อาสา Care U ดูแลคนสูงวัย พาไปโรงพยาบาลตามหมอนัด

อาสา Care U ดูแลคนสูงวัย พาไปโรงพยาบาลตามหมอนัด

หมอนัดแม่อีกครั้งกลางเดือนหน้า แต่ช่วงนั้นเราดันต้องประชุมใหญ่ กลัวไม่ว่างจัง ทำไงดี ?
ส่วนใหญ่ตัวเองมีหน้าที่รับ-ส่งพาคุณพ่อไปโรงพยาบาล แต่อาทิตย์นี้ลูกสาวป่วย ใครมาช่วยได้บ้าง ?
ช่วงนี้งานยุ่งมาก ลาบ่อย ๆ ไม่ค่อยสบายใจเลย แต่เป็นห่วงยายต้องไปหาหมอตามที่หมอนัด
CR : https://pantip.com/

..ไม่ว่าประโยคเหล่านี้จะถูกบรรยายด้วยถ้อยคำแบบไหน แต่ทั้งหมดล้วนมีความหมายแบบเดียวกัน คือ วันเวลาที่สะดวกไม่สอดคล้องกับภารกิจ

ถ้าเป็นช่วงเวลาของชีวิตตอนนี้ของผู้เขียน คงมีนัดหลายนัดที่สำคัญ (เช่น นัดสัมภาษณ์งานในบริษัทที่ใฝ่ฝัน นัดกินข้าวกับครอบครัว  หรือนัดเจอเพื่อนฟูงที่ไม่ได้เจอกันนานมากแล้ว) แต่การที่หมอนัดไปโรงพยาบาล คงยังไม่เกิดขึ้นกับวัยตัวเอง จะมีก็แต่ในเวลานี้ที่พ่อแม่ ยายตา ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่ตัวเราเองก็นับนิ้วได้เช่นกันว่าไปส่งคนที่เรารักกี่ครั้ง message ครั้งหนึ่งจากแม่ว่า “แม่อยู่พยาบาลนะ มาคนเดียว” สิ่งนี้ทำนึกขึ้นได้ว่าถึงช่วงชีวิตที่เราโตขึ้น มีเวลากับครอบครัวน้องลง และพ่อแม่เราแก่ตัวลงในทุกวัน ที่ว่ามาล้วนเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาสาหรือโมเดลที่สร้างขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ในตอนที่ลูกหลานไม่อยู่บ้านเพราะต้องทำงาน หรือผู้สูงวัยที่ต้องอยู่ตัวคนเดียว

หากเรามองสังคมสูงวัยในประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมที่การก้าวสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ แน่นอนเมื่อสังคมเปลี่ยน อะไรหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนตาม

  • ขณะที่ตัวเลขของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2562 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 66.5 ล้านคน เฉพาะผู้สูงอายุมีมากถึง 11.1 ล้านคนหรือคิดเป็น 16.73%
  • ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปัจจุบัน พ.ศ.2563 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน หรือราว 18% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มเป็น 20% ในปี พ.ศ.2564 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ.2565 และในปี พ.ศ. 2573 จะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 26.9 ของประชากรทั้งประเทศ

จังหวัดเชียงใหม่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุเป็นอันดับ อันดับ 3 ของประเทศ

– ข้อมูลตัวเลขผู้สูงอายุในจังหวัดเชียงใหม่ จากสำนักงานสถิติ จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันเชียงใหม่ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุปี พ.ศ. 2562 นั้น ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 333,692 คน หรือร้อยละ 18.8 จากจำนวนประชากรกว่า 1,779,254 คน จากตัวเลขพบว่า

  • มีผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพปีที่ผ่านมาราว ๆ 274,988 คน
  • มีผู้สูงอายุผู้ป่วยที่ติดเตียง ป่วยเรื้อรังมี 1,397 คน
  • มีผู้สูงอายุที่ต้องเร่ร่อน ขอทาน มี 36 คน
  • มีผู้สูงอายุที่พิการขาดแคลน 611 คน
  • มีผู้สูงอายุที่ต้องหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว สูงขึ้นตั้งแต่ปี 59 มีจำนวน 122,862 คน – ปัจจุบัน 148,904 คน
  • มีผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจกว่า 235,983 คน
  • สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ จ.เชียงใหม่ พบอีกว่า เมื่อพิจารณาครัวเรือนผู้สูงอายุอยู่กับเด็ก ๆ และอยู่ตามลำพังกับคู่สมรสเฉลี่ย 5,821-5,908 ครัวเรือน กลุ่มครอบครัว ยากจน พบมีจำนวน 3,804 ราย

จากข้อมูล ดูเหมือนว่าสังคมไทยต้องการระบบที่ตอบโจทย์เรื่องการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่อยู่โดยลำพัง มีปัญหาเรื่องสุขภาพร่างกาย ประชาชนไปต่อวันนี้…..ผู้เขียนเองชวนไปดูโมเดลที่น่าสนใจของการรวมกลุ่มกัน ของผู้สูงอายุในที่ชุมชนหมื่นสาร ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่นั่นเขามีอาสา Care U ดูแลกลุ่มสูงวัยพาไปพบหมอตามนัด ข้อมูลจาก กลุ่ม อสม. ที่ลงพื้นที่สำรวจ พบว่า ที่ตอนนี้ชุมชนหมื่นสาร  มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าคนวัยหนุ่มสาว และบางคนไม่มีครอบครัว และลูกหลานอยู่ไกลไปทำงานอื่น ๆ  เมื่อเวลาป่วยไข้ไม่สบาย จึงต้องไป รพ.เอง ชุมชนหมื่นสาร บ้านวัวลาย ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ ในพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุจำนวน 220 คน แบ่งเป็น ชาย 80 คน หญิง 140 คน

กลุ่ม อสม. ซึ่งรวมกันภายใต้ชื่อ “กลุ่มฮักหมื่นสารบ้านวัวลาย” เป็นกลุ่มแม่ ๆ วัย 60 + กลุ่มเกิ้ลกรุ๊ปใจเกินร้อย รวบรวมสมาชิกตอนนี้สมาชิกมีประมาณ 20 คนเป็นทั้งผู้สูงอายุ วัยกลางคนและคนในชุมชนใกล้เคียงที่เห็นว่าโครงการนี้ดี “โครงการอาสา Care  U พาผู้สูงวัยไปโรงพยาบาลตามหมอนัดเพื่อดูแลกันในชุมชน”

“ตอนนั้นพี่ขับรถเครื่องไปกาด หันคุณยายยืนรอรถเป็นคุณยายแถวบ้าน ถามแกว่าไปไหน แกตอบว่าไปหาหมอ พี่ไปตลาดกลับมาเกือบครึ่งชั่วโมงปรากฏว่าแกยังยืนอยู่ที่เดิม พี่ก็คิดแล้วว่าต้องลองทำอะไรสักอย่างเพื่อวันหนึ่งเราก้ต้องเป็นผู้สูงอายุเช่นกัน” พี่องุ่นผู้เริ่มต้นโครงการและหนึ่งในอาสา Care-U เชียงใหม่ อาสาพาไป รับ-ส่ง ดูแลผู้สูงอายุไปตามหมอนัดเล่าให้เราฟัง

พี่องุ่นผู้เริ่มต้นโครงการอาสา Care-U เชียงใหม่ อาสาพาไป รับ-ส่ง ดูแลผู้สูงอายุไปตามหมอนัด

พี่องุ่นเล่าให้ฟังอีกว่า “ส่วนตัวพี่เองก็พาแม่ไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ บางทีเราเห็น ผู้สูงอายุต้องมาโรงพยาบาลคนเดียว ยืนรอรถสาธารณะข้างถนนบ้าง บางคนไปไม่ค่อยถูก จะเงอะๆ งะๆ เราเข้าไปคุยเขาก็บอกว่า เออ ไม่มีคนพาไป ลูกหลานไปทำงาน ไม่ว่างบ้าง อะไรบ้าง เราก็คิดว่า เอ้อ ถ้ามีคนไปด้วยก็ดีเหมือนกันนะ” เลยคิดตั้งกลุ่มในชุมชนวัดหมื่นสารของเราขึ้นมา

ชุมชนวัดหมื่นสารเป็นหนึ่งในชุมชนวัวลาย จะประกอบด้วยทั้งหมด 3 ชุมชน ซึ่งประกอบด้วย ชุมชนศรีสุพรรณ ชุมชนหมื่นสาร และชุมชนนันทาราม ตั้งอยู่ในตำบลหายยา เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ ติดกับประตูเชียงใหม่ บริบทส่วนใหญ่ของผู้คนที่นี่จะเป็นสังคมเมือง ที่นี่มีเครื่องเงินวัวลาย ที่เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ คนในชุมชนบ้านวัวลายส่วนใหญ่ ยึดอาชีพทําเครื่องเงินเป็นทั้งอาชีพหลัก และอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว แต่หลาย ๆ คนที่ทำอาชีพนี้เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนอายุที่มากขึ้นกลายมาเป็นปราชญ์ในชุมชน และในปัจจุบันคนในชุมชนส่วนใหญ่บอกว่าลูกหลานของเขาหลายคนออกไปทำงานนอกบ้าน และสัดส่วนผู้สูงอายุมีมากกว่าคนหนุ่มสาว

ยังไม่มองเป็นธุรกิจ แต่ทดลองอาสาก่อนเพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง….

“พี่องุ่นทำตรงนี้มาได้เกือบปีแล้ว ต้องบอกก่อนว่าบริการนี้ยังไม่ได้เป็นอาชีพที่มีรายได้ แต่ทดลองการทำด้วยอาสา ยังไม่ได้ทำเป็นเชิงธุรกิจใหญ่อะไรแบบนั้น แต่การมาทำงานตรงนี้มันย่อมมีค่าใช้จ่าย จริง ๆ มันจะเป็นงานบริการจิตอาสาก็พูดได้ไม่เต็มปาก แต่เราทดลองทำในพื้นที่ชุมชนเราก่อนวงแคบคือในชุมชนวัดหมื่นสารของเรา คนที่ติดต่อเข้ามาส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกหลานที่มีความจำเป็น ไม่สามารถมาโรงพยาบาลเป็นเพื่อนได้ หรือบางทีก็เป็นสามีหรือภรรยาที่ติดภาระงาน หรือตัวผู้สูงอายุเองที่อยู่คนเดียว ติดต่อเข้ามา ในการซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายตรงนี้เรากลุ่มฮักหมื่นสารช่วยกัน และจากคนในชุมชนเอง” คำพูดของพี่องุ่นหนึ่งในอาสา

โฟลการทำงานตรงนี้ไม่เยอะ ในทุกต้นเดือนจะขึ้นโพสต์ให้มาลงทะเบียน ทางทีมงานจะได้ดูว่ามีคิวตามหมอนัดตรงกันหรือไม่ คิวใครที่เท่าไหร่เรียงเพื่อที่จะลำดับ เพื่อต้องมีอาสารับหนึ่งถึงสองคนที่ว่างและมาเป็นจิตอาสา ผลัดเปลี่ยนกันวันนี้คนนี้ไม่ว่าง อีกคนหนึ่งไป

“อาสาตรงนี้เป็นงานที่ใช้ใจเป็นอย่างมาก การรับ-ส่งพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล มีเงื่อนไขการบริการนอกเหนือจากการไปส่ง เพราะเราต้องดูแลเขาเปรียบเสมือนญาติคนหนึ่งเลย บางครั้งเรารับงานที่ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ในตอนที่เขาเข้าห้องน้ำ ก็ต้องเข้าไปช่วยเขาด้วย และเราก็มีความรู้สึกอยากช่วยอยู่แล้ว เลยทำให้เราทำได้ ก็ตั้งใจไว้ว่า ตราบใดที่เรายังมีแรงก็จะทำต่อไป ในอนาคตอันใกล้เราก็จะเป็นผู้สูงอายุเหมือนกัน ถ้าไปโรงพยาบาลเองไม่ไหวแล้ว ก็คงอยากให้มีคนไปช่วยดูแลเช่นกัน ตรงนี้ความตั้งใจนี้ก็อยากให้เยาวชนในชุมชนได้เห็นเผื่อวันหนึ่งเป็นรายได้เสริมจริง ๆ และเขาได้รู้จักคนในชุมชนตนเองมากขึ้น ในการทำวันนี้เหมือนเป็นต้นแบบให้เยาวชนดูด้วยอีกทาง”

“อีกหนึ่งความสำคัญที่สุดต้องมีการเชื่อมต่อ เพราะตอนนี้ทำงานกันแค่ในกลุ่มนี้ ตัวเราเองไม่มีความรู้เรื่องการเชื่อมต่อจึงต้องมีทีมงานที่มีความสามารถเข้ามาช่วย ตอนนี้ทีมงานของเราเริ่มเชื่อมเข้าไปในกลุ่ม อสม.ในอนาคตก็อยากจะขยายโครงการรับส่งผู้สูงวัยจากชุมชนหมื่นศาลไปชุมชนใกล้ เคียงอยากให้เป็นโมเดลไปยังชุมชนอื่นหรือให้ลูกหลานในชุมชนเข้ามาสนใจตรงนี้เข้ามาลงทะเบียนเป็นอาสาได้เลย” พี่องุ่นกล่าวย้ำ

พี่องุ่นบอกกับผู้เขียนว่า ปัจจุบันมีน้อง ๆ ในทีมงานพาไปหายยา U2T ได้เข้ามาช่วยประสานงานให้สร้างขึ้นเป็นเพจของตำบลหายยาโดยเฉพาะเพื่อจะให้คนภายนอกได้รู้ว่าในตำบลหายยามีของดีอะไรบ้าง และประสานเรื่องโครงการรับ-ส่งผู้สูงออายุไปโรงพยาบาลตามหมอนัด เพื่อสื่อสารเรื่องราว และขยายกลุ่มอาสาในพื้นที่ใกล้เคียงแต่การจะเข้ามาทำตรงนี้ส่วนใหญ่เราจะเอาคนที่เรารู้จักดีก่อน และเลือกคนในการมารับส่งผู้สูงอายุอีกที

ผศ. ธันวา เบญจวรรณ // หัวหน้าโครงการชุมชนช่างเครื่องเงินเครื่องเขิน ตำบลหายยา จังหวัดเชียงใหม่ สู่การท่องเที่ยวอัจฉริยะสนับสนุนเมืองมรดกโลก เมืองสร้างสรรค์ และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม”

ผศ. ธันวา เบญจวรรณ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางเราได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชนซึ่งส่วนตัวของน้อง ๆ ยูทูทีเอง ในส่วนของโครงการตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีประมาณ 40 คน ซึ่งบางส่วนเป็นนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และส่วนหนึ่งเป็นบัณฑิตจบใหม่ หลายหลายคนเป็นเด็กที่อยู่ในชุมชนและละแวกใกล้เคียงชุมชนหายยา ก่อนหน้านี้หนึ่งในเป้าหมายของเราคือการลงไปทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชนกับผู้สูงอายุในชุมชน

โครงการ 1 ตำบล1 มหาวิทยาลัย ทางวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับผิดชอบพื้นที่ตำบล “วัดเกต และ หายยา” ในพื้นที่ตำบลหายยา น้องๆ U2T ได้ทำหลายอย่าง

  1. รวบรวมข้อมูลในตำบลทั้งหมด เพื่อนำเสนอเป็นรูปแบบ แผนที่ & e-book
  2. มีกิจกรรม ทำปุ๋ยหมัก & ปลูกผักสวนครัว
  3. โครงการพาผู้สูงวัยไปโรงพยาบาล
  4. โฆษณาเครื่องเงิน เครื่องเขิน ในตำบลหายยา
  5. วิดีโอโปรโมท พื้นที่ตำบลหายยา

ตัวโครงการพาผู้สูงวัยไปโรงพยาบาล หลังจากที่เราลงเก็บข้อมูลแล้วพบว่ามีคนสูงอายุอยู่เยอะมากในชุมชนนี้ แล้วมีกลุ่มคนที่เป็นอาสาสมัครที่อยู่ในชุมชนอยู่แล้วเห็นว่าเห็นว่าปัญหาอย่างหนึ่งในการอยู่ร่วมกับชุมชนในเขตเมืองคือการไปเรื่องของสุขภาพการไปโรงพยาบาลของผู้สูงอายุ การไปพบหมอของผู้สูงอายุหลายคนเป็นปัญหา ทีมยูทูทีเราเลยคุยกันว่า จะทำยังไงจะเสริมให้สิ่งที่มีอยู่แล้วทุกอย่างดำเนินอยู่แล้วในชุมชน ซึ่งชุมชนนี้เองเป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงแล้วเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่ในเรื่องนี้จะทำยังไงที่จะสื่อสารให้คนภายนอกได้ร่วมรับรู้และช่วยกันเติมเต็ม

อย่างแรกเลยคือต้องสื่อสารตีฆ้องร้องป่าวให้คนเข้าใจจริงๆให้ได้ว่าในชุมชนนี้มีปัญหาแบบนี้อยู่จริงๆโดยการเก็บข้อมูลและมีการช่วยเหลืออยู่จริงอย่างไร เพื่อจะได้ดูว่าจะหาเครือข่ายและมีกระบวนการช่วยเหลือเชื่อมโยงกันอย่างไร อย่างอื่นอีกที่จะทำให้งานอาสาตรงนี้มันไกลและยั่งยืนต่อไปได้

อว. เองพยายามจะให้ทีมยูทูทีแต่ละคนจัดเก็บจัดเก็บข้อมูลที่เป็น big data ทั้งหลาย ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเพื่อจะเอามาใช้ประกอบในการตัดสินใจเช่น จำนวนประชากรโครงสร้างประชากร อาชีพ รายได้ ข้อจำกัดอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน มันน่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้พื้นที่ตรงนี้นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจแบบอื่นแล้วน่าจะเป็นชุมชนที่สามารถท่องเที่ยวได้เพราะมีงานฝีมือและมีสล่าในชุมชน กรณีนี้คือเรานำข้อมูลตรงนี้เก็บมาแก้ปัญหาส่วนนึงแล้วก็เก็บเข้าคลังข้อมูลอย่างกรณีของผู้สูงอายุในชุมชนอันนึงก็เป็นอันหนึ่ง ไม่มีใครทราบตัวเลขที่แน่นอนว่าตัวเลขที่อยู่จริงกับตัวเลขประชากรแฝงอันไหนแท้ อันไหนไม่แท้ ถ้าเราได้ข้อมูลชุดนี้ออกมาและปัญหาจะทำให้ประโยชน์เกิดขึ้น

“พาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล” บริการรับจ้าง ตอบโจทย์สังคมสูงวัย

มีความเป็นไปได้ที่โครงการนี้ของชุมชนจะเป็นรายได้ได้ ตอนนี้ในประเทศไทยอยู่ในสภาวะของคนทำงานจิตอาสาเยอะ ใช้ความมีจิตใจมีศีลธรรมความเป็นญาติพี่น้อง ก็เลยจะเกิดจิตอาสาแต่ทีนี้ประสบการณ์ที่ผ่านมาจิตอาสาเองไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด และต่อเนื่องยาวนานมันจะมีข้อจำกัดของการเป็นจิตอาสา จริง ๆ แล้ว เราสามารถนำโมเดลเพื่อธุรกิจที่สังคมมาจับตรงนี้ได้เพราะเราจะทำอะไรก็ตามถ้าจะช่วยคนอื่นได้ตัวเองต้องอยู่รอดด้วยในยุคปัจจุบัน ตรงนี้เป็นไปได้หรือไม่ถ้าการเอาผู้คน ที่เป็นคนเท่าคนแก่คนชราไปหาหมอนอกจากเป็นจิตอาสาแล้วต้องมีงบประมาณส่วนซัพพอร์ต หรือสามารถที่จะทำเป็นธุรกิจได้ เป็นธุรกิจที่มันแฟร์เทรด ไม่ได้หมายความว่าเป็นธุรกิจที่มุ่งผลกำไรอย่างเดียวแต่ทุกคนต้องอยู่ได้ธุรกิจอยู่ได้สังคมอยู่ด้วยตรงนี้เราก็กำลังคุยกันว่านอกจากจะขอความร่วมมือขอความร่วมมือจากเทศบาล

ในเบื้องต้นแล้วที่จะผ่านเรื่องของสวัสดิการต่าง ๆ นานา ที่เข้ามาซัพพอร์ตตรงนี้ แล้วธุรกิจเองสามารถก่อเกิดธุรกิจจริง ๆ ในการพาผู้ป่วยหรือคนที่ต้องนัดหมอผู้สูงอายุที่ต้องนัดหมอไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องไม่ต้องให้คนชราเหล่านี้ควักกระเป๋าเอง แต่สามารถที่จะเอาธุรกิจอย่างอื่นที่จะมาซัพพอร์ตตรงนี้ กิจกรรมหลักการดำเนินงานของธุรกิจ อันนี้ก็กำลังคุยกันอยู่

เพราะกังวลว่าถ้าเกิดเป็นงานจิตอาสาตลอดและต่อไปจะไม่ยังยืนความต่อเนื่องจะหายไป

เพราะจิตอาสาอย่างคนเหล่านี้ ถ้าวันหนึ่งเค้าต้องไปทำธุระอื่นหรือต้องย้ายไปที่อื่น แล้วยังไงต่อ? คนรุ่นใหม่ก็จะต้องสร้างครอบครัวต้องทำมาหากิน แต่ถ้าสามารถทำมาหากินได้บนหลังการการช่วยเหลือตรงนี้แล้วอยู่ในชุมชนได้มันจะดีมาก อันนี้เป็นโปรเจคต่อไปที่น้องน้องเสนอขึ้นมาแล้วเราจะคุยกันว่ามันสามารถทำได้จริงไหมในหลายหลายส่วนโดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่ต้องเข้ามาดูแลซัพพอร์ตตรงนี้

ในอนาคตการที่งานนี้จะสร้างรายได้ขนาดใช้เป็นอาชีพเสริมได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจเป็นอันดับแรก สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นเป็นผู้ให้บริการก็คือ บริการที่เข้าไปสัมผัสกับความทุกข์ของผู้ใช้บริการอยู่ไม่น้อย ในการทำงานบริการพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลนี้ ต้องใช้ความใจเย็น ความอดทน และความเข้าใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความเข้าใจธรรมชาติของโรคต่างๆ ระบบการทำงานของแพทย์ พยาบาล รวมถึงอารมณ์ของผู้สูงอายุด้วย หากมองในอีกแง่ งานบริการนี้กระตุ้นสังคมที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบว่าแก้โจทย์ในพื้นที่ได้ในชุมชนเมือง และคนในพื้นที่ก็สามารถสร้างรายได้ไปในตัว

โมเดลงานแบบนี้น่าสนใจ ปัจจุบันในประเทศไทยและในต่างประเทศมีโมเดลการทำงานแบบนี้ รวมถึงเพิ่มเติมการบริการ เช่น พาไปเที่ยว พาไปทำธุระได้ และผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังก็สามารถเรียกใช้บริการได้ เพราะเป็นงานที่แก้โจทย์ในท้องถิ่น แถมสร้างตำแหน่งงานที่สอดรับกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในท้องถิ่นด้วย อาสาจะยั่งยืนได้ต้องเกิดจากการร่วมไม้ร่วมมือกันในชุมชน และถ้าเด็ก ๆ รุ่นใหม่ในชุมชนเข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับผู้สูงอายุในชุมชนแบบนี้ ไม่ใช่แค่พัฒนางานอาสาให้เป็นรายได้ แต่เป็นการมองเห็นต้นทุนในพื้นที่ เรียนรู้ผ่านงานและหาแนวทางการทำงานในพื้นที่ร่วมกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ