โรคระบาดและการเกิด : ไข้หวัดเสปน ถึงโควิด-19

โรคระบาดและการเกิด : ไข้หวัดเสปน ถึงโควิด-19

รูปแบบการเกิดที่ลดลงอย่างมากในช่วงวิกฤติไข้หวัดใหญ่ และกลับมาสูงขึ้นหลังวิกฤติ จะเหมือนกับรูปแบบการเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 หรือไม่

รศรินทร์ เกรย์

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อประชากรในทางประชากรศาสตร์ เกี่ยวข้องกับภาวะการตายโดยตรง มีการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากโควิด-19 เป็นรายวัน แต่ผลกระทบทางประชากรศาสตร์อื่น ๆ เช่น การเกิดที่ลดลง มีการพูดถึงไม่มากนัก1,2  ซึ่งการเกิดที่ลดลงอย่างมากนี้เป็นปัจจัยเร่งให้อัตราการสูงอายุเพิ่มเร็วขึ้น

จากประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโรคระบาดทีใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกคือ ไข้หวัดใหญ่ หรือที่เรียกว่า ไข้หวัดเสปน (Spanish flu) ในปี ค.ศ.1918-1920 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก และสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) พบว่าในปี ค.ศ.1918-1919 ในประเทศสหรัฐอเมริกา อัตราเกิดได้ลดลงไปร้อยละ 13 ซึ่งเป็นผลมาจาก การตายและเจ็บป่วยของประชากรในวัยเจริญพันธุ์ การตายของแม่และการตายคลอด (stillbirth) การเลื่อนตั้งครรภ์ออกไปเนื่องจากความกลัวโรคระบาด หลังจากนั้นในปี 1920 มีการเกิดเป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า เบบี้บูม (baby boom) แต่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า เป็นผลมาจากการหยุดระบาดของไข้หวัดใหญ่ หรือการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือทั้งสองเหตุการณ์ร่วมกัน การสิ้นสุดของโรคระบาด ทำให้คู่รักเร่งรีบแต่งงาน และมีลูกหลายคน เผื่อจำนวนไว้จากประสบการณ์การตายที่สูง (insurance effect)  หรือมีลูกเพื่อทดแทนลูกที่ตายไป (replacement effect) การสิ้นสุดของสงครามทำให้คู่สามีภรรยากลับมาอยู่ร่วมกัน การแต่งงานของคู่รัก การแต่งงานใหม่ของผู้ที่เป็นหม้ายจากสงคราม หรือการมีบุตรที่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากสงคราม

รูปแบบการเกิดที่ลดลงอย่างมากในช่วงวิกฤติไข้หวัดใหญ่ และกลับมาสูงขึ้นหลังวิกฤติ จะเหมือนกับรูปแบบการเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 หรือไม่ ต้องพิจารณาจากความเหมือนหรือความแตกต่างของการระบาดโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว อัตราการตายของไข้หวัดใหญ่สูงในกลุ่มอายุ 20-40 ปี แต่การตายจาก Covid-19 เกิดกับผู้สูงอายุ และกลุ่มโรคเรื้อรัง การตายในวัยเด็กมีน้อย ดังนั้นการมีลูกเพื่อทดแทนลูกที่ตายไป ตามทฤษฎีทางประชากรจึงไม่น่าจะใช้อธิบายได้

ผลกระทบจาการ LOCKDOWN ทำให้ความต้องการมีลูกลดลงหรือเลื่อนการตั้งครรภ์ออกไป เนื่องจากการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) ภาระจากการเลี้ยงดูลูกเพิ่มขึ้น โรงเรียนต้องปิด ใช้การเรียนแบบออนไลน์  สถานรับเลี้ยงดูเด็กที่เชื่อถือได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ประเทศรายได้สูงหลายประเทศ มีระดับภาวะเจริญพันธุ์ไม่ต่ำจนเกินไปนัก ต้องปิดไปด้วย และการปิดคลินิกช่วยการตั้งครรภ์ ที่ใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ (Artificial Reproductive Technology – ART)

จากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าอุปสงค์และอุปทานของเครื่องมือตรวจการตกไข่และการตั้งท้อง ลดลงในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 นอกจากนี้การสำรวจผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงในประเทศอิตาลี พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่วางแผนไม่ตั้งครรภ์ในช่วงวิกฤติโควิด-19

การปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน ขาดรายได้ หรือรายได้ลดลง ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้เลื่อนการลงทุนระยะยาวออกไป ในทางเศรษฐศาสตร์ ถือว่าการมีลูกเป็นการลงทุนระยะยาวแบบหนึ่ง ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ทำให้การเกิดลดลงอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงบริการคุมกำเนิดอาจยากลำบากขึ้น จากมาตรการ LOCKDOWN อาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่ตั้งใจ เช่นผลกระทบจากโรคระบาดอีโบลา ในประเทศแถบอาฟริกาตะวันตกในปี ค.ศ. 1914-1916 อาจมีเด็กจำนวนมากเกิดโดยไม่ได้ตั้งใจ

กล่าวโดยสรุปคือ การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ คาดหมายว่าในภาพรวมระยะสั้น การเกิดจะลดลงอย่างมากในช่วงการระบาด ภายหลังการระบาด ยกเลิกมาตรการ LOCKDOWN เศรษฐกิจฟื้นตัว ในประเทศที่มีรายได้สูงภาวะเจริญพันธุ์น่าจะกลับมาเท่ากับก่อนการเกิดโควิด-19 (การกลับมาเปิดสถานเลี้ยงเด็ก เป็นปัจจัยหนึ่ง) สำหรับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง คาดหมายว่าการลดลงของการเกิดที่พบกันอยู่โดยทั่วไป และลดลงไปอีกอย่างมากในช่วงวิกฤติโควิด-19 ก็คงยากที่จะกลับมาสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเกิดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เนื่องจากความแตกต่างทางสถานภาพด้านเศรษฐกิจและสังคม ความรุนแรงของโรค การเจ็บป่วยและการตายจากโรคระบาด สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศรายได้ปานกลาง และมีจำนวนการเกิดที่ลดลงลงอยู่แล้ว ก็คงต้องรอติดตามสถิติการเกิดต่อไปว่าผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการเกิด จะเป็นเช่นไร

เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.รศรินทร์ เกรย์ | สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา

Aassve, A., Cavalli, N., Mencarini, L. & Livi Bacci6, M. (2020). The COVID-19 pandemic and human fertility, Science, 369 (6502).

Ullah, MA., Moin, AT., Araf, Y., Bhuiyan, AR., Griffiths, MD. & Gozal, D. (2020). Potential effects of the COVID-19 pandemic on future birth rate, Frontiers in Public Health, 8 (578438).

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ