14 วันประชาชนไปต่อ : School isolation@ลำปาง คลาสเรียนคุมระบาด

14 วันประชาชนไปต่อ : School isolation@ลำปาง คลาสเรียนคุมระบาด

เรามีทางเลือก หรือทางรอดอะไรบ้าง? เมื่อทุกชีวิตต่างกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 กันถ้วนหน้าโดยเฉพาะ ช่วงยกระดับล็อคดาวน์ 14 วันอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2564

สิ่งที่เรา: “เครือข่ายสื่อพลเมือง”ทั่วประเทศพบเห็นคือ ความพยายามของประชาชนจำนวนไม่น้อย คิดและลงมือทำ พยายามสร้างทางเลือก หาทางออกหลายลักษณะอย่างไม่ย่อท้อ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นแนวทาง เป็นมุมมอง เป็นวิธีทำ วิธีคิดที่สังคมจะได้ทำความเข้าใจ เรียนรู้หรือเป็นพลังผลักดันเพื่อให้เป็นทางรอดจากวิกฤตนี้ ติดตาม #14วันประชาชนไปต่อ ในช่วงข่าวค่ำไทยพีบีเอส และคลิก The Citizen Plus

ข้อดีของการเป็นโรงเรียนกินนอน หรือโรงเรียนประจำ คือทันทีที่มีเด็กติดเชื้อโควิดและระบาดเป็นกลุ่มก้อนขึ้น  การตัดสินใจควบคุมการระบาดสามารถออกแบบจัดการพื้นที่ได้รวดเร็ว และสิ่งที่น่าสนใจที่ทีมสื่อพลเมือง จ.ลำปาง พบเห็นในเหตุการณ์โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารี ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง เกิดการระบาดโควิด 19 เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ในจังหวัดลำปางครั้งนี้ คือเมื่อตั้งหลักกำหนดแนวทางคุมระบาดได้แล้ว ชีวิตที่นี่ก็ดำเนินต่อ ลงมือทำกิจกรรมที่เป็นหน้าที่ของตนเองทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง คือมีการเรียนการสอนต่อเนื่อง จัดคลาสเรียนในสถานการณ์ระบาด ไม่ให้โควิดเป็นอุปสรรคหรือปิดกั้นการเรียนรู้  ที่นี่ทำได้อย่างไร?

เด็กๆ และครูนับ 1,000 คนในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารี อ.เมือง จ.ลำปางมาจากทั่วภาคเหนือ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสเก่าแก่ที่ก่อตั้งมากว่า 64 ปี เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 3 จนถึงระดับมัธยมศึกษา เด็กเกือบทั้งหมด 879 คน พักในโรงเรียน และมีเด็กที่ไป –กลับบ้านบริเวณโดยรอบ 71 คน  

เมื่อโรงเรียนเปิดเทอมได้เพียง 1 เดือน วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ก็ตรวจพบเด็กนักเรียนติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ผู้บริหารโรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัดสินใจเพียง 1 วันเท่านั้น  ดัดแปลงพื้นที่ 74 ไร่ของโรงเรียน ให้กลายเป็น School isolation สถานแยกกักตัวในโรงเรียน  เป็นโรง(เรียน)พยาบาลสนามในทันที เพื่อรองรับการคาดการณ์ว่าวงรอบของการระบาดจะขยายวง ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อภายในโรงเรียนขยับขึ้นเกินหลัก 100 ภายใน 1 สัปดาห์ และเพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างออกไปนอกโรงเรียนด้วย

มาตรการ Bubble and seal ถูกนำมาใช้ ให้ความสำคัญกับการสื่อสารบอกเล่าสถานการณ์ภายในโรงเรียน บอกเด็ก ๆ และบุคลากรภายในให้เตรียมตัวให้พร้อมรับสถานการณ์ และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค  คือจำกัดการเคลื่อนย้ายและตรวจหาเชื้อเพิ่ม

ขั้นตอนสำคัญของการควบคุมการระบาดที่โรงเรียนใช้ คือจัดสรรแบ่งพื้นที่ ปรับหอพัก 2 อาคารให้มีการใช้งานลักษณะคล้ายโรงพยาบาลสนาม คือแบ่งโซน พร้อมคัดกรองเด็กๆ และบุคลากรออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่ม A เป็นกลุ่มที่ติดเชื้อจัดห้องพักเดี่ยวที่มีสองเตียงให้เพื่อแยกผู้ป่วยออกมาโดยเฉพาะ
  • กลุ่ม B คือกลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย หรือต้องเฝ้าระวัง
  • กลุ่ม C คือกลุ่มที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อและไม่ได้อยู่ในกลุ่มสัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื้อ

ภายในโรงเรียนที่ปรับเป็นโรงพยาบาลสนามตามมาตรฐานด้านการป้องกันโรค ได้จัดพยาบาลวิชาชีพและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่เวรรอบละ 2 คน มีแพทย์ดูแลรักษา  

28 วันคือกำหนดเวลาที่จะต้องกักตัว และควบคุมการระบาด ซึ่งเป็นเวลาที่การเรียนรู้ไม่ควรจะต้องหยุดชะงักไปด้วยเบ็ดเสร็จ เพราะแม้จะมีการติดเชื้อ แต่อาการของเด็กๆ และครูส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และไม่แสดงอาการก็มีมาก คลาสเรียนท่ามกลางการระบาดจึงเกิดขึ้น เพราะเมื่อแบ่งกลุ่มของผู้ติดเชื้อหรือเฝ้าระวังอาการเป็นแต่ละประเภทแล้ว ก็สามารถจัดกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มที่อยู่กินนอนในโรงเรียนได้ 

คุณเดช สุธรรมปวง ผอ.โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีฯ จ.ลำปาง เล่าว่า โรงเรียนดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนตามปกติใน กลุ่ม C กลุ่มนี้ไม่ได้ติดเชื้อ และเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ สามารถจัดการเรียนการสอนได้โดยการมอบหมายงาน หรือเรียนออนไลน์โดยครูผู้สอนมีตารางสอนอยู่แล้ว สำหรับกลุ่ม B ก็จัดการเรียนการสอนได้เช่นเดียวกันกับกลุ่ม C ต้องกักตัวหรือเรียนผ่านออนไลน์ ส่วนกลุ่ม A  กลุ่มที่ติดเชื้อให้หยุดการเรียนการสอนก่อน ซึ่งเมื่อจัดกลุ่มแล้ว การหยุดการเรียนก็จะหยุดเฉพาะกลุ่มที่ติดเชื้อ

“มีอะไรเราก็ช่วยกันไปก่อน ตอนนี้ที่โรงเรียนคงวุ่นวาย คุณครูคงเหนื่อยกันมาก เราอยู่บ้านกับหลาน หลานกักตัว เราช่วยโรงเรียนดูแล อย่างในตอนนี้ก็ให้น้องทบทวนในหนังสือเรียนตามที่ครูบอกและหาดูวีดีโอที่เป็นสื่อสอนสำหรับเด็กประถามปีที่ 5 สถานการณ์นี้ต้องเอาใจเข้าโรงเรียนช่วยกันวิกฤติก็จะผ่านไปได้” ผู้ปกครองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พูดคุยกับทีมสื่อพลเมืองจังหวัดลำปาง  

สำหรับเด็กนักเรียนที่กักตัวอยู่ทางบ้าน ผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญในการร่วมมือกันออกแบบวิธีการกับคุณครูที่คอยให้คำปรึกษากันเรียนผสมผสานกับออนไลน์ เพื่อให้การเรียนรู้ไม่หยุดชะงักไปเมื่อเกิดโรค ชาวลำปางเมื่อรู้ว่าเด็กๆ ที่นี่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ เด็กๆ และครูต้องรักษาตัว กักตัวแรมเดือน ก็ทะยอยมาสนับสนุนข้าวของจำเป็นในการใช้ชีวิตมากมายทั้งข้าว น้ำ ขนม เครื่องใช้ไฟฟ้าเช่น พัดลม ชุดเครื่องนอน

กชภอร ภัทรานุกิจประธานชุมชนจิตต์อารี วิลเลจ 1 จ.ลำปาง เล่าว่า ศาลาชุมชนของเราเป็นจุดที่รองรับสิ่งของที่ได้จากการบริจาค โดยชุมชนจะมีคณะกรรมการชุมชนและทีมจิตอาสาเข้ามาช่วยในการรับสิ่งของ คัดแยกสิ่งของแต่ละอย่างแต่ละชนิดแต่ละประเภทเพื่อทำการเคลื่อนย้ายได้สะดวก ลำเลียงสิ่งของที่จำเป็นในแต่ละวัน ให้กับเทศบาลเมืองเขลางค์นครเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ในการรับพร้อมนำส่งโรงเรียน สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต้องใช้คือชุดเครื่องนอน ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน หมอนมุ้งและพัดลม ถุงดำ-ถุงแดงที่จะใช้ในการคัดแยกขยะในแต่ละวันซึ่งมีจำนวนมาก

การระบาดโควิด-19 ในสถานศึกษา เช่นที่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีกำลังแก้โจทย์อยู่นี้ ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ในภาคเหนือ เคยพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน และใช้โรงเรียนเป็นสถานแยกกักหรือ school isolation ทั้งที่ศูนย์พัฒนาเด็กเทศบาลตำบล แม่คือ จ.เชียงใหม่ และที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเวียงลอ ต.เวียงลอ อ.จุน จ.พะเยา และโอกาสของการจะพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในสถานศึกษาลักษณะย่อมมีขึ้นได้ เพราะโรงเรียนกินนอน หรือโรงเรียนประจำยังมีอีกเป็นจำนวนมากมาย

สิ่งที่สำคัญคือแต่ละพื้นที่จะช่วยกันออกแบบร่วมกันอย่างไร เพื่อให้ทั้งสามารถการควบคุมการระบาด และใช้ชีวิตตามบทบาทหน้าที่ของตนเองต่อไปได้อย่างเหมาะสม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ