1 ปี รัฐประหาร | ประชาธิปไตย (อาจ) เป็นมายา เงินตราสิของจริง

1 ปี รัฐประหาร | ประชาธิปไตย (อาจ) เป็นมายา เงินตราสิของจริง

เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ

IMG_07101

22 พฤษภาคม 2558 เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของการทำรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ไม่ว่าคุณจะเป็นฝั่งที่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจครั้งนี้ เพราะคิดว่านี่เป็นทางออกอันสวยหรูที่สุดจากความขัดแย้ง หรือเป็นฝั่งที่ส่ายหน้าด้วยความเอือมระอา เนื่องจากไม่อาจรับได้กับที่มาของอำนาจที่ปราศจากความชอบธรรม แต่เส้นบางๆ ที่น่าจะเกาะเกี่ยวกลุ่มคนทั้งสองไว้ ไม่น่าพ้นเรื่องเศรษฐกิจและปากท้อง ก็ใครบ้างล่ะไม่ต้องใช้เงิน

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาสามาตอบคำถาม 5 ข้อ เน้นๆ เกี่ยวกับเรื่องข้างต้น

01

ระบบเศรษฐกิจในการเมืองแบบปิดที่มาจากการรัฐประหาร กับระบบเศรษฐกิจในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีความแตกต่างกันอย่างไร

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นักวิชาการมีสำนักความคิดหลายสำนัก อย่างที่ถาม อาจอยู่ในทำนองที่ว่าระบบเศรษฐกิจเราค่อนข้างเปิด ทว่าระบบการเมืองเวลานี้เป็นระบบค่อนข้างปิด คือหมายความว่าไม่ได้เปิดให้ใครใคร่ทำทำ ใครใคร่พูดพูด เลยทำให้นักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าระบบเศรษฐกิจกับการเมืองที่ไปในลักษณะคนละปรัชญานั้น มีความลักลั่นหรือขัดแย้งกันอยู่ แล้วตกลงเศรษฐกิจกับการเมือง ระบบไหนมันจะเข้าหาระบบไหน

สำนักความคิดแรกมองในเชิงการเมืองว่าอำนาจรัฐเป็นตัวกำหนดให้กติกาทางเศรษฐกิจปรับตาม แต่อีกทฤษฎีหนึ่งมองว่า ระบบเศรษฐกิจเป็นตัวผลักดันให้การเมืองคลี่คลาย ผมคิดว่าข้อสังเกตอันนี้คงเป็นข้อสังเกตที่ประเมินว่า สถานการณ์ปัจจุบันคือสถานการณ์ที่จะเป็นแบบนี้ไปอีกนาน ซึ่งคิดว่าคงไม่ใช่ ผมคิดว่าระบบการเมืองปัจจุบัน เป็นระบบการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 2 – 3 ปีนี้ ที่เป็นผลมาจากความขัดแย้ง หลังการมีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา จากนั้นก็เป็น 2550 มันคือการปรับตัวทางการเมืองที่มีลักษณะก้าวกระโดดไปในทางเศรษฐกิจ เกิดปัญหาความขัดแย้งแล้วแก้ปัญหาไม่ลงตัว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่วุ่นวายมาก

ส่งผลให้ระบบการเมืองในวันนี้เป็นระบบการเมืองชั่วคราวที่ดำเนินไปเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ แต่การเมืองแบบชั่วคราวที่พูดๆ ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่ามันจะชั่วคราวสั้นหรือยาว บางคนบอกว่ากลางปีหน้าคงมีเลือกตั้ง ระบบการเมืองก็จะปิดไปเลย บางคนบอกว่าต้องรออีก 2 ปี บางคนบอกว่ายังหาความแน่นอนไม่ได้ ฉะนั้น ระบบชั่วคราวของการเมืองไทยวันนี้ เป็นระบบการเมืองที่รัฐเข้ามาควบคุมมากกว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 02

การที่รัฐพยายามเข้ามาควบคุมมากๆ อาจารย์มองว่ามันจะทิ้งอะไรให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต

คือทุกระบบ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลให้กับระบบอื่นอยู่แล้ว เช่น ถ้ารัฐมีอำนาจมากไป รัฐก็จะเข้าไปควบคุมเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจที่เปิดเสรีมากๆ แบบทั่วโลก มันก็มีผลทำให้การเมืองที่เป็นระบบปิดอยู่ไม่ได้ แต่ผมคิดว่าขณะนี้มันยังเป็นระบบซึ่งน่าเห็นใจคนไทยโดยทั่วไป เพราะไม่มีใครรู้ว่าทิศทางอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อไหร่จะเลือกตั้ง หรือแม้แต่เลือกตั้งแล้ว ระบบจะเป็นแบบที่ทุกคนคิดหรือไม่ ก็ไม่รู้

การลองผิดลองถูก ผมคิดว่ามันเป็นช่วงที่ประชาชนสับสน ยกตัวอย่างสภาปฏิรูปที่พูดถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ตกลงจะปฏิรูปอะไร แล้วจะเป็นไปตามการปฏิรูปจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ รู้แต่ว่ามันชื่อปฏิรูป (หัวเราะ) เมื่อนำไปปฏิบัติใช้แล้ว นักลงทุนที่ลงทุนในระยะยาว จะพึ่งพาอาศัยได้แค่ไหน เป็นเกมเศรษฐกิจใหม่หรือเปล่า หรือว่าจริงๆ ไม่ใช่

03

ตัวเลขจาก กรมการจัดหางาน ในปี 2558 ระบุว่า มีการปิดกิจการพุ่งสูงถึง 62% ตัวเลขนี้น่ากลัวไหม

ก็น่ากลัว มันสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ออกมาแล้วว่าการลงทุนตอนนี้หดตัวมาก และถ้าเราวิเคราะห์ลึกๆ พวกที่เป็น SMEs ชาวบ้าน อาชีพอิสระที่ทำแบบนาโนหรือไมโคร พวกนี้ไม่สามารถยกระดับตัวเองให้ทัดเทียมกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้เลย และกำลังล้มหายตายจาก แต่พวกที่อยู่ได้จะเป็นพวกทุนผูกขาด หรือทุนที่ได้สัมปทาน

ตัวเลขมันค่อนข้างไปทางเดียวกัน คือการบริโภคอ่อนกำลัง ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนก็อ่อนกำลัง ตัวเลขรัฐบาลได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ส่วนตัวเลขการส่งออกก็ซบเซามาก ฉะนั้น คาดการณ์ได้เลยว่าสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ประชาชนเดือดร้อน อันนี้ผมคิดว่าไม่ต้องกังวลว่าจะเอาตัวเลขไหนมาบอก มันค่อนข้างชัดว่าขณะนี้เป็นอย่างนั้น แล้วถ้าดูตัวเลขลึกลงไปอีกเรื่องภาษีล่ะ เป็นอย่างไร

ภาระภาษีไปตกอยู่กับชนชั้นกลางเป็นหลักเลย แม้แต่ภาษีใหม่ที่รัฐบาลคิดมาล่าสุด ออกแบบแล้วก็ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ต้องเลื่อนออกไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เห็นชัดเลยว่า องค์กรหรือองคาพยพของระบบเศรษฐกิจและการเมืองทั่วไป ยังอยู่ในภาวะสับสน ไม่ได้อยู่ในระบบที่ปกติ สับสนมากว่า เกมเศรษฐกิจ เกมการเมือง เกมการปกครอง มันจะลงตัวอยู่ที่จุดไหน แล้วเป็นจุดที่ประชาชนยอมรับมากน้อยแค่ไหน และประชาชนที่ว่า จริงๆ แล้วก็ไม่ทราบว่า เป็นประชาชนที่คิดเหมือนกัน มองปัญหาเหมือนกันไหม มันเป็นโจทย์ที่ต้องมองยาวๆ

04

เราควรรับมือกับภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้อย่างไร

ทุกครั้งที่เรามีปัญหา เศรษฐกิจโลกไม่ได้มีปัญหาด้วย แต่วันนี้มันไม่ใช่ เศรษฐกิจโลกมันกลับมาแย่เหมือนเมื่อช่วง 6 – 7 ปีที่แล้ว การแย่รอบนี้ก็ยังไม่ชัดว่านานแค่ไหน ประชาชนต้องระมัดระวังว่าการลงทุนของเรายั่งยืนหรือเปล่า เกิดการแข่งขันได้ไหม ไม่ใช่ว่าเห็นคนอื่นเขาทำร้านกาแฟ เราก็ทำด้วย คนเปิดร้านตัดผมก็เปิดด้วย

คนที่จะบริหารการออมได้ดีก็คือชนชั้นกลาง แต่ถ้าคนที่จนมากๆ ลงมา มันไม่มีเงินออมที่จะไปบริหาร สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยรัฐเข้ามาดูแลเป็นพิเศษ ทุกวันนี้มันน่าเสียดายว่ารัฐก็ไม่ได้ช่วยประชาชนที่ยากลำบาก ในลักษณะที่เอาเครื่องไม้เครื่องมือไปให้ประชาชน มีวิธีการทำมาหากิน มีโอกาสที่ดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่ทำเพื่อให้ประชาชนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือรู้สึกว่ารัฐเป็นอะไรที่พึ่งพาได้

ตรงนี้เป็นความสูญเปล่า ซึ่งมันได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายปีมากแล้ว สูญเปล่าและไม่ก่อดอกก่อผลเลย ประชาชนก็รู้สึกว่าได้รถคันแรกไปแล้ว ได้กองทุนหมู่บ้าน ได้การประกันราคาข้าว ยางพารา ได้ไปหมดแล้ว แต่ปรากฏวันนี้เป็นอย่างไร สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมันไม่เป็นใจ ราคาข้าว ราคายางพาราตก แทบทุกอย่างที่ประชาชนยากจนต้องอยู่กับมัน ลำบากหมดเลย ที่เป็นสินค้าการเกษตร ทุกครั้งที่ราคาตกประชาชนที่อยู่ระดับล่างลำบาก

05

เรื่องเศรษฐกิจเมื่อมองไปยาวๆ ข้างหน้า มันหม่นหมองหรือพอมีแสงริบหรี่
เศรษฐกิจโลกขณะนี้อยู่ในภาวะที่ชะลอตัว ซบเซา เนื่องจากมันผ่านยุคที่เป็นยุคทองมาแล้ว ของไทยก็เหมือนกัน แต่ของไทยเป็นยุคที่กินบุญเก่าเยอะ ฉะนั้น ภาระข้างหน้ามันจะมากกว่าเดิม เดี๋ยวนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมันไม่ใช่ 5 – 7 % แต่จะกลายเป็น 2 – 3% ซึ่งตรงนี้รัฐบาลในอนาคตต้องมีนโยบายระยะยาวอย่างไรเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เอื้ออำนวยกับโอกาสของประชาชน ในระยะสั้น มันก็ไม่พ้นเรื่องดอกเบี้ย ค่าเงิน งบประมาณแผ่นดิน ขึ้นเงินเดือนราชการ ขึ้นค่าจ้างแรงงาน ก็มองได้แค่ประมาณนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงในสังคมไทยคือเรื่องระยะยาวที่รัฐบาลต้องทุ่มเทมากขึ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ