ชลณัฏฐ์ โกยกุล คุยกับวิจักขณ์ พานิช เรื่อง รับน้อง : ระบบอุปถัมภ์

ชลณัฏฐ์ โกยกุล คุยกับวิจักขณ์ พานิช เรื่อง รับน้อง : ระบบอุปถัมภ์

 

รายการพลเมืองข่าว ตอน รับน้อง = ระบบอุปถัมภ์ ? ที่ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน 2557 พูดถึงประเด็นการรับน้องที่สะท้อนสังคมของไทยในมุมที่อาจไม่เคยคิดมาก่อน  ใช่หรือไม่ว่าประเพณีการรับน้องนั้นสะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นภาพเล็กที่สะท้อนภาพใหญ่ของสังคมไทย  พลเมืองข่าวจึงมาพูดคุยกับคุณวิจักขณ์ พานิช  คอลัมนิสต์  นักวิชาการอิสระทางด้านปรัชญา ศาสนา ถึงแนวคิดที่แฝงมากับการรับน้อง

พิธีกร :: เป็นคนหนึ่งที่ผ่านการรับน้องมาแล้ว  ย้อนกลับไปตอนนั้นสักกี่ปีมาแล้ว

วิจักขณ์ :: เข้ามาตั้งแต่ปี 2540

พิธีกร :: รับน้องคณะวิศวะฯ ตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

วิจักขณ์ :: ก็เหมือนที่ดูในสกู๊ปครับ มันก็มีการว้ากสนามแล้วก็มีการพยายามสร้างความสามัคคี ละลายพฤติกรรมเหล่านี้ที่เขาพูดถึงครับ

พิธีกร :: ความรู้สึกตอนนั้นที่เจอการกระทำแบบนั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง

วิจักขณ์ :: ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่าไม่เข้าใจ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ต่อต้าน  คือเราเข้าเป็นนิสิตใหม่มันก็ Blank ไม่ได้คิดไรมากมาย  แล้วก็แน่นอนมันอึดอัดมันเหนื่อย  ไม่เข้าใจ  แต่ว่าหลายๆ อย่างพอมันจบกิจกรรมแล้ว มันก็มีอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกโอเค

พิธีกร :: อย่างที่ชิ้นงานในพลเมืองข่าว การที่ต้องใช้ความรุนแรงในบางครั้ง การว้าก การด่ากัน เป็นเพราะว่าต้องการสร้างความสามัคคี  ให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ที่นี้การที่น้องต้องมาทำอะไรที่มันน่าอาย ดูไร้เหตุผล ไร้ศักดิ์ศรีขนาดนั้น มันจะนำไปสู่การเกิดความสามัคคี อย่างที่บอก เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้จริงๆ เหรอ

วิจักขณ์ :: คือความสามัคคีผมว่าเป็นอะไรที่น่าตั้งคำถาม คือ สามัคคีคือสามัคคีกลุ่มไหนใช่ไหมครับ คือคนที่ยอมเข้าไปในส่วนหนึ่งของการรับน้องรู้สึกสามัคคีแล้วคนที่ไม่เข้าล่ะ คือเราต้องตั้งคำถามว่าสุดท้ายคนพวกนั้นเขาโดน  Threat อย่างไรด้วยนะครับ  ว่าได้รับการ Threat ที่ดีจากรุ่นพี่ในคณะ แล้วคนที่ไม่เข้าเขาเป็นนิสิตด้วยหรือเปล่า  อยู่ในคณะด้วยหรือเปล่า ผมว่าความสามัคคีในไทยมันสะท้อนกันอยู่  คือเราสามัคคีกันในคนกลุ่มหนึ่ง แต่อีกคนกลุ่มหนึ่งอาจจะถูกล่าแม่มด อาจจะถูกอำนาจมืดมาจัดการถ้าไม่เข้าห้องเชียร์

พิธีกร :: ย้อนกลับไปตอนที่เป็นนิสิต ปี 1 เราเข้ากิจกรรมรับน้อง พอปี 2 ปี 3  ได้เป็นส่วนหนึ่งของรุ่นพี่ที่จัดกิจกรรมรับน้องให้กับรุ่นน้องไหม

วิจักขณ์ :: ผมสารภาพเลยว่าผมเป็นส่วนหนึ่งของการรักษากิจกรรมรับน้องนี้ให้คงอยู่ เพราะว่าหลังจากจบปี 1 แล้วเนี่ย ปี 2 ปี 3 ผมเป็นพี่ว้าก เข้าห้องเชียร์แล้วก็เข้าห้องเชียร์เป็นหลัก เป็นแกนนำของคนที่ทำกิจกรรมคณะครับ  แล้วพอปี 4 จริงๆ ผมอยากจะเลิกมาก  เพราะว่าเริ่มตั้งคำถามแล้วก็ไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมรับน้องที่ควรจะเป็นอย่างนี้อยู่ต่อไป

พิธีกร :: กระบวนการที่ว้ากให้กลัวแล้วสุดท้ายมาปลอบทีหลัง ทำไปเพื่ออะไร

วิจักขณ์ :: คือ อย่างที่น้องๆ พูดในสกู๊ปนะครับว่าอาจจะเป็นการละลายพฤติกรรม สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียว  ความรู้สึกของการที่โดนว้ากโดนกระทำแบบนั้นหนักๆ มันจะทำให้คนสยบนะครับ พอถึงจุดๆ หนึ่ง  ไม่สามารถตั้งคำถามอะไรได้ คือมันไม่ make sense ทุกอย่างมันเข้าใจไม่ได้ครับ แต่ว่าเรายอมแล้วก็ไม่มีคำถามจนทุกคนมันอยู่ในสภาพรันทด ไม่มีเสียงของตนเองจนถึงที่สุดน่ะครับ  แล้วเมื่อเราผ่านตรงนั้นไปได้แล้วเนี่ยมันก็จะมีลักษณะการเข้ามาให้ความเข้าใจ การปลอบหรือการสร้างพิธีกรรมบางอย่างที่ให้เรามีความรู้สึกดีขึ้นมาว่าเราได้ผ่านกระบวนการนี้มาแล้ว พอถึงจุดนี้เรามาเฉลิมฉลอง เรามาให้ความรักกับคุณ  ซึ่งคนก็จะพูดว่ากิจกรรมรับน้องมันให้ความรู้สึกดีๆ แต่ process หรือ ขบวนการไปถึงจุดนั้นเราไม่ได้พูดถึงไงว่าสิ่งเหล่านั้นมันก็ได้ปลูกฝัง เช่นการที่เราถถูกกดขี่แล้วเราไม่มีเสียง อย่าไปต้าน เขาจะนำเราไปสู่จุดที่ดีกว่า

พิธีกร :: น่าสนใจว่าสิ่งที่ควรคิดต่อก็คือแล้วคนที่ไม่ยอมรับการรับน้องไม่ยอมเข้าห้องเชียร์ มันจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา อะไรเป็นทางออกสำหรับเขา

วิจักขณ์ :: ใช่ มันไม่มีทางเลือกไงครับ เอาจริงๆ มันไม่มีทางเลือก  แล้วกิจกรรมเราพูดกันเรื่องอะไรใช่ไหม เราพูดเหมือนเป็น welcoming เป็นการรับน้องเหมือนรับเข้าในรั้วมหา’ลัย เป็นกิจกรรมที่เล็กมากและมันไม่ควรเป็นกิจกรรมอะไรที่ใหญ่โตขนาดนี้ครับ  สามารถทำวิธีการได้หลายรูปแบบมากที่ทำให้คนรู้สึกได้รับการต้อนรับและป็นส่วนหนึ่งของสถานบันที่เป็นสถาบันทางวิชาการ ทำประโยชน์เพื่อสังคม เพื่อมนุษยชาติอะไรก็ว่าไป  แต่กลายเป็นว่าเรามาติดค้างกับกิจกรรมอันหนึ่งที่เรามองว่ามันเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นพิธีกรรมที่มีความหมาย ผมว่ามันเกินเลยเถิดเยอะมาก

พิธีกร :: กับเหตุการณ์ล่าสุด ที่มีเด็กวิทยาลัยเทคนิคประทุมฯ  ที่เขาไปรับน้องกันแบบเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ทะเลแล้วก็มีคนเสียชีวิต คือการรับน้องเนี่ยน้องจากระดับคณะแล้วมันก็มีระดับกลุ่มระดับโต๊ะเล็กๆ ด้วย อย่างนี้จะมีการดูแลการเฝ้าระวังอย่างไรในเรื่องของความปลอดภัย

วิจักขณ์ :: คือผมพูดตรงๆ ว่ามันควบคุมยากนะ  คือสุดท้ายแล้วเราไม่รู้ คือมันเป็นกลุ่มไงแล้วเขาก็ยินยอมจะไปกับกลุ่มนี้  แต่ว่าผมสนใจเรื่องสำนึกมากกว่าว่า  สุดท้ายแล้วคนที่เข้าไปอยู่ตรงนั้นแล้วเนี่ยเขาต้องเลิกซะทีครับการทำอะไรที่มันไม่มีความหมาย มันไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา  คือทำไมเราไม่มองกิจกรรมอะไรง่ายๆ เราไม่รู้จักกัน แล้วน้องก็มาใหม่ ถามว่าเราจะทำอะไรดีที่มันมีประโยชน์  รุ่นพี่ได้ประโยชน์ แต่เรามักมองว่าเป็นสิ่งที่เราควรรักษา tradition ให้มันคงต่อไป

พิธีกร :: มีคนพูดกันว่าการรับน้องมันไม่โอเคเลยนะ แล้วมันไม่มีวิธีอย่างอื่นบ้างเลยหรือ

วิจักขณ์ :: ก็อย่างที่ว่าล่ะครับ คือเราจะมองหาข้อดีของมันมันมองหาได้อยู่แล้วอะไรก็ตาม คืออาจจะได้ความรู้สึกดีๆ ความอบอุ่นจากรุ่นพี่รับความช่วยเหลือดูแล  แต่เราไม่ได้มองเพดานใหญ่เลยครับ ว่าเราไม่มีเสรีภาพ  เราไม่มีความรู้สึกแบบเป็นกันเองหรือรู้สึกที่ว่าจะจัดกระบวนการที่มันมีความหมายหรือที่มันมีคุณค่าที่ดีให้เกิดขึ้น  ที่สำคัญนะครับผมไปสอนที่ศิลปากร ผมรู้สึกว่ากิจกรรมพวกนี้มันทำตลอดปีจริงๆ ตีกลอง เต้นไก่อยู่นั่นแหละ  ผมไม่รู้ว่าเขาเอาเวลาที่ควรจะเรียนหนังสือหรือควรจะทำอะไรที่มันมีความหมายสร้างสรรค์อะไรที่ดีๆ  ไปทุ่มเทกับกิจกรรมที่เยอะขนาดนี้ไปทำไม คือถ้าเราคิดว่ามันหาข้อดีในกระบวนการรับน้องมันมีอยู่แล้วครับ  แต่ว่าผมว่ามันได้ไม่คุ้มเสีย

พิธีกร :: ถ้าอย่างนั้นการรับน้องควรจะปรับเปลี่ยนมันให้เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ แบบไหนได้บ้าง ลองให้ไอเดียหน่อยมันจะเปลี่ยนเป็นอย่างไรได้บ้าง

วิจักขณ์ :: มันทำได้เยอะแยะ มากมายครับ กิจกรรมถ้าเราตั้งต้นว่ามันทำอะไรก็ได้ ถ้าเราบอกว่าเสริมสร้างความสามัคคีทำให้คนรู้จักกัน แล้วก็มีความชื่นชมสถาบันหรือความดีงามของสถาบัน ความดีของสถาบันการศึกษาคืออะไร อิสรภาพ เสรีภาพทางวิชาการ การทำงานเพื่อสังคม กิจกรรมที่หลากหลาย พี่ที่จบออกไป คุณมีรุ่นพี่อะไรบ้างที่สามารถเป็นแนวทางตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้น้องๆ พวกนี้สามารถเป็นมันสมองหรือวัตถุดิบให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลาย ทำให้คนรู้สึกภูมิใจว่าเราอยู่สถาบันนี้ เราก้าวเข้ามาสู่สถาบันนี้ แต่เราไม่ได้เริ่มต้นแบบนี้ไง

20141509115502.jpg

พิธีกร :: เหตุการณ์การรับน้องที่ผ่านมาเห็นความไม่เข้าท่าหลายอย่าง สงสัยว่าอย่างนี้ในต่างประเทศเขามีการรับน้องแบบนี้ไหม อย่างตอนที่คุณวิจักขณ์เรียนป.โท ที่อเมริกา สภาพแวดล้อมเขามีเด็ก ป.ตรีที่เข้ามา เขามีรับน้องแบบนี้ไหม เป็นสันทนาการ มีการเฮฮากัน ลักษณะการรับน้องมันเป็นอย่างไร

วิจักขณ์ :: ผมว่ามันแล้วแต่เอกลักษณ์คุณค่าของสถาบัน หรือว่าโปรแกรมต่างๆที่ รุ่นพี่หรือสมาชิกในโปรแกรมนั้นเขารู้สึกภูมิใจ เมื่อคนเรารู้สึกเห็นคุณค่าและภูมิใจแล้วเขาก็อยากที่จะรับคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าและความภูมิใจนั้นใช่ไหมครับ แต่ผมรู้สึกว่าสถาบันของเมืองไทยมองไม่เห็นตัวเองเลยว่าเรามองคุณค่าในทางสังคมยังไงบ้าง มันก็เลยกลายเป็นวัฒนธรรมการรับน้องที่เหมือนๆ กัน เป็นอำนาจนิยมเหมือนๆ กันหมด อย่างต่างประเทศ เขาเรียนอะไร สมมติว่า เขาเป็นนักเขียน วิศวกร คุณมีความภาคภูมิใจไม่ต่างกันนะ ใช่ไหมครับ กิจกรรมมันก็หลากหลาย สันทนาการมันก็มีครับมีกันขำๆ แต่ว่าคือยังไง มันไม่ได้ขำขันกันแบบนี้ แต่มันขำขันโดยเกี่ยวข้องกับวิชาเกี่ยวข้องกับคุณค่าที่เขาถืออยู่อย่างนี้ ผมว่ามันสนุก มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ตรงนั้น มันก็มีเนื้อหาสาระ แล้วเราก็รู้สึกว่าเราได้ประโยชน์จากกิจกรรม มันทำได้หลากหลายมาก ผมไม่อยากจะคิดแทน แต่รู้อยู่อย่างหนึ่งว่าผมอยากจะเน้นให้มันมีทางเลือก เราอยู่ในสถาบันการศึกษาเราควรจะมีเสรีภาพทางความคิด แล้วเมื่อเราตั้งต้นที่จุดนี้ จะทำให้คนรู้สึกว่ามีทางเลือกที่หลากหลายมาก ทุกวันนี้กิจกรรมรับน้องซึ่งมันควรจะเป็นเศษเสี้ยวเดียวของชีวิตในมหาวิทยาลัย มันกลายมาปิดกั้นทางเลือกมากมาย เยอะมากจนมันเกินไป

พิธีกร :: ถ้าเชื่อมโยงจากผลงานพลเมืองข่าว นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัย การที่มีเด็กนักศึกษาปวช.คนหนึ่งตาย คนก็ว่าเรื่องความปลอดภัยกันมากขึ้น ถ้าดูในชิ้นงานมีอาจารย์พูดว่า การรับน้องมันบ่มเพาะวัฒนธรรมหลักของสังคมไทย เรื่องของรุ่นพี่รุ่นน้อง การฝากเนื้อฝากตัวเรื่องของพวกพ้อง ตรงนี้คิดอย่างไร

วิจักขณ์ :: มหาวิทยาลัยมันไม่ควรสร้างความคิดแบบนี้เกิดขึ้น มันควรจะเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจที่ทำให้เราเรียน แล้วมีศักยภาพของเราที่จะออกไป ถ้าเกิดเราไม่มีศักยภาพออกไป หรือมีคนที่มีศักยภาพมากกว่าเรา เราก็ควรที่จะให้เขาได้รับตำแหน่งหน้าที่บทบาท ทีนี้กลายเป็นว่าถ้าเราใกล้ชิดรุ่นพี่คนไหน เราก็จะได้เส้นสายนั้นเข้าไปทำงาน ซึ่งผมว่าจริงๆ มันเป็นความคิดที่ไม่โอเคนะ แล้วอีกด้านหนึ่งถ้าเรามองตรงไปตรงมานะครับ  ผมว่าคำว่ารุ่นพี่รุ่นน้อง ไม่อยากจะพูดคำนี้มันรุ่นแรงเหมือนกันนะว่ามันเหมือนวัฒนธรรมนักเลงเหมือนกันนะ

พิธีกร :: มีคำว่า “การช่วยเหลือกันของรุ่นพี่รุ่นน้อง” มันก็ดีไม่ใช่หรือ

วิจักขณ์ :: ก็เหมือนกันครับ ข้อดีมันก็มองได้ แต่ว่าในโครงสร้างหลักแบบนี้มันไม่โอเคต่อคนอื่น เราไม่ได้เคารพคนอื่น พูดง่ายๆ เราสอนให้คนเห็นแก่ตัว ใช่หรือเปล่าอย่างนี้

พิธีกร :: ถ้าพูดอย่างนี้ได้ไหมว่า มหาวิทยาลัยเป็นโรงบ่มเพาะเลี้ยงอำนาจนิยม ซึ่งสุดท้ายมันก็นำไปสู่ระบบอุปถัมถ์ คอรัปชั่นในที่สุด คือเหมือนเป็นการเตรียมคนเพื่อให้ออกไปเจอกับระบบทางสังคมแบบนี้ มันเป็นคำพูดที่ฟังดูรุนแรงเกินจริงไปไหม

วิจักขณ์ :: ไม่เกินจริงเลยเพราะว่าสิ่งที่คนสะท้อนออกมาว่ามีรุ่นพี่ที่คอยดูแลเราปกป้องเราทุกอย่าง ไม่ได้สนใจนะว่าเรามีความสามารถยังไง เราถูกผิดยังไง คือยังไม่ได้พูดถึงการกระทำ ไม่ได้พูดถึงการทำงานแล้ว เราเป็นอย่างไรอีกใช่ไหมครับ คืออย่างนี้มันชัดเจน คือมันมีคนคอยปกป้องคุณ คอย Support คุณ ให้งานคุณ ส่งเสริมคุณ ถ้าคุณสยบยอมต่อเขา ถ้าคุณ Threat เขา ถ้าคุณเป็นน้องที่ดี เป็นเด็กที่ดีอะไรอย่างนี้ ผมว่ามันชัดเจนนะครับ สร้างวัฒนธรรมของการคอรัปชั่น มันเป็นโครงสร้างคอรัปชั่น

พิธีกร :: ทำไมความคิดที่มันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมแบบนี้มันยังคงอยู่และมันก็ขยายตัวในสังคมในปัจจุบันซึ่งเราอยู่ในยุคที่เราใช้ Line กันมากที่สุด ไม่ได้เกิดในยุคเจ้าขุนมูลนาย เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้วทำไมมันยังอยู่และขยายตัวต่อไปได้

วิจักขณ์ :: เพราะว่ามันถูกจริตกับสภาพสังคมข้างนอกนะครับ วัฒนธรรมข้างนอกมันก็เป็นแบบนี้ อย่างที่เรารู้ว่าสังคมไทยก็เป็นสังคมอุปถัมถ์ แต่ถ้าคุณรู้จักใคร คุณนามสกุลอะไร คุณสัมพันธ์กับใคร มีอะไรที่คนรู้จักอย่างนี้ คือ สุดท้ายแล้วมันง่าย มันไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องต่อสู้อะไร ไม่ต้องยืนหยัดในเชิงหลักการ ความถูกต้อง ความเท่าเทียมกันของคนอะไรอย่างนี้ เมื่อมันเป็นอย่างนี้มา แล้วก็ไหลไปตามมัน สุดท้ายมันง่ายที่สุดที่จะทำแบบนี้ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ผมหวังว่าจะมีใครมาเปลี่ยนนโยบายการรับน้องนะ แต่ผมรู้สึกว่ารุ่นน้องเองแหละที่เข้าไปแล้วรู้สึกว่าเราไม่ได้อยากที่จะรับ ไม่ได้อยากเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ ก็ไม่ต้องเข้าร่วม ก็แค่นั้นเอง

พิธีกร :: แต่มันก็ถือเป็นเรื่องที่ยากมากเลย

วิจักขณ์ :: ใช่มันยาก ถ้าคุณจะทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น มันเป็นเรื่องยาก แล้วหลายๆ ครั้งผมรู้สึกว่าการที่เราจะส่งเสริมกันตั้งแต่มหาวิทยาลัยว่าคุณไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร คุณมีความคิดเป็นตัวของตัวเองได้ คุณก็สามารถยึดในหลักการความถูกต้องแล้วก็สร้างสรรค์กิจกรรมที่มันใหม่ๆ เรากลับไม่ส่งเสริมแนวคิดแบบนี้ตั้งแต่ในมหาวิทยาลัย สุดท้าย พอเราจบมหาวิทยาลัยต่างหากเราก็ค่อยมาต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ ผมว่าหลายครั้งมันก็อาจจะสายไปนิดหนึ่ง

พิธีกร :: ถ้าสรุปอีกที มองเป็นภาพใหญ่ ทางออกของปัญหาเรื่องนี้ให้ย่อยในแต่ละส่วน มองอย่างไร

วิจักขณ์ :: ผมว่า มหาวิทยาลัยควรแสดงออกให้ชัดเจนว่าไม่ได้สนับสนุนกิจกรรมรับน้อง ที่มีนัยยะนิยมเรื่องแบบนี้นะครับ แต่ไม่ต้องมาก้าวก่าย แต่ว่าชัดเจนว่าไม่สนับสนุน เพราะว่ารุ่นน้องก็ควรจะชัดเจนว่าถ้าเราไม่อยากจะเข้าร่วมก็ไม่ต้องเข้าร่วม แล้วรุ่นพี่ ผมพูดในฐานะรุ่นพี่คนหนึ่งว่าถ้าเกิดว่าคุณไม่เห็นด้วยแล้วคุณก็ควรไปปรับเป็นเสียงให้กับคณะ คือ มุมมองผมว่าก็ควรจะเปลี่ยนได้แล้ว พูดนิดหนึ่งครับว่าเรากำลังพูดถึงวัฒนธรรมของการศึกษาในบ้านเมืองเรา แล้วเราพูดเรื่องการศึกษาในแง่มุมเล็กมาโดยตลอดว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการสอน เราต้องมีเทคโนโลยี ต้องมีวิธีการอะไรที่มันอัพเดทมากขึ้น แต่เราไม่เคยพูดถึงสำนึกของการศึกษาเรื่องคนเท่ากัน เรื่องความภาคภูมิใจในวิชาการ เมื่อเราเปลี่ยนจุดเล็กๆ แต่ไม่ได้เปลี่ยนตรงนี้ ผมว่าการปฏิรูปการศึกษาถึงทำทุกปีแต่เรายังมองคนไม่เท่ากัน เรายังใช้อำนาจนิยมกับรุ่นพี่รุ่นน้อง ระบบเส้นสายยังอยู่ ปฏิรูปไปก็เท่านั้นแหละครับไม่มีประโยชน์

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตุกับแนวความคิดที่แฝงมากับการรับน้อง คำถามคงไม่ได้อยู่ที่ความปลอดภัยของการรับน้องหรือไม่เพียงอย่างเดียว แต่คำถามอยู่ที่การรับน้องนั้นสะท้อนภาพใหญ่ของสังคมไทยอย่างไรบ้าง  

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ