บางสิ่งก่อนการปฏิรูป

บางสิ่งก่อนการปฏิรูป

Granny's-dinner_save_for_web

คอลัมน์: คิดริมทาง  เรื่อง: ปกรณ์ อารีกุล  ภาพ: ณฐพัชญ์ อาชวรังสรรค์

ช่วงชีวิตในวัยมัธยมของผม เป็นวันเวลาอันโลดโผนโจนทะยานยิ่ง แม้มันจะเป็นคืนวันในกรอบกำแพงมิดชิดที่บางคนเรียกว่าโรงเรียนกินนอน ทว่ามันกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวอันหฤหรรษ์

จริงอยู่ที่โรงเรียนประจำถือเป็นสถานที่ดัดสันดานจากความไร้ระเบียบของชีวิต ไปสู่ความมีวินัยในทุกกิจกรรมของวัน แต่นั่นคงเป็นแค่ตัวหนังสือที่เขียนลงในตารางเวลาอันน่าเบื่อ และแน่อนว่าผมและเพื่อนมิตรมักคอยหาช่องว่างในการหลบหลีกอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดีบทเรียนอันล้ำค่าที่โรงเรียนประจำมอบให้แก่พวกเรา นั่นคือความเข้าใจสำคัญที่ว่า มนุษย์กับสังคมนั้นสัมพัทธ์สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น

ในโรงเรียนที่รุ่นพี่ถืออาญาสิทธิ์ในการปกครอง พวกเขาเป็นทั้งไอดอลที่น่าเอาเยี่ยง พร้อมๆ กับการมีพฤติกรรมบางแบบที่ไม่น่าเอาอย่าง ครั้งหนึ่ง รุ่นพี่กลุ่มหนึ่งพากันพูดภาษาไทยในสำเนียงแบบจีน จนกลายเป็นกระแสที่คนทั้งโรงเรียนพูดตามกันทั่วไป

“วันนี้ อั๊ววะเลาโดดเรียนกังดีกว่า อาแมน ลื๊อว่างัย”

“อั๊ว ก็ว่าตามลื้อแหละ เอางัยก็เอากัน”

“งั้ง วังนี้เลาโดดเรียง กังทั้งวังเลยดีก่า”

พฤติกรรมการพูดสำเนียงไทยแบบจีน แพร่หลายอย่างรวดเร็วเหมือนไวรัส จนมันลามไปถึงการพูดคุยกับครูอาจารย์ ชนิดที่ผมเองก็มึนงง ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และไม่เฉพาะพฤติกรรมในเชิงการพูดคุยถูกสถาปนาอำนาจนำจากรุ่นพี่ เมื่อคราวที่หนังเรื่องนเรศวรภาค 1 ตอนองค์ประกันหงสาเข้าฉาย ภาษาการพูดสำเนียงแบบไทยโบราณอย่างในหนัง ถูกนำมาพูดคุยกันในสังคมโรงเรียนประจำอีกครั้ง

ผมยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในหน่วยย่อย สังคมเล็กๆ เพื่อให้เห็นภาพความสัมพัทธ์สัมพันธ์ของมนุษย์กับสังคมว่ามันแนบแน่น และแยกกันออกได้อยาก

ในมุมหนึ่ง สังคมและสิ่งแวดล้อมกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ผู้หนึ่ง นั่นเป็นไปตามทฤษฎีที่เราร่ำเรียนกันมาอย่างแน่อน แต่อย่างที่เราก็ทราบกัน หรืออาจถึงขั้นลุกขึ้นเถียงอาจารย์ในห้องเรียน นั่นคือการที่เรามีสมมติฐานที่ว่า ในช่วงเวลาหนึ่งๆ มนุษย์บางคนอาจชักชวนมนุษย์คนอื่นๆ ให้กระทำในบางสิ่งเพื่อกำหนดพฤติกรรมของสังคมได้

เอาล่ะ เรื่องนี้อาจมีคนเถียงว่า การที่ไอ้บ้าสักคนลุกขึ้นมาโน้มน้าวให้พรรคพวกของตนเองคล้อยตาม และไปสร้างแรงกระทำต่อคนอื่นๆ ในสังคมได้นั้น มันจำต้องเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม และใช้องค์ประกอบทางสังคมมากมายเข้ามาเป็นปัจจัยในการหนุนช่วย ถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมได้ ในที่นี้ผมคงไม่ลงลึกไปในข้อถกเถียงเหล่านั้น

เพียงแต่ว่าไอ้การกำหนดความเป็นไป หรือการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหน่วยที่เราเรียกว่าสังคมนั้น ผมมีความเห็น (ที่ค่อนข้างส่วนตัว) ไปในทำนองที่ว่า เราไม่สามารถแยกมนุษย์ออกจากสังคมที่เขาอยู่ได้ และอะไรก็ตามที่ยัดลงไปในนามปัจเจก มันจะถูกขัดถูกเกลาจากปัจเจกคนอื่นๆ

สิ่งที่จะกลายเป็นอารมณ์ร่วมของปัจเจกชน นั่นคือสิ่งที่สังคมยอมรับ และแน่นอนหากมันจะไม่เป็นเพียงวาทกรรมที่ใครบางคนสักเเต่พ่นออกมา อย่างน้อยมันก็ต้องถูกพิสูจน์จนเห็นแล้วว่า เขาเองก็เชื่อและทำในสิ่งที่พูด

เรื่องใหญ่โตอย่างปัญหาบ้านเมืองก็เช่นกัน !!! มันจะไม่กลายเป็นเพียงวาทกรรมซึ่งทำให้ผู้พูดดูดี ในสถานการณ์ที่สังคมกำลังไหลไปตามความต้องการที่จะปฏิรูปประเทศ ก็ต่อเมื่อผู้พูดคนนั้นต้องทำให้เห็นจริงว่าเขาก็เองก็เชื่อและลงมือทำในวาทกรรมนั้น

ฤดูร้อนปีกลาย ในอาหารมื้อเย็นค่อนไปทางค่ำของครอบครัวหนึ่ง แม่ผู้เป็นข้าราชการระดับสูงในกระทรวงที่มีภารกิจผลิตคน กำลังตักข้าวแต่ละคำเข้าปากสลับกับตาที่จ้องมองการปราศัยอย่างแผดร้อนบนเวทีของการชุมนุมที่มีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

ลูกชายทั้งสองไม่ค่อยเข้าใจความหมายของการปฏิรูปประเทศไทยเท่าไหร่นัก แต่ก็ไม่ได้ทักท้วงทวงสิทธิ์ในการเปลี่ยนช่องทีวี แม้ว่าก่อนหน้าการชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ มันเป็นสิ่งที่ลูกชายทั้งสองในฐานะสมาชิกของครอบครัวเคยมีก็ตาม สิ้นเสียงที่แกนนำคนสำคัญพูดจบ เสียงปรบมือและนกหวีดดันสนั่นจากที่ชุมนุมและทะลุจอทีวีออกมายังโต๊ะอาหารค่ำ

“ทำไมไม่มีใครจับมันไปข่มขืน แล้วฆ่าให้ตายโหงไปเลย จะได้จบๆ เรื่องไป ไม่ยอมลาออกดีนัก” เสียงผู้เป็นแม่พูดขึ้นในโต้ะอาหาร ตามหลังเสียงของแกนนำบนเวที

“เขาก็เป็นคนเหมือนกันนะแม่ แม้ว่าเราจะไม่ชอบเขา แต่เขาก็เป็นคน” ลูกชายคนเล็กพูดกับแม่ ในขณะที่ลูกชายคนโตนั่งนิ่ง

“มันไม่ใช่คน ถ้าจะเป็นคนมันก็เป็นคนเลว ถ้ามันไม่ยอมลาออก ถ้ามันยังไม่ตาย ก็ปฏิรูปประเทศไม่ได้หรอก”  ผู้เป็นแม่สำทับความหมายสำคัญลงบนโต๊ะอาหารอีกครั้ง หลังจากนั้นบทสนทนาสิ้นสุดลง

ยังไม่ต้องไปพูดถึงสภาปฏิรูป หรือสมัชชาคุณธรรมใดๆ ก็ได้ นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าการปฏิรูปประเทศไทยควรเริ่มจากที่ตรงไหน

จำเริญๆ ครับ พี่น้องชาวไท

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ