อยู่ดีมีแฮง : คุยกับช่างตัดผมผู้มี “ขี้กะปอม”เป็นไอดอล

อยู่ดีมีแฮง : คุยกับช่างตัดผมผู้มี “ขี้กะปอม”เป็นไอดอล

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อผู้คนเป็นจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจก็เห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้อยู่ดีมีแฮงชวนพูดคุยกับ บิว พงศ์ทวี สอนลา ชายหนุ่มอีสานวัย 29 ปี อดีตพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ที่เดินทางออกตามล่าความสำเร็จในเมืองใหญ่หลังเรียนจบกว่า 5 ปี ที่ต้องพ่ายแพ้แก่สายพานแรงงานในวันที่ทุกอย่างไม่สวยงามดั่งที่คาดหวังถูกเลิกจ้างกลางคัน สู่การหาทางรอดกลับบ้านตั้งหลักอีกครั้งในสถานะอาชีพช่างตัดผมและนิยามใหม่ “เราควรเบิ่งขี้กะปอมเป็นไอดอล” อะไรทำให้บิว พงศ์ทวี มีความคิดเห็นว่าควรดูกิ้งก่าเป็นแบบอย่าง เดินทางไปพร้อมกันที่ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น บ้านเกิดของบิวครับ อำเภอภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ชื่อนี้ถูกพูดถึงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบ “ชิกชิก คูลคูล” ชมธรรมชาติและวิถีแบบบ้าน ๆ ตัวอำเภอเป็นอำเภอขนาดเล็ก ที่ถูกล้อมรอบด้วยป่าเขา ที่แห่งนี้มีร้านตัดผมเล็ก ๆ ตั้งอยู่ข้างร้านสะดวกซื้อในอำเภอ ชายหนุ่มวัย 29 ปี มาดช่างตัดผมกำลังให้บริการลูกค้าในหมู่บ้านใกล้เคียงที่เดินทางมาใช้บริการบ้าง

“ไปทำงานที่ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และจังหวัดอื่น ๆ เปลี่ยนไปมา ขับรถจัดสินค้า ทำตำแหน่งจัดหาอุปกรณ์ในโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์บ้าง โควิด-19 ระบาดรอบแรกเลย ผมโดนจ้างออก ตอนนั้นเมียก็ท้อง รถก็ออกมาใหม่ ผวาเลยครับไม่รู้จะทำอย่างไร”

บิว พงศ์ทวี เล่าถึงที่ไปที่มาก่อนที่จะเดินทางมาสู่อาชีพช่างตัดผม เขาเรียนจบสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แต่เนื่องด้วยชีวิตคือการเดินทาง เมื่อเรียนจบจึงตัดสินใจเข้าเมืองใหญ่เพื่อหางาน ล่าความฝันอยากมีเงิน มีบ้าน มีรถเป็นของตัวเอง ใช้ชีวิตในเมืองอุตสาหกรรมขายแรงแลกกับเงิน ชีวิตวนเวียน ทำงานกลับห้องพักแล้วทำงาน เขาได้พบรักกับภรรยาและมีลูกน้อย การวางแผนครอบครัวก็เริ่มต้นด้วยการออกรถยนต์เพื่อหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตครอบครัวที่ดี แต่สิ่งที่คาดคิดก็เกิดขึ้นเหมือนในละคร เกิดการระบาดโควิด-19 ในรอบแรกซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้น เมื่อบิว ทราบข่าวว่าตัวเองจะถูกเลิกจ้างทำให้ต้องคิดหาวิธีเอาตัวรอดในการหารายได้เนื่องจากมีภาระทั้งครอบครัว และรถยนต์คันใหม่ที่ออกมาได้ไม่กี่เดือน

“สิ่งที่คิดเอาไว้คือ ไปเรียนตัดผม ผมชอบการตัดผมและหลงไหลตัวเองในการตัดผม ในระหว่างที่รู้ตัวว่าจะถูกเลิกจ้างก็เลยตัดสินใจศึกษาการตัดผมผ่านยูทูบ และนำเงินที่เก็บไว้ก้อนแรกไปเรียนตัดผม พอเรียนจบได้ใบประกาศผมก็นำเงินที่เขาเลิกจ้างมาเป็นทุนในการซื้ออุปกรณ์ หลังจากนั้นผมก็ตัดสินใจหาทำเล จนสุดท้ายมาพบที่บ้านตัวเอง”

หลังจากที่ได้รับเงินตอบแทน บิวตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนาของตัวเองที่ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น พร้อมลูกของเขา และต้องห่างจากภรรยาซึ่งต้องทำงานต่อไปในบริษัทเพื่อเป็นเสาหลักไว้ให้กับครอบครัว คุณบิวตัดสินใจเช่าห้องเล็ก ๆ ในตัว อ.ภูผาม่าน เพื่อเปิดร้านตัดผมหลังจากได้เรียนที่โรงเรียนสอนตัดผมชาย และได้รับใบประกาศเพื่อประกอบวิชาชีพตัดผม แต่การเริ่มต้นนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

“ตอนแรกที่เปิดรู้สึกท้อแท้มาก เพราะเสียงรอบข้างบอกว่าจะรอดไหม ค่าเช่าก็มาเรื่อย ๆ แต่ลูกค้าไม่มี ภาพที่ฝันที่เกิดขึ้นจริงนั้นไม่เหมือนกัน ก็เลยคิดว่ามีอะไรไหมที่จะทำให้มีรายได้สำรองอีก”

บิวใช้ความอดทนในการประกอบอาชีพร้านตัดผม เขาพยายามสร้างทางเลือกทางรอดของตัวเอง ทั้งขายลูกชิ้น ขายผลไม้ จนในที่สุดก็เริ่มมีลูกค้าเข้าร้านตัดผมของเขา เมื่อได้โอกาสคุณบิวก็ไม่ปล่อยโอกาสที่จะบริการลูกค้าเพื่อให้มาใช้บริการกับเขาอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างกลยุทธ์การให้บริการ ทั้งเรื่องราคาชาวบ้านเข้าถึงได้ ถูก และการตัดผมอย่างมืออาชีพ การเพิ่มบริการอื่น ๆ เช่น น้ำดื่มฟรี ชาร์ตไฟฟรี ซึ่งก็สร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้มาใช้บริการจนทำให้วันนี้มีลูกค้าประจำแวะเวียนเข้ามา สร้างรายได้สามารถอยู่ได้ที่บ้านเกิดตัวเอง ปัจจุบันเขามีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 17,000 -18,000 บาทยังไม่หักค่าใช้จ่าย

“คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่กล้ากลับมา เพราะทำอะไรยังไม่สำเร็จ รอให้พร้อม ไม่มีวันนั้นครับ รอให้พร้อมมีเงินเก็บ ผ่อนรถจนหมด ผ่อนบ้านจนหมด แล้วกลับบ้านตั้งหลักปักฐาน ไม่มีวันนั้นครับ กลัวคำพูดชาวบ้าน กลัวความคิดของตัวเอง ลองทำก่อนครับแล้วเราค่อยแก้ปัญหาวันต่อวันไป”

ความคิด ความกลัวเป็นเรื่องใหญ่ของหลายคน คุณบิวเล่าถึงประสบการณ์ของความคิดของเขาเมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ทุกอย่างถาโถมเข้าใส่เหมือนคลื่นยักษ์ที่มาด้วยความแรง กลัวคำพูดของคนอื่น กลัวความคิดของตัวเองทั้งที่ยังไม่เกิดขึ้น

“มีความสุขรู้สึกอิสระ ได้เลี้ยงดูลูก อยู่กับพ่อแม่ ถามว่าคิดถึงภรรยาไหมผมคิดถึงอยู่แล้ว แต่ผมว่าเขาจะคิดถึงผมและลูกมากกว่า แต่ก็โทรคุยกันทุกวันก็หาเวลาไปเจอกันนาน ๆ ครั้งเมื่อมีโอกาส ผมว่าที่เราทำอยู่นี้คือหน้าที่ครับ”

การกลับบ้านครั้งนี้อาจจะสร้างความสุขให้กับคุณบิวในการได้กลับมาอยู่ที่บ้านดูแลครอบครัว ทำหน้าที่พ่อของลูกและพิสูจน์ตัวเองในการกลับบ้านสร้างอาชีพใหม่ของตัวเอง ดูแลภาระหนี้สินที่มีได้อย่างดี แต่ก็สร้างความคิดถึงด้วยระยะทางของเขากับภรรยา ที่จำเป็นต้องทำหน้าที่ของตัวเอง แต่เหนือสิ่งใดเทคโนโลยีก็ทำให้พวกเขาได้ใกล้กันเสมอ

“เพราะทุกอย่างไม่แน่ไม่นอนครับ เราทำงานเดียวไม่ได้แล้ว ต้องปรับตัวหาทางรอดอื่น ๆ ไว้ด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ไหวเท่าไรก็ฝืนดันทุรัง เป็นหนี้สินก็ยังทำ เราต้องหาอะไรมารองรับเราต้องคิดหาทางสำรองเรื่อย ๆ โรคโควิด-19 มารอบนี้เราต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เหมือนกิ้งก่าที่เขาปรับตัวเปลี่ยนสีเพราะป้องกันตัวเองจากเหยี่ยว นก เราต้องมองกิ้งก่าเป็นไอดอลครับ”

ชีวิตอาจไม่ได้ง่ายดาย ปัญหามีมาเสมอแต่หาใช่ว่าจะไม่มีทางเลือก ทางออก การมองหาทักษะหรือการรับมือก็เป็นสิ่งที่ชายวัย 29 ปี นั้นได้เรียนรู้ว่า “ความไม่แน่นอนนั้นแน่นอน ยิ่งฝืนยิ่งเจ็บ” การปรับตัวเท่านั้นจะทำให้เราสามารถอยู่ได้

“มองกลับไป ขนลุกเลย นึกถึงเมื่อไรก็ถามตัวเองเสมอว่าเราไปอยู่แบบนั้นได้อย่างไร วันนี้ได้กลับมาอยู่บ้านเวลาว่างก็ไปหาปูหาปลา ทำงานเสร็จก็มีเวลาทำอย่างอื่นเพิ่มเติม”

ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่กลับบ้าน คนอีสานคืนกลับถิ่นเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น เมื่อเมืองใหญ่ตอบโจทย์แรงงานแต่อาจไม่ตอบโจทย์แรงใจ พื้นที่ความปลอดภัยสุดท้ายคือบ้าน การกลับมาครั้งนี้ไม่เพียงแต่กลับด้วยเหตุอันจำเป็นที่มาจากความพ่ายแพ้เพียงเท่านั้น เราจะเริ่มเห็นได้ว่า การกลับมาของคนรุ่นใหม่นั้นมักจะมาพร้อมกับสิ่งใหม่ที่จะทำให้ชุมชนและอีสานเข้มแข็งขึ้น เรื่องราวของคุณบิวเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างหนังชีวิตที่เราได้มีโอกาสพบเจอกัน แต่ยังมีอีกหลายคนที่พร้อมเดินทางกลับบ้านในเร็ววันนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ