ประชาชนไปต่อ : “หนึ่งมื้อมีความหมาย” โรงทานจากใจชาวตลาดนัดสีเขียว จ.ขอนแก่น

ประชาชนไปต่อ : “หนึ่งมื้อมีความหมาย” โรงทานจากใจชาวตลาดนัดสีเขียว จ.ขอนแก่น

โรงทาน หนึ่งมื้อมีความหมาย

ผมยืนอ่านข้อความที่ถูกสกรีนผ่านไวนิลและนำมาแขวนตรงหน้าร้านชำออร์แกนิก ซึ่งเป็นพื้นที่ขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของผู้ผลิตและผู้ค้าผลผลิตอินทรีย์ตลาดนัดสีเขียวจังหวัดขอนแก่น บริเวณริมบึงแก่นนคร โดยสินค้าที่จำหน่าย มีทั้ง นมสด ผักสด ผลไม้ เมล็ดพันธุ์ ของชำร่วยทำด้วยมือ ของชำร่วยรักษ์โลก และสินค้าแปรรูปอาหารทะเลจากชาวบ้านในภาคใต้

แต่ตอนนี้ทุกวันอังคารตั้งแต่เช้าตรู่ พื้นที่เกือบทั้งหมดของร้านได้ถูกปรับสภาพเป็นโรงทาน มีเครือข่ายตลาดนัดสีเขียวที่แทนตัวเองว่าเป็น อาสาสมัคร ทยอยเข้ามาจัดการพื้นที่และเตรียมทำอาหาร สำหรับจัดเป็นชุดเพื่อแจกจ่ายให้กับทุกคนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หรือ รับทราบข่าวก็สามารถมารับได้ โดยทั้งหมดเป็นการระดมทุนช่วยกันของเครือข่ายและการช่วยเหลือบริจาควัตถุดิบ ข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ตามฤดูกาล หรือเครื่องดื่มที่ถูกลำเลียงเข้าออกร้านชำแทบตลอดทั้งวัน

พี่กอล์ฟ จงกล พารา หนึ่งในคณะกรรมการเครือข่ายตลาดนัดสีเขียวและอีกบทบาทก็เป็นแม่ค้าที่มาขายผักออร์แกนิกเป็นประจำทุกวันศุกร์ ได้คุยกับผมขณะที่มือก็ยังสาละวนกับการทำผัดกะเพรา กับข้าวมื้อหลักที่จะแบ่งปันในวันนี้ ซึ่งต้องแข่งกับเวลาพอสมควรเพราะเวลานัดหมายคือ 16.00 น. และไม่อยากให้คนที่มารอ เขาต้องรอนาน

“เราทำมากว่า 3 เดือนแล้ว เพราะเห็นหลายคนตกงานจริง ๆ ไม่มีอะไรกินจริง ๆ เราเองก็พอมีวัตถุดิบจากร้านเลยลองเอามาช่วย ๆ กันก็เลยทำยาวถึงทุกวันนี้”

พี่กอล์ฟ จงกล พารา เครือข่ายตลาดนัดสีเขียว

สี่โมงเย็นวันอังคาร ที่เก่า เวลาเดิม

“ปกติตลาดนัดสีเขียวของเราจะมีทุกวันศุกร์ แต่ที่ร้านชำนี้จะเปิดทุกวันโดยจะรับพืชผักอินทรีย์ของเครือข่ายเข้ามาขายที่ร้าน แต่เราก็มาคิดว่าในภาวะวิกฤติแบบนี้ ช่วงที่มาเกิดระลอก 3 ทีมงานก็มาคุยว่ามีผักเหลืออยู่ในตู้ซึ่งอาจจะไม่ได้สวยแล้ว ไม่ใช่ว่ามันเน่าเสียนะคะ แค่ความสดอาจจะลดลงไป แต่สามารถกินได้สารอาหารครบถ้วน เพราะฉะนั้นเราก็เอามาทำอาหารที่มันเป็นประโยชน์ดีไหม ก็เลยตกลงว่าจะมาทำอาหารช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจากโควิด-19”

จากแนวคิดในการอยากช่วยเหลือทุกคน ก็ทำให้ร้านชำแห่งนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นเหมือนห้องครัวขนาดใหญ่ที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเอง เพื่อที่จะได้จัดชุดถุงอาหารกว่า 150 ชุด หรือบางทีอาจจะมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบในแต่ละสัปดาห์ อาหารแต่ละอย่าง มีทั้ง ข้าวสวย, กับข้าว, ของหวาน และ น้ำดื่ม

เพราะฉะนั้นในช่วงเย็นวันอังคารแบบนี้ตั้งแต่ 15.30 น. ก็จะเริ่มมีคนทยอยมารอคิวที่บริเวณหน้าร้าน ใต้ร่มไม้บ้าง หรือรอที่รถส่วนตัวที่ขับมาบ้าง จากการบอกต่อและเสียงประชาสัมพันธ์จากเครื่องเสียงของร้านชำ

“แรก ๆ ไม่ค่อยมีคนรู้จักมาก เราทำแค่ประมาณ 150 ชุดเอง อาหาร 3-4 ชนิด หลังจากนั้นพอมีคนรู้จักว่าเราทำ ก็มีคนมาร่วมบริจาคร่วมสมทบทุน หรือทำอาหารมาร่วมเลย อย่างวันนี้มีหมูยอมาสมทบ เป็นคนที่เราไม่รู้จักกันเลยนะ แต่เห็นหน้าเฟซบุ๊กพี่กอล์ฟ เขาก็นำมาสมทบม็มี”

หนึ่งมื้อมีความหมาย

กว่าจะเตรียมวัตถุดิบแต่ละอย่างเสร็จก็ใช้เวลาไปเกือบค่อนวันแล้ว หลังจากนี้ก็จะเป็นการแพ็กอาหาร ของหวาน น้ำดื่ม จัดเป็นถุงไว้ เพื่อง่ายต่อการมารับ ฝ่ายแม่ครัวที่ยังคงทำอาหารบางส่วนก็ช่วยกันทำไป ส่วนฝ่ายบรรจุจัดชุดอาหารก็จัดการในส่วนที่เหลือไป ในระหว่างนี้ก็มีหลายคนที่ขับรถมาจอดหน้าร้าน และ ขนของลงมามอบสมทบแทบทุกชั่วโมง

ผมแอบเข้าไปในห้องครัวคุยกับพี่ต๋อย หนึ่งในทีมอาสาครั้งนี้เพื่อคุยถึงหน้าตาอาหารวันนี้และความรู้สึกในการมาช่วยเหลือกัน ปกติพี่ต๋อยขายอาหารและผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ตลาดสีเขียวเป็นประจำ พอถึงวันอังคารก็จะมาช่วยแสดงฝีมือแม่ครัวควบคู่กับทีมอาสาคนอื่น ๆ

“เราก็รู้สึกดี คิดว่าเขาคงจะอิ่มในมื้อนี้ และประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ อย่างบางครอบครัวมี 4 คน ถ้าไปซื้อข้าวกินข้างนอกก็ใช้ค่าใช้จ่ายหลายบาท แต่ถ้ามารับกับเราที่นี่ก็จะมีทั้งอาหาร ของหวาน ผลไม้ บางสัปดาห์ก็มีข้าวสารทำเป็นถุงไว้แจก”

พี่ต๋อย เครือข่ายตลาดนัดสีเขียว

พี่ต๋อยพูดไป ยิ้มไป แม้จะเห็นแค่ดวงหน้าตาเพราะตลอดเวลาต้องสวมหน้ากากอนามัยอยู่ แต่สังเกตจากแววตาและสีหน้าก็พอจับทางได้ว่าเหล่าทีมอาสามาทำด้วยใจและอยากช่วยเหลือทุกคน

“โรงทานหนึ่งมื้อมีความหมาย เราก็คิดว่ามันมีความหมายจริง ๆ เพราะบางคนที่ยากจนจริง ๆ เขาก็ไม่ได้กินข้าวเลย สังเกตจากคนที่มารับทุกสัปดาห์ส่วนหนึ่งเป็นคนจนเมือง คนไร้บ้าน หรือแม้กระทั่งคนขับรถส่งเดลิวีรี หรือช่างรับเหมา เราจะเห็นมาหนึ่งคันรถเลย”

พี่กอล์ฟกล่าวเสริมก่อนจะช่วยกันยกอาหารที่เตรียมไว้ในถุงทยอยออกไปตั้งที่หน้าร้านเพื่อเตรียมแบ่งปันแจกจ่ายตามเวลา 16.00 น. พอดีเป๊ะ

ค่าตอบแทนที่มีค่ามากกว่าเงิน

มองนาฬิกาที่แขวนอยู่ในร้านตอนนี้เวลา 16.00 น. ที่นอกร้านมีหลายคนมากที่มายืนรอ ฝ่ายผู้ชายที่ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานเป็นหลัก เมื่อเสร็จจากการยกของแล้วก็จะมาเตรียมจุดตั้งโรงทาน เปิดเครื่องเสียง ประชาสัมพันธ์พูดคุยกับคนที่มารอ ที่สำคัญคือเรื่องของการรักษาระยะห่างและทำตามมาตรการป้องกันอย่างดี

เมื่อถึงเวลาประกาศ ทุกคนก็ต่างทยอยเข้ามารับ ทั้งคนเปราะบางในเมือง คนไร้บ้าน พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ใกล้ ๆ หรือคนที่ผ่านไปผ่านมา บ้างมาคนเดียว บ้างมากับครอบครัว โรงทานนี้ก็แบ่งปันให้ทุกคนไม่จำกัดอาชีพ ขอแค่รับคนละ 1 ถุง เพื่อที่จะทั่วถึงทุกคน

พอเสร็จสิ้นก็ได้นั่งถามกับพี่กอล์ฟอีกครั้ง ว่าวางแผนจะทำไปถึงเมื่อไร เพราะทุกอย่างที่ทำ ทั้งอาหาร วัตถุดิบ ทุน แรงกาย แรงใจ ทุกอย่างฟรีทั้งนั้น ทุกคนที่มาทำก็ไม่ได้มีค่าตอบแทนอะไร พี่กอล์ฟบอกว่าทุกคนอาจจะไม่ได้รับเงินกลับไป แต่ความสุขที่เห็นเวลาส่งมอบให้มันสำคัญมากกว่าอีก

“มันเป็นภาวะวิกฤติเนาะ เราก็ไม่รู้ว่ามันจะนานแค่ไหน ก็คงจะทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่เราก็ทำมาได้ถึง 3 เดือนและมีคนสนับสนุนเรื่อย ๆ เรามองว่าเราต้องช่วยกัน มันช่วยได้ในกรณีเร่งด่วนแบบนี้ อย่างคนไม่มีข้าวกินเราก็ช่วยเท่าที่กำลังเรามี เราเข้าใจว่าไม่มีคือไม่มีจริง ๆ มันเป็นสิ่งจำเป็น ภาครัฐอาจจะยังลงมาไม่ทั่วถึง เราก็อาจจะเป็นแค่หน่วยช่วยเหลือเล็ก ๆ แต่เราก็อยากเห็นการช่วยเหลือนี้กระจายไปให้ทั่วถึงควบคู่ไปกับรัฐ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ