ชาวล้านนาที่มีคำถามในใจว่าสถาบันอุดมศึกษาในภาคเหนือของเรามีการบริการวิชาการหรืองานวิจัยที่เป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง วันที่ 12 – 14 มีนาคมนี้ รับรองว่าท่านจะได้รับคำตอบที่ชัดเจน จากการรวมตัวของ 33สถาบันอุดมศึกษา ในเขต17จังหวัดภาคเหนือ ในงานมหกรรมงานวิจัยสู่ภูมิภาค ประจำปี 2557 (Regional Research Expo)ซึ่งเป็นการจัดการประชุมวิชาการงานวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ภายใต้แนวคิดหลัก “วิจัยเพื่อการเรียนรู้ สู่การนำไปใช้ประโยชน์” โดยการแสดงถึงงานวิจัยและความเชื่อมโยงของงานวิจัยในพื้นที่ภาคเหนือ ที่สามารถผลักดันสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ ในรูปแบบของกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งภาคนิทรรศการ ภาคการประชุม และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผลผลิตจากการวิจัยจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ ด้านการวิจัยของการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัย (พ.ศ. 2555–2559) ของภาคเหนือ ที่ได้กำหนด วิสัยทัศน์ด้านการวิจัยไว้ คือ “ประชาชนภาคเหนือมีองค์ความรู้จากการวิจัย สร้างสรรค์ ทรัพยากรมนุษย์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสังคมธรรมาธิปไตย ด้วยฐานทรัพยากรชุมชนและท้องถิ่น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้าน”
งาน “มหกรรมงานวิจัยสู่ภูมิภาค (Regional Research Expo) ประจำปี 2557” จะจัดขึ้นในวันที่ 12-14 มีนาคม 2557 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้แนวความคิด “กาดวัฒนธรรม คัววิจัย” เพื่อสื่อถึงตลาดวิจัยที่มีความหลากหลายและเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาไทย สู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง สโลแกนว่า “แอ่วกาดงานวิจัย ม่วนใจ๋ ได้ความฮู้” เพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานวิจัยและกิจกรรมจากความร่วมมือของเครือข่ายระบบวิจัยในภาคเหนือสู่การใช้ประโยชน์ในเวทีระดับภูมิภาค และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2557 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ
มหกรรมงานวิจัยสู่ภูมิภาค ได้รับเกียรติจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงาน และ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธี กล่าวเปิดงาน ในวันพุธที่ 12 มีนาคม 2557 เวลา 09.30 น. และได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการระดับแนวหน้าของประเทศมาให้ความรู้ในประเด็นที่น่าสนใจหลายท่าน อาทิ
เสวนาวิชาการ เรื่อง “การปฎิรูปการวิจัย”
โดย เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประธานเครือข่ายการวิจัยภูมิภาค: ภาคเหนือ
เสวนาวิชาการหัวข้อ “สองทศวรรษ ราชภัฏกับการสืบสานงานตามพระราชดำริ”
โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช ดร.พิสิษฎ์ วรอุไร ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธรช
เสวนาวิชาการหัวข้อ “การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยเพื่อก้าวสู่สากล”
โดย รศ.ดร.เกตุมณี มากมี ดร.สุวิทย์ มูลคำ ศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง ดร.อำนาจ สุนทรธรรม
เสวนาวิชาการหัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำ”
โดย อ.ปราโมทย์ ไม้กลัด ผศ. ดร. วสันต์ จอมภักดี ฯลฯ
การเสวนาวิชาการและการนำเสนอผลงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคเหนือ 17 จังหวัดภาคเหนือ
ภายในงานยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งภาคนิทรรศการ ภาคการถ่ายทอด เผยแพร่กิจกรรมการวิจัยและขยายผลการวิจัยในรูปแบบอื่น ภาคการประชุม และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผลผลิตจากการวิจัยจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน แบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆ ประกอบด้วย งานวิจัยเพื่อสนับสนุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ งานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้ำและการลงทุนภาคเหนือ งานวิจัยเพื่อสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาและวิทยาการสู่การพึ่งพาตนเอง งานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบและกลไกบริหารเป็นภูมิคุ้มกัน งานวิจัยเพื่อสนับสนุนการดำรงฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน NRCT หน่วยงานหลัก SiPA หน่วยงานด้านคอมพิวเตอร์ มุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับใช้สังคม ร้านโครงการหลวงและ OTOP รวมถึงการวิจัยสู่อุตสาหกรรม
ภาคนิทรรศการ จะมีการแสดงนิทรรศการจำนวนกว่า 100 ผลงาน การแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานในระบบวิจัยของภาคเหนือ และนิทรรศการจากผลงานวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ระดับอาชีวศึกษา โรงเรียน เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรชุมชนหรือเครือข่ายภาคประชาสังคมในภาคเหนือ
ภาคการประชุม/สัมมนา มีจำนวนกว่า 15 หัวเรื่อง ประกอบด้วย การประชุม/สัมมนาขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการผลงานวิจัยของภาคเหนือ การประชุม/สัมมนาขนาดกลางในประเด็นปัญหาสำคัญที่ควรเร่งรัดแก้ไข และ การประชุม/สัมมนาเฉพาะกลุ่มเรื่องในประเด็นที่น่าสนใจ
ภาคการถ่ายทอด/เผยแพร่ จะเป็นกิจกรรมการวิจัยและการขยายผลการวิจัยในรูปแบบอื่น อาทิ
• คลินิกวิจัย เพื่อให้นักวิจัย นักวิชาการ และผู้สนใจได้มีโอกาสรับคำปรึกษา ให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการเข้าถึงข้อมูลหรือเป้าหมายที่ต้องการจากเจ้าหน้าที่ของ วช. และหน่วยงานส่งเสริมการวิจัยต่างๆ ในการให้คำปรึกษาและแนะนำโครงการ/กิจกรรมของหน่วยงาน
• คลินิกบ่มเพาะธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำนักวิจัย และผู้สนใจเกี่ยวกับการบ่มเพาะธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากผลงานวิจัย หรือกิจกรรมการวิจัย หรือจากการประดิษฐ์คิดค้นอื่นๆ
• Highlight Stage เป็นเวทีหลักในการนำเสนอผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์ ทั้งในระดับชุมชน/องค์กร/พาณิชย์ ที่มีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย
• มุมเจรจาธุรกิจ/ความร่วมมือในการต่อยอดและขยายผลงานวิจัย เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการจับคู่ความร่วมมือในการต่อยอด ขยายผลหรือการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณะ
• ภาคการแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา การแสดงศิลปวัฒนธรรมของสถาบันการศึกษา, โรงเรียน, กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม, ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อสื่อสารและสะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของล้านนา
• ภาคการแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มอาชีพในท้องถิ่นได้แสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ร่วมงาน ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศให้กับการจัดงานอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีการแสดงและการแข่งขันจากหน่วยงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิจิตรศิลป์ และ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม “การแข่งขันสิ่งประดิษฐ์รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากลูกโป่ง” ในวันพุธที่ 12 มีนาคม 2557 เวลา 13.00 – 16.30 น. บริเวณลานจอดรถด้านหน้า หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะวิทยาศาสตร์ มีกิจกรรมการแสดงทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science Show ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2557 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการแสดงที่ให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การนำเสนอการทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วยการแสดง โดยนำหลักการและการทดลองทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน หรือวิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบๆ ตัวเรามาผสมผสานกับการแสดงที่สนุกสนาน โดยใช้สื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ประกอบการแสดง จากโรงเรียนที่ได้รับรางวัลที่ 1-3 ในการประกวดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใน 2 ระดับชั้น คือระดับประถม (ป.4-ป.6) และระดับมัธยมต้น (ม.1-ม.3) จำนวน 6 ทีม และการแสดงจาก องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี จัดกิจกรรมการแข่งขันประกวดสร้างแผนที่อัจฉริยะเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชียงใหม่” ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2557เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะวิจิตรศิลป์ จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรม ชุด “จากเก่าสู่ใหม่ : Neo Lanna Edutainment” ในงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค” (Regional Research Expo) ประจำปี 2557 วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2557 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการนำเสนอวิวัฒนาการทางดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ภายใต้การสร้างสรรค์ของสถาบันการศึกษาและศิลปิน ได้แก่ ดนตรีล้านนา นาฏศิลป์ร่วมสมัย เครื่องแต่งกายร่วมสมัย โดยการจัดการนำเสนอในรูปแบบของการแสดงศิลปวัฒนธรรม แสดงดนตรี การเดินแฟชั่นโชว์ การฟ้อนรำ การแสดงผลงานศิลปะประกอบการบรรเลงเพลง พร้อมการสอดแทรกแนวคิดของการสร้างสรรค์จากศิลปินและผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม โดยมีชุดการแสดง 4 ชุด ได้แก่ การแสดงชุดที่ 1 การแสดงดนตรีล้านนาร่วมสมัย โดยวงช้างสะตน การแสดงชุดที่ 2 การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย การแสดงชุดที่ 3 การแสดงชุด “วาด เต้น เล่นเพลง” และ การแสดงชุดที่ 4 การแสดงแฟชั่นโชว์เครื่องแต่งกายร่วมสมัย
ขอเชิญทุกท่านข้าร่วมงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค : ภาคเหนือ ประจำปี 2557 (Regional Research Expo 2014) ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2557 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริหารงานวิจัย สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 0-5394-2676, 0-5394-2672 หรือดูรายละเอียดกำหนดการได้ที่ http://rre2014.in.cmu.ac.th/schedule.php และลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ http://rre2014.in.cmu.ac.th/index.php