“เมือบ้านเฮา” คุยกับทีมอาสากู้ชีพนครสาเกตพาพี่น้องชาวร้อยเอ็ดกลับบ้าน

“เมือบ้านเฮา” คุยกับทีมอาสากู้ชีพนครสาเกตพาพี่น้องชาวร้อยเอ็ดกลับบ้าน

ด้วยแรงกายและแรงใจของอาสาสมัคร ณ เมืองร้อยเกินที่มีกำลังใจเกินร้อย ไม่อาจระบุได้ว่า พวกเขาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นี้เมื่อใด เพราะตราบที่พี่น้องชาวร้อยเอ็ดของพวกเขายังต้องเผชิญชะตากรรมความป่วยไข้จากโควิด-19 ในเมืองใหญ่ และยังต้องการเดินทางกลับบ้าน เพราะระบบสาธารณสุขส่วนกลางไม่สามารถรองรับลูกหลานชาวอีสานได้ แต่อย่างน้อยที่สุดกำลังใจจากคนบ้านเดียวกันที่อ้าแขนรับเพื่อเติมพลังใจให้กัน คือ สิ่งสำคัญที่ช่วยชุบชูใจในยามยากให้ “ทุกคน” ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม อาสาสมัครหน่วยกู้ชีพนครสาเกต

“โทรไม่ติด โทรย้ำ ๆ นะครับ เพราะมีคนโทรมาปรึกษา โทรมาขอความช่วยเหลือเยอะครับ” กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม หนึ่งในอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพนครสาเกต ผู้ทำหน้าที่ทีมรับ-ส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ชาวร้อยเอ็ดเดินทางกลับสู่มาตุภูมิเพื่อรักษาตัว ย้ำถึงการประสานงานกับผู้ติดเชื้อที่ต้องการกลับบ้าน หลังจากที่เขาและทีมงานปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง มาแรมเดือน

“ในตัวจังหวัดร้อยเอ็ดถ้าพูดถึงว่าเรื่องของการพาคนกลับบ้าน จังหวัดร้อยเอ็ด 1 วัน เราพยายามพาคนกลับบ้านให้มากที่สุด ตั้งเป้าไว้ประมาณ 100 คน/วัน  ตอนนี้ทำได้ประมาณ 70-100 คน/วัน ซึ่งยังมีคนคงค้างที่ลงทะเบียนอยู่ราว ๆ ประมาณ 700 คน ที่มีความประสงค์อยากจะพาคนกลับบ้าน”

ต้องพาพี่น้องชาวร้อยเอ็ดกลับบ้าน

“เรามีโครงการนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา คือจริง ๆ ที่เราทำแรก ๆ เราทำปลายเดือนมิถุนายน แต่ไม่ได้เป็นโครงการ พอได้รับแจ้งว่ามีคนต้องการความช่วยเหลือในกรุงเทพมหานคร เราเลยมาตั้งโครงการขึ้นมาเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา จนถึง ณ ปัจจุบันนี้ก็ 20 กว่าวัน

ณ ตอนนั้น อย่างที่ทราบดีนะครับว่าไม่มีหน่วยงานใดที่หยิบยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ คือ ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ก็มีเพียงแต่นโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ที่มอบนโยบายว่าคนร้อยเอ็ดที่ติดเชื้อ สามารถกลับมารักษาตัวที่จังหวัดได้ แต่ไม่ได้มีนโยบายว่าจะต้องจัดตั้งหน่วยงานหรือทีมเข้าไปช่วยเหลือตรงจุดนั้น ก็เลยทำให้ทางสมาคมนครสาเกตกุศลสงเคราะห์หรือหน่วยกู้ชีพนครสาเกต เราเลยได้เริ่มดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมานับตั้งแต่นโยบายของทางท่านผู้ว่าเกิดขึ้นครับ” กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม เล่าถึงที่มาของความตั้งใจในภารกิจนี้

“ถ้าพูดถึงในส่วนของภาคปฏิบัติหรือหน้างานก็จะมีหน่วยกู้ภัยที่เป็นภาคเอกชน ก็จะประกอบไปด้วยหลัก ๆ เลย คือหน่วยกู้ชีพนครสาเกตจังหวัดร้อยเอ็ด หน่วยกู้ภัยอุดมเวทย์ อำเภอพนมไพร หน่วยกู้ภัยทางหลวงจังหวัดร้อยเอ็ด แล้วก็มีหน่วยกู้ภัยอีกแห่งหนึ่งที่มาร่วมกับเราได้ 1-2 ครั้ง คือ หน่วยกู้ภัยเจ้าปู่กุดเป่ง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ดครับ ในโครงการ ณ เวลานี้ที่เราทำครับ”

เมื่อที่พึ่งสุดท้าย คือ ต้นทาง “บ้าน” ที่จากมา แรงงานชาวร้อยเอ็ดในเมืองใหญ่จึงบ่ายหน้าหาทางกลับบ้าน หลังสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลหนักหน่วง ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ ความหวังของคนไกลบ้านคือการกลับสู่ผืนดินถิ่นกำเนิดในดินแดนที่ราบสูง “เมือบ้าน” หรือ กลับบ้าน คือ คำตอบเดียวที่พอจะเป็นความหวังเพื่อให้ “อยู่รอด” ในสถานการณ์นี้

แต่การกลับบ้านพร้อม “ความเสี่ยง” จำเป็นต้องมีระบบขั้นตอนที่รัดกุม เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้เดินทางและครอบครัวปลายทางในชุมชนของพวกเขา

“เราก็ใช้วิธีการในการลงทะเบียนให้ทางผู้ป่วยไปติดต่อเรื่องเตียงรักษา แล้วก็ให้ทางโรงพยาบาลที่ ทางผู้ป่วยติดต่อไว้ มาประสานกับเราอีกครั้งหนึ่งว่า ยืนยันว่าผู้ป่วยตอนนี้มีเตียง มีที่รักษาแล้ว เราถึงจะเข้าสู่กระบวนการรับตัวมาส่งยังโรงพยาบาลนั้น ๆ แต่นับตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีทางสำนักงานสาธารณะสุขจังหวัด ทางโรงพยาบาลร้อยเอ็ดแล้วก็หลาย ๆ โรงพยาบาล ทุกภาคส่วนก็มาทำงานในลักษณะที่เป็นภาคีเครือข่ายกัน ในการที่ให้ทางทีมกู้ภัยของพวกผมเดินทางไปรับผู้ประสบภัย หรือผู้ป่วยทางกรุงเทพมหานคร แล้วก็อาจจะประสานไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอนั้น ๆ มารับตัวในจุดที่เราเอาผู้ป่วยมาพักไว้ คือ โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 ของจังหวัดร้อยเอ็ด ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นแล้วก็รวดเร็วขึ้นครับ”

กระบวนการและขั้นตอนการรับคนกลับบ้าน จ.ร้อยเอ็ด

ผู้ป่วยที่มีผลการตรวจเชื้อยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

 1. มีเอกสารผลการตรวจเชื้อ

 2. มีการประสานงานกับโรงพยาบาลปลายทางที่จะไปรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และโรงพยาบาลจะต้องยืนยันว่าจะรับเข้ารักษาจริง

จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการในการตรวจสอบข้อมูล ทั้งประเมินอาการของผู้ป่วยก่อนในช่วงกลางวันเพื่อที่จะเตรียมไปรับผู้ป่วย ในช่วงเวลา 21.00-04.00 น.  และในการรับตัวผู้ป่วยตามที่พักอาศัย จะมีการโทรแจ้งไปยังผู้ป่วยให้ทราบก่อนล่วงหน้า 60 นาที เพื่ออธิบายการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยก่อนขึ้นรถ ซึ่งมีข้อให้ผู้ป่วยปฏิบัติ ดังนี้

1. ผู้ป่วยจะต้องเอาสัมภาระไปเท่าที่จำเป็นเท่านั้นและให้ใช้กระเป๋าใบเล็ก 1 ใบ

2. ผู้ป่วยจะต้องทำธุระส่วนตัวให้เสร็จก่อนที่จะขึ้นรถ เพราะเมื่อขึ้นรถแล้วจะไม่อนุญาตให้ลงรถจนกว่าจะถึงปลายทาง

3. ขอความร่วมมือให้ดื่มน้ำแค่พอดับกระหายเพื่อลดอาการปวดปัสสาวะ

หลังจากรถไปรับผู้ป่วยครบแล้ว ก็จะนำผู้ป่วยทั้งหมดมาที่จุด คัดกรอง เพื่อตรวจสอบข้อมูล พร้อมทั้งจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจร่างการในเบื้องต้น หากทุกอย่างตรวจสอบแล้วว่า ผู้ป่วยพร้อมทั้งร่างกายและเอกสารครบถ้วนเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ขึ้นรถเดินทางได้

“ถ้าพูดถึงจากสถิติของทีมหน่วยกู้ชีพของนครสาเกต จังหวัดร้อยเอ็ด ที่เข้าไปรับผู้ป่วยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือนอกเขตปริมณฑล อย่างเช่น ระยอง ชลบุรี  ณ เวลานี้เรามีสถิติอยู่ที่กว่า 500 คน ตอนนี้จังหวัดร้อยเอ็ดมีความกระตือรือร้นในเรื่องของหาเคสจำนวนผู้ป่วย” กิกติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม เล่าต่อ ถึงจำนวนตัวเลขการรับคนกลับบ้านซึ่งนาทีนี้ ดูเหมือนอีกพื้นที่ปลายทาง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมสูงเป็นอับดับต้น ๆ ของจังหวัด ภายใต้ความร่วมมือในการประสานดูแลผู้ป่วยของภาคส่วนต่าง ๆ ในท้องถิ่นอย่างเข้มแข็ง

“ในพื้นที่เกษตรวิสัยเอง ทำไมถึงมีคนป่วยสะสมเยอะที่สุด คือพื้นที่เกษตรวิสัยนอกเหนือจากทีมของเรานำผู้ป่วยมาส่งแล้วนั้น ทางเกษตรวิสัย ผู้ป่วยมีการจ้างรถ เอกชนคกลับมาด้วยตัวของเขาเองด้วย มันก็เลยทำให้ตัวเลขพุ่งสูงกว่าอำเภออื่น ๆ ประกอบกับประชาชนในอำเภอเกษตรวิสัย โดยส่วนใหญ่ทำงานอยู่โรงงานอุตสาหกรรม แล้วก็ทำงานเป็นกลุ่มเป็นก้อน อยู่กันที่ละ 30 40 คน ดังนั้นการติดเชื้อมันเลยทำให้มีการแพร่กระจายค่อนข้างรวดเร็ว ก็เลยทำให้คนในที่นี่มีตัวเลขเยอะ เป็นพิเศษครับ”

ภารกิจเริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ยังไม่รู้จุดสิ้นสุด

“ต้องบอกไว้ว่าการวางแผนงานเราไม่สามารถที่จะระบุได้ว่ามีงานเริ่มต้นแล้ววันที่สิ้นสุดเมื่อใด แต่สิ่งที่เราเตรียมการไว้อยู่  ณ เวลานี้คือการเตรียมกำลังคน อุปกรณ์ ทุกอย่างที่จะสามารถทำงานได้ ไม่ให้มันเกิดความสะดุด นี่คือสิ่งที่เราเตรียมได้ แต่อย่างที่บอกครับว่าอนาคต เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ตัวเลข  ณ วันนี้ ที่ได้รับจากกระทรวงแรงงาน ที่เขาบอกว่าประชากรในจังหวัดร้อยเอ็ดที่เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล  ก็มีสถิติสูงถึง 100,000 คน ดังนั้น ตัวเลขที่ผมแจ้งไป ว่าผมรับกลับมารักษาตัวที่จังหวัดร้อยเอ็ด 500 คน ถ้าพูดถึงตัวเลข 1000,000 คน กับ 500 คน มันไกลกันมาก ดังนั้นในอนาคตเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น แต่อย่างที่ผมบอกไปในขั้นต้นก็คือเราเตรียมความพร้อมเสมอครับ หากมีความต้องการความช่วยเหลือทีมเราก็พร้อมปฏิบัติงานตลอดเวลาเช่นกันครับ”

แรงใจเกินร้อย ณ เมืองร้อยเกิน แต่ยังต้องการแรงหนุน

“ณ เวลานี้ ถามว่าข้อจำกัดก็ยังคงมีอยู่นะครับ เนื่องด้วยพาหนะของเราบุคลากรของเรา นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม จนถึงปัจจุบันนี้ เริ่มอ่อนแรงแล้ว  เริ่มใช้กำลังกันมาพอสมควร อดหลับ อดนอน ทำงานมากกว่า 36 ชั่วโมงหรือสูงสุด 48 ชั่วโมง ต่อ 2 วัน ในหนึ่งวันเราแทบจะไม่มีโอกาสได้นอนเลย  ดังนั้น แน่นอนครับ ในการสะสมการทำงานในระยะยาวแบบนี้เป็นผลให้น้อง ๆ ที่ปฏิบัติงานเริ่มท้อแล้วก็มี ป่วยก็มี คำว่าป่วยไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 นะครับ แต่ว่าร่างกายมันโทรมไป เราใช้กำลังเยอะเกินไป และอีกอย่างหนึ่งยานพาหนะแต่ละคันก็เริ่มออกอาการแล้ว มีการพัง มีการซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา หลังจากที่ได้กลับมาจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นอุปสรรคเหมือนกันในการปฏิบัติงาน”

ภารกิจเริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ยังไม่รู้จุดสิ้นสุด

ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง คือ เวลารวมในการทำหน้าที่อาสาของทีมกู้ชีพนครสาเกต และอาสาอีกหลายร้อยคน ผู้ซึ่งเป็นประชาชนคนธรรมดา แต่นาทีนี้ทุกคนรวมถึงทีมอาสาสมัครกลับเป็นอีกความหวัง เพื่อช่วยให้ชาวไทยและชาวร้อยเอ็ด ชาวอีสานทุกคนที่กำลังรู้สึกโดดเดี่ยว อ่อนแรง ได้กลับบ้านมารักษาตัว มาฟื้นกำลังใจ เพื่อให้ก้าวผ่านพายุลูกใหญ่นี้ไปพร้อมกัน และแม้จะยังไม่ทราบว่าเวลาสิ้นสุดของพายุนั้นจะมาถึงเมื่อไร แต่อย่างน้อยที่สุดกำลังใจจากคนบ้านเดียวกันที่อ้าแขนรับโอบกอดกันในวันที่อ่อนล้า เพื่อเติมพลังใจให้กันกลับเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยชุบชูใจในยามยากเพื่อให้ “ทุกคน” ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ