เมื่อ’แรงงานข้ามชาติ’ ติดโควิด รักษาฟรีจริงหรือไม่? กับค่าใช้จ่ายเพื่อมีชีวิต

เมื่อ’แรงงานข้ามชาติ’ ติดโควิด รักษาฟรีจริงหรือไม่? กับค่าใช้จ่ายเพื่อมีชีวิต

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีการจัดการด้านค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่ติดโควิด-19 โดยค่าใช้จ่ายที่รัฐออกให้จะแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ 1.ค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อและค่ารักษาพยาบาลจนครบ 14 วัน (กรณีอาการไม่รุนแรง) โดยเป็นเงินจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 47,990 บาท สำนักงานประกันสังคม จำนวน 36,890 บาท กรมบัญชีกลาง จำนวน 37,740 บาท ผู้มีปัญหาทางสถานะและสิทธิ จำนวน 47,990 บาท 2.ค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อและค่ารักษาพยาบาล ระยะเวลา 19 วัน(อาการรุนแรง) จาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 81,690 บาท สำนักงานประกันสังคม จำนวน 59,390 บาท กรมบัญชีกลาง จำนวน 60,240 บาท  ผู้มีปัญหาทางสถานะและสิทธิ จำนวน 81,690  บาท


ค่าแรงงานขั้นต่ำของแรงงานข้ามชาติในเชียงรายจะได้วันละ 315 บาท

(ภาพถ่ายโดย:นางสาวจิณัฐตา อุทากะ)

เพื่อให้สามารถทำงานและดำรงชีวิตในฐาน “แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายในประเทศไทย” แรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านจะต้องจ่ายค่าขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ค่าใช้จ่ายสำหรับระยะเวลา 2 ปีของแรงงานข้ามชาติทั่วไป 9,180 บาท ส่วนแรงงานข้ามชาติประมง 9,380 บาท โดยต้องเสียค่าตรวจโรคเพิ่ม 100 บาท และค่าหนังสือคนประจำเรือ 100 บาท โดยแรงงานข้ามชาติทั่วไปและประมงต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เป็นค่าตรวจโรค 6 โรค 1,000 บาท ค่าตรวจโควิด 3,000 บาท ค่าทำทะเบียนประวัติ 20 บาท ค่าบัตรชมพู 60 บาท ค่าขอใบอนุญาตทำงาน 1,900บาท) และตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยได้เพิ่มค่าตรวจโควิด 3,000 บาท ในการขึ้นทะเบียนแรงงานไปด้วย

(ที่มา: สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์)
ภาพแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

แรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงราย

ในจังหวัดเชียงรายมีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานทั้งหมดมีจำนวน 26,671คน ตามรายงานของกรมการจัดหางาน เดือนมิถุนายน 2564 หากพิจารณาแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติมาแล้ว จำนวน 17,226 คน พบว่า ส่วนใหญ่ทำงานในกิจการเกษตรและปศุสัตว์ 3,980 คน(ร้อยละ 23.10)รองลงมาคือกิจการอื่น ๆจำนวน 3,603คน (ร้อยละ 20.92)กิจการก่อสร้างจำนวน 2,2556คน (ร้อยละ 14.84)

การระบาดของโรคโควิดที่ตัวเลขคนติดเชื้อและเสียชีวิตยังคงเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นรายวัน แรงงานข้ามชาติมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาหากติดโควิด-19 แรงงานข้ามชาติหลายคนกังวลและไม่กล้าที่จะไปตรวจหรือเข้ารับการรักษาเมื่อรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงหรืออาจจะติดโควิดแล้ว เพราะรายได้ที่มีอยู่อาจจะไม่พอสำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายนี้มีไม่น้อยไปกว่าเรื่องการหาเตียง  เครื่องออกซิเจน การแยกตัว เมื่อติดโควิด-19

นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด – 19  ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติของประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและชุมชนแรงงานข้ามชาติในหลายจังหวัด โดยระลอกการแพร่ระบาดรอบที่ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ในจังหวัดเชียงรายก็มีแรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 37คน ตามรายงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ทำให้ชุมชนแรงงานที่พบผู้ติดเชื้อต้องปิดพื้นที่และจังหวัดได้เพิ่มมาตรการการป้องกันเหมือนพื้นที่ในกรุงเทพฯ แม้จะมีการจัดการในการควบคุม ไม่ว่าจะในรูปแบบของการกักตัว หรือปิดพื้นที่ชุมชนที่พบผู้ติดเชื้อนั้นๆ แต่แรงงานข้ามชาติในชุมชนหลายคนกลับยังมีความกังวลอยู่พอสมควร ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับแรงงานข้ามชาติหญิง ชาวพม่า อายุ 24 ปีเป็นพนักงานรับจ้างรายวัน และชาย ชาวพม่า อายุ 40 ปี ทำงานเป็นพนักงานรับจ้างรายวันเช่นกัน ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาพยาบาลจนหายดีเป็นปกติแล้ว เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเมื่อติดโควิด-19 และเรื่องราวชีวิตบางช่วงบางตอนของพวกเขา เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของพวกเขาในช่วงนั้น

เมื่อแรงงานข้ามชาติติดโควิด-19

“ตัวเองรู้สึกแย่ ไม่มีเงิน แล้วตกงานอีก ไม่รู้จะทำยังไงต่อไป ไหนจะค่ารักษาพยาบาลอีกที่ไม่รู้ราคาในอนาคต

ตูระ (นามสมมุติ) แรงงานข้ามชาติรับจ้างรายวันที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เล่าว่า ตนเองรู้ว่าติดเชื้อโควิด-19 เพราะนายจ้างใหม่ที่จะไปสมัครงานด้วยให้ไปตรวจโรคก่อนเข้าทำงาน เนื่องจากเดินทางมาจากไปเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตูระ ย้ายมาที่จังหวัดเชียงรายเพราะว่าภรรยามีปัญหาเกี่ยวกับงานตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19ที่ผ่านมา งานที่ภรรยาของเขาทำขาดรายได้ เงินเดือนถูกลด ทำให้รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายประจำวัน ตูระมีญาติอยู่ในจังหวัดเชียงรายและได้รับการบอกกล่าวว่ามีงานที่ตลาดที่สามารถเข้าไปทำได้ ตูระและภรรยาจึงเลือกที่จะเดินทางมาจังหวัดเชียงรายและสมัครงาน เพื่อหวังว่าจะมีงานที่มีรายได้มากกว่านี้ ดังนั้น ตอนที่รู้ว่าติดเชื้อโควิดแล้ว จึงเป็นช่วงที่ตูระได้ออกจากงานเก่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และตูระเล่าว่าในตอนนั้นก็ไม่ค่อยมีเงิน และยังไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิรักษาโควิดฟรีเพราะมีประกันสังคม ในที่สุด ตูระได้ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

“ช่วงนั้นเป็นห่วงครอบครัว ญาติมาก เพราะทุกคนได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ไม่ว่าญาติที่ตัวเองเข้ามาอาศัยที่เชียงราย และญาติๆที่ทำงานในตลาดก็ต้องโดนกักตัวไปด้วย เลยทำให้เสียการเสียงานเสียรายได้ไปในช่วงนั้น”

ซานดา (นามสมมุติ) แรงงานข้ามชาติหญิงรับจ้างที่เคยติดเชื้อโควิด-19 อีกคน เล่าว่า รู้ว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 เพราะที่ทำงานให้พนักงานทุกคนไปตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในช่วงการระลอกรอบที่3 ของโควิด-19 ในประเทศไทย ซานดาจึงเป็นหนึ่งในพนักงานที่ติดเชื้อโควิด  และเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

แน่นอนว่าชุมชนที่ทั้งตูระและซานดาพักอาศัยอยู่ก็ถูกปิดทันที เนื่องจากกลายเป็นพื้นที่เสี่ยง และสมาชิกในชุมชนเดียวกันนี้ก็ต้องกักตัวเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ติดเชื้อไปด้วย

(ภาพถ่ายโดย:นางสาวจิณัฐตา อุทากะ)
ภาพนี้แสดงถึงความกังวลด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาเมื่อติดเชื้อโควิด-19

เพราะอะไร แรงงานข้ามชาติจึง ได้รับ “การรักษาโควิด-19 ฟรี”

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการพูดถึงและยืนยันถึงเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลโควิด ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ดังนี้

1. กรณีแรงงานต่างด้าว มีบัตรสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้เบิกจ่ายตามสิทธิ

2. กรณีแรงงานต่างด้าว ไม่มีสิทธิใดๆ ให้เบิกจ่ายจากกรมควบคุมโรค โดยให้ส่งตัวอย่างไปยังหน่วยงานของรัฐ สังกัดกรมควบคุมโรค (สำนักงานป้องกันควบคุมโรค สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และสถาบันบำราศนราดูร) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์) และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (โรงพยาบาลในสังกัด) ตามลำดับ เพื่อความสะดวกในการเบิกจ่ายงบประมาณ

(ภาพถ่ายโดย:นางสาวจิณัฐตา อุทากะ)
รถโรงพยาบาลที่เตรียมพร้อมในการรับผู้ป่วยด้านหน้าของโรงพยาบาล

ซานดา เล่าว่า เธอไม่เสียค่าตรวจในการหาเชื้อโควิด-19 และเมื่อรู้ว่าตัวเองติดเชื้อก็จะมีทางโรงพยาบาลโทรมาบอกว่าติดเชื้อ หลังจากนั้นก็จะมีรถของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมารับที่บ้าน เธอได้เข้าการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(โรงพยาบาลสนาม) ทั้งนี้เมื่อได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลสนามจึงเป็นการนอนรวมกับคนอื่นๆที่ติดเชื้อในห้องเดียวกัน โดยที่ “ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา” ใดๆ ค่ารักษาพยาบาลฟรีในที่นี้รวมถึง ค่ายา, ค่าเตียง, ค่าอาหาร ในการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เนื่องจากมีประกันสังคม ซานดาเล่าว่า ตอนก่อนเข้ารับการรักษา ทางโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจะขอแค่บัตรชมพู (บัตรประจำตัวแรงงานข้ามชาติ) ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านเอกสารต่างๆก่อนเข้ารับการรักษา จะมีก็เพียงค่ารถกลับบ้านจำนวน 200บาท ที่เธอต้องจ่ายเอง ในการไปส่งจากโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงไปยังที่พักของ ซานดา (นามสมมุติ) หลังจากรักษาจนหายดีเป็นปกติแล้ว

ส่วนนายตูระ เล่าว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด-19เอง เป็นเงิน 2,500 บาท โดยได้เดินทางมาตรวจที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และหลังจากทราบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 ก็ได้เข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (โรงพยาบาลสนาม)โดยจะมีรถของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมารับที่บ้าน ในด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาเมื่อติดเชื้อโควิด-19 นายตูระยืนยันว่าตัวเอง “ไม่เสียค่าใช้จ่าย” เนื่องจากตัวเองมีประกันสังคมและประกันสังคมครอบคลุมในการรักษานี้  ได้แก่ ค่ายา ค่าเตียงและค่าอาหาร  นอกจากนี้ด้านเอกสารในการจ้างงานต่างๆ ตอนก่อนเข้ารับการรักษาก็ไม่ได้มีการให้ยื่นอะไรเลยทำให้ไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วยเช่นกันเช่นเดียวกับซานดา ตูระต้องจ่ายค่ารถกลับบ้านจำนวน 200บาท ในการไปส่งจากโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงไปยังที่พัก หลังจากรักษาหายดีเป็นปกติแล้ว  

นอกจากนี้จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณวรนุช ไพรหิรัญ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข ที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สังกัดอนามัยสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงราย เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและงบของสำนักงานหลักประกันตามสุขภาพแห่งชาติในการรักษา เธอกล่าวว่า ในการเข้ารับการรักษาสำหรับคนไทยจะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามเลข 13 หลัก และแรงงานข้ามชาติจะไม่มีสิทธินี้ แต่แรงงานบางคนก็มีสิทธิประกันสุขภาพตามที่นายจ้างทำให้ เช่น ประกันสังคม ซึ่งก็จะมีสิทธิเข้ารับการรักษาฟรีได้เช่นกัน แต่นอกจากนี้อาจจะเกิดเรื่องของค่าใช้จ่ายด้านความเป็นอยู่อาจจะไม่มีอะไรชดเชยให้แรงงานได้

แม้จะได้รับคำอธิบายข้างต้น ผู้เขียนยังคงมีคำถาม “ทำไมถึงรักษาฟรี?” คุณวรนุชได้บอกเพิ่มเติมว่าด้านงบประมาณ “ในส่วนของการช่วยเหลือ รัฐบาลได้กล่าวว่าในกรณีที่เกิดโรคระบาดก็จะมีการยกเว้นในกลุ่มของคนในพื้นที่ที่อยู่ในวงล้อมของโรคระบาด เราจะไม่สนใจว่าคุณจะเป็นคนชาติใด” ดังนั้นภายใต้งบของสังคมสงเคราะห์จะเปิดกว้างในการช่วยเหลือ

ในกรณีของทั้ง 2 คนนั้น เป็นกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งอาจเนื่องมาจากได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดค่อนข้างเร็วและได้รับการรักษาทันที จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่รัฐต้องรับผิดชอบไม่สูงมาก แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีอาการรุนแรง ค่าใช้จ่ายในการรักษาย่อมเพิ่มมากกว่านี้ และแม้ว่าการรักษาพยาบาลจะ “ฟรี” แต่แรงงานข้ามชาติไม่ควรต้องรับผิดชอบจ่ายค่าตรวจเชื้อโควิดในขณะที่ตกงานเพื่อให้สามารถทำงานที่ใหม่ได้ เพราะตัวแรงงานข้ามชาติเองก็มีค่าใช้จ่ายที่มากพอสมควรอยู่แล้ว รัฐหรือนายจ้างควรแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

เสียงสะท้อนของแรงงานข้ามชาติกับ “ค่าใช้จ่าย” ที่ไม่ได้มีแค่ในโรงพยาบาล

นายตูระ(นามสมมุติ) เล่าว่า จากการที่ตกงานทำให้หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบอย่างเช่นการส่งเงินไปให้ครอบครัว ให้พ่อแม่ของนายตูระและลูกอีก2คนที่อาศัยอยู่พม่าเดือนละประมาณ 200,000 จ๊าดพม่า หรือราวๆ 5,000 บาทไทย ทำให้ช่วงที่ตกงานและพบว่าติดเชื้อโควิด และเข้ารับการรักษานั้นไม่สามารถส่งเงินกลับไปได้ และยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเช่าบ้านที่อยู่ในไทยจำนวน 4,500 บาทต่อเดือน ค่ากินค่าอยู่ของตัวเองและภรรยาอีกด้วย

ระหว่างที่นายตูะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ภรรยาของเขาก็ต้องกักตัวไปด้วย ทำให้ทั้ง 2 คน ขาดรายได้ในช่วงนี้ไป

(File Photo: By Nicolas Asfouri / Afp)
การทำงานของแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถ Work from home ได้

ที่สำคัญโดยปกติแล้วงานในภาครับจ้างรายวันอย่างที่นายตูรและนางซานดเคยทำนั้น เป็นงานที่ไม่สามารถ “ทำงานที่บ้าน” หรือ “Work From Home” เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด แบบหลายๆอาชีพ หรือตามที่ ภาครัฐพยายามผลักดันได้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้แรงงานข้ามชาติรับจ้างรายวันต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ค่อนข้างมาก

เมื่อแรงงานข้ามชาติไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ การที่ต้องออกไปทำงานทุกวันเพื่อให้มีรายโดยต้องแลกกับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด จึงควรมีการป้องกันและดูแลครอบคลุมคนกลุ่มนี้ให้มากกว่านี้ ทุกคนมีค่าใช้จ่ายหมด แต่ค่าใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติที่จากรายได้ที่น้อยอยู่แล้วและภาระค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างเยอะ แล้วยิ่งหากติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องกักตัวหรือแม้กระทั่งรักษาพยาบาล พวกเขาต้องรับภาระ ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในรูปแบบของ งาน และ เวลา สำหรับแรงงานข้ามชาตินั้น มันคือโอกาสของเขา

(ภาพถ่ายโดย:คุณออมสิน บุญเลิศ)

“มันกังวลอยู่แล้ว แต่ก็ต้องให้กำลังใจตัวเอง บอกตัวเองว่าสู้ๆ สักวันก็จะผ่านไปได้ และอยากให้ทุกคนมีความป้องกันตัวให้ดีที่สุด เพราะถ้าติดแล้วสำหรับเขามันลำบากมาก ทั้งคนรอบข้างและครอบครัว และยังจะมีปัญหาด้านการงานและเงินทอง มันลำบากไปทุกอย่าง ไหนตัวเองจะหายแล้ว สังคมแวดล้อมก็ยังกลัวเขาอยู่ หรือแม้กระทั่งคนอื่นที่เห็นญาติเขาก็ยังกลัว แล้วไหนจะหางานยากขึ้นอีก”

ความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 ของแรงงานข้ามชาตินั้น แม้ผู้เขียนจะได้รับการยืนยันจากข้อมูลของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเน้นย้ำจากหัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สังกัดอนามัยสิ่งแวดล้อม ว่าแรงงานข้ามชาติสามารถเข้ารับการการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ โดยทางโรงพยาบาลจะทำการเบิกตามวิธีของการเบิกต่อไป ไม่ว่าจะมีประกันสุขภาพหรือไม่มีก็ตาม โดยเห็นถึงความสำคัญของการรักษาฟรีว่าโรคระบาด ไม่เลือกเชื้อชาติ และควรได้รับการรักษาทุกคน เพื่อป้องกันในวงกว้างได้ และก็เป็นสิทธิแรงงานในการเข้าถึงบริการสุขภาพเช่นกัน

ทว่าเรื่องราวจากแรงงานข้ามชาติกลับชวนให้ผู้เขียนได้เห็นในอีกมุมที่ว่า แรงงานข้ามชาติได้รับการรักษาโควิด-19 “ฟรี” แต่ค่าใช้จ่ายที่จะมีชีวิตในยุคโควิดนั้น “ไม่ฟรี”

ผู้เขียน : จิณัฐตา อุทากะ สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกงาน ภายใต้ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ