การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 รอบล่าสุด ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา การระบาดในรอบนี้ได้แพร่ระบาดไปถึงชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นครั้งแรกนับแต่มีการระบาดมา แม้จะมีการปิดหมู่บ้านเฝ้าระวัง แต่ก็ไม่อาจต้านทานการแพร่ระบาดในรอบนี้ได้
นิตยา เอียการนา ผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (สมาคม IMPECT) ให้สัมภาษณ์ถึงปรากฏการข้างต้นว่า
“เกิดกระแสของกลุ่มที่ตกงานแล้วต้องกลับไปอยู่ในชุมชนเยอะมาก กลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มที่อาจจะนำความเสี่ยงกลับไปอยู่ในชุมชน เข้าใจว่าในส่วนของกระบวนการเข้าสู่การตรวจ ทำให้เขาไม่สามารถที่จะตรวจสอบและทำให้ตัวเองรู้ว่ามีเชื้อหรือไม่มีเชื้ออย่างไรบ้างนะคะ พอเกิดขึ้นแล้วมันกระจายไปเร็วมาก กลายเป็นคลัสเตอร์ที่เร็วและใหญ่มากในชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง นั่นเพราะว่าวิถีของชนเผ่าพื้นเมืองบ้านของเราแต่ละหลังไม่มีรั้ว หรือมีวิถีวัฒนธรรมที่ไปมาหาสู่กัน”
เมื่อโรคระบาด โควิด-19 ลามสู่ชุมชน เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง จึงเข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางในการสื่อสารและส่งต่อความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ต่าง ๆ
- เราทำหน้าที่เป็นศูนย์ในการสื่อสารให้แก่ผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาคสิ่งของ อาหาร หรือว่าเงินทอง หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือให้ชุมชนต่าง ๆ ที่เป็นผู้ติดเชื้อให้ได้รับความช่วยเหลือ เช่นในพื้นที่ที่มีกลุ่มผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ตั้งแต่ 50-100 คน ที่ชุมชนจำเป็นต้องเปิดเป็นโรงพยาบาลสนาม กลุ่มนี้ทำให้ชุมชนต้องปิดหมู่บ้าน นิตยา กล่าว
บ้านป่าคาใหม่ ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก คือหนึ่งในพื้นที่ ที่ได้มีผู้ติดเชื้อและมีคำสั่งให้ปิดหมู่บ้านทั้งหมด แต่ด้วยเหตุการณ์กระชั้นชิดการปิดหมู่บ้านทั้งหมดจึงมีความกังวลต่อเรื่องอาหารปากท้อง
ใส่ แซ่ม้า ผู้ใหญ่บ้านป่าคาใหม่ ให้สัมภาษณ์กับทีมงานว่า มีการประกาศให้ปิดทั้งหมู่บ้าน แต่ว่าเรามาดูความจริงแล้วถ้าหากล็อกดาวน์แบบนี้ เราไม่สามารถดูแลลูกบ้านไหว ถ้าเราไปล็อกดาวน์ทั้งหมู่บ้าน 300 กว่าหลังคา คนทั้งหมด 1,800 คน เราจะหาอะไรให้เขากิน ? เราก็เลยล็อกดาวน์ไป 65 หลังคา 75 ครัวเรือน พม่า 35 ครัวเรือน รวมกันทั้งหมด 100 กว่าครัวเรือนที่ถูกล็อกดาวน์ ขณะเดียวกันความช่วยเหลือจากหลากหลายภาคส่วนส่งมายังพื้นที่และมีการกระจายไปยังครอบครัว
…ทางเครือข่ายพี่น้องม้งได้ส่งเงินมาช่วยเหลือ ส่วนสมาคมตระกูลแซ่ม้า หรือม้งหย่างมัวก็ส่งความช่วยเหลือมาจัดเป็นถุงยังชีพเป็นชุด ๆ แล้วหมอก็เอาไปให้ข้างใน ใส่ ยังกล่าวต่อถึงการรักษาตามภูมิปัญญาด้วยว่า หมอสมุนไพรให้สมุนไพรต้มกินมี ขิง ข่า กระชาย ตะไคร้ ใบมะกรูด 4-5 ตัว ดูอาการไม่แรง ใส่ กล่าวปิดท้าย
ในขณะที่หมู่บ้านสถานการณ์ในพื้นที่ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยังมีการพบการแพร่ระบาดโควิด-19 ชุมชนถูกสั่งให้ปิด และอีกหลายชุมชนในพื้นที่ใกก้เคียงเห็นสถานการณ์ไม่ดีนักจึงทำการปิดหมู่บ้านด้วยตนเอง
กุลสุวารักษ์ ปู่ยี บ้านหน่าแปะขะ(แกน้อย) ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์สถานการณ์ในพื้นที่ว่า
ชุมชนที่ถูกสั่งปิดจากหน่วยงานของรัฐหรือว่าคำสั่งของผู้ว่าฯ มีอยู่ 3 ชุมชน ของบ้านแม่แกน้อยที่ปิดกันเอง พอหลังจากที่ทราบข่าวก็จะมีคนเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันนะคะ เราได้เอางบประมาณจากพี่น้องเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ส่งงบฉุกเฉินมาให้เรา ซื้อของใช้ส่วนตัว ซื้อให้ผู้สูงอายุใน 3 หมู่บ้านก ก็มี ชุมชนป่าบงเก่า ป่าบงใหม่ และแม่แกน ก็ได้ทำการแจกจ่ายเรียบร้อยแล้ว
คำสั่งผู้ว่าฯ ให้ปิด 15-28 พอวันที่ 28 เราไม่พบผู้ติดเชื้อแล้วเราก็จะเปิด แต่ตอนนี้เราเปิดไปมาหาสู่กันในชุมชนแล้วสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน แต่ว่าคนนอกชุมชนเราไม่ให้เข้า
กุลสุวารักษ์ กล่าวถึงแผนอนาคตว่า ชุมชนควรจะมีกองทุนฉุกเฉิน เอาไว้หากเกิดขึ้นจริง ๆ จะได้สามารถใช้ได้ทันที ส่วนในระยะยาวเราจะต้องทำเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร เราจะต้องมีข้าว อาหารแห้ง การแปรรูปและถนอมอาหาร มีการคุยกันตลอดในกลุ่มสตรีและกลุ่มชุมชน เราก็ทำอยู่ในการสร้างแหล่งอาหาร
การจะป้องกันตนเองโดยการปิดชุมชนนั้น ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องอาหารปากท้องของคนในชุมชน และนั่นอาจกล่าวได้ว่าชุมชนใดมีแหล่งอาหารที่เพียงพอหล่อเลี้ยงคนในครอบครัว ชุมชน ได้ตลอดการปิดชุมชน ชุมชนนั้นมีโอกาสที่จะรอดปลอดภัย แต่ยังมีโจทย์ที่ใหญ่กว่านั้นคือ เรื่องสิทธิการเข้าถึงที่ดินของชุมชนพื้นเมืองเหล่านี้ยังเป็นข้อจำกัด
นิตยา เอียการนา ผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (สมาคม IMPECT) เล่าว่า สิ่งที่เรามองเห็นแล้วถือเป็นคำตอบที่สุดก็คือ ชุมชนไหนที่ยังมีสิทธิ์ในการเข้าถึง
สิทธิเข้าถึงที่ดินหรือทรัพยากร และก็ยังคงดำรงวิถีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ชุมชนนั้นยังถือว่าอยู่รอดได้ และก็ยังอยู่รอดแบบยาว ๆ ได้ด้วย นิตยา กล่าวปิดท้าย