ชีวิตนอกกรุง : งานไม้ไอเดียคนรุ่นใหม่ จากฝีมือสล่าไม้รุ่นเก๋า

ชีวิตนอกกรุง : งานไม้ไอเดียคนรุ่นใหม่ จากฝีมือสล่าไม้รุ่นเก๋า

“เราเป็นคนหนึ่งในหมู่บ้าน เราทำของเราคนเดียวได้ดีอยู่คนเดียว รอบข้างไม่ได้ดีไปกับเรา ประโยชน์และความยั่งยืนก็ไม่เกิด แต่ถ้าเราทำให้หมู่บ้านดีไปพร้อม ๆ กัน เราเป็นคน ๆ หนึ่งในหมู่บ้าน ทำไมชีวิตเราจะไม่ดีไปพร้อม ๆ กับหมู่บ้านด้วย เราเป็นคนเล็ก ๆ ในสังคมบ้านเรา เราก็ช่วยทำหมู่บ้านให้มันดี เราก็จะดีตามกันไป”

คุณเต้ กฤษฎา จีริผาบ เจ้าของแบรนด์ บ้านสล่าไม้ จ.ลำพูน
คุณเต้ กฤษฎา จีริผาบ เจ้าของแบรนด์ บ้านสล่าไม้ จ.ลำพูน

ประโยคแรก ๆ ของ คุณเต้ กฤษฎา จีริผาบ ผู้ดูแลแบรนด์ เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ชื่อว่า “บ้านสล่าไม้” ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ที่ ต.มะเขือแจ้ อ.บ้านกลาง จ.ลำพูน เล่าให้เราฟังถึงแนวคิดวิธีการทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้สักของเขา ที่เน้นคุณค่า และส่วนรวม มากกว่าผลกำไร

“เมื่อก่อนนี้เขาก็เป็นช่างไม้หมดเลยนะคุ้งนี้ เป็นช่างไม้ทุกคนเลย เกือบทุกหลังที่เขาเคยทำงานไม้กัน เรียกว่าบ้านเว้นบ้านได้เลย ถ้าตอนนี้เหลือแค่ 2 หลัง เหลือแค่นี้ เหลือไม่เยอะแล้ว แต่เดิมทีเขาทำกันเยอะมาก”

คุณเต้เล่าให้เราฟังว่า  เมื่อก่อนบ้านมะเขือแจ้ จ.ลำพูน ถือเป็นหนึ่งในหมู่บ้านสล่าไม้ขนาดใหญ่ของจังหวัดลำพูน ส่งเฟอร์นิเจอร์ไม้ขึ้นรถไฟไปขายยังพื้นที่ต่าง ๆ ถึงภาคกลาง และภาคอีสาน ต่อเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน รูปแบบความต้องการของเฟอร์นิเจอร์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งช่างไม้ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุค่อนข้างมาก ปรับตัวไม่ทันกับกระแสความต้องการของโลกยุคใหม่ ทำให้คนหันไปใช้เฟอร์นิเจอร์ทดแทนอื่น ๆ ที่เข้ากับสมัยมากกว่า
เมื่อความต้องการลดลง รายได้ลดลง อาชีพช่างไม้ในหมู่บ้าน ก็ค่อย ๆ หายไป

เอาคนรุ่นใหม่ เข้ามาเติมไฟคนวัยเก๋า

ด้วยความที่เป็นลูกหลานสล่าไม้ อยากให้งานไม้ ที่เป็นทั้งอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาของชุมชนยังคงอยู่ และสามารถเลี้ยงปากท้อง ของพี่ป้า น้าอา ในชุมชนได้ 
ทำให้พี่เต้ เกิดแนวคิดในการเชื่อมระหว่าง ลูกหลานคนรุ่นใหม่ในชุมชน ที่นำความรู้ ทักษะที่ได้เรียนมา มาปรับใช้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับสล่าไม้ และสร้างอาชีพให้กับลูกหลาน
โดยชวนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ มาช่วยออกแบบชิ้นงานให้เข้ากับยุคสมัย  ทำการตลาดออนไลน์ และวางแผนการจัดการควบคุมเรื่องคุณภาพ จนเกิดเป็นแบรนด์ “บ้านสล่าไม้” ขึ้นมา

การทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่ กับสล่ารุ่นเก๋า

  

อย่างช่างเขามีภูมิปัญญา เขามีฝีมือ แต่เขาไม่มีทักษะการเข้าถึงการตลาด อย่างเด็กยุคใหม่ภูมิปัญญาเรื่องไม้เขาอาจไม่ได้มี เพราะเขาจบมาก็ไปเรียนข้างนอก เขามีความสามารถในเรื่องการใช้ออนไลน์ เราก็เลยเชื่อมคนสองกลุ่มนี้ด้วยกัน ในเวทีที่มีชื่อว่าบ้านสล่าไม้ สร้างอาชีพ สร้างคุณค่าให้กัน ต่างคนต่างมอบคุณค่าที่มีโดยที่มีเราเป็นพี่เลี้ยงคอยดู ให้เดินไปถูกทาง สร้างโมเดลธุรกิจให้ยั่งยืน

คุณเต้เล่าให้ฟังถึงแนวคิดการเอาคนสองวัย สองกลุ่มมาทำงานร่วมกัน

ใช้วิธีคิดแบบ Start up เน้นสร้างคุณค่า ก่อนสร้างรายได้      

“จริง ๆ วิธีการทำงานที่เอามาจับตรงนี้ เป็นวิธีการทำงานแบบ Start Up ทุกคนจะรู้เลยว่า ไม่ได้มาเพื่อทำเงินนะ มาทำตรงนี้มาเพื่อสร้างงาน วัตถุประสงค์คนละแบบกัน คือเราจะต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้งานนี้มันยังอยู่ แล้วงานนี้มันเป็นวิถีชิวิต เป็นอาชีพ ให้เขาสร้างผลงานที่ดีขึ้นมา แล้วเงินมันก็จะมาหลังจากที่เราได้ผลงานที่ดี”

“น้องที่เข้ามาพี่ไม่ได้ให้เขามาเป็นลูกน้อง เป็นลูกจ้าง คือเขาเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการ เป็นเจ้าของ รายได้เขามาจากเปอร์เซนต์การขายหมดเลย แล้วเขาก็ไปสร้างแบรนด์เอง ออกแบบการสื่อสารเอง เข้าไปในพื้นที่ดูว่าช่างคนนี้เขามีคุณค่าอย่างไร เขาจะดึงคุณค่ามาเล่าว่าอย่างเรา เขาก็จะออกแบบเอง เราก็มีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้น้อง”

วิธีการทำงานของกลุ่ม คือการให้คนรุ่นใหม่ ลูกหลานสล่าไม้ในพื้นที่ รวมกลุ่มกันตั้งแบรนด์สินค้าจากเฟอร์นิเจอร์ไม้สักเก่ากันขึ้นมาเอง จัดการบริหาร จัดแบ่งสัดส่วนรายได้ และวางแผนการทำงาน วางแผนการตลาดด้วยตัวเอง โดยที่คุณเต้จะเป็นเพียงพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเท่านั้น
โดยพวกเขาจะต้องไปติดต่อสล่าไม้ ในหมู่บ้าน พูดคุย สร้างหรือดึงคุณค่าขึ้นมา เพื่อสร้างรายให้เกิดรายได้ให้เกิดขึ้นทั้งสล่า และตัวพวกเขาเอง โดยคุณเต้ จะมีรูปแบบ หรือเพลตฟอร์มวิธีการทำงาน วิธีการจัดการคร่าว ๆ ให้เป็นแนวทาง

ก่อกำเนิด Start Up แบบ Offline

ถ้าใช้คำว่าแพลตฟอร์ม คนดิจิตอลก็จะเข้าใจว่าเป็นเทคโนโลยี เป็น app เป็นอะไรแบบนี้ แต่ของเราเป็น แพลทฟอร์มออฟไลน์ เนื่องจากมันเป็นงานเกี่ยวกับวิถีชีวิตมันเลยต้องเป็นแพลทฟอร์มออฟไลน์ เป็นเวธีที่ต่างคนมาใช้พื้นที่ตรงนี้ร่วมกัน ต่างคนต่างสร้างคุณค่าให้กัน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทีนี้มันก็จะเป็นแบบเกื้อกูลกัน เห็นหน้า เห็นตากัน มีความสัมพันธ์กันเป็นสังคม ความอบอุ่นในครอบครัวอย่างนี้ก็ดีขึ้น

ซึ่งตอนนี้ในชุมชน  มีแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ใหม่ ๆ ที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายเกือบ 10 แบรนด์แล้วครับ ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็จะมี จุดขาย หรือกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน เช่น บางแบรนด์เน้นที่ เก้าอี้ โต๊ะชุดทำงาน  บางแบรนด์ก็เน้นไปที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องนอน ตู้ เตียง บางแบรนด์ก็เน้นเฟอร์นิเจอร์สไตล์ retro เก่า ๆ ขลัง ๆ  ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็จะมีจุดขายของตัวเอง และที่สำคัญทุกแบรนด์ เกิดขึ้น และบริหารโดยน้อง ๆ รุ่นใหม่ในชุมชนครับ

เราลองมาดูตัวอย่างแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ ของคนรุ่นใหม่ ที่เกิดจากไอเดียนี้กันครับ กับแบรนด์ Wood Job Gallery

Wood Job Gallery เฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่ให้สิ่งที่ดีทั้งผู้ซื้อและผู้สร้าง

บอม น้ำ แม็กซ์ และเบส หนุ่มสาวรุ่นใหม่ เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก Wood job Galley

หนุ่มสาวทั้ง 4 คน นี้ รวมตัวกันทำแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มีชื่อว่า Wood job นะครับ ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ทำงานกับพี่ ๆ  สล่าไม้ ที่ ต.มะเขือแจ้นี้ โดยกลุ่ม Wood Job จะมีการแบ่งงานออกเป็น 3 ฝ่ายนะครับ คือฝ่ายดูแลลูกค้า ฝ่ายควบคุมคุณภาพสินค้า และฝ่ายประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์

“น้ำมองว่ามันเป็นการกระจายงานเข้าสู่ชุมชน  เป็นธุรกิจที่ได้ทั้งรายได้ และได้ทั้งการช่วยคน เป็นธุรกิจที่ไม่เหมือนธุรกิจสักทีเดียว คนรุ่นใหม่เอง ก็จะได้เข้าใจวิถีดั้งเดิมได้รู้ว่า กว่าจะได้งานเป็นชิ้นเป็นอันไม่ง่ายเลย มันยากกว่าจะได้มา  คนรุ่นเก่าเองก็จะได้ปรับมุมมองความคิดว่าควรเอาอะไรใหม่ ๆ เข้าไปบ้าง เพราะถ้ามันไม่มีการพัฒนาเลยมันก็จะตายได้ในอาชีพนี้”

น้ำ มลพรรณ กิติญานุกุล Wood Job Gallery
น้ำ มลพรรณ กิติญานุกุล ฝ่ายดูแลและสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ( CS )Wood job Gallery

คำพูดของน้องน้ำ มลพรรณ กิติญานุกุล ฝ่ายดูแลลูกค้า ของแบรนด์ Wood Job Gallery เล่าให้เราฟังถึงสาเหตุที่เข้ามาทำงานตรงนี้ โดยน้ำเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า เธอเขามาทำงานในการปั้น แบรนด์ Wood job กับเพื่อน ๆ ได้ประมาณ 2 ปีแล้ว เนื่องจากต้องการให้ช่างไม้ในหมู่บ้าน ได้มีรายได้ที่มากขึ้น และเหมาะสมกว่าที่เคยเป็นมา หน้าที่ของเธอตอนนี้คือตำแหน่ง CS หรือ การดูแล และสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า

CS คือดูลูกค้า คือดูว่าถ้าลูกค้าเข้ามาเราจะต้องคุยกับลูกค้าอย่างไร ให้ลูกค้ารู้สึกมีส่วนร่วมกับแบรนด์ รู้สึกรักแบรนด์นี้ รู้สึกรักแบรนด์นี้ รู้ว่าจิตวิญญาณของแบรนด์นี้เขามีอุดมการณ์อย่างไร ทำหน้าที่สื่อสาร ความพึงพอใจของลูกค้า

“วันหนึ่งก็จะมี คุยกับลูกค้าเป็นปรกติอยู่แล้ว ก็จะมีประสานงาน ให้ฝ่ายคุมงานไปดูการผลิตชิ้นงานให้ตรงกับลูกค้าต้องการ แล้วก็จะมีประสานงานกับทางขนส่ง ก็จะต้องดูด้วยว่า ลูกค้าจะต้องยกของขึ้นไหม ยกของขึ้นบันไดไหม ลูกค้าอยู่แถวไหน ต้องการรับวันไหน พอถึงวันที่ลูกค้ารับจริงต้องตามงานด้วยว่า ลูกค้าได้ตรงตามนั้นไหม ลูกค้าได้ของหรือยัง หรือชิ้นงานมีปัญหา เราต้องตีกลับ ต้องเคลม ต้องคอยประสานงานกับทางขนส่งกับทางลูกค้า”

“น้ำมองว่า wood job คือ การส่งต่อคุณค่าจากช่างไม้ ถึงมือลูกค้า การส่งเฟอร์นิเจอร์ที่มากกว่าเฟอร์นิเจอร์ เป็นความตั้งใจของลูกค้า สไตล์ ก็จะเป็นออกแบบร่วมกับลูกค้า แล้วก็จะเป็นแบบที่ลูกค้าสั่งทำ ส่วนมากจะเป็นงานออกแบบทั้งนั้นเลย ส่วนรายได้ของน้ำจะเป็น 70 : 30 คือ 70 ให้กับทางช่าง อีก 30 คือ ค่าโฆษณา ค่าทีมงาน ทุกอย่างเลย ใน 30 เพราะหลักการของเราคือทำให้มีรายได้ที่ดีขึ้น และตัวเราก็ต้องอยู่ได้ด้วย”

น้ำบอกกับเราว่า สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของหน้าที่เธอ คือการสื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ให้ลูกค้าเข้าใจ และปิดการขายให้ได้ เพราะว่าทุกยอดขายที่ได้รับ ก็คือรายได้ที่จะเข้ามาจุนเจือครอบครัวของช่างไม้ในพื้นที่

จากที่ได้เห็นเทคนิคและขั้นตอนการทำงานของน้ำ ทำให้ผมพอจะนึกภาพออกนะครับว่าถ้าสล่ารุ่นเก่า ๆ ในหมู่บ้าน ต้องมาทำอะไรแบบนี้เอง คงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  ซึ่งถ้ายังคงทำเหมือนเดิม ผลิตแบบเดิม  ขายแบบเดิม  ก็คงพลาดโอกาสในการเจาะตลาดรูปแบบใหม่ ๆ     

“ เราต้องเข้ามาในรูปแบบที่เราไม่ได้มองเขาเป็นลูกจ้าง เรามองเขาเป็นพี่คนหนึ่ง ลุงคนหนึ่ง ป้าคนหนึ่ง แล้วเวลาเราเอางานให้ เราก็มองว่าเขาก็มีรายได้ เราก็อยากส่งมอบสิ่งดี ๆ ให้ลูกค้าด้วย เราก็ต้องหาวิธีให้ได้ เพื่อให้เดินไปได้ ”

คำพูดจาก แม็กซ์ สุภเวช ธัลวัลย์ คนรุ่นใหม่ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมคุณภาพชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์

คำพูดจากแม็ก ที่มีหน้าที่หลักคือการตรวจสอบคุณภาพสินค้า ซึ่งแม็กบอกว่า การที่เป็นคนรุ่นใหม่ และยิ่งไม่ค่อยมีความรู้เรื่องงานไม้ การที่จะเข้ามาตรวจสอบ บอกช่างให้ปรับแก้งานยากมาก ๆ กว่าจะปรับเข้าหากันได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

แม็กซ์ สุภเวช ธัลวัลย์ คนรุ่นใหม่ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมคุณภาพชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์

 “อย่างผมมาตอนแรก งานไม้ผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเลย ต้องมาควบคุมดูแล เรื่องของรายละเอียด ด้วยความรู้เรายังไม่มี เวลาเราบอกอะไรไป ก็เลยเกิดการสื่อสารไม่ตรงกัน หลังจากนั้นงานมันออกมาผิด เราก็มาบอกว่าแก้ตรงนี้ ๆ เขาก็บอกว่าทำไมไม่บอกตั้งแต่แรก
ตอนที่ช่วงหนักที่สุดก็คือเรื่องรายละเอียดงานนี่แหละ เพราะสื่อสารไม่ตรงกัน หนักสุดก็คือช่างหยุดงาน ไปโดยที่ผมก็ต้องโทรตาม ขอให้เขากลับมาทำงานให้เสร็จ กว่าจะหาจุดตรงกลางกันได้ ก็ใช้เวลาจะเป็นปีเหมือนกัน”

แม็กซ์บอกว่า กว่าที่จะทำให้ช่างยอมรับเรา ในการตรวจคุณภาพไม่ใช่เรื่องง่าย

แม็กซ์บอกว่า เมื่อก่อนช่างไม้จะไม่มีการตรวจสอบสินค้าจากคนอื่น ๆ เลย เมื่อเขาทำเสร็จ เขาก็เอาไปวางขาย หรือส่งขาย และการที่เราเป็นเด็กรุ่นใหม่ เข้ามาตรวจสอบ เข้ามาบอกให้เขาปรับแก้ เป็นยิ่งที่ยากมาก ๆ สิ่งที่แม็กซ์ใช้ในการปรับจูนกันระหว่างคนรุ่นใหม่อย่างเขากับสล่า นอกจากการพูดคุย รับฟัง เอาใจใส่ ทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นลูกเป็นหลาน อีกสิ่งหนึ่งที่เขาหยิบมาให้เป็นเครื่องมือ ก็คือการออกแบบตารางการตรวจเช็คงานขึ้นมา เพื่อให้ช่าง และตัวคนทำงานต่างเข้าใจ และเห็นภาพการทำงานไปพร้อม ๆ กัน

การทำใบตรวจเช็คคุณภาพสินค้า เพื่อให้ช่างและคนทำงานเห็นภาพร่วมกัน

แม็กซ์บอกว่า ถึงจะวุ่นวาย ลำบากอย่างไรก็ต้องมีการวางแผนการทำงานให้ดี เพราะแผนการทำงานที่ดี จะช่วยลดทั้งเวลา ลดทั้งต้นทุน และที่สำคัญคือทำให้ทุกคน สามารถเข้าใจงานร่วมกัน เพราะยิ่งชิ้นงานต้องผ่านหลายขั้นตอน ผ่านช่างหลายคน ถ้าสื่อสารหรือเข้าใจคลาดเคลื่อน  จะมีปัญหาตามมาแน่นอน และถ้าเราสามารถควบคุมการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ จะช่วยให้ลูกค้าเกิดความสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ และเป็นจุดแข็งที่ทำให้สามารถต่อสู้กับเจ้าอื่น ๆ ในตลาดได้

สินค้าทุกชิ้นต้องมีคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

“เราเน้นเล่าเรื่อง ขายก็เป็นผลพลอยได้ ตามไปอีกทีหนึ่ง”

เบส วรัญญู พงษ์ไพร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Wood job Gallery

คำพูดสั้น ๆ ที่เห็นถึงแนวคิดในการทำงานประชาสัมพันธ์และสร้างคุณค่าชิ้นงานของ เบส วรัญญู พงษ์ไพร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Wood job Gallery

“หน้าที่ผมคือการสร้างคุณค่าให้กับคอนเทนท์ สร้างคอนเทนท์ ที่มีคุณค่าให้กับคนที่เข้ามาอ่าน ว่าได้อะไรบ้าง หนึ่งคอนเทนท์เราจะนำเสนออะไรให้กับผู้ชม ให้เขารู้ในสิ่งที่เรารู้ ที่เราจะสื่อออกไปให้เขารู้ ทำอย่างไร ให้ได้ เพราะคนเข้ามาในเพจก็มีหลายกลุ่ม จะมีหลายกลุ่มที่คนเขาเข้ามา เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์เลย หรือเข้ามาเพื่อเสพคอนเทนท์กับงานชุมชน หรืองานช่าง หรือเข้ามาเพราะมีวัยรุ่น มาทำกับสล่าอายุ 50 – 60 ปี อะไรแบบนี้ มันมีหลายกลุ่ม”

เบสเล่าให้ฟังครับว่า ตัวเขามองว่า การเล่าเรื่องเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความผูกพันธ์คนอื่น ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยสร้างความผูกพัน ระหว่างลูกค้ากับสล่า และแบรนด์  ทำให้เมื่อเขาเริ่มคิดอยากจะซื้อเฟอร์นิเจอร์สักตัว เขาจะคิดถึงเราเป็นอันดับแรก ๆ

ปัจจุบันแบรนด์ Wood job Gallery และแบรนด์อื่น ๆ ของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในพื้นที่  สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้ครอบครัวช่างไม้ใน ตำบลมะเขือแจ้  กว่า 40 ครอบครัว ผลิตชิ้นงานนับร้อยชิ้นต่อเดือน และมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกวัน จนเรานึกย้อนไปถึงข้อความแรกของพี่เต้ที่บอกกับเราว่า 

“ถ้าเราเป็นคนหนึ่งในหมู่บ้าน เราทำของเราคนเดียวได้ดีอยู่คนเดียว รอบข้างไม่ได้ดีไปกับเรา เราก็เป็นจุดแปลกแยกในสังคมในหมู่บ้าน  สู้เราทำให้หมู่บ้านดีไปพร้อม ๆ กัน เราเป็นคน ๆ หนึ่งในหมู่บ้าน ทำไมชีวิตเราจะไม่ดีไปพร้อม ๆ กับหมู่บ้านด้วย เราเป็นคนเล็ก ๆ ในสังคมบ้านเรา เราก็ช่วยทำหมู่บ้านให้มันดี เราก็จะดีตามกันไป”

ท่ามกลางโลกปัจจุบันที่หมุนไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี  จนหลาย ๆ คนในสังคม ปรับตัวไม่ทันและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จะดีแค่ไหน ถ้าคนรุ่นใหม่ ใช้ความรู้ทักษะของตัวเอง มาต่อยอดภูมิปัญญาที่มีในพื้นถิ่น ซึ่งนี่ อาจเป็นอีกหนทาง ที่จะทำให้เราสามารถปรับตัวและอยู่รอด ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจนี้ไปด้วยกัน  และทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของ Localist ชีวิตนอกกรุง ในตอนนี้ครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ