ถกเรื่องประกันสังคม สวัสดิการ ผ่านกรณีแรงงานข้ามชาติ

ถกเรื่องประกันสังคม สวัสดิการ ผ่านกรณีแรงงานข้ามชาติ

20150810150225.jpg

นักสื่อสารแรงงานศูนย์อ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ / voicelabour.org

ขบวนการแรงงานไทยให้การศึกษาสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ

เครือข่ายสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เครื่องเรือนและคนทำไม้แห่งประเทศไทย (คสกท.) ลงพื้นที่กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เพื่อให้การศึกษาเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ  ในวันที่ 27  กันยายน พ.ศ.  2558 เวลา  09.00-12.00 น.  ณ.ห้องประชุมสำนักงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ โดยนายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง และ นางสาวธนพร  วิจันทร์  เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ได้ลงพื้นที่จัดเวทีแลกเปลี่ยนประชุมกลุ่มศึกษาให้ความรู้สิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติให้แรงงานข้ามชาติเขตพื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ มีผู้เข้าร่วมจำนวน  27  คน

20150810150850.jpg

นางสาวธนพร  วิจันทร์ กล่าววัตถุประสงค์ในการจัดเวทีครั้งนี้ว่าปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วและวันที่  18  ธันวาคม เป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล ดังนั้นไม่ว่าแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ การจ้างงานควรเป็นมาตรฐานเดียวกันซึ่งแรงงานข้ามชาติในปัจจุบันมีจำนวนมาก ขอให้พี่น้องช่วยกันระดมปัญหาต่างๆเพื่อจะได้เอาไปนำเสนอกับองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป

นางสาวธนพร วิจันทร์  ได้ตั้งประเด็นคำถาม หากประเทศเมียนมา มีค่าจ้างแรงงานเท่าประเทศไทยจะกลับไปทำงานที่บ้านหรือเปล่า  ได้สิทธิตรวจสุขภาพประจำปีหรือไม่ และถ้าบาดเจ็บในงานรักษาด้วยสิทธิอะไร

นก แรงงานข้ามชาติ ซึ่งเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้กล่าวว่า มาทำงานเมืองไทย 12 ปีนี้ เมื่อสิบปีก่อนทำงานก่อสร้างได้ค่าแรงวันละ 60 บาท และเคยโดนคนชาติเดียวกันหลอกลงเรือไปขายอยู่ในเรือ  3  ปี ถูกนายหน้าหักเงินเดือนๆละ  3,000 บาทโดยไม่รู้ตัว  วันนี้มาทำงานที่บริษัทเย็บผ้าในเขต อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งที่นี่ดีกว่าอยู่ที่อื่นๆ คนงานไทยในบริษัทแห่งนี้ให้การยอมรับ ไม่รังเกียจ สหภาพแรงงานก็ดูแลเป็นอย่างดีดี แต่ที่ยังขาดอยู่ก็เรื่องไม่มีบัตรประกันสังคมเวลาไม่สบายไปหาหมอก็ต้องเสียเงินเอง และยังลำบากเรื่องการต่อใบพาสสปอร์ต  ต้องจ้างเขาทำ และให้เสียค่านายหน้าด้วย  ถ้าหากเราทำงานในจังหวัดไหนแล้วต่อพาสสปอร์ตในจังหวัดนั้นๆ ได้คงจะดี แต่ถึงอย่างไรก็จะยังทำงานอยู่ที่นี่ต่อไป เพราะที่ประเทศพม่าค่าจ้างวันละ  150  บาท ค่าจ้างไม่เท่าประเทศไทยและสู้ค่าภาษีไม่ไหว

นางสาวสมหมาย  เนียมงาม รองประธานสหภาพแรงงานแอล ที ยู แอพพาเรลส์ ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นประกันสังคมว่า เดิมนายจ้างได้จัดทำบัตรรับรองสิทธิประกันสังคมให้พนักงานข้ามชาติทุกคน แต่ในปัจจุบันไม่มีการทำให้แล้ว และอีกประเด็นหนึ่งในกรณีที่ผู้ประกันตนเป็นแรงงานข้ามชาติที่ส่งลูกกลับไปประเทศแล้ว จะใช้สิทธิสงเคราะห์บุตร เหตุใดต้องมีเงื่อนไขว่าต้องมีเอกสารรับรองการมีชีวิตบุตรอยู่ในประเทศไทย ในเมื่อหักเงินสมทบไปแล้วเขาควรได้รับสิทธิ และในกรณีที่แรงงานข้ามชาติไม่มีใบแจ้งออก จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้เอกสารนี้ ตรวจสุขภาพประจำปีก็เสียเงินไปตรวจที่โรงพยาบาล

นางแสงดาว  ลุนสอน ประธานสหภาพแรงงานที ยู ดับบลิวเท็กซ์ไทล์ กล่าวว่า สถานประกอบการที่ตนทำงานอยู่มีแรงงานข้ามชาติกว่า  300 คน หากแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานมีเอกสารครบนายจ้างจะดำเนินการให้ทันทีในเรื่องประกันสังคม

นางสาวธนพร  วิจันทร์ เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า สำหรับเรื่องประกันสังคมนั้น ทางสำนักงานประกันสังคมจังหวัดต้องดำเนินการด้วยและนายจ้างมีหน้าที่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน

แรงงานข้ามชาติกลุ่มใดที่มีสิทธิประกันสังคม

  • กลุ่มที่เข้ามาทำงานตาม MOU
  • กลุ่มพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งทั้งสองกลุ่มต้องมีเอกสารหนังสือเดินทาง  ( passport ) และใบอนุญาตทำงาน ( Work permit )
  • แรงงานข้ามชาติกลุ่มใดที่ไม่ได้รับสิทธิประกันสังคม
  • แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย
  • แรงงานที่ทำงานที่กฎหมายยกเว้น เช่น งานประมง เพาะปลูกป่าไม้ เลี้ยงสัตว์ คนรับใช้ในบ้านที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจงานลักษณะชั่วคราวหรือตามฤดูกาล งานลักษณะค้าเร่หรือแผงลอย

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ