ถอดรหัสประเพณีปี๋ใหม่เมือง
เรียบเรียงโดย พระอาจารย์สาธิต ธีรปญฺโญ ( โปธาเศษ )
สถาบันธรรมาปัญญาภิวัฒน์ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
ความสำคัญของประเพณีปี๋ใหม่เมือง
ประเพณีปี๋ใหม่เมืองอย่างที่เรารู้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ จะมีอายุยาวนานมาสักแค่ไหน สุดที่จะรู้ได้ รับรู้กันแต่ว่ามีมานานแล้ว จนยอมรับกันว่าเป็นประเพณีสำคัญประเพณีหนึ่งของคนเมืองหรือคนล้านนา ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในเขต ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน อันได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย และแม่ฮ่องสอนความสำคัญของประเพณีปี๋ใหม่เมืองที่มีต่อคนเมืองนั้นมีมากมายหลายประการ ซึ่งอาจจะจำแนกได้เป็นข้อๆ ดังนี้
เป็นการเปลี่ยนปี
การนับปีศักราชที่นิยมกันในหมู่ล้านนามีอยู่ ๒ อย่าง คือ พุทธศักราช และ จุลศักราช การนับปีพุทธศักราชเริ่มต้นนับตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน และถือเอาปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานเป็นปีพุทธศักราช ๑ ส่วนการนับปี จุลศักราช เริ่มนับเมื่อ พ.ศ.๑๑๘๒ โดยพระเจ้าโพพาสอระหัน กษัตริย์พม่า ความเป็นมาของจุลศักราช มีว่า “สังฆราช บุตุโสระหัน” เมื่อสึกจากสมณเพศได้ชิงราชสมบัติเป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๑๙ ในราชวงศ์สมุทฤทธิ์ ในประเทศพุกาม ได้บัญญัติจุลศักราชขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๑๑๘๒ (กำหนดแรกบัญญัติตั้งแต่ วันพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ๑๑๘๑ ปี) จุลศักราช ๑ ตรงกับ พ.ศ. ๑๑๘๒ ดังนั้น จุลศักราช จึงน้อยกว่าพุทธศักราช ๑๑๘๑ ปี และได้เลิกใช้ในสมัย รัชกาลที่ ๕ โดยเปลี่ยนหน่วยนับศักราชจากจุลศักราช เป็น พุทธศักราช เพื่อความเป็นสากล เมื่อจุลศักราช ๑๒๕๐ โดยราชการที่ ๕ ได้มี “ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่” ว่า :” มีพะบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ด้วยทรงพระราชดำริห์ถึงวิธีนับวัน เดือน ที่ใช้กันอยู่ในสยามมณฑล และที่ใช้ในประเทศน้อยใหญ่ เป็นอันมากในโลกนี้ เป็นวิธีต่างกันอยู่มากคือกล่าวโดยย่อก็เป็นวิธีใช้ตามจันทรคติอย่างหนึ่ง และสุริยคติอย่างหนึ่ง จึงทรงพระราชดำริห์ว่าวิธีนับวัน เดือน ปี อย่างดีที่สุดนั้น ควรจะประกอบด้วยเหตุอันควร ๓ ประการคือ (๑) ให้ถูกต้องใกล้ชิดกับฤดูกาล (๒) ให้มีประมาณอันเสมอไม่มาก ไม่น้อยไปกว่ากันนัก กับ (๓) ให้คนทั้งปวงรู้ง่ายทั่วไปดีกว่าอย่างอื่น ทั้ง ๓ ประการนี้ จึงจะสมควรที่จะใช้ในประชุมชนทั้งปวง ” ผลการประกาศฉบับนี้ ศักราชที่เคยใช้มาก่อนทั้งมวลเป็นอันงดใช้ และระยะแรกถึงแม้จะมีการเปลี่ยนหน่วยนับจากจุลศักราช เป็นพุทธศักราช ก็เป็นการเปลี่ยนเพียงแค่ในระบบริหารราชการแผ่นดินในเมืองหลวงเท่านั้น แต่ตามหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลก็ยังคงใช้จุลศักราชเป็นหน่วยนับปีศักราชอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวเมืองที่เป็นปะเทศราชอย่างล้านนาประเทศ
ดังนั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนเมืองหรือคนล้านนาใช้จุลศักราช ที่เรียกเป็นอักษรย่อว่า จ.ศ. เป็นหน่วยนับปีศักราช โดยถือเอาวันพญาวันคือวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี เป็นวันขึ้น ปีใหม่ และต่อมาเมื่อมีการรวมประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บวกกับการไหลบ่าของกระแสวัฒนะธรรมของภาคกลางผ่านสื่อต่างๆ ก็ทำให้การใช้จุลศักราชเป็นหน่วยนับปีศักราช พร้อมกับวิถีของคนเมืองหรือคนล้านาเลือนรางลง คงเหลือไว้แต่ในวงการโหราศาสตร์ , วงการศาสนา , หรือในหมู่ผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้น คนทั่วไปยากที่จะสนใจหรือเข้าใจในเรื่องนี้ ( พ.ศ. ๒๕๕๙ ตรงกับ จ.ศ. ๑๓๗๘ )
เป็นการเตือนตน
การเปลี่ยนปีทำให้มีอายุเพิ่มมากขึ้น การที่อายุเพิ่มขึ้นจะเป็นการย้ำเตือนให้คนเมืองรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของวัยโดย หละอ่อน จะรู้สึกว่าพวกเข้าโตขึ้นเป็นหนุ่มเป็นสาว ซึ่งเป็นวัยที่มีพลังมากหรือเป็นวัยที่จะทำสิ่งต่างๆได้มากทั้งในแง่ดีและแง่เสีย ดังนั้น คนในวัยนี้ควรนำเอาพลังที่มีอยู่ไปใช้ในทางที่สร้างสรรค์ก่อคุณหรือประโยชน์ให้กับสังคม มากกว่าจะไปก่อทุกข์ก่อโทษให้กับสังคมหนุ่มสาว จะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้นนั่นหมายถึงการที่จะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น มีความอดทนมากขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น สรุปแล้วก็คือจะต้องมีกำกึดนักขึ้น ผู้ใหญ่ จะรู้สึกว่าตนเองเริ่มก้าวย่างเข้าสู่วัยชรา เป็นวัยที่พ้นจากการกินการเที่ยวการเล่นสนุกสนาน และการมั่วสุมยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขแล้ว เพราะเป็นวัยที่จะต้องเป็นที่พึ่ง หรือเป็นแบบอย่างในทางที่ดี ให้กับคนในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะรู้สึกว่าใกล้จะถึงที่สุดของการเดินทางบนเส้นทางแห่งชีวิตแล้ว ดังนั้น คนในวัยนี้จะหันหน้าเข้าวัด เพื่อแสวงหาความสุขสงบในบันปลายชีวิตและเพื่อที่จะสั่งสมเสบียงคือบุญ เอาไว้ในภพหน้าหรือชาติหน้า
เป็นการชำระสะสางในสิ่งที่ไม่ดี
ปี๋ใหม่เมือง เป็นช่วงโอกาสที่คนเมืองหรือคนล้านนาจะสำรวจตรวจสอบสิ่งต่างๆ ที่ล่วงเลยแล้วมา ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ ความประพฤติ และข้อปฏิบัติต่างๆ เมื่อพบข้อ บกพร้องก็จะตั้งจิตอธิฐานละเว้นการกระทำที่เป็นความชั่วเหล่านั้น โดยให้การกระทำที่เป็นความชั่วเหล่านั้นตกไปกับไฟ ไหลไปกับน้ำ ล่องไปกับสังขาร แล้วตั้งต้นทำในสิ่งที่ดีต่อไป
เป็นการเริ่มต้นทำในสิ่งใหม่
ปี๋ใหม่เมือง เป็นช่วงโอกาสที่คนเมืองหรือคนล้านนาจะตั้งจิตอธิฐานทำในสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จในปีที่ผ่านมาให้สำเร็จลุล่วงต่อไป แรงอธิฐานนี้จะไปกระตุ้นจิตใจที่หดหู่ท้อถอยให้มีแรงขึ้น จะเกิดการตั้งใจใหม่ ตั้งความหวังใหม่ พยายามใหม่ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
เป็นวันกตัญญู หรือวันผู้สูงอายุ
ปี๋ใหม่เมือง เป็นช่วงโอกาสที่คนเมืองหรือคนล้านนาจะแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพพการี คือ ผู้มีพระคุณ โดยการทำพิธีขอขมาและรดน้ำดำหัว บุพการี ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือผู้มีพระคุณ เป็นต้น
เป็นวันพบญาติหรือวันครอบครัว
ปี๋ใหม่เมือง เป็นช่วงโอกาสที่คนเมืองหรือคนล้านนาที่ไปทำงานหรืออาศัยอยู่ที่อื่นจะกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง เพื่อพบประพูดคุย ไต่ถามสาระทุกข์สุขดิบหรือปรับทุกข์เพิ่มสุขให้แก่กันและกัน
กิจกรรมของคนเมืองในช่วงปีใหม่เมือง
ในช่วงปี๋ใหม่เมือง คนเมืองมีกิจที่จะต้องทำ หรือมีประเพณีที่จะต้องปฏิบัติมากมายหลายประการ ตามวันต่างๆ ในช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมือง ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้
วันสังขารล่อง เป็นวันแรกของประเพณีปี๋ใหม่เมือง ส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ ๑๒ ถึงวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี ในวันสังขารล่องนี้ คนเมืองจะตื่นเช้าเป็นพิเศษ แม่บ้านจะนึ่งเข้าเป่าไฟทำกับข้าว พ่อบ้านกับลูกๆ จะช่วยกันทำความสะอาดบ้านและจุดประทัดหรือจิสะโปกไล่สังขาร คติธรรมที่แฝงในกิจกรรมการไล่สังขารก็คือการประกาศหรือบอกให้คนทั้งหลายทราบว่า บัดนี้สังขารได้ร่วงโรยหรือล่องไปสู่จุดสิ้นสุด คือความตายอีกครั้งหนึ่งแล้ว นั่นก็หมายความว่าเราได้แก่ลงไปอีกปีหนึ่งแล้ว ดังนั้นสาระสำคัญของการจุดประทัดหรือจิสะโปกไล่สังขารก็คือ การมีสติหรือไม่ประมาทนั้นเอง
วันเน่า เป็นวันที่สองของประเพณีปี๋ใหม่เมือง ส่วนใหญ่จะเริ่มในวันที่ ๑๔ เมษายนของทุกปี ท่านผู้รู้บอกว่าที่จริงแล้ววันนี้หน้าจะเรียกว่าวันเนาว์ ซึ่งหมายถึงวันที่ พระอาทิตย์เนาว์อยู่ระหว่างราศีมีนกับราศีเมฆ คือออกจาราศีมีนแล้วแต่ยังเข้าไปไม่ถึงราศีเมฆในวันเนาว์ซึ่งเป็นวันที่สองของประเพณีปี๋ใหม่เมืองนั้น คนเมืองจะงดเว้นการด่าทอหรือการใช้ถ้อยคำที่หยาบคายต่อกัน และในวันนี้จะเป็นวันที่คนเมืองหรือคนล้านนาจะช่วยกันขนทรายเข้าวัด ตามคติความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ ประการ คือ ๑. เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์สามารถนำทรายที่พุทธศาสนิกชนขนเข้ามาในวันเนาว์ คือ วันที่ ๑๔ เมษายน ไปใช้ในการก่อสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนวัตถุต่างๆ ได้ ๒. เพื่อชำระหนี้สงฆ์ เพราะขณะที่เราเดินเขาออกวัด ทรายที่อยู่ในบริเวณวัดก็ติดรองเท้าของเรา ออกไปด้วย นั่นก็เท่ากับว่าเราได้เอาทรายออกจากวัดไปโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นบาป บรรพบุรุษของคนเมืองจึงได้จัดให้มีกิจกรรมขนทรายเข้าวัดขึ้น และหากมองให้ลึกเข้าไปยิ่งกว่านั้นก็จะเห็นว่า คนเมืองในสมัยโบราณ พยายามที่จะสอนให้อนุชนคนรุ่นหลังมีคุณธรรม คือ สอนให้มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทุจริตคดโกง นั่นเอง
วันพญาวัน เป็นวันที่สามของประเพณีปี๋ใหม่เมือง ส่วนใหญ่จะเริ่มในวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี และเป็นวันที่มีกิจกรรมให้กระทำหลากหลายกิจกรรม เช่น
๑. ตอนเช้า-สาย ไหว้พระ รับศีล ฟังธรรมะ ตักบาตร และเจริญภาวนา
๒. ตอนบ่ายสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ สามเณร ดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่
๓. ตอนเย็นแห่ไม้ค้ำศรีมหาโพธิ์ ฯลฯ
และเนื่องด้วยเป็นวันเป็นวันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนจุลศักราชใหม่และเป็นวันที่มีกิจกรรมให้กระทำหลากหลายกิจกรรม จึงทำให้วันนี้เป็นวันที่เป็นพญาคือเป็นวันที่เป็นใหญ่กว่าวันทั้งหลาย
วันปากปี เป็นวันที่สี่ของประเพณีปี๋ใหม่ กิจกรรมที่กระทำในวันนี้ก็คือการทำบุญหมู่บ้าน โดยการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์กลางหมู่บ้านเพื่อเป็นสิริมงคล และด้วยการที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานทำบุญหมู่บ้าน จึงทำให้คนในหมู่บ้านมีความสัครสมานสามัคคีกันหรือร่วมแรงร่วมใจกัน ดังนั้น จึงถือได้ว่าวันปากปีเป็นวันสามัคคี ของคนในหมู่บ้านชุมชน