เรื่อง: ปกรณ์ อารีกุล
ภาพ: Roengrit Kongmuang
ในขณะที่ผู้คนในขอบขัณฑสีมาสยามประเทศ กำลังถูกปลุกระดมเลือดรักชาติให้พลุ่งพล่าน ด้วยวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน ที่ถูกนำมาสร้างเป็นละครให้ชมกันทางจอแก้วอีกคำรบ
ภาพตัดฉากมาสู่ปัจจุบันสมัย การต่อสู้ปกป้องชุมชน หวงแหนในแผ่นดินเกิด ก็กำลังคุกรุ่นขึ้นยังดินแดนที่ราบสูงในประเทศเดียวกัน ที่บ้านนามูล-ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น
หากแต่พี่น้องร่วมชาติ อาจมิได้ (ถูกทำให้) รับรู้มากเท่าใดนัก
จากการปลูกฝังผ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์ (ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด) จริงอยู่ที่เรื่องราวการต่อสู้ของบ้านบางระจันนั้น เป็นคุณูปการที่ควรค่าแก่การยกย่องของอนุชนคนรุ่นหลัง
แต่หากเรื่องราวของชาวบ้านบางระจันนั้นเป็นเพียงบันทึกในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ไม่ได้มีปรากฏในพงศาวดารหรือบันทึกทางประวัติศาสตร์ฉบับอื่น แม้แต่พงศาวดารร่วมสมัยคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เช่น คำให้การชาวกรุงเก่า หรือแม้แต่ในพงศาวดารของฝ่ายพม่าเองด้วย
นักวิชาการทางประวัติศาสตร์บางส่วนจึงมีความเชื่อว่า วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันไม่มีอยู่จริง หรือต่อให้มีอยู่จริง ก็ไม่ใช่วีรกรรมเพื่อชาติ แต่เป็นไปในลักษณะเป็นชุมนุมป้องกันตนเองจากผู้รุกราน ไม่ได้ต้อสู้เพื่อช่วยปกป้องกรุงศรีอยุธยาอย่างที่เราท่องจำกันมา และก็มีชุมนุมลักษณะนี้มากมาย ไม่เพียงเฉพาะบ้านบางระจัน
และการต่อต้านทัพพม่าของชาวบ้านบางระจันก็ไม่น่ายาวนานถึง 5-6 เดือน น่าจะไม่เกิน 3 เดือน
เขียนมาถึงบรรทัดนี้ ผู้เขียนก็อาจถูกผู้อ่านหลายท่าน บ่นประณามในความกล้าดี ที่ไม่รู้สึกรู้สาต่อบุญคุณของบรรพชน ซึ่งผู้เขียนเองคงสารภาพว่าตนก็มิได้เชื่อตามนักประวัติศาสตร์บางส่วนในย่อหน้าข้างบน เพียงแต่อยากบอกกล่าวให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์นั้นมีหลายมุม และเป็นเรื่องที่มักมีความจริงอีกด้านเสมอ
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้าเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย กลับกลายเป็นฝ่ายจริง เราจะยังคงเทิดทูนวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันอยู่หรือไม่
ถ้าวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน เป็นไปในลักษณะเป็นชุมนุมป้องกันตนเองจากผู้รุกราน นั่นก็ไม่ต่างอะไรจากชาวบ้านนามูล-ดูนสาด ที่กำลังปกป้องชุมชนของตนเองจากการเข้าโจมตีด้วยกองทัพที่มาในนามของความมั่นคงทางพลังงาน และสนธิกำลังกับอำนาจรัฐที่มีกฎอัยการศึกเป็นโล่กำบัง
แม่ทัพนายกองที่ชื่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พร้อมขุนศึกคนสำคัญนามอพิโก้ โคราช ได้กรีฑาทัพเข้าตีค่าย บ้านนามูล-ดูนสาด แตกพ่ายยับเยินไปแล้ว เป็นเหตุการณ์จริงๆ สดๆ ที่เกิดขึ้นในขอบขัณฑสีมาสยามประเทศของเรา
บ้านนามูล-ดูนสาด แตกพ่ายยับเยินไปแล้วเช่นเดียวกับบ้านบางระจัน ผิดแผกแตกต่างกัน ที่ว่าประวัติศาสตร์ของบ้านนามูลจะไม่มีทางถูกยกย่องเช่นบ้านบางระจัน
………………………………………….
ในสถานการณ์ที่เรากำลังปฏิรูปประเทศไทย (ภายใต้กฎอัยการศึก) กันอย่างคึกคัก ผู้เขียนใคร่ขอมีความเห็นไปในทางตรงข้ามสุดกู่
หากเรายังคงอยู่ภายใต้แบบเรียนที่สอนประวัติศาสตร์และความจริงเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งนั่นคือการอยู่ภายใต้ระบบศึกษาที่รวมศูนย์ไว้ที่รัฐชาติแบบกรุงเทพฯ โดยที่สภาปฏิรูปไม่กล้าแตะต้องการชำระประวัติศาสตร์
หากเรายังคงปล่อยให้ชาวบ้านนามูล-ดูนสาด โดดเดี่ยวจากการต่อสู้ปกป้องชุมชนโดยลำพัง ในขณะที่เพื่อร่วมชาติกำลังร้องไห้โฮ กับวีรกรรมของคนบางระจัน (ซึ่งอาจไม่เคยเกิดขึ้นจริง)
หากนโยบายพลังงานของประเทศยังมุ้งเน้นให้สัมปทานการขุดเจาะแก่กลุ่มทุนโดยไม่สนใจว่าคนในพื้นที่จะเป็นอย่างไร และเขาควรได้รับอะไรมากแค่ไหน
หากยังคงมีการบังคับใช้กฎอัยการศึกซึ่งถูกใช่เป็นเครื่องมือในการข่มขู่คุกคามประชาชน หลายต่อหลายครั้ง
ผู้เขียนคงต้องขอกล่าวอย่างสามหาว ประเทศไทยไม่มีทางปฏิรูปอะไรได้
….
หมายเหตุ (โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม)
นักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งอธิบายว่า วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ระบาดในประเทศไทย เพื่อเป็นการปลุกใจให้รักและหวงแหนในชาติ เช่น มีการบรรจุในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ บทละครร้อง ฯลฯ ความรับรู้ของคนทั่วไปจะรับรู้ผ่านทางแบบเรียน นิยาย ละคร รวมทั้งภาพยนตร์ และเชื่อตามการนำเสนอนั้นว่าวีรกรรมและตัวละครมีตัวตนจริง