“ปั๋นอิ่ม” มากกว่าการให้ คือ การสร้างกลไกระบบหมุนเวียนอาหาร

“ปั๋นอิ่ม” มากกว่าการให้ คือ การสร้างกลไกระบบหมุนเวียนอาหาร

แม้มาตรการทางสาธารณสุขในพื้นที่เเดงอย่างจังหวัดเชียงใหม่ จะไม่ติดขัด แต่ผลพวงจากมาตรการ ที่เข้มข้นและยาวนานส่งผลต่อปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำ โดยเฉพาะในชุมชนเมือง อีกทั้งผลผลิตของพี่น้องบนพื้นที่สูงก็เกิดปัญหาผลผลิตคงค้าง ข้างล่างขาดแคลน แต่ข้างบนล้นตลาด ทำให้ทีม “ปั๋นอิ่ม” คิดพยามสร้างระบบให้ปากท้องของคนในชุมชนเมือง และผลผลิตต้นทางไปต่อได้

ช่วงเวลานี้ยังมีหลายคน อดมื้อ กินมื้อ เพราะผลกระทบจากโควิดระลอก 2 เมื่อปลายปี 63 ต่อเนื่องยาวนานจนวันนี้ หลายพื้นที่กำลังแก้โจทย์เรื่องนี้

“ปั๋นอิ่ม” ที่เชียงใหม่ เขาไม่เหมือนการปันอิ่มแบบทั่วไป

พวกเขาทำงานโดย ใช้กลไกการเชื่อมโยง ระหว่างตัวเกษตรกรบนพื้นที่สูง ที่ได้รับผลกระทบในด้านการส่งออก ผลผลิตที่คงค้าง ใช้วิธีการแลกกันโดยอาจจะไม่ได้แลกเป็นตัวเงินแต่ถามถึงความต้องการของคนในพื้นที่นั้น นำผลผลิตที่ได้มาปรุงสุกโดยตั้งครัวปั๋นอิ่มครัวเล็ก ๆ ที่มี พี่ ๆ จำนวนหนึ่งช่วยกันรังสรรเมนูในทุกวัน จันทร์ พุธ ศุกร์​ ทั้งขายให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงอาหารได้ในราคาที่ถูก ตั้งแต่ 5 – 25 บาท และอีกส่วนนำไปแจกจ่ายให้ชุมชนในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ และคนไร้บ้านในเมืองเชียงใหม่ เพื่อลงไปพูดคุยและถามไถ่ เข้าถึงคน เข้าถึงปัญหาที่พวกเขาเจอในตอนนี้ การจัดระบบการแบ่งปันอาหารของ กลุ่มปั๋นอิ่ม จึงสร้างโมเดลตรงนี้ขึ้นมาหวังช่วยเหลือในระยะยาว

ปั๋นอิ่ม คือ ใคร ? ด้วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่หลายคน ลำบากต่อการใช้ชีวิต ที่ผ่านมามีผู้ได้รับผลกระทบมากมายหลายอาชีพ ทั้งแรงงาน ลูกจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนจนเมืองที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเข้าถึง ปัจจัยสี่ทั้งที่อยู่อาศัย อาหารเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค การจัดการโดยรัฐไม่ทันท่วงทีต่อการจัดการความยากลำบากเหล่านี้ ทางกลุ่มของเขาจึงรวมตัวกันขึ้นเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือในด้านปากท้อง ให้เร็วที่สุด

ปั๋น – อิ่ม ภาษาล้านนาแปลว่า ส่งมอบความอิ่ม

อย่างที่บอกว่าเป็นกลุ่มเฉพาะกิจที่เกิดจากการรวมตัวของ นักเคลื่อนไหวทางอาหาร หลายคนมาทำหน้าที่ตรงนี้ที่มีหน้าที่หลักอยู่แล้ว ที่มีทั้ง อาจารย์ กลุ่มผู้ประกอบการ นักศึกษาวมถึงผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมด้านอาหารและเห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่ม นโยบายหลักของกลุ่มไม่เน้นเพียงการแจก ย้ำว่าไม่ใช่การแจก แก่กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้เท่านั้น เพราะมองไปที่การให้ความช่วยเหลืออย่างยั่งยืน โดยจำหน่ายในราคาถูก ให้แก่คนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ และอีกกลุ่มคือองค์กรและหน่วยงานที่ต้องการอุดหนุน อาหารที่ผลิตโดยสมาชิกในกลุ่มเพื่อให้รายได้ส่วนหนึ่งสามารถหมุนเวียนกลับมาจัดเป็นอาหารเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด และระยะยาวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การ “ให้” อย่างเดียวคงอาจจะไม่ยั่งยืนหากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ

ถ้าช่วยให้เข้าใจระบบการประสานงานของอาสา “ปั๋นอิ่ม” กันมากขึ้น

ส่วนแรกปั๋นอิ่ม “ทีมแลก” จะไปเชื่อมโยงพืชผักจากเกษตรกรบนดอยที่ขายไม่ได้  // ทีมนี้จะทำหน้าที่ประสานความต้องการ เช่น ชุมชนเกษตรกรบนดอยต้องการเกลือ หรือน้ำมันพืช ทางทีมก็จะไปจัดหามาแลกกับผักผลไม้ของเกษตรกรที่มี เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบที่ครัวปั๋นอิ่ม

  • การประสานงาน คือ ช่วงแรกผ่านทางกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เข้าไปร่วมกับกลุ่มสนิมทุน ปั๋นอิ่ม เพราะว่าโอกาสนี้จะทำอย่างไรที่จะเชื่อมต้นทางการผลิต กับคนที่อยู่ในเมืองให้สามารถซื้อขาย-แลกเปลี่ยนวัตถุดิบ ในราคาที่ไม่ได้แพง เหมาะกับคนหาเช้ากินค่ำ // ตอนนี้เขาเชื่อมคนบนดอยกับคนในเมืองผ่านผัก ที่ไม่สามารถขายส่งได้และกำลังเริ่มต้นร้านค้าชุมชนเมืองราคาประหยัด  นำพืชผลทางการเกษตรแลกเปลี่ยน  ให้กับคนหาเช้ากินค่ำในเขตเมือง เชียงใหม่ คิดทำระบบการซื้อขายแบบเป็นธรรม คือ ให้ระหว่างคนที่เป็นผู้ซื้อกับเกษตรกรบนดอยที่เป็นคนผลิต ได้ซื้อของที่เป็นวัตถุดิบอย่าง เช่น ผักในราคาที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยใช้ช่วงโควิด เป็นช่วงทดลอง

การเชื่อมของ ปั๋นผัก คือ เกษตร – ขนส่ง (ปั่นอิ่ม) – คนจนเมือง

กลุ่มสนิมทุน ครัวปั๋นอิ่ม สกน. เชื่อมกับเกษตรบนพื้นที่สูง นำผลผลิตคงค้าง แลกเปลี่ยนในรูปแบบถามถึงความต้องการ ขนลงมายังร้านสนิมทุนเป็นพื้นที่กลาง

เช่นที่ อ.อมก๋อย พื้นที่ของอมก๋อยนั้นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร 3 ชุมชน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ได้แก่ บ้านกะเบอะดิน บ้านผาแดง และบ้านแม่ต๋อม ร่วมระดมพืชอาหารจากพื้นที่สูงเข้าสมทบโครงการ “ปั๋นอิ่ม” และ “สู้ภัยโควิดด้วยสิทธิชุมชน” เพื่อช่วยเหลือคนจนเมืองและคนไร้บ้านในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ราคาผลผลิตตกต่ำที่สุด โดยผลผลิตที่ระดมมาได้แก่ ข้าวสาร มะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี ฟักเขียว กะเพราะ แขนง ตะไคร้ ใบมะกรูด ถั่วฝักยาว และหน่อไม้

“ปกติ ผลผลิตเหล่านี้ก็ขายได้ เช่นที่นำมานี้ มีมะเขือเทศ กะหล่ำปลี และอื่น ๆ ที่ในช่วงนี้ราคาตกต่ำ บางผลผลิตล้นตลาดคงค้างอยู่บนส่วน จึงอยากลองเข้าร่วม โครงการปันอิ่ม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่อยู่ในเมือง เป็นผลผลิตที่รวบรวมจาก เกษตรกร อย่าง มะเขือเทศที่นำมานี้ก็นำมาจากสวนของชาวบ้าน เรามองเห็นในตัวปัญหาของพี่น้องที่อยู่ในเมือง ที่บางคนไม่มีแม้แต่ที่ดินทำกิน หรือในตอนนี้ที่ประสบกับผลกระทบทางด้านโควิด-19 เราก็เห็นกันว่าหลาย ๆ พื้นที่ในเมืองได้รับผลกระทบจากโควิดหนักมาก ตกงาน ไม่มีงานทำ พอไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ไม่มีเงินก็ไม่มีข้าวกิน บางคนก็มีลูกหลานต้องเลี้ยง ทางชุมชนเรามีศักยภาพ เรามีพื้นที่ป่า ชาวบ้านใช้พื้นที่ป่าในการสร้างความมั่นคงทางอาหารเหล่านี้เพื่อมาแจกจ่ายคนในเมืองได้ ตรงนี้อาจเป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่ทำให้สังคมได้รู้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์เรามีความมั่นคงทางอาหาร สามารถจัดการตัวเองได้ การเกิดโรคระบาดครั้งนี้ทำให้เห็นชัดเลยว่าเขาแย่ และลำบากกว่าเราหลายเท่า แต่ส่วนตัวเราเรื่องการจัดการ การขนส่งและการตลาดก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องขบคิด” เกษตรกรกล่าว

ต่อมาปั๋นอิ่ม “ทีมครัว” มีหน้าร้านเปิดขายทุกวันค่ะ ขายอาหาร และวัตถุดิบพืชผัก ในราคาย่อมเยาเริ่มต้นที่ 5 บาท แต่ว่าใครที่มีกำลังทรัพย์ จ่ายมากกว่านั้นได้ค่ะ ส่วนครัวปรุงอาหารจะมีขายแค่วันจันทร์ พุธ ศุกร์

สุดท้ายปั๋นอิ่ม “ทีมแจก” ฝ่ายลงพื้นที่ทำข้อมูลในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่แจกจ่ายอาหารที่ปรุง และผักสดพร้อมเก็บข้อมูลในชุมชนที่ไปลงพื้นที่ให้เห็นถึงความต้องการของคนที่กำลังได้รับความเดือดร้อน ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งไปช่วยคนที่ไม่มีกำลังซื้อ แต่ต้องแลกกับข้อมูล เช่น ทำงานอะไร รายได้มีเท่าไหร่ เพื่อทางทีมจะเอาไปออกแบบการช่วยเหลือระยะยาวค่ะ หากชุมชนไหนสามารถนำวัตถุดิบสด ๆ ช่วยกันปรุงเป็นอาหารเมนูต่าง ๆ ได้ และนำไปแจกจ่ายเองในชุมชน

ปลายทาง คือ มากกว่าการแลกเปลี่ยนคือทำให้คนสองกลุ่มนี้รู้จักกันและสามารถเชื่อมโยงผลผลิตกันเองได้ โดยไม่มีตัวกลาง

พี่ยูร วิเชียร ทาหล้า กลุ่มอาสากรีนเรนเจอร์ กล่าวว่า เบื้องต้นกลไกลเหล่านี้ ปลายทางคือการให้คน จนเมือง กับเกษตรกรต้นทางสามารถสื่อสารกันเองได้ เป็นเครื่องมือหนึ่งให้คนในเมืองได้เห็นว่าคนจากพื้นที่สูง มีพื้นที่เกษตร สามารถที่จะผลิตสามารถให้กับคนจนเมืองที่แทบจะไม่มีพื้นที่เลย เชื่อมให้เห็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารมันสำคัญมาก ทั้งเมืองและชนบท มากไปกว่านั้นเองคือการที่เมืองเองจะมีกลไกในการดูแลกันเองผ่านผัก และวัตถุดิบจากพื้นที่ห่างไกล เช่นเขาจะทำเป็นกองทุน ชุมชนต้องเป็นผู้คิดต่อเอง การทำตอนนี้เหมือนเป็นต้นทุนเครื่องมือให้ ชุมชนตั้งไข่

*ในส่วนของอมก๋อยเค้าเจอปัญหา ผลผลิตล้นตลาด ในตอนนี้เป็นลักษณะของการระดมของ เนื่องจากผลผลิตขายไม่ได้ ในระยะต่อไปเป็นเรื่องการเชื่อมตลาดเท่าที่จะสามารถทำได้ จะทำอย่างไรให้ไม่ผ่านคนกลาง คนกิน คนปลูก ได้มาจอยกัน ปั๋นอิ่มเป็นคนเชื่อม ขนให้ก่อน ในอนาคตอีกหวังหนึ่งคือ คือ วิกฤตินี้ทำให้เห็นชัดเจนมาก เรื่องของวิกฤติอาหารของคนในเมือง ภาพชัดเรื่องคนในเมืองไม่ได้มีพื้นที่ในการผลิตอาหารเข้าถึงอาหารได้ในราคาถูก ทำอย่างไรให้คนในเมืองพึ่งตัวเองได้ด้วยในการจัดการพื้นที่อาหารของเขาในเมือง ส่วนการเชื่อมความใกล้ในโปรเจคนี้อาจเห็นภาพไม่ชัด เพราะตัวปันอิ่มเองเน้นตัวชนบทใกล้ ๆ ที่มีปัญหาเรื่องผลผลิตที่ดินเป็นหลัก เพราะยังเน้นตัวกลางเชื่อมเรื่องการขน การส่งลงมาอยู่เป็นโจทย์

พี่ยูร วิเชียร ทาหล้า กลุ่มอาสากรีนเรนเจอร์

แนวทางการแจกจ่ายอาหารของครัวปั๋นอิ่ม ทางกลุ่มมีงบประมาณสนับสนุนครั้งละ หนึ่งพันห้าร้อยบาท ในการทำอาหารจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบชุดในทุก ๆ วัน จันทร์ พุธ ศุกร์ โดยแจกจ่ายสำหรับกลุ่มคนสามกลุ่ม

คือกลุ่มที่ หนึ่ง กลุ่มผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ได้แก่ คนไร้บ้านและแรงงานในเมืองเชียงใหม่ จำนวน 50 ชุด นำไปจำหน่ายในราคากล่องละ 5 บาทโดยมีการจัดต่อโดยโครงการของบ้านเตื่อมฝัน

กลุ่มที่ สอง คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านอาหารในระดับปานกลางถึงมาก เช่น แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง กลุ่มห้องเช่าราคาถูก กลุ่มชุมชนแออัด กลุ่มแรงงานนอกระบบ จำนวน 50 ชุด จำหน่ายราคากล่องละ 20 บาท หากมีความต้องการต่อเนื่องและได้รับผลกระทบมากจะใช้ ระบบคูปอง เพื่อมารับอาหารกับทางกลุ่มในครั้งต่อ ๆ ไปในราคากล่องล่ะ 15 บาท

กลุ่มที่ สาม คือ บุคคลทั่วไป หน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องการ อุดหนุนสามารถซื้ออาหารได้ในราคาถูก แถมยังได้ช่วยเหลือคนทั้งสองกลุ่มข้างบนด้วย จำหน่ายในราคา กล่องละ 25 ห้าบาท ทางกลุ่มบอกว่าบางครั้ง กลุ่มนี้ ช่วยซื้อ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มคนข้างบน

จากการลงพื้นที่ส่งมอบอาหารแบ่งปัน และทำข้อมูลไปด้วยนั้น อาสากลุ่มนี้พบปัญหาที่อยู่ในชุมชนเมือง และพยายามเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาไปยังกลุ่มอาสาอื่น ๆ อย่าง อย่างข้อมูลเบื้องต้นที่อาสาลงสำรวจในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ อาทิ ท่าแพซอย 3 ชุมชนรถไฟ ขนส่งซอย 9 ชุมชนศรัทธาวัดหัวฝาย  พบว่า ชุมชนศรัทธาวัดหัวฝาย ชุมชนนี้นอกจากจะมีคนเมืองแล้ว ยังมีคนชาติพันธุ์ กว่า 69% คนจนเมือง 31% หลายคนตกงานนานกว่า 3 เดือน ส่วนใหญ่อยู่กันเป็นครอบครัว  สามารถจ่ายค่าอาหารต่อมื้อได้ในราคา 10-20 บาท และยังอยากได้ของฟรีอยู่ แต่ยังต้องการข้าวสารอาหารแห้งเพื่อไปประกอบอาหารเอง

หลังจากนี้ทาง ปั๋นอิ่ม ยังเดินหน้านำข้อมูลที่ได้นี้ไปส่งเสริมและแก้ไขปัญหา เช่น การช่วยหาอาชีพ การทำอาหาร ตั้งแต่ปรุง ไปจนถึงการขนส่งเองได้ ขายเองได้ ขยายพื้นที่ครัวปั๋นอิ่ม ให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบสามารถอยู่ในในภาวะวิกฤติ และออกแบบเพื่อวางแผนและเป็นโมเดลการช่วยเหลือ

ทีม ปั๋นอิ่ม กำลังพยายามวางระบบการช่วยเหลือ ที่ไม่มองและแก้ปัญหาตรงหน้า แต่เข้ามาช่วยในการเชื่อมโยงทั้งความเดือนร้อนตั้งแต่ เรื่องผลผลิตจากเกษตรบนที่สูงที่เดือดร้อน เชื่อมโยงการแบ่งปันที่ไม่ได้เป็นเพียงรูปแบบเงินทอง นำมาเป็นอาหาของผู้คนที่มีความลำบากในเมือง โดยปั๋นอิ่ม จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางที่มีอาหารหมุนเวียน และโจทย์ที่ท้าทายตอนต่อจากนี้ คือ การทำให้การเชื่อมโยง ระหว่างชุมชนที่มีความต้องการผลผลิต กับชุมชนต้นทางการผลิต ที่มีระยะทางไม่ไกลกันมากนัก เพื่อลดค่าขนส่ง และคนในชุมชนสามารถเข้าถึงอาหารได้ในราคาประหยัดลง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ