาที่ดินของเอกชนเอง ยังคงประสบกันไม่ว่างเว้น 

หากจะดูเพียงในช่วงเดือนกันยายนที่กำลังจะผ่านไปแค่ช่วงเดือนเดียว เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ทราบข่าวชาวบ้านต้องถูกรื้อย้ายกระจัดกระจายกันไปอย่างที่ไม่มีจุดหมาย ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนหลังบิ๊กซี สุขสวัสดิ์ 39 ราว 50 หลังคาเรือน หลังจากแจ้งขอความช่วยเหลือมาไกล่เกลี่ยกับทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ไม่ถึง 3 อาทิตย์ ชุมชนนี้ก็ได้หายไปแล้วเพราะทนแรงกดดัน ขมขู่จะดำเนินคดีไม่ไหว จำต้องย้ายหนีออกเอาตัวรอดเพื่อไม่ให้โดนดำเนินคดี

ทั้งๆ ที่ขั้นตอนทางกฎหมายยังคงยืดระยะออกไปได้นาน แต่ด้วยความไม่รู้ทางกฎหมายของชาวบ้านเอง ทำให้เจ้าของที่ดินส่วนใหญ่มักจะใช้ข้ออ้างนี้ในการขู่ชาวบ้านให้เกรงกลัวแล้วรีบย้ายออกไป ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเพิ่มสิน ซอย 13 เขตสายไหม จำนวน 20 กว่าหลังคาเรือน, ชุมชนหลังหมู่บ้านเปรมฤทัย เขตประเวศ จำนวน 65 หลังคาเรือน, ชุมชนโรงถ่าน เขตจอมทอง จำนวนราว 30 หลังคาเรือน ล้วนแล้วแต่ต้องถูกไล่รื้อไปในเพียงเดือน ก.ย. 58 นี้

20151909184409.jpg
สภาพชาวบ้านและสภาพบ้าน ชุมชนเพิ่มสิน 13 ซึ่งปัจจุบันรื้อย้ายไปหมดแล้ว

คำถามต่อไล่แล้วชาวบ้านเหล่านั้นจะไปอยู่ไหน ส่วนใหญ่แล้วก็จะหาห้องเช่าราคาถูกที่มีความแออัดมาเช่าอยู่ใกล้ๆบริเวณเดิม บางครอบครัวที่ไม่มีเงินพอที่จะเช่าก็หาบุกรุกที่ดินว่างเปล่าในที่ใกล้เคียงชุมชนเดิมนั้นละเป็นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ซึ่งไม่ว่าจะแบบไหนก็ต้องมานับวันรอถูกไล่หาที่อยู่ใหม่วนเวียนไปมาอย่างไม่จบสิ้นอยู่ดี 

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่สังคมโลกได้ตระหนักแล้วว่า “ที่อยู่อาศัย” เป็นสิ่งสำคัญในปัจจัยสี่ที่มนุษย์จะขาดไม่ได้ และกำลังเป็นปัญหาต่อสังคมโลก จึงเป็นที่มาของการประกาศเป็นวันที่อยู่อาศัยโลกขึ้นมา โดยให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่ให้สังคมโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของที่อยู่อาศัย ให้รัฐบาลแต่ละประเทศได้ใส่ใจการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างจริงจัง

กลับมาดูประเทศไทยอีกครั้ง อย่างที่ได้เกริ่นสถานการณ์โดยรวมช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา นั่นคือชุมชนที่ถูกรื้อย้ายไปแล้ว แต่ชุมชนที่กำลังจะถูกรื้อย้าก็ยังคงมีอีกจำนวนมาก

จากการสำรวจร่วมกับทางการเคหะแห่งชาติจะพบว่า ชุมชนที่อยู่ในสถานการณ์จะต้องถูกรื้อย้ายที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีจำนวนมากถึงกว่า 60 ชุมชน และที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ลงพื้นที่ล่าสุดที่กำลังมีข้อพิพาทกันเริ่มจะเข้าบรรยากาศที่จะรุนแรงกันในพื้นที่นั้นคือ “ชุมชนโรงช้าง”

ชุมชนโรงช้างเป็นชุมชนขนาดกลางๆ มีประชากรราว 80 หลังคาเรือน ตั้งอยู่ในเขตบางกะปิ ซอยรามคำแหง 60 แยก 3 อยู่ในที่ดินที่ยังไม่แน่ชัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่แท้จริง

กลุ่มชาวบ้านที่เข้ามาบุกเบิกกลุ่มแรกราว 20 ปีผ่านมาแล้วเล่าว่า ที่บริเวณชุมชนเดิมเป็นป่ารกร้าง แล้วทางกรุงเทพมหานครได้เข้ามาจัดทำเป็นที่เลี้ยงแพะ ทำคอกไว้สำหรับช้าง มีการวางกองหิน กองดิน จากทางสำนักงานเขตบางกะปิ บางหลังก็มาปลูกอยู่จากคำชวนของพนักงานสำนักงานเขตเองว่าให้มาอยู่ช่วยเฝ้าดูแลของหลวงให้หน่อย แล้วก็เริ่มมีการชักชวนญาติ พี่น้อง คนรู้จัก เข้ามาอยู่กันจนกลายเป็นชุมชนในที่สุด

สถานการณ์ปัจจุบันมีกลุ่มคนได้เข้ามาอ้างตัวเป็นเจ้าของที่ดินที่ชุมชนตั้งอยู่ ซึ่งเป็นบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ติดกับชุมชนโรงช้างนั้น มาแจ้งให้ชาวบ้านรีบย้ายออกจากพื้นที่โดยเร็วหากไม่เช่นนั้นจะทำการดำเนินคดีฟ้องศาล จับกุม เป็นคำกล่าวสร้างความเกรงกลัวให้กับชาวบ้านซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่ง ชาวบ้านบางส่วนได้รับเงินจำนวน 10,000 บาท เป็นค่ารื้อย้ายแล้วไปหาที่อยู่ใหม่เพราะเกรงจะโดนดำเนินคดี

ส่วนกลุ่มที่ไม่มีที่ไปซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ปักหลักจะขอสู้เพื่อบ้านของตัวเอง เพราะความที่เข้ามาอยู่ในครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นที่หลวงไม่ใช่ที่เอกชน มีการดำเนินการเรื่องต่างๆ โดยหน่วยงานราชการ จึงปักใจเชื่อว่าที่ตั้งชุมชนส่วนหนึ่งนั้นเป็นที่ของทางราชการ ดังนั้นความต้องการของชาวบ้านเองต้องการที่จะตรวจสอบขอบเขตที่ดินให้ชัดเจนว่าที่ดินแปลงที่ชุมชนตั้งอยู่เจ้าของที่แท้จริงเป็นใครกันแน่ โดยจะต้องมีหน่วยงานที่เป็นกลางเข้าร่วมการตรวจสอบด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางผู้อ้างว่าเป็นผู้แทนเจ้าของที่ดินไม่ได้คิดที่จะเจรจากับชาวบ้านแต่อย่างไร กลับนำรถแบคโฮเข้ามาไถ บริเวณชุมชนสร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านที่ยังอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสายไฟฟ้าขาด ท่อน้ำประปาแตก ต้นไม้ที่ชาวบ้านสู้อุตส่าห์ปลูกไว้ก็ถูกไถกลบไปหมด

ครั้นชาวบ้านไปแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก กลับได้คำกล่าวในเชิงว่า อยากไปอยู่ที่ของเขาทำไมกันละ แล้วเมื่อไหร่จะออกจากที่เขาไปละ เฉไฉกว่าจะลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานได้

20151909184438.jpg
ผู้แทนเจ้าของที่ดินนำรถแบคโฮลงมาไถพื้นที่ส่งผลกระทบเกิดความเสียหายต่อชุมชนโรงช้างบางส่วน

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ที่อ้างเป็นผู้แทนเจ้าของที่ดิน ที่มาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และรถแบคโฮ ซึ่งขณะลงไปนั้นแบคโฮยังคงทำงานต่อเนื่อง ทรัพย์สินชาวบ้านบางส่วนเสียหาย ทางเราพยายามขอดูเอกสารการแสดงตน แต่ผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้แทนเจ้าของที่ดินกลับอ้างว่าไม่มีมา พร้อมกลับบอกปฏิเสธไปว่ารถแบคโฮที่กำลังดำเนินการไม่ใช่ตนว่าจ้างมา ทำให้คนงานพอรู้ว่ามีการกล่าวเช่นนั้นจึงหยุดการดำเนินการแล้วนำรถแบคโฮออกจากพื้นที่ชุมชนไป

วิธีการแบบนี้ไม่ใช่วิธีการใหม่ แต่เคยมีคนเคยใช้จนเป็นข่าวโด่งดังทั่วไทยมาแล้วคือกรณีรื้อบาร์เบียร์ ย่านสุขุมวิท ซึ้งใช้หลักการเดียวกันคือรื้อให้จบแล้วให้ผู้เสียหายตามฟ้องร้องเอาทีหลัง เป็นการใช้อำนาจเถื่อนถือว่ามีเงินพอในการจ่ายค่าเสียหาย แต่ไม่อยากเสียเวลาในการเจรจาพูดคุย

หากทำสำเร็จผู้ที่เดือดร้อนจะเป็นชาวบ้านทันที เพราะไหนจะต้องเดินทางไปแจ้งความ ขึ้นศาล ในขณะที่บ้านโดนรื้อทำลายไปแล้ว ไม่มีที่อยู่อาศัยกลับต้องมาเดินเรื่องเพื่อเรียกร้องเอาค่าเสียหายซึ่งไม่รู้จะได้เท่าไหร่

20151909184455.jpg
กลุ่มคนที่อ้างเป็นเจ้าของที่ดินลงชุมชนโรงช้างแจ้งให้ย้าย แต่ไม่มีเอกสารยืนยันความเป็นเจ้าของ

สถานการณ์การไล่รื้อชุมชนที่มีอยู่เกือบทุกวัน แต่ไม่เคยที่จะเป็นข่าวทางสื่อใดๆ ขณะที่ทุกข์ชาวบ้านที่ต้องไร้ที่อยู่อาศัยนั้นยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งไม่มีหน่วยงานใดที่จะเข้ามาช่วยเหลือกับกรณีเช่นนี้เลย 

นี่จึงเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ว่า ต้องมีหน่วยงานในการดูแลชุมชนที่อยู่ในสถานการณ์ถูกไล่รื้อเร่งด่วน โดยเบื้องต้นเครือข่ายสลัม 4 ภาค เห็นว่าควรมีคณะกรรมการการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างเจ้าของที่ดินและชาวบ้านขึ้นมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในการไกล่เกลี่ย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ