ปฏิเสธไม่ได้เลยครับ ว่าช่วงปีที่ผ่านมา พิษโควิด-19 ทำร้ายและทำลายชีวิตผู้คนหลากหลายนับไม่ถ้วน ทั้งคร่าเอาชีวิตไม่เว้นวัน หลายคนเหมือนตายทั้งที่ยังมีลมหายใจ ขณะที่ผู้คนต่างตกอยู่ในความมืด กับความหวังอันริบหรี่ ผมก็เห็นคนธรรมดา ๆ ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก แสงสว่างเล็ก ๆ เหล่านี้ ช่วยส่องทางให้กับหลายชีวิตได้มีโอกาสก้าวต่อ
อาสาพร้อม ไม่รอปาฏิหาริย์
ปี 2564 ผมได้เห็นอาสาสมัครมากมาย ทั้งเกิดขึ้นใหม่ และเพิ่มภารกิจช่วยเหลือจากกลุ่มที่มี เป้าหมายเดียวของพวกเขา คือลดการสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดจากโรคระบาดโควิด-19 หลายทีมอาจตั้งต้นด้วยภารกิจหลักของกลุ่มตัวเอง แต่พอทำงานไปสักระยะ ภาระหน้างานกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ซึ่งไม่อาจปฏิเสธความช่วยเหลือได้
วันนี้ผมจึงรวบรวมเหล่า “อาสาสมัคร” ที่ช่วยงานทำงานอย่างหนักหน่วงในช่วงปีที่ผ่านมา มาเรียงร้อยให้เห็นถึงพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของพวกเขา และ Next step ในปี 2565 อาสาจะไปต่อหรือจะพอแค่นี้
หลังจากเปิดปีใหม่มา หลายคนคงเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์เดิม ๆ ภาพเก่า ๆ ที่คนต้องการเตียง ต้องการถังออกซิเจนเริ่มกลับมาอีกครั้ง โลกโซเชียลเริ่มแชร์ถึงความช่วยเหลือเพื่อช่วยชีวิตผู้คน หนึ่งในนั้นคือทีม
อาสาเส้นด้าย
เส้นด้าย นาทีนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จัก ที่เป็นทั้งอาสาที่คอยช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 เป็นทั้งสื่อที่คอยรายงานสถานการณ์โรคระบาดให้ผู้คนได้คอยระมัดระวังตัวเอง ไปจนถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันโรค ที่วันนี้ยังคงปฏิบัติงานอาสากันอยู่
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2564 ช่วงการแพร่ระบาด โควิด-19 ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เตียงไม่พอ รถรับ-ส่งไม่มี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต เพราะเข้าไม่ถึงระบบบริการด้านสุขภาพได้ทัน กลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งจึงได้รวมตัวกันในชื่อ “เส้นด้าย” ลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นข้อต่อ จัดรถรับ-ส่ง ประสานหาคิวตรวจ และคิวเตียง เพื่อเติมในส่วนที่ขาด เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนธรรมดาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งหมอ คนทำงานชุมชน อาสากู้ชีพ ฯลฯ ที่เห็นรอยต่อ และพยายามร้อยเชื่อมการเข้าถึงระบบสาธารณะสุขให้ทันท้วงที
จากคนรู้จักแค่หลักร้อย สู่หลักหมื่น จนปัจจุบันยอดติดตามเพจกว่า 5 แสน ไปพร้อม ๆ กับภาระหน้างานที่เพิ่มมาก ๆ ๆ ๆ ยิ่งขึ้น ทั้งงานฉุกเฉิน งานปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อยื้อชีวิตให้ผู้ป่วยให้ได้ไปถึงมือหมอ
“งานที่เราเห็นมันมีความสำคัญมาก แต่ละอย่างที่เราเข้าไปรับผิดชอบ มันกลายเป็นหน้าที่ งานหลักทั้งการรับส่งและการหาตียง จนถึงนาทีนี้ก็ยังหยุดทำไม่ได้ ระบบรัฐที่มีให้โทร 1330 ก็ยังกดติดยาก และเขาพยายามจะเป็น Home Isolation ให้หมด ตอนนี้ถ้าใครอยากจะไปเตียงโรงพยาบาลต้องโทรหาเอง เราก็เลยยังทำอยู่ เป็นตัวกลางในการประสานหาเตียง เพราะส่วนใหญ่ยังต้องการ”
คริส โปตระนันทน์ : อาสาเส้นด้าย
พี่คริส โปตระนันทน์ ทีมอาสาเส้นด้ายเล่าให้เราฟังว่า ช่วงเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว เส้นด้ายคิดว่าจะเลิกทำไปแล้ว เพราะสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เส้นด้ายแทบไม่มีงาน แต่คิดอยู่ไม่ถึงสัปดาห์ ยอดขอความช่วยเหลือกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง เส้นด้ายจึงได้ทำงานต่อเนื่องมาจนวันนี้
“พี่รู้สึกว่าคนซัพพอร์ตเยอะ จากเอกชนอ่ะนะ เขาเห็นความสำคัญของเรา ระบบการทำงานที่เราทำไว้ ตอนนี้มันเร็วมาก อาสาเราพร้อม เครือข่ายที่เรามีก็พร้อม ที่ผ่านมาเรา Swab ไปสองแสนกว่าคน เพราะทีมงานเราเร็วมาก เราทำมาเยอะจนชำนาญ เครือข่ายที่เราสะสมมาก็ช่วยได้เยอะ”
คริส โปตระนันทน์ : อาสาเส้นด้าย
ภาพจาก : เส้นด้าย ภาพจาก : เส้นด้าย
จากคนอาสาสู่งานอาสาเส้นด้าย ที่ตอนนี้ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นมูลนิธิ
“มันถึงจุดหนึ่งที่เครือข่ายเราเสียดายระบบ เสียดายเครือข่ายการทำงานที่ช่วยกันอย่างแข็งขัน มูลนิธิที่เกิดขึ้น วิธีการทำงานคล้ายเดิมมาก ทีนี้เราจะมีการจ้างมืออาชีพเข้ามาทำงาน ให้เป็นระบบมากขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้วศัตรูใหญ่ของเราไม่ใช่โควิด-19 แต่มันคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ผ่านมาในช่วงที่งานโควิดน้อย เราก็ไปทำโปรเจคแก้ปัญหาที่ความแออัดในชุมชน เราลงพื้นที่ เราเห็นเด็กที่เข้าไม่ถึงเรียนการสอน ขาดโอกาส เห็นความเหลื่อมล้ำสูง เราจึงอยากเข้าไปพัฒนาทรัพยากรคน เพื่อแก้ไขในระยะยาว เป็นหนึ่งโอกาสให้กับคนที่ไม่มีเส้น”
คริส โปตระนันทน์ : อาสาเส้นด้าย
กลางใจ อาสา(เริ่มจาก)ตรวจเชิงรุก
อาสากลุ่มนี้เริ่มต้นจากการตรวจเชิงรุก ด้วย ATK ครับ ที่ออกมาก็เพราะในช่วงกลางปี 2564 ATK แพงเหลือเกิน ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว คงเข้าถึงยาก กลางใจจึงเป็นกลุ่มที่จัดหาซื้อชุดตรวจเข้ามาในราคาถูก และแจกจ่ายพร้อมตรวจเชิงรุกในชุมชน
“ก่อนตรวจเราต้องเตรียมงานกันกว่า 2 เดือน ก่อนที่จะเริ่มตรวจเชิงรุกกันที่ชุมชนนางเลิ้ง กทม. ตรวจเสร็จ ใครติดเชื้อเราจะจัดเซ็ตดูแลที่บ้านให้ ที่ประกอบไปด้วย ยา สมุนไพร ชุดตรวจ ที่วัดค่าออกซิเจน และอื่น ๆ ช่วยดูแลและติดตามผลจนพวกเขาหาย”
ณัฏฐา วสันตสิงห์ : อาสากลางใจ
ภาพจาก : กลางใจ
กลางใจทำกันไปแบบนี้อยู่ 3 เดือนครับ เปลี่ยนหมุนเวียนไปพื้นที่ต่าง ๆ ไปตามแคมป์งานก่อสร้าง เอาชุดดูแล เอายา เอาเครื่องออกซิเจนไปให้ ก่อนที่จะขยายพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งในอยุธยา อ่างทอง นราธิวาส
“เราต้องการลดความร้ายแรงของสถานการณ์ ในการช่วยคนให้ได้มากที่สุด เราไม่ได้แข็งตัวว่าทำแค่ตรวจเชิงรุก แต่ภารกิจงานเราเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ช่วงนั้นคนต้องการอะไร เราทำ”
ณัฏฐา วสันตสิงห์ : อาสากลางใจ
ความสำเร็จ ของอาสากลางใจวัดจากอะไร?
“คนไข้เขาบอกกลับมาว่าหายแล้ว ใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว แค่เรารับรู้ว่าเขาหายป่วย แค่เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำแล้วมันถึงมือพวกเขา นั้นคือความสำเร็จของกลางใจ”
ณัฏฐา วสันตสิงห์ : อาสากลางใจ
ภาพจาก : กลางใจ
“กลางใจขอขอบคุณเพื่อน ๆ ผู้น่ารักทุก ๆ คน ที่ลงแรงและใจ support กลางใจ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ร่วม 5 เดือน สถานการณ์ Covid-19 ในประเทศไทยยังคงอันตรายอยู่ กลางใจขอให้เพื่อน ๆ ระมัดระวังตัวและดูแลสุขภาพกันให้ดี และท้ายนี้ กลางใจขอปิดรับบริจาค”
ณัฏฐา วสันตสิงห์ : อาสากลางใจ
กลุ่มอาสากลางใจ อีกกลุ่มที่เป็นพลังสำคัญในการช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สะพานที่เชื่อมความช่วยเหลือจากผู้ให้สู่ผู้รับ แม้วันนี้อาสากลุ่มนี้จะแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว ที่หนึ่งในสมาชิกก็เล่าให้เราฟังว่า ถ้าเกิดวิกฤติขึ้นอีกครั้ง พวกเขาก็พร้อมจะกลับมา
Oxyfight covid
อีกทีมที่ทำงานกับลมหายใจ ความเป็นความตาย เป็นโอกาสอีกครั้งให้กับหลายชีวิต ก็คือทีมนี้เลยครับ ที่ทำอาสาส่งถังออกซิเจนไปช่วยผู้ป่วยระหว่างรอเตียงที่บ้าน ตั้งแต่เริ่มทำพี่ ๆ เขาเล่าให้ฟังว่า งานนี้หนักขึ้นเรื่อย ๆ และนาทีนั้นไม่ไหวก็ต้องไหว เพราะพวกเขาต้องทำงานหนักแข่งกับเวลา ทุกการส่งต่อคือนาทีชีวิต
“เราไม่ได้มีเป้าหมายในการทำงานอาสา แค่อยากช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด ก่อนหน้านี้ทางทีมอาจจะช่วยอยู่เรื่องของถังออกซิเจนเป็นหลัก แต่พอสถานการณ์ผู้ติดเชื้อลดลง ทำให้ทางทีมอาสา Oxyfight ได้เข้าไปดูแลในเรื่องการประสานงานกับทีมอาสาอื่น และเปลี่ยนไปช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย”
นิยามความสำเร็จของ Oxyfight covid?
“เราไม่เคยมองว่าจะได้อะไรจากการทำอาสาครั้งนี้ เพราะมันเป็นความเป็นและความตายของผู้ป่วย เราแค่ตั้งใจอยากจะเอาความรู้และความสามารถเข้ามาช่วยเหลือผู้ติดเชื้อให้รอดมากที่สุด”
ในนาทีที่โอมิครอนกำลังระบาด และมีแนวโน้มว่าจะระบาดหนักขึ้น Oxyfight คาดว่าในจำนวนที่มีผู้ติดเชื้อรอบนี้ ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการไม่รุนแรง และสามารถทำ Home Isolation ได้มากขึ้น จะทำให้จัดการได้มากกว่าครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา และทีมอาสา Oxyfight อาจจะมีต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าทีมงานอาสาทุกคนยังทำงานไหว
Food for fighter
อาสาที่ช่วยพยุงความหิว เอาเฉพาะช่วงเดือนพฤษภา มิถุนา ปี 2564 ที่เรียกได้ว่าช่วงวิกฤติ ในภาวะที่เกิดผลกระทบเสมอหน้า แรงงานไม่มีงาน นายจ้างไม่มีเงิน อาสาทีมนี้ก็ได้รวบรวมข้าวกล่องไปส่งช่วยเหลือมากกว่า 2 แสนกล่อง
“สิ่งสำคัญของการทำงานอาสาสมัครคือการได้เพื่อน มิตรภาพ ช่วยพยุงและช่วยให้สังคมเดินต่อไปได้ในยามวิกฤติ เป็นหน้าที่หลักของเราที่เรารู้สึกว่า เศรษฐกิจก็แย่ คนจนถาวรก็เพิ่มขึ้น เห็นพลังจิตอาสาที่พร้อมจะช่วยเหลือสังคม และเราก็ดีใจที่เราเป็นส่วนหนึ่งของการพยุงสังคม”
ภาพจาก : food for fighter
เพื่อน มิตรภาพ นี่จึงกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขาไปไกลได้ขนาดนี้ จากเคยทำได้ “ข้าวแสนกล่อง” กลายเป็นข้าวห้าหกแสนกล่อง นี่ก็เป็นเพราะมิตรภาพที่ทำร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ
ไม่เพียงเท่านั้นหน้างานของทีม Food for fighter ขยับขยายไปไกลกว่าปากท้อง พวกเขายังจัดอบรม covid-19 supervisor และการตั้งจุดตรวจ atk test ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อันนี้พี่ ๆ เล่าว่าก็ประสบความสำเร็จ ทุกงานสำเร็จหมด เพราะการสนับสนุนที่ดี
“ในอนาคตจะเน้นเรื่องของการทำ Food bank ธนาคารอาหาร เพราะ food for fighter ทำเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก จะทำและเน้นไปที่อาหารที่ปลอดภัย ทำงานตรงกับเกษตรกร ผู้เลี้ยงไก่ กำลังเตรียมการทำเรื่องไข่ไก่ที่เลี้ยงไร้กรง เพื่อส่งเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดี”
ภาพจาก : food for fighter ภาพจาก : food for fighter
“และในปี 2565 ไม่ได้อยากให้เป็นการระดุมทุนมาบริจาคเพียงอย่างเดียว อยากจะปรับให้เป็นองค์กร ทำธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อนำกำไรมาหล่อเลี้ยงสิ่งเราจะช่วย และทำงานกับเครือข่ายที่จะช่วยพยุงสังคมต่อไป ไม่ได้จะช่วยเรื่องโควิดอย่างเดียวและ จะเน้นเพิ่มไปที่เรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัญหาของโควิดและสิ่งแวดล้อมตอนนี้มาจากเรื่องเดียวกับ เพราะตอนนี้เราใช้ของต่าง ๆ แบบครั้งเดียวแล้วทิ้งทำให้ขยะเพิ่มมากขึ้น”
ในช่วงโควิด-19 เราไม่ได้เห็นแค่เรื่องราวมิติของสุขภาพเท่านั้น เพราะภาพความเหลื่อมล้ำ สะท้อนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างกลุ่มเด็ก ๆ ที่ความตกต่ำทางเศรษฐกิจ และความคาดหวัง เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้หลายคนหลุดจากระบบการศึกษา
คลองเตยดีจัง
อาสาที่ทำงานกับเด็ก และเยาวชนในชุมชนคลองเตย ที่ไม่ได้ตั้งต้นจากปัญหา แต่เป็นการเปิดพื้นที่สำหรับเด็ก ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในนิยาม “เด็กดี” แบบที่ผู้ใหญ่บางกลุ่มคาดหวัง แต่พื้นที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ที่ให้เด็ก ๆ ได้แสดงออกในแบบที่แต่ละคนเป็น ที่มีเพียงแค่การเคารพตัวเอง
ภาพจาก : คลองเตยดีจัง
“การทำงานที่ผ่านมา เราพบว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบส่วนใหญ่ถูกบีบด้วยความคาดหวังของผู้ใหญ่ สิ่งที่คลองเตยดีจังทำคือการฟัง ฟังเสียงความต้องการของพวกเขา เน้นการใช้ชีวิตร่วมกัน เด็กที่หลุดออกจากระบบจะค่อนข้างปฏิเสธกระบวนการ เราจึงใช้วงธรรมชาติ (พูดคุยระหว่างกินข้าว เล่น) เพื่อรับฟังพวกเขา กิจกรรมที่ทำร่วมกันกับเด็กตอนนี้ต่อยอดเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สิ่งที่เริ่มมาได้สักระยะแล้วคือการรับบริจาคเสื้อผ้ามือ 2 มาคัดแยก และจำหน่าย”
ศิริพร พรมวงศ์ : อาสาคลองเตยดีจัง
ในปี 2565 คลองเตยดีจังจะเน้นเรื่องการพัฒนาอาชีพให้กับเด็กมากขึ้น ตอนนี้มีเรื่องการฝึกทักษะการทำงานไม้ ส่วนในเรื่องการขายเสื้อผ้ามือ 2 ยังคงทำต่อเนื่อง ตอนนี้มีทั้งการขายหน้าร้านอยู่ที่ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ และ G garden และในปีนี้จะเพิ่มทักษะเรื่องการสื่อสารการขาย
ภาพจาก : คลองเตยดีจัง
“ส่วนสถานการณ์การระบาด ก็ยังมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจของครอบครัว และการหยุดเรียน เรื่องนี้ต้องประเมินกันอีกทีว่าจะสามารถออกแบบกิจกรรม และการช่วยเหลือต่ออย่างไร ส่วนเรื่องการจัดการการระบาดของโรค เราคิดว่ามีทีมที่มีความรู้ ประสบการณ์ และระบบการทำงานที่พร้อมอยู่แล้ว”
ศิริพร พรมวงศ์ : อาสาคลองเตยดีจัง
อาสาบ้านบูรพา
นอกจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ในภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและมีแรงงานพลัดถิ่นจำนวนมาก ที่ยังมีโจทย์การเข้าถึงสิทธิ์ของผู้ป่วยและการรักษา โจทย์นี้เครือข่ายภาคประชาสังคม 7 จังหวัดและกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกจับมือกันทำงานช่วยเหลือ เกิดเป็น “บ้านบูรพาฝ่าโควิด” อาสาที่เริ่มทำมาตั้งแต่ 19 กรกฎาคม 2564 พี่ ๆ เขาเล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นเริ่มอาสาไม่ถึงเดือน ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยและคนที่เดือดร้อนแล้วเกือบ 400 คน ภายใต้การทำงานของอาสาราว ๆ 20 คน โดยภารกิจหลักคือการลดอัตราการติดเชื้อของผู้ป่วยโควิด – 19 ในเขตตะวันออกให้ได้มากที่สุด
เกือบ 7 เดือนกับงานอาสาในพื้นที่ภาคตะวันออก ทีมอาสาเล่าว่าได้เรียนรู้ในเรื่องการป้องกันและดูแลตัวเองจากเชื้อโควิด – 19 และสามารถนำความรู้ไปแนะนำหรือไปช่วยเหลือคนที่มีความเสี่ยงสูงและผู้ติดเชื้อ ขณะเดียวกันก็ได้เห็นความช่วยเหลือกันเองของคนในชุมชน ที่นำข้าว ของใช้ และเงินมาบริจาค ส่งให้กับทั้งผู้ติดเชื้อเอง และทีมอาสา
“ตอนนี้เราทำงานตรวจเชิงรุก โดยการแจกชุดตรวจ ATK แบบใช้น้ำลายเพื่อให้ชาวบ้าน และกลุ่มแรงงาน ให้พวกเขาสามารถตรวจหาเชื้อได้ด้วยตัวเองที่บ้าน เฉลี่ยตอนนี้เราสามารถตรวจหาเชื้อได้มากสุดประมาณ 300 – 400 ราย/วัน”
อาจารย์สมนึก จงมีวศิน : อาสาบ้านบูรพา
ภาพจาก : บ้านบูรพา ภาพจาก : บ้านบูรพา
“ในปี 2565 นี้ เรามองว่าอาจมีการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น และหลายเท่า เพราะการเตรียมตัวของรัฐบาลไทยยังดีไม่พอ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลน่าจะถอดบทเรียนจากติดเชื้อในประเทศครั้งก่อน ในปีนี้เชื้อโควิด-19 จะยังไม่หมดไป และอาจจะยิ่งกลายพันธุ์ ทำให้เหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ ตอนแรกบ้านบูรพามีความตั้งใจว่าะปิดตัวลงในปี 65 นี้ แต่จากการของรัฐบาล และสถานการณ์โควิดในปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญกัน ทำให้ต้องเปลี่ยนแผน บ้านบูรพายังคงต้องเปิดต่อไป แล้วก็ต้องดูแลผู้ติดเชื้อ ค่อยประสานงาน ทั้งแบบออนไลน์และลงพื้นที่”
อาจารย์สมนึก จงมีวศิน : อาสาบ้านบูรพา
พระไม่ทิ้งโยม
ปิดท้ายด้วยอาสาที่ต้องอุทานคำว่า คุณพระช่วย เพราะพระที่วัดสุทธิวราราม กรุงเทพ พระรวบจีวร สวมชุด PPE ช่วยตรวจเชิงรุก ช่วยดูแลผู้ป่วยโควิดผ่าน Home&Community Isolation ไปจนถึงช่วยฌาปนกิจศพ พระบอกว่า
“ช่วยหมด รักษาโดยไม่เลือกสถานะ”
ภาพจาก : พระไม่ทิ้งโยม
“เริ่มต้นจากสังเกตเห็นญาติโยมที่เคยใส่บาตรเจ็บป่วย ล้มหายตายจากลงไป จึงมองว่าวัดมีสถานที่ ที่สามารถช่วยเหลือแบ่งเบาการทำงานของภาครัฐ และภาคเอกชนในสถานการณ์วิกฤติได้ เราจึงประสานกับ สปสช. เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยในนามพระไม่ทิ้งโยมขึ้น โดยมีทีมงานพระอาสา และทีมอาสาสมัครอื่น ๆ เข้ามาช่วยกัน ทั้งลงพื้นที่ตรวจ ATK และ ประจำจุดดูแลผู้ป่วยที่ศูนย์พักคอย”
พระมหาศิริพรรณ วสนฺโต : อาสาพระไม่ทิ้งโยม
ปัจจุบันศูนย์พักคอยที่ว่าปิดลงไปแล้วนะครับ เมื่อช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา เพราะโรงพยาบาลเริ่มสามารถรับผู้ป่วยเข้ารักษาได้แล้ว แต่ทางกลุ่มยังทำหน้าที่เป็นจุดคอยรับบริจาค และรับส่งผู้ป่วยอยู่ และถ้ามีการประสานขอให้ลงพื้นที่ตรวจ ATK ก็ยังมีอาสาคอยทำหน้าที่ตรงนี้
“การทำงานอาสาเพื่อให้ผู้ป่วยที่เข้ามารักษา มีความหวังที่จะได้กลับบ้าน หายดีแล้วได้กลับบ้านอย่างที่ตั้งใจ ความสำเร็จของเราคือวันที่ปิดศูนย์ เพราะถือว่าเป็นวันประกาศชัยชนะเลย ว่าเราสามารถควบคุม และลดจำนวนผู้ป่วยลงได้”
พระมหาศิริพรรณ วสนฺโต : อาสาพระไม่ทิ้งโยม
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงปลายปีที่แล้วสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น แต่ต้องอุทานว่า “คุณพระช่วย” อีกครั้ง เพราะในปี 2565 ที่ผ่านมายังไม่ถึงเดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง คุณพระก็เลยต้องมีความพร้อม ทั้งอุปกรณ์ และทีมอาสาสมัคร ในการเตรียมรับมือ หากมีการระบาดระลอกใหม่”
รวบรวมข้อมูลอาสา โดย ทีมสื่อพลเมือง
รัตนพล พงษ์ละออ
ปารีณา ผึ่งผาย
ศุภรัช จรัสเพ็ชร์
พัทธิยา ชูสวัสดิ์