ชุมชนบ้านบัว..ชุมชนต้นแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วม ในวิถีวัฒนธรรมไทย

ชุมชนบ้านบัว..ชุมชนต้นแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วม ในวิถีวัฒนธรรมไทย

ยินดีต้อนรับท่านเข้าสู่บ้านบัว..ชุมชนต้นแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วม ในวิถีวัฒนธรรมไทย

บ้านบัวหมู่ที่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เดิมที..บ้านบัว เป็นป่า โดยมี ปู่ติ๊บ กับย่าสมนา สองผัวเมีย เดิมเป็นคนบ้านตุ่นกลางเป็นคนทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เห็นพื้นที่ป่าแห่งนี้ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการประกอบอาชีพ จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่เป็นคนแรก ปู่บัวก็ได้ ติดตามมาอยู่ด้วย

อยู่มาวันหนึ่งในตอนเช้าปู่บัวได้ลงไปเก็บใบพลู สำหรับการเคี้ยวหมากของคนโบราณ ในขณะนั้นยังเช้ามืด อยู่ๆก็มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้มี เสือโคร่งตัวหนึ่งได้ตะครุบและกัดปู่บัวจนเสียชีวิต 
ชาวบ้านจึงตั้งหมู่บ้านตามชื่อของปู่บัว..ว่า..“บ้านบัว” ..มาจนถึงทุกวันนี้….

ผลงานในอดีตที่ผ่านมาบ้านบัวเป็นหมู่บ้านต้นแบบดีเด่นชนะเลิศตามโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็นเป็นสุข ” และหมู่บ้านพึ่งตนเอง ดีเด่นระดับจังหวัดพะเยา ในปี 2551 และนายบาล บุญก้ำ ผู้นำชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม….แหนบทองคำ…ประจำปี 2551 และล่าสุดได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่นระดับประเทศ เมื่อปี 2553

บ้านบัวมีบ้านเรือนอยู่จำนวน 215 ครัวเรือน จำนวนประชากร 763 คน ประชาชนส่วนใหญ่ของบ้านบัวมีการประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรม เช่น การทำนาทำสวน ปลูกหญ้า เลี้ยงสัตว์ และอาชีพหัตกรรมจักสานไม้ไผ่ โดยมีกลุ่มอาชีพจักสานเข่งไม้ไผ่เป็นอาชีพที่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านมีรายได้จากอาชีพนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ผลิตภัณฑ์ที่เด่นและน่าสนใจของหมู่บ้านนอกจากข้าวอินทรีย์ที่ลือชื่อของหมู่บ้านแล้วผลิตภัณฑ์เข่งและสุ่มไก่จากไม้ไผ่ก็เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้านและเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปเดิมทีเป็นอาชีพเสริมของหมู่บ้านและทำรายได้ให้กับครัวเรือนของบ้านบัวเป็นอย่างดี สามารถนำไปจำหน่ายได้หลายพื้นที่ ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด และปัจจุบันหลายครอบครัวทำกันจนกลายเป็นอาชีพหลักของครอบครัวเลยทีเดียว

ปัจจุบัน..บ้านบัวเป็นต้นแบบและเป็นแหล่งศึกษาดูงานของคนทั่วไป ได้มาศึกษาเรียนรู้วิถีพอเพียงของคนที่นี่ ณ วันนี้มีจำนวนถึง 792 คณะ จำนวน 75,000 กว่าคน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมของหน่วยงานต่าง ๆ อีกด้วย เพราะที่นี่มีวิทยากรของชุมชน และ องค์ความรู้จากฐานเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนบ้านบัว..
ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสถานที่ต้อนรับคณะศึกษาดูงานที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ เป็นสถานที่บรรยายสรุปผลการดำเนินงาน กิจกรรมในชุมชน ทำให้เห็นภาพรวม ก่อนที่ลงเยี่ยมฐานเรียนรู้ของชุมชน …เราไปเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ของชุมชนบ้านบัวกันเลยดีกว่า…
ฐานการเรียนรู้การจักสานเข่ง…..

ชาวบ้านบัวมีอาชีพหลักคือ การทำนา นอกฤดูการทำนา ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านว่างงาน ประกอบกับทางหมู่บ้านมีต้นไผ่รวกที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ และปลูกเพิ่มเติม ในเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่และได้นำเอาต้นไผ่เหล่านั้นมาจักสานเป็นสุ่มไก่ และเข่ง ทำให้มีรายได้มาประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว ต่อมาได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มจักสานเข่งและสุ่มไก่ นับว่าเป็นอาชีพเสริมที่ทำรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดีและมีตลาดรองรับที่แน่นอนและส่งออกจำหน่ายทั้งภายในจังหวัดและต่างจังหวัด
ฐานเรียนรู้ฐานนี้จะสาธิตการผ่าไม้ไผ่โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ชมการรีดตอกไม้ไผ่ด้วยเครื่องจักรกลทุ่นแรง และการจักสานเข่งไม้ไผ่ขนาดต่าง ๆ

ฐานการเรียนรู้การจักสานสุ่มไก่…..ผลิตภัณฑ์อีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังพอๆกับแข่ง นั่นก็คือ “สุ่มไก่”ขั้นตอน วิธีการการจักสานสุ่มไก่ที่ออกมา มีมาตรฐานการวัด และแบบแต่ละขนาด ตามที่ลูกค้าต้องการ สุ่มไก่ที่นี่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพ และความมีมาตรฐานของผลิตภัณฑ์

ฐานเรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ 
นายบุญมี สองคำชุม พ่อตัวอย่างแห่งปี ๒๕๕๔ ของจังหวัดพะเยา พ่อบุญดีท่านอาศัยอยู่ที่บ้านบัวเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ พ่อบุญมีปลูกผักปลอดสารพิษ และทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ(หน่อกล้วยและหอยเชอรรี่) กิจกรรมที่พ่อบุญดีทำ ก็คือ..การปลูกผักปลอดสารพิษ ,การทำปุ๋ยชีวภาพ,การปลูกผักสวนครัว และการเลี้ยงวัว
.

ฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจตามรอยพ่อ…นายเจริญ คำโล ท่านเป็นครัวเรือนต้นแบบชีววิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้นแบบ และ บุคคลดีเด่น ด้านการดำเนินชีวิตตามแนวของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีกิจกรรมในครัวเรือน ประกอบด้วย การลดรายจ่าย..ปลูกผักสวนครัวทานเอง,การเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก,การเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ปลูกองุ่น และปลูกพุทราพันธุ์ใต้หวันที่สวนของพ่อเจริญ คำโล พุทราของพ่อเจริญกรอบ และอร่อยมาก

ฐานเรียนรู้พลังงานทดแทน…นายเสาร์แก้ว ใจบาลมีชื่อเสียงด้านปราชญ์ชาวบ้านด้านพลังงานทดแทนคิดค้นพลังงานทดแทน ด้วยการสร้างเตาแกลบชีวมวล ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและรักษาสิ่งแวดล้อ¬ม ปัจจุบันผลงานของพ่อเสาร์แก้วได้ขยายผลต่อไปยังชุมชนอื่น ๆ พลังงานทดแทนชีวมวลคือ…สารอินทรีย์ทั่วไปจากธรรมชาติที่จะสะสมพลังงานเก็บไว้ในตัวเองและสามารถนำพลังงานของมันที่เก็บสะสมเอาไว้มาใช้ประโยชน์ในตัวอย่างของสารอินทรีย์ตอนนั้น เช่นเศษยาง เศษไม้ เศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรหรือจากการอุตสาหกรรม เช่น ขี้เลื่อย ฟาง แกลบ ชานอ้อย เป็นต้น ประโยชน์ของการใช้เตาแก๊สชีวมวลแกลบ..คือลดการใช้แก๊ส LPG ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป

ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน 
ลดการจัดการวัสดุเหลือใช้จากโรงสีข้าว 
แก้ปัญหาด้านหมอกควัน 
ลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน 
และส่งเสริมและเรียนรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้าน

ฐานการเรียนรู้ฝายชะลอน้ำ..ชุมชนบ้านบัว เป็นชุมชนที่อยู่ต้นน้ำ โดยมีอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตุ่น อยู่เหนือชุมชน และไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมสำคัญในการอนุรักษณ์ต้นน้ำแห่งนี้ ให้เป็นน้ำสะอาด ปลอดสารเคมีก่อนที่จะไหลลงสู่พื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำ และชุมชนยังได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเก็บรักษาน้ำไว้ในการเกษตรในหมู่บ้าน

ฐานเรียนรู้การเพาะเลี้ยงด้วงกว่าง…นายบรรพต ปัถวีปราชญ์ชาวบ้านด้านการเพาะเลี้ยงด้วงกว่าง เป็นการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชุมชน โดยเน้นการรักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์ เปิดให้มีการศึกษาดูงานทั้ง นักศึกษา คนในชุมชนต่าง ๆ ในการเพาะเลี้ยงด้วงกว่างนี้ยังจะช่วยอนุรักษณ์พันธุ์ของด้วงกว่างแล้วยังช่วยในการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์นำไปบำรุงดินได้อีกด้วย

ฐานเรียนรู้การผลิตข้าวอินทรีย์..ชุมชนบ้านบัว มีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์กว่า 1,000 ไร่ ปลูกข้าวอินทรีย์ ปลอดสารเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ทำให้ข้าวอินทรีย์ของบ้านบัว ปลอดสารเคมี ตลอดทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้ข้าวอินทรีย์ของบ้านบัว หอมอร่อย และปลอดสารพิษ มีคุณภาพต่อร่างกาย ปัจจุบันได้ส่งข้าวอินทรีย์ออกจำหน่ายไปทั่วประเทศ

การทำฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่..ได้มีการส่งเสริมอาชีพ และรวมกลุ่มของผู้ที่มีทักษะทางด้านช่าง เพื่อที่จะผลิตฟอร์นิเจอร์นี้ทำจากไม้ไผ่ เช่น แคร่นั่ง ชั้นวางของเป็นต้น

ฐานการเรียนรู้อาชีพการปลูกองุ่น…ชุมชนบ้านบัวแห่งนี้ นักท่องเที่ยวหรือคณะศึกษาดูงาน จะสามารถเข้าเยี่ยมชม เกษตรกรที่ทำอาชีพปลูกองุ่น ของนายปรีชา ใจบาล เกษตรกรแนวใหม่ ที่ได้ศึกษาเรียนรู้การปลูกองุ่น จนได้ผล และสร้างรายได้เป็นอย่างดี และยังสามารถถ่ายทอดไปยังเกษตรกรอื่น ๆ ที่สนใจได้อีกด้วย

ด้านการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว เชิงเศรษฐกิจพอเพียง ทางชุมชนได้จัดบริการ บ้านพักโฮมสเตย์ จำนวน 11 หลัง เพื่อบริการนักท่องเที่ยว หรือคณะศึกษาดูงาน ที่ประสงค์พักค้างศึกษาเรียนรู้วิถีพอเพียงของคนในชุมชน อาทิเช่น ทดลองฝึกฝนการจักสานเข่งหรือสุ่มไก่ หรือการเรียนรู้ทดลองการดำนา หรือเกี่ยวข้าวเป็นต้น

ชุมชนบ้านบัวเป็นชุมชนที่น่าอยู่ คนที่นี่ยึดมั่นในวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ใช้วัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน สร้างความรัก , ความเอื้ออาทร ให้เกิดขึ้นในชุมชน ด้วยการทำงานแบบมีส่วนร่วม ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมไทยโดยใช้ทุนทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงทำให้ชุมชนที่นี่พร้อมที่จะนำไปสู่การพัฒนาในทุกมิติได้

จังหวัดพะเยาได้กำหนดนโยบายให้ชุมชนบ้านบัว เป็นต้นแบบ“พะเยาโมเดล” การพัฒนาการทำงานแบบมีส่วนร่วม และการยึดเหนี่ยววิถีวัฒนธรรมไทย ก็คือทำอย่างไรให้ชุมชนที่มีทุนสังคมที่ดีงาม คือ สังคมที่เข้มแข็ง , สังคมที่รักสามัคคีกัน , สังคมที่ใช้วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกื้อกูลกันเป็นทุนสังคมที่เข้มแข็ง

นำไปสู่การพัฒนาและ จะเกิดผลอย่างน้อย 2 ประการคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับอาชีพรายได้ต่าง ๆ และที่สำคัญคือการดำรงรักษาคุณภาพทางวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามไว้ต่อไป ซึ่งตรงนี้เองเป็นเรื่องที่ จังหวัดพะเยาให้ความสำคัญ ต่อการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน และการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้แนวทางการดำเนินชีวิตที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระดำรัส แก่ชาวไทยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา และพูดถึงอย่างชัดเจน ในวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และยึดมั่นยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์

ความพอเพียงจึง หมายถึง ความพอประมาณ , ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็น ที่จะต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว…ชุมชนบ้านบัว ถือเป็นต้นแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วม ในพิธีวัฒนธรรมไทย ยึดปัญหาและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก มีกระบวนการทำงาน โดยยึดชุมชนยึดพื้นที่ เป็นหลักเป็นการทำงานแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมของประชาชน
มีกระบวนการทำงานขับเคลื่อนให้ชุมชน มีการคิดร่วมกับชุมชน วางแผนร่วมกันของชุมชน และแก้ปัญหาร่วมกัน ในรูปของการจัดทำแผนชุมชน และเชื่อมโยงไปสู่การทำแผนท้องถิ่น การพัฒนาอำเภอและแผนพัฒนาจังหวัด

อย่างไรก็ตามความสำคัญ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเขารู้จักความเข้มแข็งที่เขามีอยู่ ใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ การบริหารจัดการร่วมกัน การพึ่งตนเองได้ให้ได้ และให้เกิดผลต่อการพัฒนาที่ดีขึ้น ใช้ภูมิปัญญาให้เขาภูมิใจในตัวเขาเอง โดยใช้วัฒนธรรมไทยวัฒนธรรมของชุมชน วัฒนธรรมทางสังคมที่ดีงามเป็นตัวสำคัญ ต่อการขับเคลื่อน

บ้านบัวแห่งนี้เป็นชุมชนต้นแบบของการขับเคลื่อน พะเยา model เป็นต้นแบบของการพัฒนาระดับพื้นที่ ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม คือ การส่งเสริมอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบมีส่วนร่วม ภายใต้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่นี่ชุมชนบ้านบัว มีความรักความสามัคคี มีการบริหารจัดการชุมชน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยนำเครื่องมือ คือแผนชุมชน เป็นตัวขับเคลื่อนแสวงหาความต้องความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งร่วมกันรักษา คุณค่าทางสังคมที่ดีงาม อันเป็นแบบอย่างที่ดี

สำหรับกรณี บ้านบัวนั้น มีกิจกรรมหลากหลายกิจกรรม ทั้งที่เป็นผลสำเร็จและเชื่อมั่นว่า บ้านบัวนั้นจะเป็นตัวอย่างในความสำเร็จที่ยึดอยู่บนฐานของความร่วมมือ ร่วมใจ และก็การใช้วัฒนธรรมของสังคมที่ดีงาม บ้านบัว จึงเป็นแบบอย่างของหมู่บ้านต่าง ๆ บ้านที่พัฒนามีความสุขทั้งเศรษฐกิจสังคม ทั้งสิ่งแวดล้อม สั่งแวดล้อมของบ้านบัว เขารักษาป่าไม้ ไม่เผาป่า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมี เพื่อรักษาแหล่งน้ำ ต้นน้ำไว้
การทำงานตรงนี้เองเขาคำนึงถึงตัวเขา และนึกถุงพี่น้องประชาชนที่ใช้น้ำด้วย อันนี้เป็นน้ำใจที่ดีงามเป็นตัวอย่างที่ดี และบ้านบัวในอนาคตต่อไปก็จะเป็นหมู่บ้านตัวอย่างของการท่องเที่ยวในเชิงนิเวศ เป็นหมู่บ้านที่สามารถมาเที่ยว เป็นหมู่บ้านชาวนาไทย เป็นหมู่บ้านตัวอย่างของการใช้รักษาประเพณีที่ดีงาม และก็เป็นหมู่บ้านแห่งความสุข

เราจะเห็นได้ว่า ชุมชนบ้านบัวแห่งนี้มีกิจกรรมการเกษตรที่ใช้นวัตกรรมวิถีชีวิต อย่างมีส่วนร่วม มีการบริหารจัดการร่วม และเป็นสังคมชุมชน ตามการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเสริมสร้างสังคมให้เข้มแข็ง

สามารถเป็นต้นแบบในด้านการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์เกษตรปลอดภัยต้อนแบบหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีวีวิตชุมชน “บ้านชาวนาไทย”เป็นชุมชนแห่งความสุข อย่างแท้จริง

“หากทุกหมู่บ้านทำกันตามศักยภาพ และกำลังความสามารถ ตามต้นแบบชุมชนบ้านบัว แห่งนี้……ก็เชื่อมั่นว่า ชุมชนจะมีอยู่ มีกิน และดำรงอยู่ได้ อย่างมั่นคง เมื่อปากท้องดี ปัญหาอื่น ๆ ก็จะลดลง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้”…….

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ