ชีวิตนอกกรุง : “เจ้าสัวชุมชน” แนวคิดการจัดการกลุ่มสัมมาชีพ ตามแบบฉบับคนนาดอกไม้

ชีวิตนอกกรุง : “เจ้าสัวชุมชน” แนวคิดการจัดการกลุ่มสัมมาชีพ ตามแบบฉบับคนนาดอกไม้

เมื่อพูดถึงการจัดตั้งกลุ่มอาชีพภายในชุมชน เป็นสิ่งที่เราพบได้ในทุก ๆ ชุมชนทั่วประเทศ ทั้งที่คนในชุมชนรวมกลุ่มกันจัดตั้งขึ้นและถูกจัดตั้งโดยภาครัฐเพื่อการใช้เงินประมาณของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ แต่เมื่อส่องลึกลงไปจริง ๆ เราจะเห็นว่า มีไม่กี่ชุมชน มีไม่กี่กลุ่มสัมมาชีพที่อยู่รอดปลอดภัย และยังคงขับเคลื่อนอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์รายได้คนในชุมชน ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้ ชีวิตนอกกรุงวันนี้ จะนำคุณผู้อ่านไปดู ชุมชนที่สามารถขับเคลื่อนกระบวนการกลุ่มสัมมาชีพและการบริหารจัดการกองทุนกลางของหมู่บ้านที่เกิดจากรายได้ของแต่ละกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันมีเงินสะสมกว่า 110,000 บาท มีกลุ่มที่สามารถสร้างรายได้กว่า 16 กลุ่ม  ที่นี่ บ้านนาดอกไม้ หมู่ที่ 8 ต.หนองหญ้าปล้อง อ.วังสะพุง จ.เลย

“เราคิดและทำแบบเจ้าสัว ถึงแม้กำไรจะไม่มาก รายได้จากกลุ่มไม่มากก็ตาม แต่ขอให้เป็นรายได้ในชุมชน”

นี่คือบทสนทนาเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตนอกกรุง ต้องหยุดคิดและเริ่มฟังการสนทนาอย่างตั้งใจกับ ชายร่างสูงที่ได้รับบทบาทให้เป็นผู้นำชุมชนบ้านนาดอกไม้ พ่อฉลาด บัวระภา ในฐานะผู้นำชุมชนเริ่มเล่าแนวคิดนี้ด้วยสีหน้าท่าทางเต็มไปด้วยพลังและความหวัง ที่ต้องการตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน หาสิ่งอำนวยความสะดวกและหนุนเสริมการประกอบอาชีพคนในชุมชน

“นาดอกไม้จะยึดหลักอยู่ 3 สร้าง 1.สร้างแหล่งอาหารให้มั่นคง 2.สร้างภูมิคุ้มกัน 3.สร้างสภาพแวดล้อมน่าอยู่”

กลุ่มต่าง ๆ ของบ้านนาดอกไม้เป็นกลุ่มที่เกิดจากปัญหาความต้องการของชาวบ้าน ชาวบ้านต้องการอะไรเราก็สร้างกลุ่มขึ้นมา เช่น กลุ่มท่อน้ำเพื่อการเกษตร ชาวบ้านต้องไปเช่าหมู่บ้านอื่น เงินก็ไหลออกจากหมู่บ้านเรา เราก็เลยมาคิดว่า เราจะทำแบบเจ้าสัว ถึงแม้ว่ากำไรไม่มาก รายได้จากกลุ่มไม่มากก็ตาม แต่ให้เป็นรายได้ที่อยู่ในชุมชน 

ฉลาด บัวระภา ผู้ใหญ่บ้านนาดอกไม้ หมู่ที่ 8

“คิดแบบเจ้าสัว ถามว่าอยากได้อะไร เราจัดมีทั้งหมด”

ตอนนี้เราเริ่มต้นใหม่ คือ กลุ่มที่เป็นเรื่องอาหาร ไข่ ทุกครัวเรือนต้องกินไข่ ทำอย่างไรเราจะมีไข่ไก่ขาย กลุ่มท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตร ชาวบ้านทำอ้อย ไม่มีเวลา เขาต้องการอะไร ถามว่าต้องการอะไร เขาต้องการท่อส่งน้ำ เพราะไปเช่าที่อื่นราคาแพง ต้องการให้มีในหมู่บ้านเราก็ตั้งกลุ่มขึ้นมา

ขันทอง กุลหล้า สมาชิกกลุ่มร้านค้าสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า ร้านค้าสวัสดิการชุมชนแห่งนี้ ตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทุนและรายได้ภายในชุมชน ซึ่งชาวบ้านที่เป็นสมาชิกจะได้เงินคืนในรูปแบบเงินปันผลสิ้นปี สินค้าจะเป็นประเภทข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น น้ำยาขัดห้องน้ำ ยาฉีดยุง ประเภทของใช้ในพิธีงานศพ เวลาชาวบ้านมีงานจะมาสั่งธูป เทียนและดอกไม้จันทน์ที่นี่ ประเภทไข่ ผงชูรส ปลากระป๋อง กระทิ จะได้ขายอยู่ตลอด ในรอบปีที่ผ่านมา ( 2563) กลุ่มร้านค้าสวัสดิการชุมชนมีรายได้อยู่ที่ 250,000 บาท ลังจากหักค่าใช้จ่ายออกแล้ว ส่วนในรอบปีนี้ (2564) นับจากเดือนมกราคม – พฤษภาคม มีรายได้สะสมในบัญชีอยู่ 130,000 บาท

“เงินรายได้ที่เกิดจากร้านค้าสวัสดิการบ้านนาดอกไม้ จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนที่ 1 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการกลุ่ม ส่วนที่ 2 เป็นค่าตอบแทนและส่วนที่ 3 สมทบเข้าสะสมในกองทุนกลางของหมู่บ้าน”

กลุ่มดอกไม้จันทน์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ชาวบ้านสามารถทำให้เกิดเป็นรายได้หมุนเวียนในชุมชนได้เป็นอย่างดี  วิเชียร อำขำ สมาชิกกลุ่มแม่บ้านผลิตดอกไม้จันทน์และบริการชุมชน เล่าว่า ตนเองมีรายได้จากการผลิตดอกไม้จันทน์ในแต่ละรอบนั้นประมาณ 2,000 – 3,000 บาท จากการส่งดอกไม้จันทน์รวมแผงประมาณ 20 – 30 แผง ใน 1 แผง จะต้องมีดอกไม้จันทน์ 100 ดอก ในการคิดราคาขายของร้านค้านั้นจะขายดอกละ 1.50 บาท หักเป็นค่าวัสดุการผลิต 25 สตางค์ ค่าแรงคนทำ 80 สตางค์ เหลือ 45 สตางค์ เป็นรายได้ส่งเข้ากลุ่ม

แม่ตุ๊ พันยา ประธานกลุ่มแม่บ้านผลิตดอกไม้จันทน์และบริการชุมชน กล่าวว่า ปีที่ผ่านมากลุ่มนี้มีรายได้จากการรับงานบริการในชุมชน 80,000 กว่าบาท 1 งานจะมีค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท หักค่าบำรุงกลุ่มงานละ 200 บาทเฉลี่ยแล้วรายได้ของสมาชิกกลุ่มที่ไปช่วยงานในชุมชนจะได้คนละ 8,000 กว่าบาท ในปีที่ผ่านมา และอีกส่วนหนึ่งคือสมาชิกที่ประดิษฐ์ดอกไม้ก็จะได้จากส่วนนี้อีก เหลือเข้ากลุ่มประมาณ 30,000 กว่าบาท ในจำนวนนี้เราก็แบ่งไปสมทบเป็นเงินกองงบกลางหมู่บ้านสมทบกับกลุ่มอื่น ๆ

ตุ๊ พันยา ประธานกลุ่มแม่บ้านผลิตดอกไม้จันทน์และบริการชุมชน

แนวคิดของเจ้าสัวชุมชนคนนาดอกไม้ จะใช้กลไกกลุ่มในการขับเคลื่อนชุมชนครับ นอกจากกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้แล้ว อีกหลาย ๆ กลุ่มก็ตั้งขึ้นมาเพื่อเน้นด้านการให้บริการและสาธารณูปโภคในชุมชนเป็นหลัก กลุ่มผู้ใช้น้ำประปาหมู่บ้าน เป็นอีกหนึ่งกลุ่มในปีที่ผ่านมาที่ส่งเงินเข้ากองทุนกลางมากถึง 43,280 บาท  

พ่อสมบูรณ์ แก้วดวงดี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำประปาหมู่บ้านนาดอกไม้ หมุ่ที่ 8 กล่าวว่า ในแต่ละเดือนเก็บเงินได้เดือนละ 10,000 บาท นำมาหักเป็นค่าไฟฟ้า ค่าซ่อมบำรุง ค่าอุปกรณ์ และค่าบริการ เหลือจากนั้นก็จะถูกนำส่งเข้ากองทุนกลางหมู่บ้าน แต่ละเดือนจะส่งเข้าเงินงบกลางหมู่บ้านเดือนรละ 3,000-4,000 บาท เราวางเป้าหมายไว้ปีต่อไป ถ้าสามารถเก็บเงินได้เพียงพอ คิดไว้ว่าอยากซื้อเครื่องกรองน้ำขนาดใหญ่ มากรองน้ำแล้วให้ชาวบ้านไปใช้บริการเปลี่ยนน้ำดื่ม สมมติ ถัง 18 ลิตร เราไปเปลี่ยนกับรถส่งน้ำ 10-12 บาท แต่ถ้าเราได้เครื่องกรองน้ำมาคิดไว้เปลี่ยน 1 ถัง ประมาณ 5-6 บาท ทุก ๆ ครั้งที่มีการซ่อมแซม นั่นมายถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของกลุ่ม จะต้องมีการเขียนแผนการทำงานและเสนอความต้องการจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ต่อสมาชิกลุ่มและชุมชน เพื่อใช้จ่ายเงิน

นอกจาก 4 กลุ่มนี้แล้ว ยังมีอีก 12 กลุ่มที่สามารถดำเนินการจนเกิดการหมุนเวียนของเงินรายได้ ซึ่งปี 2563 กลุ่มโต๊ะ เก้าอี้ ส่งเงินเข้ากองทุนกลาง 3,370 บาท กลุ่มเต๊นท์ ส่งเข้ากองทุนกลาง 4,600 บาท กลุ่มท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตร ส่งเงินเข้ากองทุนกลาง 3,750 บาท ปัจจุบันกองทุนกลางหมู่บ้านนาดอกไม้ หมู่ที่ 8 รวมแล้วมากถึง 110,000 บาท ในเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปจัดสรรเป็นเงินแก้ปัญหาทั่วไป 40,000 บาทต่อปี ส่วนที่เหลือเป็นกองทุนกลางหมู่บ้านสะสมเพิ่มไปในแต่ละปี ซึ่งที่ผ่านมาเงินในส่วนนี้ถูกนำไปซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างหอถังสูงน้ำประปาหมู่บ้านแห่งใหม่และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน เช่น การขุดลอกท่อระบายน้ำ การก่อสร้างโรงเรือนเก็บสิ่งของชุมชน ต่อเติมศาลากลางหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเงินรายได้ที่เกิดจากการบริหารจัดการกลุ่ม ไม่เกี่ยวกับเงินที่ได้รับจากงบประมาณภาครัฐ

การสร้างกลุ่มสัมมาอาชีพในชุมชนคงไม่ใช่เรื่องใหม่และหลายคนก็คงคุ้นเคยกันดี แต่เชื่อไหมครับว่า มีไม่กี่ชุมชนที่สร้างกลุ่มอาชีพขึ้นมาแล้ว สามารถสร้างรายได้ มีอยู่มีกินและบริหารจัดการได้อย่างมีระบบ สำหรับที่นี่ แนวคิดแบบเจ้าสัวบวกแนวคิดรวมกลุ่มเรารอดทำให้การสร้างระบบเศรษฐกิจจากฐานราก สามารถแก้ปากท้องและสร้างความหวังให้กับชุมชนได้จริง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ