สำรวจไทม์ไลน์และช่องทางการผลักดันกฎหมายการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันทั่วโลก นอกจากใช้กระบวนการทางศาลแล้วไปทางไหนได้อีก
หลังจากวันที่ 17 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ที่กำหนดเรื่องการรับรองสมรสเฉพาะชาย-หญิงนั้น ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาค ทำให้ประเด็นเรื่องกฎหมายการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันนั้นกลับมาเป็นที่พูดถึงของสังคมอีกครั้ง
Rocket Media Lab ชวนสำรวจไทม์ไลน์และช่องทางการผลักดันกฎหมายการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันทั่วโลก
ปัจจุบันมีประเทศและดินแดนที่มีกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน 50 ประเทศ/ดินแดน แต่หากพิจารณาเฉพาะประเทศหลักๆ จะพบว่ามีเพียง 30 ประเทศเท่านั้น โดยประเทศแรกที่ผ่านกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน ก็คือเนเธอร์แลนด์ มีผลในวันที่ 1 เมษายน 2001 และประเทศล่าสุดก็คือ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2022
นอกจากนั้นยังพบว่าใน 30 ประเทศนี้ มี 17 ประเทศที่ผ่านกฎหมายนี้ด้วยระบบรัฐสภา 10 ประเทศมาจากคำตัดสินของศาลซึ่งถูกนำมาบังคับใช้ออกเป็นกฎหมายต่อไป 2 ประเทศมาจากการลงประชามติ ซึ่งก็คือไอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ และ 1 ประเทศ ที่มีทั้งระบบรัฐสภา คำตัดสินของศาล และประชามติ นั่นก็คือสหรัฐอเมริกา
การผ่านกฎหมายโดยรัฐสภา
ประเทศที่ผ่านกฎหมายการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร และอุรุกวัย
ในอาร์เจนตินา ก่อนหน้าที่จะมีการผ่านกฎหมายนี้โดยรัฐสภาก็มีการผลักดันผ่านกระบวนการศาล แต่ศาลตัดสินว่าการแต่งงานของเพศเดียวกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือในประเทศฝรั่งเศส หลังจากมีการผ่านกฎหมายโดยรัฐสภาแล้ว ต่อมาพรรคการเมืองอนุรักษนิยม Union for A Popular Movement ก็ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่ากฎหมายการแต่งงานเพศของเดียวกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลตัดสินว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
หรือในประเทศสเปน ที่ผ่านกฎหมายตั้งแต่ปี 2005 แต่ถูกขัดขวางโดยพรรคอนุรักษนิยม People’s Party ที่นำเรื่องขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อพรรค People’s Party ได้เป็นรัฐบาล ก็มีแนวความคิดจะยกเลิกกฎหมายนี้ซึ่งจะทำได้ต้องมีคำวินิจฉัยของศาลรองรับ อย่างไรก็ตาม ต่อมาศาลตัดสินว่าไม่สามารถยกเลิกกฎหมายได้ จึงทำให้กฎหมายการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในสเปนมีผลมาตั้งแต่ปี 2005
การผ่านกฎหมายโดยคำวินิจฉัยของศาล
ในบรรดา 10 ประเทศ ที่มีกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันที่มาจากคำตัดสินของศาลนั้น ได้แก่ ออสเตรีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย คอสตาริกา เอกวาดอร์ เม็กซิโก โปรตุเกส แอฟริกาใต้ และไต้หวัน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญและการตีความรัฐธรรมนูญในประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคนั้น ประเทศออสเตรีย ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า “บทบัญญัติที่ไม่เลือกปฏิบัติและความเท่าเทียมกันของรัฐธรรมนูญแห่งออสเตรียรับประกันสิทธิในการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน” ซึ่งนำมาสู่การรับรองกฎหมายการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันในออสเตรีย
หรือในกรณีของโคลอมเบีย ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบียมีคะแนนเสียง 6:3 เสียงว่าห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกันขัดต่อรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญโคลอมเบียปี 1991 ซึ่งคล้ายคลึงกันกับเอกวาดอร์ เม็กซิโก หรือแอฟริกาไต้ ในขณะที่คอสตาริกานั้น ในปี 2006 ศาลสูงของคอสตาริกาเคยตัดสินว่า รัฐธรรมนูญของคอสตาริกาไม่รับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน แต่ก็มีการต่อสู้และนำเรื่องขึ้นศาลสิทธิมนุษยชนนานาชาติ-อเมริกัน (Inter-American Commission and Court on Human Rights – ACHR) อีกครั้ง ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่าประเทศต่างๆ ที่ลงนามในอนุสัญญาอเมริกันว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the American Convention on Human Rights) จะต้องอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ซึ่งรวมถึงประเทศคอสตาริกาด้วย ซึ่งทำให้ต่อมาคอสตาริกาให้การรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน
นอกจากนี้ ประเทศแคนาดา การผ่านกฎหมายการสมรสของคนเพศเดียวกันมาจากคำวินิจฉัยของศาลในแต่ละรัฐ โดยเริ่มที่รัฐออนแทรีโอ ในปี 2003 จากนั้น ศาลรัฐต่างๆ ได้ทยอยมีคำวินิจฉัยในทำนองเดียวกันจนมีผลบังคับทั่วประเทศในปี 2005
และในสหรัฐอเมริกานั้น การสมรสของคนเพศเดียวกัน เกิดขึ้นทั้งจากกระบวนการตุลาการ กระบวนการนิติบัญญัติ และการทำประชามติ แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ โดยเริ่มต้นในปี 2004 และมีผลบังคับใช้ครบทุกรัฐ ทั้ง 50 รัฐ ในปี 2015
ในขณะที่ประเทศที่มีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ใกล้เคียงกันกับประเทศไทยก็คือ ไต้หวัน โดยในวันที่ 24 พฤษภาคม 2017 ศาลตัดสินว่ากฎหมายการสมรสที่ให้สมรสได้เฉพาะหญิงชายนั้นขัดต่อหลักความเสมอภาคและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงให้เวลาฝ่ายนิติบัญญัติ 2 ปีในการร่างกฎหมาย ซึ่งทำให้กฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันในไต้หวันมีผลในวันที่ 24 พฤษภาคม 2019
การลงประชามติ
สองประเทศที่มีออกกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันอันเป็นผลมาจากการทำประชามติเพียงอย่างเดียว คือไอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ ในส่วนของประเทศไอร์แลนด์นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2000 ที่เริ่มมีการปฏิรูปกฎหมายในแต่ละหมวดของรัฐธรรมนูญเรื่อยมา โดยประเด็นเรื่องกฎหมายการสมรสของคนรักเพศเดียวกันเริ่มมีการพิจารณาในเดือนมีนาคม 2011 และมีการลงประชามติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2015 ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้ออกกฎหมายรับรองการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2015
ส่วนประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น ก็เกิดจากประชามติเช่นเดียวกัน โดยในการทำประชามติครั้งแรกในปี 2016 ผลประชามติออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในการที่จะออกกฎหมายรับรองการสมรสของคนรักเพศ จากนั้นก็มีการทำประชามติอีกครั้งในวันที่ 26 กันยายน 2021 ซึ่งในครั้งนี้ผลออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะออกกฎหมายรับรองการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน จึงทำให้มีการออกเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2022
กฎหมายคู่ชีวิต
ในบรรดา 30 ประเทศที่กฎหมายรับรองการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันนั้น พบว่ามี 28 ประเทศที่มีกฎหมายคู่ชีวิตใช้ก่อนจะมีกฎหมายการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน โดยมีชื่อเรียกและรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น Registered Partnership, de facto union, Civil Union, Same Sex Union, Domestic Partnership ฯลฯ โดยประเทศเดนมาร์กนั้นมีกฎหมายคู่ชีวิตเป็นประเทศแรกของโลก ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 1989
ความแตกต่างของกฎหมายคู่ชีวิตและกฎหมายการสมรส คือ
การแต่งงานภายใต้กฎหมายการสมรสมีความสัมพันธ์กับศาสนาอย่างแนบแน่นในการได้รับการยอมรับจากศาสนาว่าเป็นคู่สมรส โดยเฉพาะในประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก นอกจากนี้ การแต่งงานภายใต้กฎหมายการสมรสยังได้รับการยอมรับในเกือบทุกประเทศในโลก
ในขณะที่กฎหมายคู่ชีวิตนั้นเป็นเรื่องของการรับรองตามกฎหมายเท่านั้น โดยมีรายละเอียดเรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับในฐานะคู่ชีวิตแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางประเทศอาจได้รับสิทธิเทียบเท่ากับหรือน้อยกว่าสิทธิตามกฎหมายสมรส เช่น ในสหรัฐฯ การสมรสได้รับการรับรองทางกฎหมายในทุกรัฐ แต่คู่ชีวิตอาจไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมายในบางรัฐของสหรัฐฯ
และขณะที่คู่สมรสได้รับมรดกจากคู่ของตนตามกฎหมายโดยอัตโนมัติและไม่ต้องเสียภาษี ส่วนคู่ชีวิตจะได้รับมรดกต่อเมื่อมีการแสดงเจตจำนงผ่านการเขียนพินัยกรรมและต้องเสียภาษีมรดกด้วย ขณะที่สหราชอาณาจักรนั้น คู่ชีวิตได้รับการยกเว้นภาษีมรดกเช่นเดียวกับคู่สมรส
นอกจากนี้ยังพบว่า มีบางประเทศที่กฎหมายคู่ชีวิต ใช้ได้ทั้งคนรักเพศเดียวกันและคนรักต่างเพศ ไม่ว่าจะเป็น นิวซีแลนด์ หรือโปรตุเกส หรือมีเพื่อคนรักเพศเดียวกันเท่านั้นอย่างในประเทศสวีเดน ซึ่งในบางประเทศเมื่อปรากฏว่าได้ผ่านกฎหมายการรับรองการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันแล้วก็ได้ยกเลิกกฎหมายคู่ชีวิตไป ในขณะที่บางประเทศก็ยังคงอยู่เป็นทางเลือกให้คนรักทั้งเพศเดียวกันหรือต่างเพศเลือกว่าจะจดทะเบียนแบบใด
ประเทศไทยกับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน
แม้การพยายามผลักดันการออกกฎหมายอีกหนทางหนึ่ง โดยผ่านทางศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นผล จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความพยายามผลักดันประเด็นนี้ในทางอื่นๆ เช่น ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล แต่ยังคงไม่เข้าสู่การพิจารณาวาระแรกของสภา แม้เวลาจะล่วงเลยมาปีกว่าแล้ว และอีกแนวทางก็คือ ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นเดียวกัน
ข้อมูลจาก
- Equaldex.com
- Wikipedia
บทความจาก Rocket Media Lab