‘ภาษีประชาชน’ สวัสดิการต้องเท่าเทียม

‘ภาษีประชาชน’ สวัสดิการต้องเท่าเทียม

คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

เห็นได้ชัดแจ้งแล้วว่าสถานการณ์ตอนนี้คือ “รัฐบาลถังแตก” จากการออกพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 เพื่อขอขึ้นภาษีในปีงบประมาณ 2562 จาก 7% เป็น 9% ถ้าหากสอบถามประชาชนโดยตามความรู้สึก และจากภาพข่าวการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ผ่านมาที่เน้นหนักไปยังการเสริมยุทโธปกรณ์ของกองทัพเสียส่วนใหญ่ อีกทั้งยังมีแผนจัดซื้ออีกหลายรายการในอนาคต เป็นอะไรที่ประชาชนรับไม่ค่อยได้ เนื่องจากสวนทางกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ราคาพืชผลเกษตรตกลงจนน่าใจหาย ปัญหาภัยธรรมชาติที่รายล้อม

การใช้จ่ายงบประมาณด้วยภาษีของประชาชนเช่นนี้จึงไม่เป็นที่พอใจของชาวบ้านที่ได้ทราบข่าวในแต่ละครั้งที่มีการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ได้ตกมาถึงประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น สถานการณ์การบริหารที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการหลายอย่างออกมาที่หวังจะเป็นการช่วยลดภาระประชาชนแต่กลับไม่สามารถได้ตามวัตถุประสงค์นัก

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่กำลังกล่าวกันถึงว่ารัฐนี้ข้าราชการเป็นใหญ่ เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ยังมีอีกสิ่งที่ประชาชนมีความห่างจากฐานข้าราชการยิ่งขึ้นไปนั้นก็คือ “สวัสดิการ”

ยุคแห่งความต้องการเป็นข้าราชการเพื่อเป็นเจ้าคนนายคนนั้น เคยเบาบางจางลงไปพักใหญ่ คนส่วนใหญ่เริ่มสร้างอาชีพอิสระ สร้างงานมากขึ้น บริษัทเอกชนเริ่มแข่งขันกัน รับคนมากขึ้นมีเงินเดือน มีสวัสดิการพื้นฐานจนทำให้สังคมส่วนใหญ่เล็งเห็นแล้วว่าอาชีพอื่นที่นอกเหนือจากข้าราชการสามารถสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวได้ แต่เมื่อมามองดูปัจจุบันเหตุกลับตาลปัตรผู้คนหันกลับมามองยังอาชีพข้าราชการเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง และรายได้ดี


ภาพประกอบจาก https://thaipublica.org/2015/01/thailandfuturefoundation-2558-2

ผลวิจัยของกองวิจัยการตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน (ปี 2558) ในหัวข้อเรื่อง “การเตรียมความพร้อมเพื่อการศึกษาต่อของนักเรียน ม.3 และ ม.6” พบว่า เป้าหมายในอนาคตต้องการรับราชการมากกว่าที่จะเลือกทำงานในบริษัทเอกชน โดยกลุ่มตัวอย่างจากเด็กนักเรียน ม.3 ร้อยละ 36.03 ต้องการทำงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ส่วนร้อยละ 15 ต้องการทำงานบริษัทเอกชน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างของนักเรียน ม.6 พบว่าต้องการทำงานในหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจร้อยละ 47 ขณะที่ทำงานเอกชนร้อยละ 14

นอกจากการปรับฐานเงินเดือนผู้เข้าบรรจุข้าราชการใหม่ให้มีฐานเงินเดือนที่สูงกว่าเอกชนในหลาย ๆ แห่งแล้ว ถือว่าเป็นการช่วยเหลือข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เข้าทำงานมาในช่วงค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกขณะ แต่ค่าแรงในส่วนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ หรือคนงาน หรือแรงงานนอกระบบ ยังคงต้องทนแบกรับค่าครองชีพที่ขยับขึ้นสูงอยู่ทุกวี่วันแล้ว ยังมีระบบสวัสดิการเข้มแข็ง ดูแล ความเป็นอยู่ของข้าราชการเป็นอย่างดี

หากจะมองงบประมาณรวมประเทศที่ประชาชนทุกคนนำเอามากองรวมกันเพื่อนำไปพัฒนาประเทศหรือที่เรียกว่า “ภาษี” ซึ่งได้แบ่งออกเป็นสัดส่วนตามการแปรญัตติในสภาผู้แทนราษฎร และส่วนหนึ่งได้ตัดออกมาเป็น “เงินเดือนข้าราชการ” และมีอีกส่วนนำมาเป็น “สวัสดิการข้าราชการ” ส่วนที่สองนี่เองที่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ระบบการศึกษา ข้าราชการมีความมั่นคง เข้าถึง การศึกษาของลูกตนเอง มีสวัสดิการอุดหนุนช่วยเหลือค่าเล่าเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนถึงระดับปริญญาตรี ถึงแม้ในระบบใหญ่จะเรียนฟรีหรือไม่ ก็ไม่กระทบกับลูก ๆ ของข้าราชการเหล่านี้

ระบบการรักษาพยาบาล ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบหลายกลุ่มได้เฝ้าระวังการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ และการเรียกร้องให้เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาของเหล่าแรงงานในระบบในสำนักงานประกันสังคม ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาการรักษาพยาบาลของสองกองทุนยังไม่มีประสิทธิภาพและทั่วถึงอย่างเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งแตกต่างจากสวัสดิการของข้าราชการ ที่มีจำนวนคนน้อยกว่าแต่ได้รับงบประมาณสนับสนุนมากกว่า ทั้งนี้สวัสดิการของข้าราชการยังครอบคลุมไปยังพ่อ แม่ ลูก ของตนเองอีกด้วย ดูได้จากแผนภูมิข้างล่างที่แสดงไว้แสดงถึงสัดส่วนจำนวนคนของแต่ละกองทุนได้อย่างชัดเจน (กองทุนของข้าราชการได้รวมจำนวนครอบครัวข้าราชการไว้หมดแล้ว)


ข้อมูลจากโครงการเสริมศักภาพเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (คคสส.)

ระบบในที่อยู่อาศัย ข้าราชการมีพระราชกฤษฎีกาสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2535 อีกทั้งยังมีสวัสดิการค่าเช่าบ้าน (ตามระเบียบที่ได้วางไว้ตามแต่ละคุณสมบัติของแต่ละหน่วยข้าราชการ) หรือยังมีบ้านพักข้าราชการที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี ส่วนประชาชนทั่วไปหากเงินเดือนไม่ถึง ไม่มีสลิปเงินเดือน ลำพังบ้านในโครงการของรัฐยังไม่สามารถใช้สินเชื่อได้เลย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยที่อยู่ปัจจุบันว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ระบบบำเหน็จ / บำนาญ สวัสดิการสุดท้ายที่จะกล่าวถึง เป็นบั้นปลายชีวิตของคน ประชาชนทั่วไปต้องฝากไว้กับบุตร หลาน และเบี้ยยังชีพอันน้อยนิด ซึ่งต่างจากสวัสดิการ 2 กองทุนของข้าราชการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนมากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ใช่ข้าราชการทั่วประเทศถึง 3 เท่า


ข้อมูลจากรายการ Overview ช่อง Voice TV

นั้นคือสวัสดิการหลักๆ ที่ข้าราชการแบ่งเอาเงินงบประมาณจากกอง “ภาษี” แล้วในส่วนของประชาชน ผู้ที่มีส่วนร่วมในการลงขันจ่ายภาษีลงกองกลางได้อะไรกลับมาบ้าง ควรถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนที่ร่วมกันลงขันมากองเป็น “ภาษี” จะได้รับสวัสดิการที่เท่าเทียมกันในทุกกลุ่มคนอย่างทั่วถึง นี่แหละคือจุดลดความเหลื่อมล้ำโดยแท้จริง ยังไม่นับสิทธิ หรือโอกาสอื่น ๆ ที่จัดไว้ให้ข้าราชการจะต้อง “ได้ก่อน”

แต่หากมาดูประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการ ปัญหาคอร์รัปชันในภาครัฐจากผลวิจัยของธนาคารโลก พบว่าไทยตกจากอันดับ 91 เมื่อสิบปีก่อน มาเป็นอันดับ 98 จาก 196 ประเทศ หรือถ้าหากดูจากดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ก็ร่วงจากอันดับ 70 เป็นอันดับ 102 จาก 174 ประเทศ World Economic Forum (WEF) จัดอันดับเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกของข้าราชการไทยอยู่อันดับ 93 จาก 148 ประเทศ อันดับใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย (94) และมาลาวี (92) ซึ่งดูแล้วสวนทางกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของข้าราชการ


ภาพประกอบจาก https://thaipublica.org/2015/01/thailandfuturefoundation-2558-2

ประชาชนคงไม่เรียกร้องมากเกินไปสำหรับขอสวัสดิการพื้นฐานให้เท่ากับข้าราชการเพียงเท่านั้น ในฐานะผู้ร่วมลงขันกองทุนภาษีร่วมกัน หากงบประมาณไม่พอก็ลองพิจารณาสวัสดิการสักอย่างนำร่องแล้วค่อยขยับไปจนสามารถอุดหนุนสวัสดิการให้เท่าเทียมทุกชนชั้น ทุกอาชีพกัน

การที่รัฐบาลเตรียมเก็บภาษีเพิ่มกับประชาชนโดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่าไหร่นัก แต่ที่สำคัญกว่าการขึ้นภาษีนั้นคือ รายได้ของภาษีที่ได้เพิ่มมาจะมีการจัดสัดส่วนเพื่อใคร กลุ่มใดต่างหาก เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนส่วนใหญ่มากน้อยเพียงใด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ