ชาวป่าเด็งวอนมหาดไทยเร่งแก้ปัญหาไฟฟ้า เหตุสายส่งเข้าไม่ถึง ตกสำรวจมานับสิบปี ระบุทุกวันนี้ซ่อมแผงโซล่าเซลล์กันเองแต่ยังไม่ครบทุกพื้นที่ เกือบ 200 ครัวเรือนยังอยู่กับความมืดมิด
26 มีนาคม 2558- นายโกศล แสงทอง ประธานเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ที่สร้างนวัตนกรรมพลังงานทดแทนในพื้นที่สายส่งเข้าไม่ถึง (ป่าเด็งโมเดล) เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ว่าด้วยความก้าวหน้า www.progressTH.org ว่า ตามที่ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แถลงถึงความคืบหน้าในการจัดทำโครงการ “ลดความเหลื่อมล้ำ แบ่งปันความสุข” โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้ทุกหลังคาเรือน และได้สำเร็จไปกว่า 2.3 หมื่นครัวเรือนนั้น ทางเครือข่ายฯเห็นว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะไฟฟ้าเป็นพลังงานที่สำคัญมาก
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าพื้นที ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สายส่งเข้าไม่ถึงมาหลายสิบปี จะเป็นพื้นที่ตกสำรวจ เพราะตอนนี้ยังมีชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน ที่ต้องอยู่กับความมืดมิด ดังนั้น ตามที่ รมว. มหาดไทย ระบุว่า การจัดทำโครงการนี้ในรอบเดือน เม.ย. – มิ.ย. ที่มีการตั้งเป้า 3,000 ครัวเรือน นั้น ขอให้ รมว.มท. ช่วยเหลือชาวบ้านป่าเด็งด้วย เพราะแม้ว่าเราจะพยายามจัดหาพลังงานทดแทนมาใช้กันเอง แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ เพราะทุกอย่างมีต้นทุนที่สูงมาก ทำให้พวกเราต้องอยู่อย่างยากลำบากมาอย่างยาวนาน
“ทุกวันนี้พวกเราก็พยายามทำทุกทางเพื่อให้ทุกบ้านมีไฟฟ้าใช้ โดยเฉพาะการฟื้นฟูแผงโซลาเซลล์ ที่เคยได้รับแจกจากนโยบาย Solar home ในปี 2544 ซึ่งพังไปแล้ว แต่เราก็พยายามซ่อมเพื่อให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงการฟื้นฟูดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายถึง 4,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับพวกเราที่มีฐานะยากจน จึงต้องยอมทนอยู่กับความมืดมิดต่อไป ” นายโกศล กล่าว
ประธานเครือข่ายรวมใจฯ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญการสนับสนุนทางเทคโนโลยีครั้งนี้จะไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมาที่แผงโซลาเซลล์ควรจะมีอายุ 20 ปี แต่หมดอายุประกันเพียง 3 ปีเท่านั้น เพราะไม่ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการติดตั้งให้ชาวบ้านฟรีแต่ไม่มีองค์ความรู้ว่าต้องใช้และดูแลอย่างไร จนทำให้แผงโซลาเซลล์พังใช้งานไม่ได้มาหลายปี จนเพิ่งมารู้ว่าความซ่อมได้เพียงแค่เพิ่มอุปกรณ์บางตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้นนี่คือบทเรียนราคาแพงของทุกฝ่าย
“ดังนั้น จากนี้ไปประชาชนจะติดตั้งด้วยตัวเองและใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่ามากที่สุด และคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะทุกบ้านพร้อมเรียนรู้เต็มที่ เพราะไฟฟ้าเป็นประตูในการเข้าถึงเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนพัฒนาตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในอนาคต” นายโกศล กล่าว
บ้านชาวบ้านที่ได้รับการฟื้นฟูแผงโซล่าเซลล์ จนทำให้มีแสงสว่างกลับมาอีกครั้ง
สภาพบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่สายส่งเข้าไม่ถึง ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน
ชาวบ้านป่าเด็งฝึกซ้อมการฟื้นฟูแผงโซลาเซลล์และติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีต่างๆด้วยการลงมือปฏิบัติ เพื่อหวังจะใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่าที่สุด
ตัวอย่างแสงสว่างยามค่ำคืนหลังจากที่ไม่ไฟฟ้าใช้
บรรยากาศการทำงาน ฟื้นฟูแผงโซลาเซลล์ของชาวป่าเด็ง